"มูลนิธิพัฒนาเครื่องมือแพทย์ไทย" ฯมูลนิธิสุดท้ายของ"ในหลวงรัชกาลที่ 9"


เพิ่มเพื่อน    

       

    มูลนิธิพัฒนาเครื่องมือแพทย์ไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นับเป็นมูลนิธิสุดท้ายที่อยู่ภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9    ที่มาของมูลนิธิฯก่อกำเนิดจาก ความห่วงใยในสุขภาพของพสกนิกรของในหลวงรัชกาลที่ 9 นับตั้งแต่พระองค์ขึ้นครองราชย์ ในปี2493 ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อสร้างอาคารมหิดลวงศานุสรณ์ สำหรับใช้ในกิจการทางด้านวิทยาศาสตร์และผลิตวัคซีน บี.ซี.จี. ขึ้นใช้เองแทนการสั่งซื้อจากต่างประเทศพระราชทานทุน  ปี2495 ประเดิมสำหรับจัดตั้งทุน “โปลิโอ สงเคราะห์” ขึ้น พระราชทานแก่ รพ.พระมงกุฎเกล้า และมหาวิทยาลัยมหิดล (รพ.ศิริราช) เพื่อนำไปสร้างตึกและจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องเวชภัณฑ์สำหรับใช้ในการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยอัมพาต พอมาถึงปี 2501 เกิดอหิวาตกโรคระบาดอย่างรุนแรง พระองค์ได้พระราชทานทุนประเดิมก่อตั้งทุนปราบอหิวาตกโรค โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ให้แก่สภากาชาดไทยเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์สำหรับผลิตวัคซีน 

    ทรงเห็นปัญหาการเข้าถึงการรักษาทางทันตกรรมของประชาชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่สูญเสียฟัน จนเมื่อเดือนตุลาคม  2546 ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งถึงปัญหาการสูญเสียฟันในผู้สูงอายุว่า “เวลาไม่มีฟัน กินอะไรก็ไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุข จิตใจก็ไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง” ซึ่งเป็นที่มา ทำให้เกิดโครงการฟันเทียมพระราชทาน โดยสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้ให้บริการทำฟันเทียมแก่ผู้สูงอายุ จำนวนกว่า 10,000  ราย ตั้งแต่ปี 2548  

    แต่การใส่ฟันเทียมทั้งปาก ผู้สูงอายุบางราย มีปัญหาฟันเทียมชิ้นล่างหลุดหลวมง่าย เนื่องจากบริเวณสันกระดูกขากรรไกร มีการละลายยุบตัวลง  ปัญหานี้แก้ไขได้โดยการใส่รากฟันเทียม จำนวน 2 ราก ที่บริเวณสันกระดูกขากรรไกรล่าง  ซึ่งทำได้ไม่ยากและมีความเสี่ยงน้อยเหมาะกับผู้สูงอายุ นอกจากนี้การฝังรากฟันเทียมยังช่วยชะลอ ทำให้การละลายตัวของกระดูกลดลง  มีผลดีฟันเทียมไม่ขยับเวลาเคี้ยวอาหาร ทั้งนี้ การฝังรากฟันเทียมเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีค่าใช้จ่ายสูง

    เมื่อทรงทราบปัญหา  ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ  โดยทรงมีพระราชดำรัสแก่คณะทันตแพทย์ ที่ถวายการรักษารากฟันเทียมว่า “สามสิบบาท รักษาได้หรือไม่”คณะทันตแพทย์ที่ถวายการรักษา จึงได้น้อมนำพระราชดำรัสของพระองค์ท่านมาเป็นแนวทางในการพัฒนา “รากฟันเทียม” ที่ได้มาตรฐานสากลขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และรากฟันเทียมที่พัฒนาขึ้นได้นำมาใช้ในโครงการเฉลิมพระเกียรติ 2 โครงการ คือ โครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80  พรรษา 5 ธันวาคม  2550 และโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554

