ว่าด้วย 'หว่อง-ธนาธร' กับ 'ทรัมป์-สี จิ้นผิง'


เพิ่มเพื่อน    

           ผมเห็นรูปโจชัว หว่อง แกนนำประท้วงจีนที่ฮ่องกงลงรูปคู่กับคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในโอกาสที่ได้พบกันระหว่างร่วมงานประชุม Open Future Forum ที่ฮ่องกงเมื่อสัปดาห์ก่อน แล้วก็ทำให้คิดถึงโดนัลด์ ทรัมป์ และสี จิ้นผิงขึ้นมาทันใด

                ที่คิดถึงผู้นำจีนและมะกันขึ้นมาเพราะอยากรู้ว่า "หว่องกับธนาธร" คุยกันเรื่องจีนกับอเมริกา, เรื่องเสรีประชาธิปไตย, คอมมิวนิสต์ และอนาคตของการเมืองในภูมิภาคนี้อย่างไร

                หว่องเชื่อว่าทรัมป์จะยืนเคียงข้างการเรียกร้องประชาธิปไตยของผู้ประท้วงฮ่องกงจริงหรือ?

                ธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ (รวมถึงพรรคการเมืองไทยอื่นๆ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน) มีจุดยืนเรื่องฮ่องกงกับจีนแผ่นดินใหญ่อย่างไร?

                ทั้งสองคำถามในใจผมยังไม่มีคำตอบจากฮ่องกงและกรุงเทพฯ แต่ผมเชื่อว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการที่นักการเมืองรุ่นใหม่ของเอเชียจะต้องขบคิดถึงประเด็น

                ดุลแห่งอำนาจของโลก

                บทบาทของมหาอำนาจจีนและอเมริกา, ยุโรป, ญี่ปุ่น, อินเดีย เป็นต้น

                ผมรู้ว่าคนสนใจการเมืองในไทยเห็นรูปหว่องกับธนาธรที่หว่องเอาลงทวิตเตอร์ ก็คงจะมองหาด้านบวกและลบของ "เพื่อนร่วมอุดมการณ์" ของทั้งสอง

                คนชอบก็จะยินดีว่าเป็นการร่วมพลังข้ามประเทศแห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และต่อต้านระบอบการเมืองรวบอำนาจหรือรวมศูนย์

                คนไม่ชอบก็จะเห็นว่านี่เป็นการจับมือของนักการเมืองและนักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ของไทยกับฮ่องกง ที่ต้องการจะสร้างความสั่นคลอนให้ระบบเดิม

                แต่ผมสนใจว่าทั้งสองคนคุยกันในภาพกว้างว่าด้วยจุดยืนของคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของ "สมการแห่งดุลอำนาจใหม่ของโลก" เพียงใด

                เพราะคำถามนี้สำคัญมากสำหรับการที่คนรุ่นใหม่จะกำหนดยุทธศาสตร์และเป้าหมายของการรณรงค์เพื่อ "อนาคตที่ดีกว่าวันนี้" สำหรับสังคมของตัวเอง

                ตามข่าวที่ปรากฏนั้น หว่องได้โพสต์รูปถ่ายคู่กับธนาธรบนเฟซบุ๊ก โดยเจ้าตัวหวังว่าจะได้เดินทางไปเยือนประเทศไทยอีก

                หว่องเขียนว่าธนาธรเป็นหัวหน้าพรรค "อนาคตใหม่" ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปีก่อน ที่ได้ผลักดันเรื่องความเท่าเทียมทางเพศและการกระจายรายได้อย่างยุติธรรม

                หว่องบอกว่าพรรคอนาคตใหม่ยังสนับสนุนการนำทหารออกจากการเมืองของไทย แล้วนำ  "ปัญญาชน" เข้ามาเป็นรัฐบาล

                หว่องระบุอีกว่า ด้วยความพยายามทำลายขนบเก่าๆ ทางการเมือง ทำให้ในการเลือกตั้งครั้งแรก พรรคอนาคตใหม่ก็ได้เป็นพรรคอันดับ 3 ได้เก้าอี้ในรัฐสภาไปมากกว่า 80 ที่นั่ง

                หว่องบอกว่าในเวลาเดียวกันธนาธรก็ถูกรัฐบาลไทยฟ้องร้อง ด้วยข้อหาปลุกระดมมวลชนให้ต่อต้านรัฐบาลซึ่งทำให้อาจต้องโทษจำคุก 9 ปี

                หว่องบอกว่านี่เป็นการสะท้อนให้เห็นอิทธิพลของขั้วอำนาจที่ 3 ที่กำลังเกิดขึ้นในสนามการเมืองไทย

                หว่องเขียนต่อว่า "ตอนที่ผมได้คุยกับธนาธรนั้น ผมพูดถึงเรื่องที่เคยถูกรัฐบาลไทยกักตัวที่สนามบินในกรุงเทพฯ นาน 12 ชั่วโมงเมื่อ 4 ปีก่อน ต่อมาผมก็ได้รับแจ้งว่าผมถูกขึ้นบัญชีดำ ก่อนจะถูกเนรเทศกลับฮ่องกง ซึ่งผมไม่รู้ว่าเมื่อไรจะได้มีโอกาสไปประเทศไทยอีก ขณะที่ยังไม่แน่ชัดว่าในอนาคตเขา (ธนาธร) จะถูกห้ามเข้าฮ่องกงด้วยหรือไม่"

                หว่องเสริมว่า "แต่ผมหวังว่าในขณะที่อำนาจอนุรักษนิยมหรือลัทธิอำนาจนิยมกำลังแผ่ขยายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก พวกเราจะสามารถแลกเปลี่ยนและผลักดันคุณค่าของกระบวนการประชาธิปไตยในเอเชียตะวันออกต่อไป" หว่องเขียนทิ้งท้าย

                พรุ่งนี้ผมจะมาคุยต่อว่า ทำไมนักการเมืองและนักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่อย่างหว่องและธนาธรควรจะต้องคิดเรื่อง "สมการการเมืองระหว่างประเทศใหม่" ที่กำลังถูก "ป่วน" หรือ disrupt อย่างแรงในทุกๆ  ด้านด้วย

                พูดง่ายๆ คือทั้งสองคนคิดอย่างไรกับทรัมป์และสี จิ้นผิง...ที่เกี่ยวกับไทยและฮ่องกงโดยเฉพาะ?

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"