หวั่นซํ้ารอยแก้ไฟใต้ ‘ชวน’เตือน7พรรคฝ่ายค้านแนะแก้รธน.ต้องดีกว่าเดิม


เพิ่มเพื่อน    

  "บิ๊กตู่-ประวิตร" ชี้เป็นสิทธิ์ฝ่ายค้านฟ้องกลับ "มทภ.4-กอ.รมน.ภาค 4 สน." ยันทุกอย่างยึดตาม กม. "กอ.รมน." ปัดกลั่นแกล้งฝ่ายค้าน-นักวิชาการเสวนาใต้ ลั่นทำตามหน้าที่ไม่เคยมอง ปชช.เห็นต่างเป็นศัตรู "พปชร." อัด "ปิยบุตร" ใช้อำนาจ กมธ.เรียก "บุรินทร์" สอบ ส่อแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม "เลขาฯ เครือข่ายรักษ์สยาม" ร้อง กกต.ยุบ 7 พรรคฝ่ายค้าน ระบุเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง  "ชวน" เตือนแก้ รธน.ต้องดีกว่าเดิม หวั่นผิดพลาดซ้ำรอยแก้ไฟใต้จนเกิดปล้นปืนปี 47  

    เมื่อวันที่ 7 ต.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีที่แกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านแจ้งความกลับ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์  แม่ทัพภาคที่ 4 (มทภ.4) และ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้ชำนาญการ สำนักงานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ซึ่งอาจรวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้บังคับบัญชาว่า ตรงนี้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมที่จะดำเนินการไป ใครจะฟ้องร้องอะไรก็ว่าไปตามหลักฐาน ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะฟ้องร้อง ขณะเดียวกันหน่วยงานก็มีหน้าที่ของเขาเหมือนกัน ฉะนั้นตนไม่ไปก้าวล่วงใครทั้งสิ้นและไม่อยากให้ขยายความขัดแย้งนี้ต่อไป 
    พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเช่นกันว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านฟ้องกลับก็แล้วแต่เขา ในทางกฎหมายถ้าทำได้ก็ทำไป เป็นเรื่องของกฎหมาย เพราะการฟ้องร้องแกนนำบนเวทีปราศรัยก็เป็นเรื่องของกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องในพื้นที่เขาพิจารณาเอง ไม่มีใครสั่ง ด้านความมั่นคงก็ไม่เกี่ยว เป็นเรื่องของด้านกฎหมายทั้งหมด 
    ถามว่าฝ่ายค้านมองเป็นการแสดงความเห็นตามระบอบประชาธิปไตย พล.อ.ประวิตรย้อนว่า ประชาธิปไตยแบบไหน แล้วแต่เขาจะคิด แต่นักกฎหมายว่าอย่างไรก็ต้องว่าไปตามนั้น เขาไม่ได้ห้ามไม่ให้จัดเวที แต่ไปพูดไปทำให้นักกฎหมายเห็นว่าผิดกฎหมาย 
    ส่วน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวเช่นกันถึงเรื่องที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เสนอปรับโครงสร้าง กอ.รมน.ว่า ทำได้ก็ทำไม่เป็นไร รื้อได้ก็ทำไป แต่เรื่องนี้เป็นกฎหมายก็ต้องแก้กฎหมาย แต่ต้องทำให้ประชาชนเข้าใจ การจะรื้อหรือปรับปรุงอะไรก็สามารถทำได้  แต่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายอะไรก็ตาม
    ขณะที่ พล.ต.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) แถลงข่าวยืนยัน กอ.รมน.ภาค 4 สน.แจ้งความดำเนินคดีแกนนำพรรคฝ่ายค้านและนักวิชาการ  12 คนที่ได้จัดเสวนา "พลวัตแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่" ตามหน้าที่  เพราะการเสวนาดังกล่าวได้มีการพูดคุยกัน ซึ่งตอนหนึ่งมีการพาดพิงมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญ จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง ทำให้เจ้าหน้าที่ กอ.รมน.ภาค 4 สน.ที่ทำหน้าที่ด้านกฎหมายดำเนินคดีแจ้งข้อหาแก่ผู้ที่เข้าร่วมเสวนาในวันนั้น 
กอ.รมน.ลั่นทำตามหน้าที่
