'บิ๊กตู่'ยํ้าลดละเลิกสารเคมี หนูขู่ไม่แบนเรื่องถึงนายกฯ


เพิ่มเพื่อน    


    "บิ๊กตู่" ย้ำจุดยืนลด ละ เลิก สารเคมีการเกษตร "อนุทิน" ชัดเจนลั่นแบน 3 สารพิษ ชี้หากผลประชุม คกก.วัตถุอันตรายสวนทางสังคมนายกฯ ต้องออกโรงเอง "ภาคเกษตร" ชงทางสายกลาง แนะหาสารใหม่ที่มีคุณสมบัติปลอดภัยก่อนค่อยยกเลิกทั้งหมด "ป.ป.ช." เปิดทรัพย์สิน "มนัญญา" รวย 65.2 ล้าน พบรายได้จากเก็บค่าเช่าโรงฆ่าสัตว์ แถมมีที่ดินเพียบ 
    เมื่อวันที่ 15 ต.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงจุดยืนเรื่อง 3 สารเคมีทางการเกษตรคลอร์ไพริฟอส, พาราควอต และไกลโฟเซตว่า เรื่องสารเคมีตนได้เคยแสดงจุดยืนไปตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว ให้มีการลด ละ เลิกสารเคมีดังกล่าว มีระยะเวลาและขั้นตอนในการดำเนินการตั้งแต่ปี 60 เป็นต้นมา 
    "วันนี้อยู่ในขั้นตอนตรงนี้ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ที่เข้ามาพิจารณา และเป็นเรื่องของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่จะต้องลงมติมาในวันที่ 22 ต.ค. ต้องหามาตรการที่เหมาะสมในการดำเนินการ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้" นายกฯ กล่าว
    ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขมีความชัดเจนอยู่แล้วให้ยกเลิก แต่ในส่วนอื่นต้องไปดูแลกันเอง 
    ถามว่า หากไม่สามารถยกเลิกได้จะเป็นเหมือนที่ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์พูดหรือไม่ ว่ามีคณะกรรมการวัตถุอันตรายรับอะไรมาหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ตนไม่ทราบ เราไม่ไปดูในส่วนนั้น เราจะดูเฉพาะในส่วนของเราที่รับผิดชอบว่าไม่สนับสนุนอยู่แล้ว และถือว่าเราได้ทำหน้าที่ของเราเรียบร้อย
    "การลงมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ควรต้องเปิดเผย ซึ่งคณะกรรมการฯ ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงคมนาคมที่พรรคภูมิใจไทยกำกับดูแลอยู่ ก็คงจะเสนอให้ที่ประชุมลงมติเปิดเผย แต่อย่างไรก็ตาม การลงมติจะเป็นลับหรือเปิดเผยจะต้องมีการโหวต แต่ก็ต้องแล้วแต่ที่ประชุม ซึ่งในส่วนของผมไม่ต้องพูดคุยอะไรแล้ว เพราะชัดเจนอยู่แล้ว อะไรที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน สาธารณสุขไม่เอาอยู่แล้ว ต่อให้มีประโยชน์ในด้านอื่นเราก็สนับสนุนไม่ได้ รวมทั้งนายกฯ ไม่ได้พูดคุยเรื่องดังกล่าวในที่ประชุม ครม. เพราะเรื่องนี้จบอยู่ที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งนายกฯ อาจจะต้องออกโรงอีกที หากผลของมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายออกมาอีกอย่างหนึ่ง" นายอนุทินกล่าว
    รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุขกล่าวว่า ไม่ว่าผลออกมาอย่างไร ก็ต้องรายงานนายกฯ และเรื่องนี้ไม่มีอะไรที่จะต้องมาตกลงกัน เพราะเราไม่เอาอยู่แล้ว รวมถึงรัฐมนตรี 3 คน 3 กระทรวงก็ออกมาบอกแล้วไม่สนับสนุน ก็ถือว่าชัดยิ่งกว่าชัด ส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ต้องรอดูว่ามีท่าทีอย่างไร เพราะเห็นบอกว่าจะออกมาแถลงข่าว
