คอร์รัปชันไทยแปรรูปแล้ว!


เพิ่มเพื่อน    

    มีคนพูดเล่นๆ แต่มีความหมายจริงๆ ว่าถ้าคนไทยทำเรื่องดีๆ เหมือนกับที่เก่งนวัตกรรมเรื่องคอร์รัปชันแล้วไซร้ ประเทศไทยคงกลายเป็นมหาอำนาจมานานแล้ว
    นักวิชาการที่วิจัยเรื่องฉ้อราษฎร์บังหลวงท่านหนึ่งบอกว่า “นวัตกรรม” ล่าสุดของการโกงกินในไทยได้ “แปรรูป” แล้ว
    ทำได้เนียนกว่า, ล้ำกว่า และจับได้ยากกว่าเดิม
    ที่ว่า “แปรรูป” นั้น ดร.ธานี ชัยวัฒน์ บอกว่า งานวิจัยชี้คอร์รัปชันไทยได้ “พัฒนา” ไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว นั่นคือการโกงกินไม่ได้เกิดโดยตรงระหว่างประชาชนกับภาครัฐ แต่ผ่านตัวกลาง แปรรูปให้เอกชนเป็นผู้จัดการ  
    อาจารย์ธานีไปพูดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมในงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจัดเป็นงานสัมมนาวิชาการประจำปี   BOT Symposium 2019 พลิกโฉมเศรษฐกิจ พิชิตการแข่งขัน Competitive Thailand 
    ช่วงหนึ่งของงาน มีการนำเสนอผลวิจัย เรื่อง “เมื่อกฎ (หมาย) ขายได้ ตลาดแข่งขันของการคอร์รัปชันในสังคมไทย” โดย ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
    อาจารย์ธานีพูดถึงดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชัน (CPI) ตั้งแต่ปี 2538-2558 เป็นต้นมา ค่าดัชนีอยู่ที่ 32-38 จากคะแนนเต็ม 100 
    นั่นหมายความว่าระดับการคอร์รัปชันของไทยแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา
    และถ้าเทียบค่า CPI อันดับของประเทศต่างๆ ก็จะเห็นว่า อันดับของประเทศไทยมีแนวโน้มแย่ลงเรื่อยๆ จนส่งผลให้ประเทศไทยล้าหลัง เพราะหลายประเทศได้พยายามปรับเปลี่ยนให้มีความก้าวหน้า
    งานวิจัยที่ศึกษาเรื่องคอร์รัปชันที่ผ่านมาจำนวนมากในสังคมไทย มักจะเน้นไปที่ความถูกผิดที่อิงอยู่กับกฎหมาย และความดีเลวที่อิงกับศีลธรรมหรือศาสนา ขณะที่งานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์กลับมีจำนวนไม่มากนัก  
“การจ่ายสินบน (Bribery Fraud) การยักยอกงบประมาณ (Budget Misallocation) การใช้อํานาจบิดเบือน (Power Distortion) และการใช้สินทรัพย์ราชการเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน (Asset Misappropriation) ยุทธศาสตร์การยกระดับดัชนี CPI ส่วนใหญ่มุ่งยกระดับศีลธรรมจริยธรรม แต่หากเราทำ 4 กลุ่มดังกล่าวข้างต้นให้ชัดๆ เชื่อว่า CPI ของไทยขึ้นแน่” 
    อาจารย์ธานีพูดถึงพลวัตของความสนใจเรื่องคอร์รัปชันในสังคมไทย จำแนกคอร์รัปชันเป็น 4 ประเภท พบว่า ตั้งแต่ในปี 2526-2560 การจ่ายสินบน มีความผันผวนขึ้นลงตามนโยบายรัฐบาลแต่ละชุด การยักยอกงบประมาณสูงตลอดทุกช่วงเวลา เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ การใช้อำนาจโยกย้ายพวกพ้อง เริ่มมีให้เห็นตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา และการใช้ทรัพย์สินของรัฐเพื่อประโยชน์ส่วนตน เริ่มมีให้เห็นหลังปี 2543 เป็นต้นมา 
     “จะเห็นว่า พอปี 2560 คอร์รัปชันเป็น 4 ประเภท สูงหมดเลยเกือบทุกอัน” อาจารย์ธานีบอก ท่านย้ำว่าการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันทำแบบถอยหลัง ทั้งที่คอร์รัปชันเกิดไปแล้ว   