    "สิ่งที่ดำเนินคดีมีความจำเป็นในเรื่องของการปฏิบัติงาน ถ้ามีการเพิกเฉยหรือละเว้น ทางเจ้าหน้าที่ อาจจะได้รับผลกระทบผิดตามมาตรา 157 ได้ คิดว่าการปฏิบัติต่างๆ เป็นไปตามกรอบของกฎหมายที่กำหนดไว้ ส่วนผลการตัดสินจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับศาลเป็นผู้ชี้ขาด โดยให้เป็นไปตามกระบวนการของศาล ซึ่งผมคิดว่าทุกคนคงเข้าใจตรงกันและเคารพต่อศาล" พล.ต.ธนาธิปกล่าว
    โฆษก กอ.รมน.กล่าวว่า ในส่วนที่มีการพูดถึงการปฏิรูป กอ.รมน.นั้น ยืนยันที่ผ่านมามีการปรับโครงสร้างที่ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงปี 51 และดำเนินการในปี 52 ซึ่งการดำเนินการในการปรับรูปแบบต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับมิติด้านความมั่นคงที่เกิดขึ้น และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน  ดังนั้นการปรับโครงสร้างของ กอ.รมน.ก็ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 59 ถึงปี 60 ได้มีการปรับโครงสร้างอย่างเต็มรูปแบบ เพราะมิติความมั่นคงเพิ่มขึ้นในวงกว้างอยู่ทุกวัน
    ถามว่ามีการระบุเมื่อ คสช.หมดอำนาจลงก็ถ่ายโอนอำนาจมาให้ กอ.รมน. พล.ต.ธนาธิปกล่าวว่า  ตนคิดว่านัยของการเพิ่มอำนาจน่าจะเป็นการเพิ่มบทบาทมากกว่า ซึ่งการที่ กอ.รมน.ต้องเข้าไปเป็นแกนกลางในการประสานงานเพื่อขับเคลื่อนงานทุกมิติที่เกิดขึ้น ปัจจุบัน กอ.รมน.ได้ดูแลทุกพื้นที่ หากพื้นที่ไหนมีปัญหาและหน่วยงานไม่สามารถแก้ปัญหาได้ โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบมากกว่า 2 หน่วยงาน กอ.รมน.ก็จะเพิ่มบทบาทเข้าไปดูแลและขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหานั้นๆ
    "ความเห็นต่างของพี่น้องประชาชนทุกฝ่ายและทุกกลุ่มสามารถยอมรับได้ เพราะเรามีระบอบประชาธิปไตย เราไม่เคยมองพี่น้องประชาชนเป็นศัตรู กอ.รมน.ยอมรับกฎกติกาทุกอย่าง ซึ่งดูได้จากที่กอ.รมน.ได้จัด 2 โครงการหลักขึ้น สามารถเห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน อาทิ โครงการผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยและโครงการพาคนกลับบ้าน การที่จะมองประชาชนที่เห็นต่างเป็นศัตรูไม่ใช่บริบทของ กอ.รมน. และเชื่อว่าทุกวันนี้ทุกคนเข้าใจ กอ.รมน.มากขึ้นในมิติของความมั่นคง" พล.ต.ธนาธิปกล่าว
    ซักว่าฝ่ายค้านแจ้งความกลับแม่ทัพภาคที่ 4 และ พล.ต.บุรินทร์ จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของกอ.รมน.และ กอ.รมน.ภาค 4 สน.หรือไม่ โฆษก กอ.รมน.กล่าวว่า คิดว่าไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด ซึ่งยอมรับว่าทุกคนต้องทำงานในหน้าที่ของแต่ละคน กอ.รมน.ภาค 4 สน.ถือว่าเป็นหน่วยงานในพื้นที่ที่เห็นว่ามีการดำเนินการพาดพิงไปถึงมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้าง ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องออกไปปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อดำเนินคดี 
    "คำตัดสินใดๆ ก็แล้วแต่ไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดที่จะรู้ว่าใครจะผิดหรือถูกอย่างไร เป็นอำนาจของศาลที่เป็นกระบวนการตัดสินให้ชัดเจนว่าข้อมูลนี้จะเป็นอย่างไรในอนาคต ก็ต้องรอฟังคำสั่งศาลต่อไป ผมขอยืนยันเรื่องนี้ไม่มีการกลั่นแกล้งทางการเมือง เพราะสิ่งที่ทำยึดตามกฎหมายเป็นหลัก เนื่องจากมีการพูดพาดพิงข้อความหนึ่ง ทำให้เกิดความไม่สบายใจของคนหลายกลุ่มและเป็นวงกว้าง จึงต้องดำเนินการเป็นรูปธรรมตามกรอบของกฎหมาย" โฆษ กอ.รมน.กล่าว
