นายกฯบินเยี่ยมน้ำท่วมอุบลรอบ2


เพิ่มเพื่อน    

 "นายกฯ" ขอบคุณคนไทยบริจาคช่วยผู้ประสบอุทกภัย เตรียมลงพื้นที่ จ.อุบลฯ อีกรอบ 19 ก.ย.นี้ โวยสั่งทำแก้มลิงรับน้ำ โดนบิดเบือนหาให้คนปลูกข้าวเปลี่ยนมาเลี้ยงปลา "คลัง" ปัดถังแตก ยันเงินคงคลังล้นหีบ 5.12 แสนล้านบาท แจงเปิดรับบริจาคเพิ่มช่องทาง ปชช.ช่วยกัน "กรมชลฯ" ระบุ "เมืองอุบล-วารินชำราบ" น้ำลดแล้ว

    ช่วงเช้าวันที่ 18 ก.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก "ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chon-o-cha" ขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมบริจาคเงินช่วยน้ำท่วมว่า "ผมขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมบริจาคเงินช่วยเหลือเพื่อพี่น้องชาวอุบลที่ประสบภัยน้ำท่วม ทุกองค์กร ทุกหน่วยงาน ประชาชนทุกคน ขอบคุณมากครับ #คนไทยเราไม่ทอดทิ้งกันครับ" 
    มีรายงานว่า ในวันที่ 19 ก.ย.นี้ เวลา 13.00 น.พล.อ.ประยุทธ์พร้อมคณะมีกำหนดเดินทางไปตรวจเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัยที่ จ.อุบลราชธานี โดยจะออกเดินทางด้วยเครื่องบินเที่ยวพิเศษ ไปยังท่าอากาศยานทหารกองบิน 21 จากนั้นเวลา 14.00 น. นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะ จะเดินทางโดยรถยนต์ไปยังศูนย์พักพิงมณฑลทหารบกที่ 22 ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ อ.วารินชำราบ เพื่อรับฟังบรรยายสรุปการบริหารจัดการน้ำ การเตรียมแผนฟื้นฟูเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และเดินทางไปตรวจเยี่ยมผู้ประสบภัย พร้อมมอบถุงยังชีพ จำนวน 83 ราย 
    จากนั้น นายกฯ จะเดินทางโดยรถยนต์ไปยังตลาดสดเทศบาล 3 สถานีวัดระดับน้ำ M7 เพื่อลงเรือตรวจเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัยชุมชนริมแม่น้ำมูล และมอบถุงยังชีพผู้ประสบภัยที่ยังอาศัยอยู่ในบ้านเรือน พร้อมเก็บขยะในแม่น้ำมูลด้วย ก่อนจะเดินทางกลับกรุงเทพฯ ในเวลา 17.30 น.