    ซักว่าเรื่องนี้มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ตนไม่มองอย่างนั้น เมื่อตัดสินใจอะไรไปแล้วก็ถือว่าจบ ไปมองเรื่องที่เป็นประโยชน์มากกว่า
    ด้านนายเชิดชัย จิณะแสน เกษตรกรต้นแบบ ในฐานะประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรระดับประเทศ และคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการจำกัดการใช้สารเคมีทางการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สารเคมีทั้ง 3 ชนิด ใช้ในประเทศไทยมาประมาณ 50 ปีที่แล้ว โดยไม่เสียภาษีนำเข้า เพราะต้องการลดราคาต้นทุนช่วยเหลือเกษตรกร และทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำทางการเกษตรระดับต้นของโลก มีมูลค่าการส่งออกสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีการใช้สารเคมีเข้ามาเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ ดั้งนั้นเกษตรกรจึงจำเป็นต้องใช้เป็นปัจจัยการผลิตและลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร
    นายเชิดชัยกล่าวว่า ขอเสนอแนะทางออกเพื่อลดความขัดแย้งของ 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ต้องการให้แบน และกลุ่มที่ต้องการให้ใช้มาตรการการจำกัดการใช้สารเคมี 3 ชนิด ตามประกาศของกระทรวงเกษตรฯ จะมีผลบังคับใช้ 20 ต.ค.นี้ คือเมื่อมีสารเคมีชนิดใหม่ที่มีขีดความสามารถ ทั้งคุณสมบัติ, ราคา, ความปลอดภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม และประสิทธิภาพเท่าเทียมหรือดีกว่าสารตัวเดิม จึงค่อยยกเลิกสารทั้ง 3 ชนิดให้โอกาสเกษตรกรปรับตัว เพื่อลดความขัดแย้ง หน่วยงานราชการต้องรับรองวิธีการทดแทน ไม่กระทบเกษตรกรทั้งทางตรงและทางอ้อม
    "เกษตรกรต้องต่อสู้กับโรคระบาด ภัยแล้ง, น้ำท่วม และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ  หากยกเลิกใช้โดยไม่มีสิ่งทดแทนให้กับเกษตรกรแล้ว จะเป็นการซ้ำเติมความทุกข์ยากให้แก่เกษตรกร สร้างความเสียหายต่อการผลิตสินค้าเกษตร กระทบการส่งออก และทำให้ GDP ภาคการเกษตรและภาพรวมของสินค้าทั่วประเทศลดลง การทำเกษตรอินทรีย์เป็นเรื่องที่ดีที่สุด รัฐบาลควรส่งเสริมให้มากที่สุด เช่นให้โรงพยาบาล สถานศึกษา โรงแรม ร้านอาหาร ภัตตาคาร และหน่วยงานต่างๆ ช่วยรับซื้อสินค้าอินทรีย์ ประกันรายได้ มีการอุดหนุนเงินหรือปัจจัยอื่นให้เกษตรกรผู้ทำอินทรีย์ แต่เกษตรกรไทยไม่สามารถทำอินทรีย์ทั้งประเทศได้ ควรให้โอกาสตามขีดความสามารถ และตามพื้นที่ชนิดของสินค้าเกษตรที่จำเป็นต้องใช้เคมี หรือระบบ GAP" นายเชิดชัยกล่าว 