    ด้าน น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกรณีนายปิยบุตร  แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) จะใช้อำนาจประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เรียกตัว พล.ต.บุรินทร์มาชี้แจงกรณีแจ้งความเอาผิดดำเนินคดีตามมาตรา 116 ต่อแกนนำ 7 พรรคฝ่ายค้านว่า นายปิยบุตรอาจถูกสังคมตั้งคำถามว่าเป็นการใช้อำนาจประธานคณะกรรมาธิการกลั่นแกล้ง พล.ต.บุรินทร์ เพื่อขัดขวางการใช้สิทธิ์ทางศาลโดยสุจริต และแทรกแซงการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ เนื่องจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ  หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ที่นายปิยบุตรสังกัดอยู่เป็น 1 ในผู้ถูกกล่าวหาในคดีดังกล่าว
    "สังคมอาจสงสัยถึงความโปร่งใสและเป็นกลางของการดำเนินการดังกล่าวของคณะกรรมาธิการได้   และเพื่อเป็นการพิสูจน์ให้สังคมเห็นถึงความโปร่งใส เป็นกลาง ไม่มีการขัดกันของผลประโยชน์ ไม่ได้ใช้อำนาจกลั่นแกล้งผู้อื่นหรือเอื้อประโยชน์พวกพ้องตัวเอง นายปิยบุตรควรให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานอื่นที่เป็นกลางและไม่มีส่วนได้เสีย" รองโฆษก พปชร.กล่าว
ยื่น กกต.ยุบ 7 พรรคฝ่ายค้าน
    วันเดียวกัน นายนพดล อมรเวช เลขาธิการสมาพันธ์เครือข่ายรักษ์สยาม เดินทางไปที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นหนังสือถึงประธาน กกต.เพื่อให้ตรวจสอบพรรคการเมืองและยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบ 7 พรรคการเมือง ในกรณีที่ 7 พรรคการเมืองได้ไปร่วมจัดเวทีเสวนาเรื่อง "พลวัตแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่" ที่จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 28  ก.ย.ที่ผ่านมา 
    นายนพดลกล่าวว่า การเสวนาดังกล่าวนางชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 1 ซึ่งนักวิชาการคนดังกล่าวที่นำเสนอแนวคิดและเจตนานั้น เป็นผู้ที่ได้รับเชิญจากผู้ที่ร่วมเป็นเจ้าภาพของ 7 พรรคฝ่ายค้าน ย่อมต้องทราบกรอบ ขอบเขตและเนื้อหาการเสวนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นเจ้าภาพจัด ซึ่งการเสนอแนวคิดแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 แต่พรรคการเมืองที่เข้าร่วมเสวนาไม่ได้ให้ข้อมูลในลักษณะท้วงติง
    นายนพดลกล่าวว่า จากพฤติการณ์ดังกล่าวเห็นว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามระเบียบรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 มาตรา 49 มาตรา 255 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 21 และ 22 ซึ่งมีพฤติกรรมเข้าข่ายการกระทำผิดอันเป็นเจตนาเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
    "คนเป็นหัวหน้าพรรคจะปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่เกี่ยวข้อง เพราะทั้ง 7 พรรคการเมืองเป็นเจ้าภาพจัดงานเสวนาขึ้นมา ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ว่าทั้ง 7 พรรคจะไม่ทราบขอบข่ายการเสวนา จึงจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ จึงเห็นควรให้ กกต.ตรวจสอบพฤติกรรมของ 6 พรรคการเมือง ซึ่งประกอบไปด้วยพรรคเพื่อไทย, อนาคตใหม่, ประชาชาติ, เพื่อชาติ, พลังปวงชนไทย และเสรีรวมไทย และตรวจสอบว่าพรรคเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งเป็น 1 ใน 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านเกี่ยวข้องหรือไม่ เมื่อตรวจสอบแล้วเข้าข่ายเชื่อได้ว่า 7  พรรคได้กระทำการดังกล่าว ก็ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรค" เลขาธิการสมาพันธ์เครือข่ายรักษ์สยามกล่าว  