    ที่ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม อิมแพ็ค เมืองทองธานี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานเปิดการประชุมประจำปี 2562 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เรื่องการขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่ เชื่อมไทย ก้าวไกล เชื่อมโลก” 
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอนหนึ่งถึงเรื่องปัญหาน้ำท่วมว่า ตนได้สั่งให้ทำแก้มลิง แต่ก็ไม่ได้สั่งให้ทำแบบกระจ๊อกกระแจ๊ก หรือสั่งให้ประชาชนเลี้ยงปลา เป็นคนละเรื่อง แต่พูดถึงแก้มลิงขนาดใหญ่ เป็นทะเลสาบ ให้พื้นที่น้ำท่วมไหลลงมาสู่แก้มลิงนี้ได้ ระยะยาวจะเรียกว่าทะเลสาบ ระยะสั้นจะเรียกว่าแก้มลิง ซึ่งรัฐจะต้องจ่ายค่าเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง ช่วงนี้ก็ปล่อยปลาลงไปเพื่อให้ชาวบ้านได้จับไปกินไปขายไปใช้
     "ผมไม่ได้คิดง่ายๆ อย่างที่มีคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ใช่ให้คนปลูกข้าวเปลี่ยนมาเลี้ยงปลา ไปสร้างภาพลักษณ์ผมในทางที่ไม่ใช่ ไม่ใช่สิ่งที่ผมถ่ายทอดออกไปหรือพูดออกไป เป็นคนละเรื่องคนละประเด็น ถ้าผมคิดอย่างนั้นไม่ต้องเป็นนายกฯ หรอก เป็นผู้หมู่ยังไม่ได้เลย" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    นายกฯ กล่าวว่า หลักการทำงานฝ่ายปฏิบัติจะต้องตอบประชาชนให้ได้ ไม่ใช่นายกฯ ตอบคนเดียวไม่ได้ ต้องบอกประชาชนว่าสิ่งไหนทำได้ สิ่งไหนทำไม่ได้  ถ้านายกฯ ไปพูดก็จะหนักและแรง วันนี้ลองไปเปิดดูโทรทัศน์หรือใครไปต่างประเทศ ลองดู ถนนประเทศไทยดีที่สุดในอาเซียน ซึ่งเราจะต้องพัฒนาถนนในท้องถิ่นที่ชำรุดต่อไป แต่ถ้านำเสนอกันไปทุกวันก็จะเข้าใจว่าเป็นแบบนั้นทั้งประเทศ เท่ากับเป็นสร้างความเข้าใจที่บิดเบือนออกไป การนำเสนอตนไม่ว่า แต่ต้องนำเสนอสิ่งดีๆ ด้วย ซึ่งผู้บริหารต้องไม่นั่งอยู่บนหอคอยอย่างเดียว
เงินคงคลังพอช่วยน้ำท่วม
    ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ออกแถลงชี้แจงกรณีการช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมว่า การจัดรายการพิเศษของรัฐบาลเพื่อเปิดรับบริจาคเงินช่วยเหลือน้ำท่วมนั้น เป็นการเปิดช่องทางให้ประชาชนสามารถมีส่วนรวมในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยและเอื้อเฟื้อแบ่งปันกันในสังคม ซึ่งการจัดรายการพิเศษดังกล่าว ไม่ใช่มาจากสาเหตุที่กระทรวงการคลังไม่มีงบประมาณช่วยเหลือ โดยปัจจุบัน ณ สิ้นเดือน ส.ค.2562 รัฐบาลมีเงินคงคลังอยู่ที่ 5.12 แสนล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล
    เอกสารของ สศค.ระบุว่า สำหรับแนวทางในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ภาครัฐมีวงเงินทดรองราชการสำหรับช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินได้อย่างเพียงพอและทันท่วงที โดยตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจจัดสรรเงินทดรองราชการจังหวัดละ 20 ล้านบาทได้ อีกทั้งปัจจุบันพื้นที่หลายแห่งได้ถูกประกาศเป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน และส่วนราชการต่างๆ ได้เร่งแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนและให้ความช่วยเหลือค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำรงชีพ การซ่อมแซมที่พักอาศัย การให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์แล้ว เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สำรวจพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหายเพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่เกษตรกร
    นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ขอความร่วมมือสมาคมประกันวินาศภัยไทยและสมาคมประกันชีวิตไทย ให้เร่งรัดพิจารณาสินไหมทดแทนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน สถาบันการเงินของรัฐและธนาคารพาณิชย์ได้ออกมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกค้า และเตรียมเงินกู้ฉุกเฉินเพื่อใช้ในยามจำเป็นให้กับผู้ประสบภัยไว้แล้ว
    นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ในช่วง 11 เดือนของปีงบประมาณ 2562 (ต.ค.61-ส.ค.62) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน 2.33 ล้านล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.48 หมื่นล้านบาท หรือ 2.4% และสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 5.19 หมื่นล้านบาท หรือ 2.3% โดยเป็นผลจากการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นเกินเป้าหมาย 4.4 หมื่นล้านบาท กรมสรรพากรเกินเป้าหมาย 3.6 หมื่นล้านบาท และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ สูงกว่าเป้าหมาย 1.46 หมื่นล้านบาท รวมถึงการจัดเก็บรายได้ของกรมศุลกากรที่สูงกว่าประมาณการ 8.01 พันล้านบาท
    ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำชี-มูล (ส่วนหน้า) จ.อุบลราชธานี กล่าวถึงการปัญหาน้ำท่วมว่า ได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำในแม่น้ำมูลลงสู่แม่น้ำโขงให้เร็วขึ้น จากแผนติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในแม่น้ำมูลตอนล่างรวมทั้งสิ้น 260 เครื่อง ปัจจุบันติดตั้งพร้อมเดินเครื่องแล้ว 195 เครื่อง แบ่งเป็นติดตั้งที่บริเวณสะพานพิบูลมังสาหาร อำเภอพิบูลมังสาหาร 60 เครื่อง ซึ่งติดตั้งเสร็จทั้งหมดแล้วแล้ว ส่วนอีก 200 เครื่องติดตั้งที่บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำมูล อำเภอโขงเจียม ซึ่งขณะนี้ได้ติดตั้งพร้อมเดินเครื่อง 135 เครื่อง โดยจะเร่งดำเนินการติดตั้งส่วนที่เหลือจนครบ เพื่อเพิ่มอัตราการระบายน้ำ เตรียมพร้อมหากมีฝนตกในช่วง 20-21 ก.ย.นี้ ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา
    “กรมชลประทานได้ศึกษาแผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำชี-มูลไว้แล้ว โดยตลอดลำน้ำชีจะหาที่ลุ่มต่ำทำเป็นแก้มลิงรองรับน้ำ ส่วนลำน้ำมูลศึกษาทางผันน้ำทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำ โดยฝั่ง อ.วารินชำราบซึ่งเป็นแอ่งกระทะ น้ำท่วมซ้ำซาก จะลดปริมาตรน้ำที่ไหลผ่าน โดยทำทางผันน้ำตั้งแต่หน้าเขื่อนยโสธร จ.ยโสธร มายังท้ายแม่น้ำมูลที่ อ.โขงเจียม ส่วนฝั่ง อ.เมืองอุบลราชธานี จะทดลองผันน้ำลดปริมาตรน้ำที่ไหลผ่านเพื่อป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ ซึ่ง รมว.เกษตรและสหกรณ์ย้ำให้เร่งศึกษาด่วนที่สุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำมูล” อธิบดีกรมชลฯ กล่าว
'อุบล-วารินฯ'น้ำลดแล้ว
    ที่ จ.อุบลราชธานี สถานการณ์น้ำท่วมล่าสุดในตัวเมืองอุบลราชธานีและ อ.วารินชำราบ ได้ลดลงแล้ว โดยที่วัดกุดคูณ ต.ในเมือง อ.เมืองอุบลราชธานี เจ้าหน้าที่ทหารจากหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 23 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากเทศบาลนครเมืองอุบลราชธานี ได้นำรถน้ำและสายฉีดน้ำขนาดใหญ่ เข้าทำความสะอาดบริเวณวัด หลังจากบริเวณนี้ถูกน้ำท่วมมาตั้งแต่วันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยในปัจจุบันน้ำในจุดนี้ลดลงจนหมดแล้ว ซึ่งน้ำที่ไหลเข้าท่วมมาจากแม่น้ำมูลน้อย ที่รับน้ำมาจากลำเซบาย จ.