ซีอีโอหัวเว่ย : สหรัฐฯ ไม่ต้องกลัวจีน จีนต่างหากที่ต้องกลัวสหรัฐฯ!


เพิ่มเพื่อน    

      วาทะของเหริน เจิ้งเฟย์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของหัวเว่ย กลายเป็นเรื่องราวที่ผู้คนสนใจความเป็นมาเป็นไปของเขา และความสัมพันธ์ของเขากับรัฐบาลจีน

      ผมอ่านบทสัมภาษณ์ของเขาในนิตยสาร Le Point ของฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 18 มิถุนายนปีนี้ ที่บริษัทหัวเว่ยในกรุงเทพฯ แปลเป็นไทยแล้วน่าสนใจมาก ตอบหลายคำถามที่คนทั่วไปมีส่วนเกี่ยวกับตัวเขาได้ไม่น้อย

      ผมยกบางคำถามคำตอบมาให้อ่าน เพื่อจะได้ติดตามข่าวเรื่องความขัดแย้งของหัวเว่ยกับสหรัฐฯ ได้อย่างรอบด้าน

      วัยเด็กของคุณเป็นอย่างไร?

      ผมเติบโตในเขตเจิ้นหนิง มณฑลกุ้ยโจวที่ผมอาศัยอยู่มาตลอดช่วงประถมศึกษา จนกระทั่งปีที่สองของโรงเรียนระดับมัธยม ประชากรของเมืองเล็กๆ แห่งนี้ส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อย ปัจจุบันกลายเป็นเมืองท่องเที่ยว และประเพณีท้องถิ่นของคนที่นั่นก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เมืองนี้ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นจำนวนมาก แต่ย้อนไปในอดีตพวกเราที่นั่นมีแต่ความแร้นเค้น

      ตอนคุณเป็นทหารทำหน้าที่อะไร?

      ผมทำหน้าที่เป็นวิศวกรในกองทัพ โครงการแรกที่ผมเข้าร่วมอยู่ในเมืองเหลียวหยาง ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ทำงานสร้างโรงงานเส้นใยสังเคราะห์ที่นำเทคโนโลยีมาจากบริษัทฝรั่งเศสสองแห่งคือ เทคนิป และสเปชิม เป็นโรงงานผลิตเส้นใยสังเคราะห์ที่ทันสมัยและใหญ่ทีเดียวในประเทศจีนตอนนั้น  เพราะมีระบบอัตโนมัติชั้นสูงด้วย ดูสินี่เป็นรูปของผมกับวิศวกรชาวฝรั่งเศส

        ลูกสาวของคุณยังอยู่ในแคนาดา คดีนี้ส่งผลกระทต่อตัวคุณและหัวเว่ยอย่างไร?

      เมิ่ง หวานโจวไม่ได้ทำอะไรผิด การที่แคนาดากักตัวเธอเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่เราก็เชื่อว่าแคนาดาเป็นประเทศที่ปกครองโดยกฎหมาย หากเราเสนอหลักฐานและทำให้คดีนี้มีความกระจ่างชัด เธอก็จะได้รับการปล่อยตัว พวกเราจะต้องรออย่างอดทนและใช้วิธีทางกฎหมาย

      ตอนนี้โลกตะวันตกกำลังหวาดกลัวจีน คุณเข้าใจความกลัวนี้หรือไม่?

      สหรัฐฯ กำลังปั่นกระแสเรื่องอิทธิพลแนวคิดทางการเมืองของจีน การสร้างกระแสเช่นนี้ ประกอบกับความจริงที่ว่าชาวตะวันตกจำนวนมากก็ไม่เคยมาเยือนจีน ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ประเทศจีนไม่สามารถที่จะส่งเรือรบไปประจำการทั่วโลกอย่างสหรัฐฯ โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าจีนกำลังสร้างระบบป้องกัน จีนกลัวสหรัฐฯ ไม่ใช่ยุโรป

      ทำไมคุณคิดว่าจีนกลัวสหรัฐฯ ล่ะ?

      สหรัฐต้องการครองโลก ในขณะที่ยุโรปยังมีความหลากหลายทางการเมืองและไม่มีท่าทีที่ก้าวร้าว  ประเทศยุโรปอยากทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ในขณะที่คนจีนอยากซื้อสินค้าหรูหราจากยุโรป

      เราคนจีนให้การต้อนรับบริษัทยุโรปที่เข้ามาค้าขายในประเทศเรา ไม่อย่างนั้นเราก็ต้องบินไปช็อปปิ้งถึงปารีส ประเทศจีนลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าหรูซึ่งเป็นสัญญาณในการต้อนรับสินค้ายุโรป จีนและยุโรปเติมเต็มซึ่งกันและกัน ในทางเศรษฐกิจจีนต้องการยุโรปและยุโรปก็ต้องการจีนเช่นกัน

      โครงการ Belt and Road ของจีนช่วยทำให้สินค้ายุโรปสามารถเข้ามาในประเทศจีนได้ และจีนก็สามารถส่งออกสินค้าไปยังยุโรปได้ด้วย

      ถ้าหากเราน้ำมันหมดกลางทาง เราสามารถที่จะเติมน้ำมันในตะวันออกกลางหรือเอเชียกลาง ซึ่งเป็นศูนย์กลางพลังงานของเราได้ ทำให้เกิดเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่เชื่อมโยงยุโรป ตะวันออกกลาง เอเชียกลาง และตะวันออกไกลเข้าด้วยกัน

      ถ้าจีนสร้างพื้นที่ Free Trade Zone กับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้แล้ว เขตเศรษฐกิจนี้จะมีขนาดจีดีพีที่ใหญ่กว่าสหรัฐฯ อีก

      ถ้าหากว่ามันเกิดขึ้นได้ สหรัฐฯ จะพบว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะครองโลก และนั่นก็เป็นเหตุผลที่สหรัฐฯ ไม่ต้องการเห็นประเทศในพื้นที่เศรษฐกิจนี้ทำงานด้วยกัน

      คุณได้เจอกับประธานาธิบดีทรัมป์หรือยัง?

      ทำไมผมต้องเจอเขาล่ะ ผมอยากเจอประธานาธิบดีมาครงมากกว่า

      อะไรคือกุญแจสำคัญที่ทำให้หัวเว่ยประสบความสำเร็จ และสิ่งที่ยากลำบากที่สุดคุณเคยเจอคืออะไร?

      สิ่งที่ผมกังวลมากที่สุดตอนนี้คือเราประสบความสำเร็จมากเกินไป พนักงานของหัวเว่ยเองก็อาจจะหลงละเลิงเกินกว่าที่จะฝ่าฟันอุปสรรคขวากหนาม หรือไปสู่พรมแดนที่มีความยากลำบากรออยู่ ตอนนี้ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ท้าทายเรา และช่วยนำความหลงละเลิงนี้ออกไปจากพนักงานของเรา

      หรือพูดง่ายๆ ก็คือซีอีโอหัวเว่ยคนนี้กำลังขอบคุณทรัมป์ที่สร้างความปั่นป่วนให้พนักงานของเขาทั้งหมด จะได้รู้ว่ายังมีหนทางข้างหน้าอีกยาวไกลนัก!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"