    อย่างไรก็ตาม นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) และผู้นำฝ่ายค้านยืนยันว่า ก่อนการแจ้งความดำเนินคดีกลับนั้น ตนและพรรคร่วมฝ่ายค้านได้ประชุมหารือกันหลายครั้ง โดยเห็นว่าสิ่งที่ตนและพรรคฝ่ายค้านได้พูดนั้นเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและเป็นนโยบายของพรรค
    "นโยบายของรัฐบาลก็กำหนดเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ในข้อเร่งด่วนเช่นกัน จึงไม่เห็นว่าสิ่งที่พูดมีข้อบกพร่องอย่างไร การแจ้งความดำเนินคดีของทหารจึงเป็นการทำหน้าที่เกินไปกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด และขอฝากไปถึง พล.ต.บุรินทร์ว่า ท่านเป็นนักกฎหมายทำหน้าที่กรมพระธรรมนูญมาอย่างดี  ทั้งในช่วงที่มี คสช.และ ม.44 จึงอยากให้ทำหน้าที่ให้ดีขึ้นกว่าเดิม" ผู้นำฝ่ายค้านกล่าว
    นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรค พท.กล่าวว่า 7 พรรคฝ่ายค้านได้แจ้งความกลับในฐานแจ้งความเท็จและหมิ่นประมาท การดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาของรัฐบาลผ่าน กอ.รมน. รัฐบาลไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า การดำเนินการลักษณะนี้เป็นการเพลี่ยงพล้ำทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ เพราะรัฐบาลกำลังเผชิญวิกฤติความศรัทธา เมื่อรัฐบาลดำเนินการเรื่องนี้จึงเป็นการทำลายบรรยากาศอันดีของบ้านเมือง 
    "รัฐบาลหลังเลือกตั้งต้องการการมีร่วมของทุกภาคส่วน อย่าคิดว่าอยู่ในยุคเชื่อรัฐบาลชาติพ้นภัย  หรืออยู่ในยุครัฐบาล คสช.ที่ประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพ จนทำลายกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน การแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกบรรจุในวาระเร่งด่วนข้อที่ 12 ไม่ช้าก็เร็ว รัฐบาลก็ต้องเปิดเวทีรับฟังความเห็นอยู่แล้ว พอฝ่ายค้านทำกลับมีปัญหา" โฆษกพรรค พท.กล่าว
ชี้แก้ รธน.ดูบทเรียนไฟใต้
    ที่สถาบันพระปกเกล้า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เรื่องนี้สภามีคณะกรรมาธิการศึกษาการแก้ไขเพิ่มเติมอยู่แล้ว แต่ยังไม่ถึงเวลาต้องพูดว่าจะต้องยกเลิกมาตราไหน เพราะต้องดูวิธีการก่อนว่าจะมีทางไหนแก้ไขรัฐธรรมนูญได้บ้าง เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้แก้ไขได้ยากมาก ซึ่งเนื้อหาสาระนั้นต้องหารือร่วมกันทุกฝ่ายรวมทั้ง ส.ว.ด้วย 
    นายชวนกล่าวว่า ที่พรรคฝ่ายค้านเดินสายรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ตนไม่ขอวิจารณ์แต่ขอแนะนำว่า เรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงจะต้องระมัดระวัง ถ้ายังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนว่าจะดีกว่าเดิมก็อย่าไปทำให้มันกระทบ การแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เคยมีความผิดพลาดมาแล้วเมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2544 และมีผลจนถึงทุกวันนี้ มีความสูญเสียไปถึง 6 พันกว่าคน เพราะความผิดพลาดจากนโยบายที่มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ โดยไม่ศึกษาว่านโยบายความมั่นคงเดิมนั้นมีอะไรดีหรือไม่ดีอย่างไร จนเกิดความขัดแย้งแตกแยก 
