บทสรุป: อนาคตสัมพันธ์ไทย-จีน


เพิ่มเพื่อน    

        วันนี้ผมขอนำตอนสุดท้ายบันทึกของคุณวิบูลย์ คูสกุล อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำจีน ที่ได้นำเสนอเมื่อเร็วๆ นี้ว่าด้วยแง่คิดความสัมพันธ์ไทยกับจีน ที่มีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเป็นประธานการสัมมนาที่โรงเรียนนายร้อย จปร.อย่างน่าสนใจยิ่ง วันนี้เป็นบทส่งท้ายครับ

                ผู้เขียนเคยได้รับเชิญให้ไปปาฐกถาที่วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ในโอกาสครบรอบ 40 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทยจีน เมื่อปี 2558 ผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตและแง่คิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทยจีนเป็น ๒ ส่วน

                ส่วนแรกผู้เขียนเสนอว่า หากพิเคราะห์ความสัมพันธ์ไทยจีนจาก "องค์ประกอบ ๓ ปัจจัยแห่งความสำเร็จ" ของจีนโบราณ คือ เทียนสือ (天时) ตี้ลี้(地利)เหรินเหอ(人和)ซึ่งเทียนสือ  หมายถึงจังหวะเวลาและโอกาส ตี้ลี้ หมายถึงทำเลชัยภูมิที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ และ เหรินเหอ คือปัจจัยเรื่องพลังสมัครสมานของคนในการขับเคลื่อน

                 ที่น่าสังเกตและน่ายินดีคือ ความสัมพันธ์ไทยจีนมีครบทั้ง ๓ ปัจจัย กล่าวคือ ปัจจัยที่ ๑ เรื่องจังหวะเวลาและโอกาส ยอมรับกันว่าศตวรรษนี้เป็นศตวรรษแห่งเอเชีย จีนไทยและอาเซียนก็รวมอยู่ตรงส่วนนี้ ปัจจัยที่ ๒ ว่าด้วยทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ อย่างที่ได้พูดถึงไทยเป็นศูนย์กลาง AEC ของอาเซียน  จีนมี BRI มีนโยบาย "เดินออกสู่ภายนอก" จีนเดินออกสู่ภายนอกเพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมออกสู่อาเซียนก็ต้องผ่านไทย แล้วไทยก็มี EEC ที่ตั้งเป็นโจทย์ให้เรามุ่งวางสถานะเพิ่มมูลค่าเป็นศูนย์กลางอาเซียนเชื่อมต่อจีน

                ปัจจัยที่ ๓ คือ เน้นเรื่องคนในการร่วมขับเคลื่อนความสัมพันธ์ "ไทยจีนมิใช่อื่นไกลพี่น้องกัน" อย่างน้อยที่สุดก็ไม่มีอุปสรรคกีดกันเรื่องเชื้อชาติหรือใดๆ ระหว่างกัน และผู้เขียนก็เชื่อว่า เทียนสือ ตี้ลี้ เหรินเหอ เป็นปัจจัยสำคัญที่นำสู่ความสัมพันธ์และผลประโยชน์ร่วมใกล้ชิดระหว่างไทยจีนที่มีมาตั้งแต่ยุคโบราณถึงปัจจุบัน

                ส่วนที่ ๒ ผู้เขียนอ้างคำกล่าวของปราชญ์ขงจื๊อที่เคยกล่าวไว้ตั้งแต่ยุคของท่านว่า 四十不惑  หมายถึง ตัวท่านเมื่ออายุล่วงมาถึง 40 แล้วก็ไม่มีข้อกังขาใดในชีวิต ดังนั้น ความสัมพันธ์ไทยจีนก็เช่นกัน ผู้เขียนคิดว่าเมื่อความสัมพันธ์ไทยจีนพัฒนามาจนครบรอบ ๔๐ ปีแล้วตั้งแต่ตอนนั้น พวกเราก็ควรจะต้องหมดข้อกังขาว่าจะคบค้าพัฒนาความสัมพันธ์กันต่อไปอย่างไร

                ดังเช่นที่มีบางภาคส่วนของสังคมตั้งเป็นประเด็น เมื่อลองพิจารณาตามข้อเท็จจริง นอกจากผลประโยชน์ในด้านอื่นๆ แล้ว ตัวเลขผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เป็นเฉพาะมูลค่าการค้าสองฝ่ายก็บอกอะไรเราได้หลายอย่าง เมื่อปีที่ผ่านมามูลค่าการค้าไทยจีนมีมากถึงกว่า 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  (เพิ่มจาก 25 ล้านเหรียญฯ ตอนเปิดความสัมพันธ์) นับเป็นผลประโยชน์ร่วมทางเศรษฐกิจที่สำคัญมากจนมิอาจปฏิเสธได้

