เที่ยวลำปาง...ปลายทางฝัน รำลึก101ปี“ขัวหลวงรัษฎา”


เพิ่มเพื่อน    

 หลังจากจังหวัดลำปางได้เปิดตัวแคมเปญ   “ลำปาง...ปลายทางฝัน” เมื่อต้นปี 2561 พร้อมชูภาพลักษณ์เมืองเล็กๆ น่ารัก โรแมนติก เมืองเก่าที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานน่าเรียนรู้ น่าค้นหา ทั้งในแง่ของศิลปวัฒนธรรม วิถีล้านนาดั้งเดิม ธรรมชาติอันบริสุทธิ์ ค่าครองชีพต่ำ เที่ยวคุ้มค่า อาหารอร่อย ของฝาก ของที่ระลึกน่าสนใจ ฯลฯ โดยหวังว่าเป็นจุดขายเชิญชวนผู้คนเดินทางมาสร้างความสุขความประทับใจตลอดทั้งปีไปแล้ว

    ล่าสุด นายอนันต์ สีแดง ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานลำปาง รับผิดชอบพื้นที่ลำปางและลำพูน ได้กล่าวเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาเยือนเมืองรถม้าอีกครั้งในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายนนี้  เพราะมีงานประเพณีสำคัญที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวจังหวัดลำปางและลำพูน 3 กิจกรรมสำคัญที่ไม่ควรพลาด
 ประเดิมงานแรกคือ งานรำลึกประวัติศาสตร์ 101 ปี “ขัวหลวงรัษฎา” จังหวัดลำปาง จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-25 มีนาคม 2561 หรืองานระลึกถึงความเป็นมาของ “สะพานรัษฎา” ที่สร้างขึ้นในเดือนมีนาคม พ.ศ.2460 และจะครบวาระ 101 ปีในเดือนมีนาคมนี้ เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ทาสีขาวโดดเด่นสะดุดตา ด้วยรูปทรงโค้งคันธนู รวม 4 โค้ง ตั้งขวางเต็มลำน้ำ โดยมีสัญลักษณ์สำคัญหลายประการ อาทิ “เสาสี่ต้น” ที่ตั้งอยู่ตรงหัวสะพานฝั่งละสองต้น เปรียบดังความมั่นคงแข็งแรงและสง่างาม, “พวงมาลายอดเสา” บนยอดเสาทั้งสี่ด้านของเสาทั้งสี่ต้น เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5  
     นอกจากนี้ สะพานยังมีความมั่นคง และตั้งอยู่ในแม่น้ำวัง ผ่านพ้นวิกฤติมาอย่างยาวนาน ทั้งเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ เมื่อปี พ.ศ.2463 ที่เกิดเหตุท่อนซุงจำนวนมหาศาลไหลมากับสายน้ำเชี่ยวกราก และช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 ราวปี พ.ศ.2485-2488 ซึ่งครูลูซี สตาร์ลิง ผู้อำนวยการโรงเรียนวิชชานารี ในฐานะที่ปรึกษาฝ่ายสัมพันธมิตร ได้ขอยกเว้นการทำลายสะพานรัษฎาภิเศก โดยให้เหตุผลว่า จุดนี้มีเพียงทหารญี่ปุ่นที่เป็นเสนารักษ์ และเป็นย่านโรงพยาบาล ไม่มีผลทางยุทธศาสตร์ใดๆ สะพานรัษฎาภิเศกจึงรอดพ้นการถูกทิ้งระเบิดมาได้ แต่ก็ยังโดนกระสุนปืนจากเครื่องบินอยู่บ้าง
      กิจกรรมภายในงาน ประกอบไปด้วย การประดับไฟบริเวณสะพานรัษฎาภิเศก, การละเล่น หนังสือย้อนยุค,นิทรรศการประวัติสะพานรัษฎาภิเศก, มุมถ่ายภาพคู่สะพานรัษฎาภิเศก, การออกร้านจำหน่ายสินค้า OTOP และอาหารพื้นเมือง, นั่งรถม้าชมสะพาน พร้อมด้วยกิจกรรมบนเวทีเล็ก เช่น ร้องเพลงลูกกรุง, การประกวดแต่งกายย้อนยุคนานาชาติ, รำวงย้อนยุค/ลีลาศ ส่วนกิจกรรมบนเวทีใหญ่ อาทิ พิธีเปิด/ละครอิงประวัติศาสตร์/ประกาศผลแต่งกายย้อนยุค และทำบุญตักบาตรบนสะพานรัษฎาภิเศก วันที่ 25  มีนาคม 2561 ในช่วงเช้า
ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานลำปาง กล่าวว่า  กิจกรรมที่สอง คืองาน “สลุงหลวง กลองใหญ่ ปี๋ใหม่เมืองนครลำปาง” ระหว่างวันที่ 9-13 เมษายน 2561 ถือเป็นงานเทศกาลประเพณีใหญ่ประจำปีของจังหวัด ที่จัดงานอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อให้ประชาชนชาวลำปางได้ร่วมเฉลิมฉลองต้อนรับเทศกาลมหาสงกรานต์ และร่วมสืบสานสร้างจิตสำนึกให้ชาวลำปางได้เกิดความภาคภูมิใจ ตระหนักถึงคุณค่าในการธำรงเอกลักษณ์ประเพณีที่ดีงามของชาวล้านนาลำปาง
สำหรับกำหนดการจัดงานในวันที่ 9-10 เมษายน 2561 มีกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ อาทิ ประกวดแข่งขันการตีกลองปู่จาชิงถ้วยพระราชทาน สวนสาธารณะเขลางค์นคร, วันที่ 11 เมษายน 2561 ประกวดเทพบุตร เทพธิดาสลุงหลวง บริเวณสวนสาธารณะเขลางค์นคร, วันที่ 12 เมษายน 2561 ช่วงเช้าพิธีอัญเชิญพระเจ้าแก้วมรกตดอนเต้า จากวัดพระธาตุลำปางหลวง และการทำแกงฮังเลหลวง สวนสาธารณะห้าแยกหอนาฬิกา  
 ช่วงบ่าย ชมขบวนแห่สลุงหลวงจากถนนสายวัฒนธรรม ชมช่างฟ้อนจำนวน 2561 คน ฟ้อนเล็บบริเวณห้าแยกหอนาฬิกา เพื่อต้อนรับองค์พระเจ้าแก้วมรกตและขบวนแห่สลุงหลวง ซึ่งจะเคลื่อนมาถึงพร้อมกันบริเวณข่วงนคร, วันที่ 13 เมษายน 2561 ช่วงเช้า ทำบุญตักบาตร รับพรปีใหม่เมือง เพื่อความเป็นสิริมงคล  ช่วงบ่าย ชมประกวดขบวนแห่ปีใหม่เมืองนครลำปาง จาก 13 อำเภอ และชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านล้านนา บริเวณข่วงนคร
     ส่วนงานสุดท้ายข้ามไปยังพื้นที่ต่อเนื่องที่จังหวัดลำพูน “ประเพณีสงกรานต์อำเภอป่าซาง” วันที่ 15 เมษายน เป็นประจำทุกปี พบกับขบวนแห่จากหน้าวัดฉางข้าวน้อยเหนือ ไปตามถนนสายป่าซาง-ลำพูน ผ่านหน้าตลาดป่าซางจนถึงที่ว่าการอำเภอป่าซาง ประกอบด้วยขบวนของแต่ละตำบลทั้ง 9 ตำบล ภายในขบวนมีขบวนกลองสะบัดชัย ขบวนสาวงามแต่งกายชุดพื้นเมือง ชุดยอง ขบวนนก ขบวนปลา เพื่อนำไปปล่อยหลังจากเดินขบวนเสร็จ ทุกปีตามสองฟากถนนจะมีประชาชนมาเที่ยวชมขบวนแห่อย่างเนืองแน่น พร้อมทั้งเล่นน้ำสงกรานต์ไปด้วย เป็นวาระแห่งความสนุกสนาน ทั้งหญิงชาย เด็ก และผู้ใหญ่ พอทุกขบวนเดินทางมาถึงที่ว่าการอำเภอป่าซางเรียบร้อยแล้ว สาวงามที่นั่งมาบนรถขบวนแห่จะเข้าร่วมประกวดนางสาวสงกรานต์ ซึ่งจะทำการตัดสินภายในคืนนั้น 
    ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานลำปาง กล่าวต่อว่า   นอกจากงานประเพณีที่สำคัญทั้ง 3 งานข้างต้น จังหวัดลำปางยังมีสถานที่ท่องเที่ยวและกิจกรรมตลอดทั้งปี 2561 อาทิ “เที่ยวแม่แจ๋ม แจ่มแต๊หนา” มหัศจรรย์หล่มภูเขียว อำเภองาว, เทศกาลดนตรี “แจ้ซ้อนมิวสิค เฟสติวัล ตอนคืนวัน พระจันทร์ ลำปาง”, "วิ่ง ว่าย ไต่ ปั่น", "เที่ยวตามรอยภาพยนตร์", "ไหว้พระ เพิ่มพลังชีวิต เสริมสิริมงคล", "สรงน้ำพระธาตุดอยพระฌาน", "ไหว้สาพุทธคยามหาเจดีย์แห่งวัดจองคา เนื่องในวันวิสาขบูชา",    "มหกรรมกลองล้านนาเฉลิมพระเกียรติ", "สืบสานตำนานอาหารล้านนา", "โซอาร์ต@ลำปาง", "ท่ามะโอ เรโทร แฟร์" ชูภาพลักษณ์อาคารบ้านไม้สักอายุกว่า 100 ปี ทุกวันเสาร์สัปดาห์ที่สามของเดือน ตั้งแต่เวลา 10.30-20.30 น. บริเวณบ้านหลุยส์ (บ้านของหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ บุตรชายของแอนนา แฮเรียต เลียวโนเวนส์ ครูชาวอังกฤษในราชสำนักสยาม