สกศ.เผยมีเด็ก3.1ล้าน ติดกับดัก"สังคมสีเทา "ขายแรงงาน-ค้าประเวณี -อาชญากรรม สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น


เพิ่มเพื่อน    

21ก.ย.62-สกศ. เปิดตัวโครงการรณรงค์ “เด็กไร้…ได้เรียน เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” หวัง ช่วยเหลือ"เด็กนอกระบบ" ให้มีโอกาสกลับมาเส้นทางการศึกษา  “สมพงษ์” เผยมีเด็ก 3.1 ล้านคน ติดกับดัก"สังคมสีเทา"  โง่- จน- เจ็บ" เป็นวงจร จากรุ่นสู่รุ่น  ทั้งอยู่ในกลุ่มแรงงานนอกระบบ ค้าประเวณี อาชญากร  เชื่อการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญช่วย

ที่สยามแสควร์วัน - กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) องค์การช่วยเหลือเด็ก (Save the Children) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)  และภาคีเครือข่าย 20 จังหวัดสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา เปิดตัวโครงการรณรงค์ “เด็กไร้…ได้เรียน เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เพื่อค้นหา ช่วยเหลือเด็กนอกระบบให้มีโอกาสกลับมาในเส้นทางการศึกษาอีกครั้ง

โดยนายสมพงษ์  จิตระดับ ที่ปรึกษาคณะกรรมการ กสศ. และผู้อำนวยการศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กล่าวว่า ขณะนี้ กสศ. ต้องการที่จะหาเด็กและเยาวชนนอกระบบ ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่อีกกลุ่มหนึ่งและไม่มีเสียงให้พบ เพราะเด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กที่ยากจน ขัดสน ด้อยโอกาส ขาดความเสมอภาคทางการศึกษา และเมื่อเด็กออกจากระบบการศึกษาเมื่อไร มีแนวโน้มสูงที่จะเข้าสู่วงจรสังคมสีเทาที่อันตราย 3 เรื่องสำคัญ 1.เส้นทางแรงงานนอกระบบ มีรายได้ต่ำ ถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบ ทำงานที่เสี่ยงอันตรายต่อชีวิต สุขภาพ  2.เส้นทางของการค้าประเวณี โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง 3.เส้นทางยุวอาชญากร ตกอยู่ในวังวนยาเสพติด เป็นเด็กเดินยา ลักเล็กขโมย ในปัจจุบันเด็กกลุ่มนี้มีประมาณ 3,170,000 คน แต่ในสังคมไทยมีการรับรู้เรื่องเด็กเหล่านี้น้อยมาก และยังถูกปล่อยปละละเลย เรียกได้ถูกเท ซึ่งจะทำให้เด็กติดกับดักชีวิตที่เรียกว่า โง่ จน เจ็บ เป็นวงจรจากรุ่นสู่รุ่น  ดังนั้นการศึกษาจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้วงจรนี้หายไป

“ถ้าเราปล่อยให้ปัญหานี้ดำเนินต่อไป อย่างไม่สนใจ ผลักไสให้พวกเขาไปอยู่ด้านมืดของสังคม ในที่สุดผลเสียจะเกิดแก่สังคม และประเทศชาติ ทั้งที่เด็กนอกระบบจำนวนมาก มีต้นทุนของความใฝ่ดี มีความอดทน ความกตัญญูกตเวที มองเห็นคุณค่าของการเรียนแต่ไม่มีโอกาส ดังนั้นสิ่งที่สังคมไทยควรเรียนรู้ คือการเปลี่ยนมุมมองต่อเด็กนอกระบบใหม่ ช่วยกันเยียวยาชีวิต ให้โอกาส รวมถึงช่วยกันสมทบความช่วยเหลือเพื่อสร้างคน ให้ชีวิตใหม่ต่อยอดอนาคตทางการศึกษาให้กับเด็กเหล่านี้”นายสมพงษ์ กล่าว

ด้านนายพัฒนะพงษ์  สุขมะดัน  ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า กสศ.ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ  สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) และเครือข่าย 20 จังหวัดสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง น่าน แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก ขอนแก่น มหาสารคาม สุรินทร์ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี นครราชสีมา กาญจนบุรี นครนายก ระยอง สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ยะลา และสงขลา  ดำเนินโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ระดมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาอายุระหว่าง 2-21 ปี  โดยทั้ง 20 จังหวัดจะใช้ระบบข้อมูลสารสนเทศเชื่อมฐานทะเบียนราษฎร์กระทรวงมหาดไทย กับข้อมูลเด็กปฐมวัยของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ส่วนเด็กเยาวชนในระบบการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ และข้อมูลเด็ก เยาวชนนอกระบบการศึกษาจาก กศน. เพื่อคัดกรองรายชื่อเด็กเยาวชนนอกระบบให้เป็นปัจจุบันที่สุด

นายพัฒนะพงษ์ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลที่ได้มาจากความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ พบว่าในเบื้องต้นจนถึงช่วงเดือน กันยายน 2562  พบข้อมูลเด็กและเยาวชนนอกระบบที่มีอายุระหว่าง 2-21 ปี เฉพาะใน 20 จังหวัด  มีจำนวน 867,242 คน  แบ่งเป็น เด็กปฐมวัยช่วงอายุ 2-6 ปี จำนวน 242,002 คน ช่วงอายุ  7-17 ปี จำนวน 177,383 คน และอายุระหว่าง 18-21 ปี จำนวน  447,846 คน สำหรับตัวเลขเด็กและเยาวชนนอกระบบรายจังหวัด เช่น นครราชสีมา 116,422 คน อุบลราชธานี 95,613 คน  เชียงใหม่ 92,525 คน ขอนแก่น 78,977 คน สุราษฎร์ธานี 59,261 คน  มหาสารคาม 45,103 คน กาญจนบุรี 43,914 คน พิษณุโลก 36,904 คน ยะลา 34,991 คน เป็นต้น  ซึ่งทั้ง 20 จังหวัด จะใช้ตัวเลขเหล่านี้เป็นฐานข้อมูลสำคัญในการทำงาน แต่ละจังหวัดจะนำรายชื่อเด็กและเยาวชนนอกระบบเหล่านี้ พร้อมระดมสรรพกำลัง ออกไปค้นหา สำรวจให้พบตัวเด็ก หลังจากนั้นทีมสหวิชาชีพจะวิเคราะห์ปัญหาเชิงลึกเป็นรายบุคคลเพื่อทำแผนดูแลเด็กเป็นรายกรณีด้วยแนวทางที่มีความยืดหยุ่น  โดยมี ท้องถิ่น/ท้องที่ ประชาสังคม องค์กรเอกชน มูลนิธิต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมด้วย มีเป้าหมายเพื่อส่งต่อให้เด็กส่วนใหญ่กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา หรือฝึกทักษะด้านการศึกษาและอาชีพ ส่วนกลุ่มที่ยังไม่พร้อมคืนสู่ระบบการศึกษา ก็จะเข้าสู่กระบวนการเยียวยา/ฟื้นฟูจากทีมสหวิชาชีพต่อไป


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"