                ทั้งนี้ยังไม่นับผลประโยชน์ด้านอื่นๆ เช่น การลงทุนที่เพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักทางเศรษฐกิจที่สำคัญยิ่งของไทย การไปมาหาสู่กันนั้นสามารถเพิ่มพูนความเข้าใจระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งข้อสรุปนี้ผู้เขียนมีมาตอนเป็นเอกอัครราชทูตประจำลาว น่าประหลาดใจว่าในปีที่นักท่องเที่ยวไทยไปลาวสูงเป็นประวัติการณ์มากถึง 1 ล้านคน ปีนั้นกลับเป็นปีที่มีปัญหาระหว่างกันน้อยที่สุด ปฏิเสธไม่ได้ว่าการไปมาหาสู่กันอย่างสม่ำเสมอในทุกระดับเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการเพิ่มพูนความเข้าใจระหว่างกัน ซึ่งเป็นผลประโยชน์ร่วมสำคัญอีกประการที่ทั้งสองฝ่ายต้องรักษาไว้ให้ดี

                ไทยจีนนับว่าโชคดีที่ไม่มีปัญหาพื้นฐานสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อความสัมพันธ์ระหว่างกัน แล้วก็โชคดีที่เราไม่ใช่ประเทศที่อ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะทะเลจีนใต้ที่มีความขัดแย้งกับจีน

                เหนือกว่าสิ่งอื่นใด ประเทศไทยมีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ให้ความสำคัญยิ่งต่อความสัมพันธ์ไทยจีน และมีบทบาทที่ทรงความสำคัญยิ่งต่อเนื่องตั้งแต่เปิดความสัมพันธ์ทางการทูตมาถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชกรณียกิจมากมายนานัปการที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้ทรงอุทิศแก่ความสัมพันธ์สองฝ่าย

                พระองค์ทรงมุ่งสร้างและสืบสานความสัมพันธ์ทั้งกับผู้นำทุกรุ่นทุกระดับและกับประชาชนจีนอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาร่วม 40 ปีที่ผ่านมา กรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ ทรงเป็นผู้นำพระองค์เดียวในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทยจีนที่ทรงพบผู้นำสูงสุดของจีนถึง 4 ใน 5 รุ่น ตั้งแต่ยุคท่านเติ้ง เสี่ยวผิง  ประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา จนถึงประธานาธิบดีสี จิ้นผิงในปัจจุบัน กล่าวได้ว่าทุกวันนี้ ไม่มีผู้นำระดับสูงของจีนคนใดที่ไม่รู้จักพระองค์ท่านในพระนาม "ซือหลินทง กงจู่" (诗琳通公主) หรือ "เจ้าหญิงสิรินธร" พระองค์ทรงเป็น 1 ใน 10 ของ "10 มหามิตรจีน" (十大中国缘) ที่มีการโหวตทาง China Radio International เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2552 มีคนจีนโหวตให้พระองค์ท่านถึง 15 ล้านเสียง เขาใช้คำว่า 中国缘 ซึ่งจีนถือเป็นมิตรแท้ที่ผูกพันโดยพรหมลิขิตและบุพเพฯ ที่น่ากล่าวถึงในส่วนนี้คือ ความสนพระทัยจีนของพระองค์ท่านทุกเรื่อง เป็นความสนพระทัยอย่างแท้จริงต่อเนื่อง

                สิ่งที่ผู้นำจีนหรือคนจีนพูดถึงพระองค์ท่านคือ ทรงมี "ก่านฉิง" (感情) หรือความผูกพันที่เป็น  "passion" กับจีน การที่ทรง "เข้าถึง" หรือ "reach out" ออกไปสู่หลากหลายวงการในจีน ปรากฏผลชัดเจนเมื่อมีการโหวตทางอินเทอร์เน็ต จึงทรงเป็น "เสาหลัก" และ "สะพานเชื่อม" ที่สำคัญยิ่งอย่างแท้จริงของความสัมพันธ์ไทยจีนมาเชื่อมโยงยุคต้นจนถึงปัจจุบัน "คุณูปการ" ที่ขาดมิได้ในส่วนนี้ของพระองค์ท่านเป็นสิ่งที่ผู้นำจีนทุกคนชื่นชมและยกย่องมากมาโดยตลอด ทรงเป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจให้ทั้งสองฝ่ายหาทางพัฒนาต่อยอด ขยายเพิ่มความสัมพันธ์ไทยจีนให้เกิดเป็นประโยชน์ร่วมกันอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้นสืบไป. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"