    "เสนอว่าถ้าเป็นเรื่องของความมั่นคง ขอให้ทุกฝ่ายทั้งฝ่ายค้าน รัฐบาล และฝ่ายที่เกี่ยวข้องศึกษาให้ถ่องแท้ ทั้งประวัติศาสตร์และแนวทางที่มีอยู่เดิมว่าสิ่งที่กำลังจะเสนอใหม่นั้นดีกว่าเดิมหรือไม่ ถ้าดีกว่าเดิมก็แก้ไขเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเห็นว่ายังไม่สามารถแก้ไขให้มันดีกว่าเดิมได้ก็ต้องระมัดระวัง โดยยึดจากความผิดพลาดเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2544 เป็นตัวอย่าง จนทำให้เกิดเหตุการณ์ 4 มกราคม 2547 ที่เกิดการปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส" นายชวนกล่าว
    ส่วนนายธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกรณีนายธนาธรเดินหน้าเคลื่อนไหวแก้รัฐธรรมนูญว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ตามกลไกรัฐสภา แต่ตนอยากให้นายธนาธรเคลื่อนไหวแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างสันติ ไม่อยากให้เคลื่อนไหวแบบปลุกระดมประชาชน สร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชน และไม่อยากให้เคลื่อนไหวแบบผิดกฎหมาย เพราะเมื่อส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมีการแจ้งความดำเนินคดีกันก็จะมากล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์สั่งให้ดำเนินการ ซึ่งนายกรัฐมนตรีไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเลย เป็นเรื่องของหน่วยงานราชการที่จะต้องดำเนินการหากมีการทำผิดกฎหมาย
    "การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเริ่มต้นจากประชาชนที่บริสุทธิ์ใจ มีเจตนาที่บริสุทธิ์จริงๆ อย่าเริ่มต้นด้วยความขัดแย้งเหมือนที่นายธนาธรทำอยู่ เพราะไม่เช่นนั้นจะนำไปสู่ความขัดแย้งอีก ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติจากประชาชนถึง 16.7 ล้านคน ทางที่ดีน่าจะเริ่มต้นด้วยคนกลาง ไม่ใช่เริ่มต้นด้วยผู้มีส่วนได้เสีย" นายธนกรกล่าว
    ถามถึงกรณีนายโจชัว หว่อง นักเคลื่อนไหวชาวฮ่องกงโพสต์รูปคู่นายธนาธร รองโฆษกพรรค พปชร.กล่าวว่า ตนภาวนาในใจว่าขออย่าให้นายธนาธรมีความคิดบางอย่างเหมือนที่ฮ่องกงประสบอยู่ในตอนนี้ เพราะพี่น้องคนไทยทั่วประเทศคงไม่ยอมให้ประเทศเกิดม็อบชุมนุมแบบฮ่องกงเหมือนทุกวันนี้  เพราะประเทศบอบช้ำมามากแล้ว วันนี้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยแล้ว ดังนั้นทุกอย่างแก้ไขตามกลไกรัฐสภาจะดีกว่า
    ทั้งนี้ นายโจชัว หว่อง แกนนำนักเคลื่อนไหวชาวฮ่องกงและเลขาธิการพรรคเดโมซิสโต ได้โพสต์รูปภาพบนเฟซบุ๊ก "Joshua Wong" โดยเป็นภาพที่ถ่ายคู่กับนายธนาธรระหว่างการเข้าร่วมงาน "Open  Future Forum" ที่จัดขึ้นโดยนิตยสารดิอีโคโนมิสต์ ที่เกาะฮ่องกง เมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา
    โดยนายโจชัว หว่อง กล่าวถึงนายธนาธรว่า หลังจากตั้งพรรคอนาคตใหม่ก็มีพัฒนาการที่เป็นที่ยอมรับในการผลักดันประเด็นเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศ และการกระจายรายได้ นายธนาธรยังพยายามผลักดันให้นำทหารออกจากการเมือง นำพลเรือนและปัญญาชนกลับเข้ามาเป็นรัฐบาล จากความพยายามทำลายกรอบการเมืองเก่า ทำให้เพียงการลงเลือกตั้งครั้งแรก พรรคอนาคตใหม่ก็กลายเป็นพรรคใหญ่อันดับ 3 ได้รับเลือกตัวแทนเข้ามาเป็น ส.ส.ถึงกว่า 80 ที่นั่ง แต่ในเวลาเดียวกันก็ถูกรัฐบาลทหารฟ้องร้องดำเนินคดีในข้อหาสร้างความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน และหากมีความผิดก็อาจถูกตัดสินให้จำคุกนานถึง 9 ปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของการถือกำเนิดขึ้นของขั้วอำนาจที่ 3 ในสนามการเมืองของไทย.
      


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"