    ทรงติดตามความก้าวหน้าในการผลิตและการใช้รากฟันเทียมมาโดยตลอด และได้พระราชทานชื่อรากฟันเทียมที่ใช้ใน โครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 นี้ว่า “ฟันยิ้ม” ต่อมาเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2554 พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อรากฟันเทียมดังกล่าวว่า “ข้าวอร่อย” พระองค์ทรงชื่นชมและพอพระทัยที่ประเทศไทยสามารถผลิตวัสดุอุปกรณ์ขึ้นใช้เองภายในประเทศตามที่พระองค์ทรงสอนและ ทรงแนะนำทันตแพทย์เสมอ ให้รู้จักพึ่งพาตนเอง อย่าสนใจแต่การรักษาเพียงอย่างเดียว  ต้องสนใจการศึกษาวิจัย ประดิษฐ์วัสดุอุปกรณ์ขึ้นใช้เอง ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงดังพระราชกระแสรับสั่งว่า “ให้ทำงานวิจัย ค้นคว้า พัฒนาวัสดุฝังในทางการแพทย์สำหรับใช้ในมนุษย์ และให้ทำวิจัยสำหรับใช้ในสัตว์ให้มาก ซึ่งท้ายที่สุดก็จะ เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์”

 

    หลังจากนั้นในปี 2557จึงมีการก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาเครื่องมือแพทย์ไทย  ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา วิจัย ค้นคว้า พัฒนา และผลิตเครื่องมือแพทย์ที่ได้มาตรฐานสากล รวมถึงส่งเสริม สนับสนุน เผยแพร่เทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ที่เกิดจากการพัฒนาสู่บุคลากรทางการแพทย์ นำไปสู่การใช้งานในภาคบริการที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณสุขอย่างทั่วถึง  ซึ่งเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเครื่องมือแพทย์ไทย เพื่อใช้งานภายในประเทศ อันเป็นไปตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ร. 9 อย่างแท้จริง เพื่อลดการนำเข้า และให้ประชาชนได้เข้าถึงการรักษาอย่างเหมาะสม

    ระยะ 5ปี หลังก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาเครื่องมือแพทย์ไทย ทางมูลนิธิฯมีผลงาน สนับสนุนการพัฒนาผลิตเครื่องไบโอพลาสมา(   bioplasma )สำหรับดูแลแผลเบาหวานและแผลเรื้อรัง เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่ และ ช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น ซึ่งผลิตโดยภูมิปัญญาของคนไทย ที่ผ่านมามีการบริจาคเครื่องดังกล่าวให้กับทางรพ.ศิริราชฯ ไว้ใช้งาน  

เครื่องไบโอพลาสมา ใช้กับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีแผลเรื้อรัง ผลงานประดิษฐ์ของคนไทย

 

    เครื่องไบโอพลาสมา ที่ผลิตในประเทศมีต้นทุนตกเครื่องละประมาณ 5แสนบาท ซึ่งมีประสิทธิภาพการใช้งานเทียบเท่ากับเครื่องที่นำเข้าจากต่างประเทศ ที่มีราคาตกเครื่องละ 2-3 ล้านบาท  

    นอกจากนี้ ทางมูลนิธิฯ ยังโครงการผลิต  แผ่นเหล็กดามกระดูก สำหรับสัตว์เล็กเช่นสุนัข แมว  เพื่อทำโครงการคุณทองแดงช่วยเพื่อน  


    ทันตแพทย์วิจิตร  ธรานนท์ กรรมการมูลนิธิพัฒนาเครื่องมือแพทย์ไทย ฯ กล่าวว่า  ทั้งสองโครงการข้างต้นทางมูลนิธิฯได้ถวายให้ในหลวง ร.9แล้ว ก่อนที่พระองค์ท่านจะเสด็จสวรรคต เนื่องจาก มูลนิธิฯก่อกำตั้งขึ้นจากแนวพระราชดำริ และกระแสพระราชดำรัส  อย่างไรก็ตาม ทางมูลนิธิฯพยายามสานต่อพระราชปณิธานฯ ด้วยการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ที่เป็นของคนไทยขึ้นมา โดยเฉพาะการผลิตเลนส์แก้วตาเทียม สำหรับผู้เป็นต้อกระจก  เนื่องจากผู้สูงอายุเกือบทุกคนจะต้องผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียม  เพราะเลนส์ดวงตาเสื่อมสภาพจากปัญหาต้อกระจก ซึ่งปัจจุบันคนไทยต้องใช้เลนส์แก้วตาเทียมปีละประมาณ2-3แสนดวง เลนส์ที่ใช้เปลี่ยนเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าปีละ 900-1,000 ล้านบาท  ทำให้มูลนิธิฯ มีความตั้งใจที่จะผลิตเลนส์แก้วตาเทียมโดยคนไทยขึ้นมาเอง ซึ่งต้องใช้เงินทุนประมาณ 250-300 ล้านบาท  แต่โครงการก็ยังไม่ได้ขยับเขยื้อน เนื่องจาก ติดขัดปัญหาขาดแคลนเงินทุนดำเนินการ  

