บันทึกทูตไทยเรื่องจีน : อย่างไรคือความสัมพันธ์ Win-Win


เพิ่มเพื่อน    

             วันนี้เป็นตอนต่อจากเมื่อวาน...จากบันทึกของคุณวิบูลย์ คูสกุล อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำจีนที่ได้นำเสนอเมื่อเร็วๆ นี้ในการสัมมนาพิเศษว่าด้วยแง่คิดความสัมพันธ์ไทยกับจีนที่มีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเป็นประธานที่โรงเรียนนายร้อย จปร.อย่างน่าสนใจยิ่ง

                เป็นตอนที่ทูตวิบูลย์เล่าถึงวิวัฒนาการความสัมพันธ์ของไทยจีนเข้าสู่ยุคปัจจุบัน อันเป็นการย้ำความสำคัญของการคบหากันบนพื้นฐานของการได้ประโยชน์ทั้งสองประเทศ หรือที่เรียกว่า Win-Win

                ท่านทูตวิบูลย์เล่าต่อว่า ช่วงระยะเวลาระหว่างนี้ ถือว่าความสัมพันธ์ไทยจีนพัฒนามาถึงจุดที่ดีมากที่สุดอีกช่วงหนึ่ง นอกจากการแลกเปลี่ยนการเยือนของผู้นำทางการเมืองและภาคส่วนต่างๆ แล้ว ที่สำคัญมีการเสด็จเยือนอย่างเป็นทางการของสมาชิกชั้นสูงในพระราชวงศ์ทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จเยือนจีนอย่างเป็นทางการในปี 2541 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเยือนจีนสม่ำเสมอ และเสด็จเยือนจีนอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ปี 2544 และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเยือนจีนอย่างเป็นทางการเพื่อทรงคอนเสิร์ตกู่เจิงในปี 2545

                โดยก่อนหน้านั้น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ก็เคยเสด็จเยือนจีนในปี 2539 ที่สำคัญที่สุด สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในขณะนั้น ทรงเป็นผู้แทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินเยือนจีนอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของประธานาธิบดี เจียง เจ๋อหมิน ในปี 2543 ซึ่งเป็นการเสด็จเยือนตอบที่ประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน ได้เดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการก่อนหน้านี้ในปี 2542 และต่อมาประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ของจีนก็ยังได้เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในปี 2546 รวมทั้งย้อนหลังกลับไปในปี 2528 ประธานาธิบดีหลี่ เซียนเนี่ยน ก็เคยเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

                3.ยุคปัจจุบัน-ตกผลึกประเด็นความสัมพันธ์

                ถ้าจะว่าไปแล้ว ความสัมพันธ์ไทย-จีนในแต่ละยุค แม้รูปแบบจะปรับเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม อย่างไรก็ดี เนื้อหาสำคัญคือการอำนวยหรือเกื้อกูลผลประโยชน์ระหว่างกันในกระบวนความสัมพันธ์นั้นก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ผู้เขียนเชื่อว่าความร่วมมือสองฝ่ายสามารถตั้งอยู่บนพื้นฐานการพัฒนาผลประโยชน์ที่มีร่วมกันในลักษณะ “Win-Win” ได้

                เพื่อตอกย้ำในประเด็นนี้ ในช่วงต่อมาที่ผู้เขียนดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน (อยู่จีนรอบที่ 5) ในหลายโอกาส ไม่ว่าจะกับสื่อมวลชนหรือในเวทีสัมมนา ในบริบทเกี่ยวกับประเด็นผลประโยชน์ร่วมกัน โดยเฉพาะภายใต้กรอบแนวคิดเส้นทางสายไหมทางทะเลของจีนนั้น

                ผู้เขียนมักยกตัวอย่างความรุ่งเรืองของ “การค้าสำเภาไทย-จีน” ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี ว่าในยุคนั้นการค้าทางทะเลระหว่างไทย-จีนเจริญถึงขีดสุด มีกองเรือสำเภาแล่นขนส่งสินค้าระหว่างเมืองท่าไทยจีน ขาไปบรรทุกข้าว ดีบุก ไม้ซุง ของป่าหรือแม้กระทั่งรังนกนางแอ่นจากสยาม ขากลับจากจีนบรรทุกผ้าไหม ใบชา เครื่องปั้นดินเผา หรือหลายครั้งก็ถือโอกาสบรรทุกตุ๊กตาหิน หรือที่เรียกว่า “ตัวอับเฉา” ไว้ถ่วงน้ำหนักเรือโต้คลื่นขากลับ ตุ๊กตาหินเหล่านี้ปัจจุบันยังยืนตระหง่านต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนตามวัดต่างๆ ในกรุงเทพฯ

                จากความเชื่อของผู้เขียนที่ตอกย้ำเสมอว่า ความร่วมมือสองฝ่ายที่จะเอื้อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีและยั่งยืนนั้นต้องเป็นการเกื้อกูลประโยชน์ร่วมกัน

                ดังนั้นในช่วงที่ผ่านมา ทุกครั้งเมื่อได้รับทาบทามให้ไปพูดเกี่ยวกับ BRI หรือ Belt and Road Initiative ผู้เขียนก็มักจะแสดงความเห็นว่า ถ้าสำหรับเนื้อหา BRI ประการเดียว อาจเหมาะสมกว่าที่จะเชิญผู้ทรงคุณวุฒิของจีนเป็นผู้นำเสนอ สำหรับผู้เขียน ในฐานะที่เคยเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำจีน จึงจะขอให้เป็นเรื่องทวิภาคีที่มุ่งประเด็น เช่น BRI ของจีนจะมีส่วนช่วยเสริม หรือตอบสนองต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยอย่างไรด้วย โดยเฉพาะตามยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ของรัฐบาลไทย

                ในส่วนนี้จึงน่ายินดีที่ปัจจุบันคำว่า “ข้อริเริ่ม” “Belt and Road Initiative” หรือ BRI มีการใช้กันอย่างเป็นทางการทั่วไปมากกว่าจะใช้คำว่า “ยุทธศาสตร์” ซึ่งคำว่า “ข้อคิดริเริ่ม” หรือ “Initiative” ในภาษาอังกฤษย่อมสื่อความหมายกว้างไกลกว่าในแง่ผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศตามแถบเศรษฐกิจและเส้นทางสายไหม สะท้อนจิตวิญญาณความรุ่งเรืองและการอำนวยประโยชน์ร่วมกันของเส้นทางสายไหมที่มีมาตั้งแต่ยุคโบราณ แน่นอนยังจะมีส่วนช่วยให้ประเทศต่างๆ เกิดความมั่นใจในประเด็น “The Rise of China” หรือการ “ผงาดขึ้นมาของจีน” นั้นว่าเป็นไปอย่างสันติ

                เพราะถ้าจะวิเคราะห์ถึงแก่นจริงๆ แล้ว ในกระบวนความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับกลุ่มประเทศอาเซียนโดยรวม รวมทั้งประเทศไทย ไม่มีสิ่งใดจะสำคัญเกินกว่าการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้เกิดขึ้นระหว่างกัน โดยผ่านผลประโยชน์จากความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง ซึ่งสองฝ่ายมีร่วมกันตั้งแต่แรกถึงปัจจุบัน.

                 (พรุ่งนี้ : BRI ของจีนกับ EEC ของไทย)

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"