    “คอร์รัปชันมีพลวัต แต่เรากำลังแก้ปัญหาคอร์รัปชันตามหลัง”
    พูดง่ายๆ คือ คอร์รัปชันมีลูกเล่นใหม่ๆ ขณะที่คนปราบเรื่องฉ้อฉลตามไม่ทัน
    พูดถึงขนาดของคอร์รัปชัน ซึ่งวัดเรื่องสินบน และเรื่องของงบประมาณ นักวิจัยพบว่า มีมูลค่าเกือบ 65,000 ล้านบาทในปี 2557 สูงกว่าปี 2542 ที่มีมูลค่า 35,000 ล้าน หรือเกือบ 3 เท่า 
    “เทียบมูลค่าคอร์รัปชัน 65,000 ล้านบาท กับสาขาการผลิต จะอยู่ที่เซ็กเตอร์ที่ 16 ของภาคอุตสาหกรรม หรือเทียบกับจังหวัด มูลค่าคอร์รัปชันขนาดเท่ากับจังหวัดเพชรบุรี ชัยภูมิ ลำปาง มหาสารคาม เป็นจังหวัดกลางๆ" อาจารย์บอก
    นอกจากนี้ยังเป็นสาขาการผลิตที่มีค่าตัวทวี (Multiplier) สูงถึง 6.23 เท่า นั่นแปลว่าถ้าลดคอร์รัปชันลง 1 บาท จะทำให้ประเทศไทยมีรายได้สูงขึ้นถึง 6.5 เท่า หรือหากแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้ จะก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจมหาศาล” 
    อาจารย์ธานีกล่าวถึงกรอบเศรษฐศาสตร์มองคอร์รัปชัน เป็นบริการประเภทหนึ่ง มีตัวกลาง (Middleman) ของการติดต่อระหว่างภาครัฐกับเอกชน หรือประชาชน และทำกำไรจากการซื้อขายกฎหมาย กฎระเบียบ สิทธิประโยชน์บางประเภทของรัฐ ลดต้นทุนธุรกรรมการติดต่อกับภาครัฐ หรืออำนวยความสะดวกสบายในการประสานงานกับภาครัฐ และหลายครั้งตัวกลางเหล่านี้ก็เป็นตัวแทน (Broker) ซื้อขายกฎหมาย กฎระเบียบ และสิทธิประโยน์ของภาครัฐเสียเอง 
    ท่านฟันธงว่าคอร์รัปชันแปรรูป (Privatization) แล้ว กลายเป็นว่าเอกชนได้เข้ามาเป็นตัวกลางในการจัดการคอร์รัปชันแทนที่ประชาชนจะติดต่อกับภาครัฐโดยตรง
    เช่น บริษัทจัดการภาษี บริษัทรับทำบัญชี บริษัทชิปปิ้ง รวมถึงทนายที่มาช่วยจัดการคดีความ ทั้งนี้ เพื่อลดโอกาสในการถูกจับเรื่องคอร์รัปชันลง 
    “เงินคอร์รัปชันไม่ได้หายไปไหน แต่ไปอยู่ตัวกลางเหล่านี้ Privatization งานของภาครัฐ ให้เอกชนเป็นผู้จัดการ คอร์รัปชันไม่ได้เกิดโดยตรงระหว่างประชาชนกับภาครัฐ แต่ผ่านตัวกลาง ประชาชนไม่ได้จ่ายสินบนโดยตรงอีกแล้ว”
    นอกจากนี้ คอร์รัปชันยังเป็นธุรกิจขายตรง MLM จ่ายเงินคอร์รัปชันแล้ว ลูกค้าพอใจ จากผลสำรวจการให้บริการของธุรกิจนี้ จึงอยู่ในขั้นดี ถึงดีมาก (Good Customer Satisfaction) และจากการสอบถามหากจ่ายไปแล้ว ผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามคาดหวัง ส่วนใหญ่ไปร้องเรียน สื่อมวลชน ป.ป.ช. ป.ป.ท. และเว็บไซต์   
    “วันนี้คอร์รัปชัน จ่ายเงินก่อนได้ผลลัพธ์ทีหลัง หากไม่พอใจนำเรื่องเข้าร้อง ป.ป.ช. ป.ป.ท.จำนวนมาก กลายเป็นเรื่องการแกล้งกัน ไม่พอใจ ไม่เห็นด้วย” อาจารย์บอก
    ดร.ธานีบอกว่า ตลาดคอร์รัปชันใช้กิจกรรมค่อนข้างหลากหลาย มีมูลค่าสูง และมีพลวัตในการปรับตัว 
หากจะแก้ไขอย่างจริงจังต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย 
    ที่สำคัญคือ ต้องทำการปฏิรูปการเมืองและสังคมครั้งใหญ่ ไม่ใช่ทำแบบลูกหน้าปะจมูกอย่างที่ทำมาตลอด!.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"