วิกฤติเศรษฐกิจโลก วิกฤติเศรษฐกิจไทย


เพิ่มเพื่อน    

           เศรษฐกิจไทยจะไปรอดหรือไม่รอดอยู่ที่ฝีมือการบริหารของรัฐบาลว่าด้วยปัจจัยภายในและความสามารถในการวางแผนตั้งรับปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้

                ช่วงที่ผมเดินทางอยู่ยุโรปในสัปดาห์ที่ผ่านมา เห็นประเด็นปัจจัยภายนอกหลายเรื่องที่จะมีผลกระทบต่อไทยเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

                เป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะทำความเข้าใจและปรับยุทธศาสตร์ของตนเองไม่ให้ปัจจัยลบในเวทีระหว่างประเทศมากรักน้ำไทยจน “หมดสภาพ”

                เศรษฐกิจอเมริกาและโลกจะเผชิญกับภาวะถดถอย หรือที่เรียกว่า recession หรือไม่ เป็นหัวข้อถกแถลงกันอย่างกว้างขวาง

                แต่ที่ผมแน่ใจว่ากำลังเกิดขึ้นขณะนี้จากที่ได้พูดคุยและติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดระหว่างเดินทางคือ “วิกฤติของความมั่นใจ” กำลังลามไปในเวทีระหว่างประเทศอย่างกว้างขวาง

                ต้นตอแห่ง “วิกฤติศรัทธา” ในเศรษฐกิจโลกนั้นหนีไม่พ้นว่าคือ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ดำเนินนโยบายที่สร้างความแปรปรวนผันผวนไปทั่วโลก

                แม้แต่ในสหรัฐเองก็มีความกังวลเป็นอย่างยิ่งว่า หากทรัมป์ยังเดินหน้าทำสงครามการค้ากับจีนอย่างต่อเนื่อง และขณะเดียวกันก็เปิดศึกกับธนาคารกลาง หรือ Fed ด้วยการกดดันอย่างเปิดเผยให้ลดดอกเบี้ยถี่ขึ้นและมากขึ้น

                ทำให้กฎกติกามารยาทของการบริหารประเทศของสหรัฐผิดเพี้ยนไปจากที่เคยถือปฏิบัติกันมา

                อีกปัจจัยหนึ่งแห่งความไม่แน่นอนคือ Brexit ของอังกฤษ ภายใต้การนำของนายกฯ บอริส ยอห์นสัน ซึ่งมีลีลาและวิธีคิดละม้ายกับทรัมป์ในแง่ที่ไม่สนใจว่ามาตรฐานของโลกเขาเคยทำอะไรมาก่อน หรือเขาทำกันอย่างไรจึงจะทำให้พันธมิตรสามารถเข้าใจและร่วมมือได้

                หากนายกฯ อังกฤษคนใหม่นี้ยังเดินหน้าจะทำสิ่งที่เรียกว่า Hard Brexit อันหมายถึงการที่สหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อตกลงใดๆ (No Deal) ภายในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ นั่นย่อมหมายถึงความปั่นป่วนด้านเศรษฐกิจสำหรับโลกอีกเรื่องหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะมีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อไทยเรา

                เพราะโลกวันนี้ไม่มีคำว่า“ไกลตัว” สำหรับคนไทยอีก ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ, การเมือง, ความมั่นคงและสังคม

                ความวุ่นวายที่ฮ่องกงก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งระดับโลก เพราะจีนสงสัยว่าอเมริกาและอังกฤษให้ท้ายกลุ่มผู้ประท้วงอยู่

                อีกมุมหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้คือ ความตึงเครียดระหว่างปักกิ่งกับไต้หวันที่มีส่วนผสมผสานของความสับสนฮ่องกงเข้าไปพัวพันด้วยอย่างแนบแน่น

                สี จิ้นผิง กับโดนัลด์ ทรัมป์ ต้องต่อรองกันในทุกๆ มิติของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะ 2 ยักษ์ใหญ่กำลังพันตูกันเพื่อก้าวขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของโลก

                แต่ใช่ว่าจีนจะไม่เดือดร้อนจากสงครามการค้า และอเมริกาก็กำลังบาดเจ็บจากศึกนี้เช่นกัน...ไม่ว่าทั้ง 2 ผู้นำจะยอมรับความจริงกับประชาชนของตนเองหรือไม่ก็ตาม

                เมื่อทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีเดิมพันสูง โอกาสที่จะประนีประนอมด้วยการหาทางลงจากหลังเสือด้วยการถอยกันคนละหลายก้าว ประเทศอื่นๆ ในโลกก็พลอยถูกพายุกระหน่ำอย่างหนักหน่วงด้วยเช่นกัน

                ประเทศไทยเราอยู่ในฐานะอ่อนแรงพอสมควร เพราะรัฐบาลผสมชุดนี้มิได้มีเป้าหมายร่วมไร้เอกภาพทางความคิด และขาดวิสัยทัศน์ที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการสร้างภูมิคุ้มกันสำหรับตั้งรับความผันผวนปรวนแปรที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะผ่อนคลายลงในอนาคตอันใกล้นี้

                เมื่อสหรัฐภายใต้การนำของทรัมป์กระโดดเข้าสู่โหมดชาตินิยม (America First ; Make America Great Again) และจีนของสี จิ้นผิง กระชับอำนาจด้วยการซัดหมัดต่อหมัดกับทรัมป์ ขณะที่ยุโรปกำลังอ่อนเปลี้ยเพลียแรงเหลือเกิน....เราจึงเห็นภาพของวิกฤติระดับโลกชัดเจนขึ้นทุกวัน

                และถึงวันนี้ผมยังมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายถ้ำสำหรับประเทศไทยแต่อย่างใด!.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"