และได้กลายมาเป็นตัวละครเอกแสนโด่งดังในละครเพลงเรื่อง The King and I ซึ่งก็สร้างจากหนังสือนวนิยายชื่อ Anna and the King)   บ้านเลขที่ 1 ถนนป่าไม้ ซึ่งในอดีตเคยเป็นสถานที่ที่รุ่มรวยด้วยกิจการค้าไม้ในจังหวัดลำปาง, “ท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ดูงาน”, “ส่งเสริมการเที่ยวรถไฟไปอุโมงค์ขุนตาลเชื่อมโยง 5 จังหวัดภาคเหนือ” รวมไปถึงการนำเสนอเมืองลำปางให้น่าเที่ยวด้วย "ประติมากรรม" และ Street Art บริเวณย่านเมืองเก่ากาดกองต้า ชุมชนท่ามะโอ ชมวิวทิวทัศน์ริมแม่น้ำวัง และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย 
 นางสาวสมฤดี จิตรจง ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคเหนือ ททท. กล่าวเสริมว่า ททท.ได้นำเสนอมุมมองเที่ยวลำปางครั้งใหม่ไม่เหมือนเดิม โดยนำแหล่งท่องเที่ยวเดิมที่เป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เกิดการเดินทางเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวชุมชน อันจะขยายผลสู่แคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง "Amazing Thailand Go Local" หรือเที่ยวท้องถิ่นไทย ชุมชนเติบใหญ่ เมืองไทยเติบโต มีกิจกรรมหลากหลาย ด้วยการดึงอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นมาเป็นจุดเด่น ไม่ว่าจะเป็นอาหารถิ่น หรือวัฒนธรรม โดยจะร่วมกับชุมชนและบริษัททัวร์ทำกลยุทธ์เชิงการตลาดเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยจะทำคู่มือแนะนำเส้นทางท่องเที่ยวเมืองรองที่สามารถนำใบเสร็จรับเงินมาหักลดหย่อนภาษีได้ ตั้งเป้าจะเพิ่มนักท่องเที่ยวเข้าสู่เมืองรองไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน สร้างรายได้สู่เศรษฐกิจฐานรากไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท 
ทั้งนี้ กิจกรรมดึงดูดคนมาเมืองลำปางจะมีทุกรูปแบบ เช่น กิจกรรมเที่ยวชุมชนได้ลุ้นได้แต้ม ซึ่งจะร่วมกับ Google ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อวางแผนการท่องเที่ยวด้วยตนเอง ที่สำคัญจะมีการแจกคูปองใช้เป็นส่วนลดซื้อสินค้าและบริการ กิจกรรมกระตุ้นตลาด MICE จัดประชุมกิจกรรม CSR และเน้นการเดินทางในวันธรรมดา...รักลำปาง อย่าลืมแวะมาเที่ยวลำปาง...เมืองที่ไม่หมุนตามกาลเวลา
“เชื่อว่ากิจกรรมและแหล่งท่องเที่ยวของเมืองลำปาง ที่เผยแพร่อัตลักษณ์อันโดดเด่นให้ออกสู่สายตาประชาชนอย่างกว้างขวาง จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและตลาดการท่องเที่ยวของจังหวัด และสนับสนุนนโยบายรัฐบาล ตามโครงการ “เมืองต้องห้าม…พลาด” และเพื่อสนับสนุนปีแห่งการท่องเที่ยวของนครลำปาง ให้เป็นเมืองน่าอยู่ นครแห่งความสุข สมเจตนารมณ์ “ลำปางนครแห่งความสุข ที่ไม่หมุนตามกาลเวลา” ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคเหนือ ททท. กล่าวปิดท้าย
 ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานลำปาง รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดลำปางและลำพูน โทรศัพท์ 0-5422-2214-5 ได้ทุกวัน หรือโทร. 1672 เบอร์เดียวเที่ยวทั่วไทย.
สรณะ รายงาน
/-//-
 

แกลลอรี่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"