ทันตแพทย์วิจิตร ธรานนท์ กรรมการมูลนิธิฯ

    อย่างไรก็ตาม แม้จะยังไม่สามารถผลิตเลนส์แก้วตาเทียมได้ แต่มูลนิธิฯ ก็พยายามสานต่อพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงห่วงใยสุขภาพคนไทย ด้วยการทำโครงการการเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียมให้กับผู้สูงอายุด้อยโอกาส โดยร่วมมือกับมูลนิธิเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) ให้บริการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียม แก่กลุ่มผู้สูงอายุด้อยโอกาส จำนวน 200 ดวง โดยใช้เงินงบประมาณ 3-4ล้านบาท  

 

    "เราพบว่ามีผู้สูงอายุ ต้องเปลี่ยนเลนส์เพราะเป็นต้อกระจกประมาณปีละ 200,000 ดวง แต่ก็มีผู้สูงอายุอีกเป็นจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงบริการผ่าตัดต้อกระจก ทำให้ตาบอด เพราะอยู่ในถิ่นทุรกันดาร ไม่สามารถเดินทางเข้ามารับบริการ แม้เขาจะมีสิทธิ์บัตรทอง 30บาทรักษาทุกโรค ทางมูลนิธิพัฒนาเครื่องมือแพทย์ไทย และทางมูลนิธิเมตตาประชารักษ์ วัดไร่ขิง จึงร่วมมือกัน จัดหน่วยผ่าตัดเคลื่อนที่ออกไปให้บริหารเปลี่ยนเลนส์แก้วตา ในถิ่นกันดาร เช่น โรงพยาบาลที่อยู่ติดชายแดน หรือโรงพยาบาลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ "ทันตแพทย์วิจิตรกล่าว 

พิธีลงนาม เซ็น MOU ระหว่างมูลนิธิพัฒนาเครื่องมือแพทย์ไทย กับ มูลนิธิเมตตาประชารักษ์ ทำโครงการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียม สำหรับผู้สูงอายุ ที่ด้อยโอกาส

    นายทำนุ ธรรมมงคล ประธานมูลนิธิพัฒนาเครื่องมือแพทย์ไทย กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ด้อยโอกาส   นับว่าเป็นการดำเนินโครงการตรงตามแนวพระราชดำริของในหลสงรัชกาลที่ 9 ที่ให้มูลนิธิฯมีส่วนช่วยเหลือปัญหาสาธารณสุขของประชาชน โดยเป็นการร่วมมือทั้งภาครัฐ และเอกชน หรือองค์กรต่างๆ พร้อมกับทรงมีพระราชดำรัส ให้มูลนิธิฯ มุ่งมั่นทำงานวิจัย ค้นคว้า พัฒนาวัสดุฝังในทางการแพทย์สำหรับใช้ในมนุษย์ และให้ทำวิจัยสำหรับใช้ในสัตว์ให้มาก และทรงรับสั่งว่าท้ายที่สุด ประโยชน์ก็จะเกิดต่อมนุษย์ 

    "ทางมูลนิธิฯ อยากให้ภาครัฐ เอกชน ประชาชน เข้ามาช่วยเหลือส่งเสริม และต่อยอดผลงานนวัตกรรมทางการแพทย์ ฝีมือคนไทย ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ  "ประธานมูลนิธิฯกล่าว 

    ผู้สนใจสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิพัฒนาเครื่องมือแพทย์ไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สามารถร่วมบริจาคสมทบทุนได้ที่บัญชีมูลนิธิพัฒนาเครื่องมือแพทย์ไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์     ธนาคารกรุงเทพ สาขาอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย  เลขที่080-011168-4  ยอดเงินที่บริจาคสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ สอบถามรายละเอียด โทร.  0-2564+6960-1 
 


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"