อำนาจเจริญ ขณะที่ถนนหลายสายได้กลับมาใช้การได้ โดยถนนทางหลวงทั้งหมด 27 สายในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ถูกน้ำท่วม มี 23 สายน้ำลดลงจนใช้งานได้ตามปกติแล้ว ยังเหลืออีก 1 เส้นทาง 2 จุด คือถนนหมายเลข 2404 เขื่องใน-กันทรารมย์ น้ำท่วมไม่สามารถผ่านได้ ขณะที่อีก 2 สาย คือ ถนนหมายเลข 231 และ 226 มีน้ำท่วมขังแต่ยังสามารถสัญจรได้ โดยเจ้าหน้าที่แขวงการทางอุบลราชธานีที่ 1 กรมทางลวง ได้นำเครื่องสูบน้ำเพื่อระบายน้ำออกจากผิวจราจร
    สำหรับระดับน้ำในแม่น้ำมูลวันนี้ ลดระดับลงจากเมื่อวาน 16 เซนติเมตร ที่สถานีวัดน้ำ M7 สะพานเสรีประชาธิปไตย อยู่ที่ระดับ 115.44 ม.รทก. ปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ที่ 4,470 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ลดลงจากเมื่อวาน 240 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะที่ระดับน้ำมูลกับน้ำโขง ที่ห้วยสะคาม อ.โขงเจียม แม่น้ำโขง มีระดับต่ำกว่าแม่น้ำมูล อยู่ที่ 3.10 เมตร วัดได้ล่าสุด 99.79 ม.รทก. จากเมื่อวาน อยู่ที่ 100.64 ม.รทก. ทำให้การระบายน้ำและการผลักดันน้ำ 2 จุดของแม่น้ำมูลทำงานได้มีประสิทธิภาพดี แต่เจ้าหน้าที่กรมชลประทานยังติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำยังไม่ครบทั้ง 260 เครื่อง ตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดระบุ โดยภาพรวมสถานการณ์น้ำท่วมในวันนี้เริ่มคลี่คลายลงยังคงเหลือปริมาณน้ำท่วมในทุ่งข้าวและที่ลุ่มต่ำ แอ่ง ที่น้ำไม่สามารถระบายออกได้ 
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนการช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วมยังคงหลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี โดยเฉพาะคนในพื้นที่เอง ยังคงเปิดรับบริจาคจากภาคประชาชนในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ที่ไม่ได้รับผลกระทบ โดยนายวัฒนา เตชะโกมล ผู้อำนวยการโรงเรียนเบ็ตตี้ดูเมน 2 ช่องเม็ก ได้เปิดรับการช่วยเหลือจากนักเรียนและหน่วยงานเอกชน จาก น.อ.สุวรรณ ภู่เต็ง นักวิชาการด้านความปลอดภัยถนน มูลนิธิสำนักบุญคุณแผ่นดินไทย ได้บริจาคน้ำดื่มจำนวน 90 แพ็ก เพื่อนำไปมอบให้กับศูนย์รับบริจาคอำเภอสิรินธร เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับชาวบ้านที่มีน้ำท่วมในพื้นที่ อ.สิรินธร และ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี
    วันเดียวกัน นายเฉลิมพล มั่งคั่ง รองผู้ว่าฯอุบลราชธานี ได้ปล่อยขบวนรถสุขาเคลื่อนที่จำนวน 15 คัน ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี จำนวน 11 คัน, องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ จำนวน 2 คัน และองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 2 คัน ส่งไปประจำจุดศูนย์พักพิงผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.เมืองฯ และ อ.วารินชำราบ ที่ยังขาดแคลน ทำให้ผู้พักพิงมีความลำบากในการจะใช้ห้องสุขาเพื่อเป็นการบรรเทาจากปัญหาห้องสุขา
    ทั้งนี้ จ.อุบลราชธานีได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยทั้งหมด 25 อำเภอ 174 ตำบล 1,362 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 42,383 ครัวเรือน 159,692 คน อพยพ 21,886 คน โดยล่าสุดอำเภอที่มีสถานการณ์น้ำท่วมบ้านเรือนและมีการอพยพ จำนวน 5  อำเภอ 12 ตำบล 82 ชุมชน/หมู่บ้าน 6,394 ครัวเรือน 21,886 คน จุดอพยพ 56 แห่ง. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"