    ส่วนนายกิตติ จันทวิสูตร เกษตรกรชาวสวนจันทบุรี กล่าวว่า ถ้าจะเลือกแบนควรแบนคลอร์ไพริฟอสที่เป็นสารจำกัดแมลง เกษตรกรรับได้ เพราะมีสารตัวอื่นทดแทนมากมาย แต่ถ้ามีการแบนพาราควอตและไกลโฟเซต เกษตรกรจะเดือดร้อนอย่างมาก เพราะไม่มีสารใดมาทดแทนช่วยในการกำจัดวัชพืชได้ดี แม้ว่าจะมีสารกลูโฟซิเนต แต่ก็มีราคาแพงกว่ามากและประสิทธิภาพสู้สารทั้งสองตัวไม่ได้ อีกทั้งสารกำจัดวัชพืชทั้ง 2 สาร ถ้าอันตรายจริงตามการปั่นกระแสของเอ็นจีโอ เกษตรกรคงตายกันไปก่อนหน้า เพราะสารทั้ง 2 เกษตรกรใช้กันมาร่วม 40-50 ปีแล้ว วิธีการที่เหมาะสมที่สุดคือ มาตรการควบคุมการใช้ตามมติก่อนหน้านั้นในฤดูกาลหนึ่งๆ เฉพาะจังหวัดจันทบุรี มีการส่งผลไม้ทั้งทุเรียน มังคุด ลำไย กล้วยไข่ รวมกันไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาท
    “ผมทำเกษตรอินทรีย์มา 18 ปี ผมเห็นด้วยกับรัฐบาลในการพยายามให้เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ให้มากที่สุด เพื่อนำไปสู่การลดสารเคมี แต่ไม่ควรนำประเด็นที่ว่าให้ประเทศไทยเป็นอินทรีย์ทั้งหมด โดยจะต้องยกเลิกสารเคมีทางการเกษตร ซึ่งยังเป็นสิ่งที่ต้องการควบคู่ไปกับการทำเกษตรเคมี และเกษตรปลอดภัย หรือ GAP” เกษตรกรชาวสวนจันทบุรีรายนี้กล่าว
    วันเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดอุทัยธานี ดำเนินการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน พร้อมเอกสารประกอบของผู้บริหารท้องถิ่น คือ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ นายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานี กรณีพ้นจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2562 โดยผู้ยื่นระบุสถานภาพหย่า มีบุตรบรรลุนิติภาวะแล้วจำนวน 5 คน มีพี่น้องร่วมบิดามารดาจำนวน 2 คน หนึ่งในนั้นคือ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย
    โดย น.ส.มนัญญามีทรัพย์สินทั้งสิ้น 65,499,382 บาท มีหนี้สิน จากการเบิกเงินเกินบัญชีทั้งสิ้น 246,414 บาท โดยมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 65,252,986 บาท สำหรับทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นที่ดิน จำนวน 19 รายการ มูลค่า 38,155,000 บาท อยู่ใน จ.อุทัยธานีและชลบุรี นอกจากนี้ มีทรัพย์สินที่น่าสนใจ อาทิ ทองคำแท่งหนัก 10 บาท จำนวน 15 แท่ง ทองรูปพรรณและอัญมณี เครื่องเพชร แหวนเพชร นาฬิกา และสร้อยคอ  มูลค่ารวม 8,580,000 บาท
    ทั้งนี้ น.ส.มนัญญาระบุรายได้ระหว่างดำรงตำแหน่งเป็นเงินเดือนและค่าตอบแทนจำนวน 5,497,258 บาท เงินรางวัลประจำปีจากสถานธนานุบาล 2,941,526 บาท รายได้จากการขายทรัพย์สินคือรถยนต์ 500,000 บาท ขายที่ดินที่ ต.อุทัยใหม่ จ.อุทัยธานี 2,500,000 บาท รายได้จากค่าเช่าบ้าน 480,000 บาท รายได้จากค่าเช่าสถานที่ชำแหละกระบือ 4,500,000 บาท รวมรายได้ 16,418,784 บาท
    ในส่วนของรายจ่าย น.ส.มนัญญาแจ้งว่าเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวของตัวเอง 2,700,000 บาท และเป็นของบุตร 1,780,000 บาท ค่าสาธารณูปโภค 900,000 บาท นอกจากนี้ เป็นรายจ่ายอื่น ได้แก่ ค่าเล่าเรียนบุตร 400,000 บาท ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดและชำระเงินกู้ธนาคาร รวมถึงรถยนต์ของบุตร 3,713,492 บาท รวมค่าใช้จ่าย 9,493,492 บาท.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"