วันแรดโลก! 'สวนสัตว์เชียงใหม่' เลี้ยงขันโตกให้ 'กาลิ' แรดโสดอายุ 34 ปี


เพิ่มเพื่อน    

22 ก.ย.62 - สวนสัตว์เชียงใหม่ จัดกิจกรรมวัน  “แรดโลก” WORLD RHINO DAY 22 กันยายนของทุกปี ณ ส่วนจัดแสดงแรดดำอินเดียชื่อ “กาลิ” เพศเมีย อายุ 34 ปี สัตว์ป่าหายากที่อยู่คู่กับสวนสัตว์เชียงใหม่มานานที่สุดหนึ่งเดียวในประเทศไทยเท่านั้น

น.ส.อุฬาริกา กองพรหม รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ เป็นประธานเปิดกิจกรรม พร้อมเปิดเผยว่า แรด "กาลิ" ถูกส่งตัวเข้ามาจากประเทศเนปาล โดยสมเด็จพระราชาธิบดี แห่งประเทศเนปาล น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และทรงพระราชทานให้กับองค์การสวนสัตว์ฯ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2529

ขณะนั้น แรด "กาลิ" มีอายุเพียง 1 ปี 2 เดือน น้ำหนัก 375 กิโลกรัม ขนาดลำตัวยาว 86 นิ้ว(ประมาณ 7 ฟุต 2 นิ้ว) สูงช่วงไหล่ 46.5 นิ้ว พร้อมจัดส่งมาไว้ที่สวนสัตว์เชียงใหม่จนถึงปัจจุบันโดยไม่มีคู่

สำหรับกิจกรรมปีนี้ ภายในส่วนจัดแสดงแรดอินเดีย ทีมพี่เลี้ยงได้จัดขันโตกอาหารสัตว์ขนาดใหญ่ ประกอบด้วยอาหารโปรดเตรียมมอบให้กับ “กาลิ” ด้วย เช่น ฟางสด หญ้าสดและผลไม้หลายชนิด อาทิ ฟักทอง แตงโม แครอท ข้าวโพดหวาน

ที่บริเวณด้านหน้าส่วนจัดแสดง มีการจัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับแรดให้นักท่องเที่ยวและเด็กๆ โดยแรด"กาลิ" เกิดเมื่อปี 2528 ปัจจุบันอายุ 34 ปี มีน้ำหนักตัวประมาณ 2.5 ตัน สูงกว่า 2 เมตร มีนอเดียว ผิวหนังมีรอยย่นพับมองดูคล้ายเสื้อเกราะนักรบโบราณ ชอบกินใบไม้เป็นหลักและสุขภาพแข็งแรงดี ปัจจุบันครองตัวเป็นโสดอยู่เพียงตัวเดียวแห่งเดียวในประเทศไทย อยู่ที่สวนสัตว์เชียงใหม่

สำหรับจุดเริ่มต้นของ “วันแรดโลก” ถือกำเนิดขึ้นในปี 2553 โดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature - WWF) แห่งแอฟริกาใต้ จากการริเริ่มของ ลิซ่า เจน แคมป์เบล และ ซิงห์ ที่ผลักดันให้มีการจัดตั้งวันแรดโลก เพื่อเป็นอีกหนึ่งหนทางเพิ่มความตระหนักถึงการลดจำนวนลงของประชากรแรดทั่วโลก และเห็นความสำคัญในการอนุรักษ์แรดที่ใกล้จะสูญพันธุ์ที่มีสาเหตุหลักมาจากการลักลอบล่าของมนุษย์

สาเหตุหลักของการล่าแรดคือ ความต้องการที่จะนำนอของแรดไปขายในรูปแบบของเครื่องประดับต่างๆ หรือนำไปเป็นส่วนผสมของยาตามความเชื่อ แต่แท้จริงแล้วส่วนประกอบทางเคมีของนอแรดนั้นไม่ต่างอะไรไปกับเส้นผมมนุษย์

ในภาพรวม ประชากรแรดป่าทุกสายพันธุ์นั้นตกอยู่ในสถานการณ์วิกฤต โดยสายพันธุ์ที่เรียกได้ว่าอยู่ใกล้ขอบเขตของการสูญพันธุ์มากที่สุดคือ แรดชวา ที่ครั้งหนึ่งเคยมีอยู่ในป่าของประเทศไทยและเพื่อนบ้าน เช่น ลาว เวียดนาม และกัมพูชา แต่เป็นที่น่าเศร้าว่าแรดชวาตัวสุดท้ายในบริเวณนี้ถูกสังหารไปเมื่อปี 2010 ที่เวียดนาม

ปัจจุบันแรดชวามีหลงเหลืออยู่แค่ในผืนป่าของอุทยานแห่งชาติอูจุงกูลนบนเกาะชวา อินโดนีเซีย ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้แรดชวาไม่มีอยู่ในสวนสัตว์ และถือว่าเป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่พบได้ยากที่สุดในโลก

นอกจากนั้นแล้ว แรดสุมาตรา (กระซู่) ที่มีลักษณะคล้ายแรดชวา ก็ตกอยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่พอๆ กัน และกระซู่จัดเป็นสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติแล้วในประเทศไทย


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"