จับตาใครจะมาร่วมวง ประชุมสุดยอดอาเซียน


เพิ่มเพื่อน    

                การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 ที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคมถึง 4 พฤศจิกายนนี้ เป็นจังหวะสำคัญที่ไทยจะได้แสดงความเป็นผู้นำระดับสากลที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก

                ดังนั้นเราจะพลาดโอกาสทองนี้ไม่ได้เป็นอันขาด หากไทยต้องการจะมีบทบาทสำคัญในเวทีระหว่างประเทศ ในช่วงเวลาที่ดุลอำนาจแห่งโลกกำลังเปลี่ยนผ่านไปอย่างมีนัยสำคัญที่สุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา

                นอกจากผู้นำอาเซียน 10 ประเทศแล้ว กระทรวงการต่างประเทศยืนยันว่าผู้นำของคู่เจรจาที่ยืนยันแล้วว่าจะมาร่วมการประชุมด้วยอย่างน้อยก็จะมีนายกฯ จีน หลี่ เค่อเฉียง, นายกฯ ญี่ปุ่น ชินโซะ อาเบะ,  ประธานาธิบดีมูน แจอิน แห่งเกาหลีใต้

                ที่ยังไม่ชัดเจนคือใครจะมาแทนสหรัฐอเมริกา

                ไทยได้เชิญประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์มา แต่ยังไม่มีคำยืนยันว่าเจ้าตัวจะมาหรือไม่ หรือจะส่งรองประธานาธิบดีไมก์ เพนซ์มาแทน อย่างที่เคยทำมาแล้วในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่แล้วที่สิงคโปร์หรือไม่

                เดิมมีความพยายามจะเชิญทั้งประธานาธิบดีทรัมป์และสี จิ้นผิงของจีนมาร่วมงานนี้ด้วย เพื่อให้งานนี้เป็นเวทีการแสวงหาหนทางสงบศึกการค้าระหว่างสองยักษ์ใหญ่

                แต่ดูเหมือนความหวังจะเริ่มริบหรี่ เมื่อทรัมป์ทำท่าว่าจะต้องเผชิญวิกฤติการเมืองของตัวเองในประเทศที่ยังคุกรุ่นอยู่ไม่เสื่อมคลาย

                ข่าวบอกว่าทรัมป์กำลังเสนอกับสี จิ้นผิง ว่าหากตกลงรายละเอียดของการ "พักรบ" ในสงครามการค้าได้ ก็อาจจะไปลงนามกันนอกรอบของการประชุมสุดยอด Apec ที่เมืองซานติอาโก ประเทศชิลี ซึ่งจะระดมผู้นำโลกระหว่าง 11-17 เดือนหน้า

                นั่นแปลว่าทรัมป์กับสี จิ้นผิงมี "หน้าต่าง" ที่จะพบกันได้สองเวที นั่นคือที่กรุงเทพฯ ระหว่าง 4-5  พฤศจิกายน หรือที่ชิลีระหว่าง 11-17 พฤศจิกายน

                ขณะที่ผมเขียนอยู่นี้เหลือเพียงหนึ่งสัปดาห์การประชุมสุดยอดอาเซียนก็จะเริ่มขึ้นแล้ว หากไม่มีอะไรผิดคาด ผู้นำของสองยักษ์ใหญ่โลกก็คงจะมองไปที่การประชุมสุดยอดเอเปก เผื่อจะเป็นโอกาสได้จับมือประกาศ "พักรบ Phase One" ของสงครามการค้าระหว่างปักกิ่งกับวอชิงตันได้

                แต่ทุกอย่างยังไม่มีอะไรแน่นอน หากสถานการณ์สุกงอมได้เร็ว และต่างฝ่ายต่างต้องการแสดงให้ชาวโลกเห็นว่าพร้อมจะลดราวาศอกในการเผชิญหน้าทางการค้า เราก็อาจได้เห็นอะไรที่ผิดแผกไปจากที่เราประเมินอยู่ในขณะนี้ได้

                เดิมผมยังลุ้นว่าหากทรัมป์และสี จิ้นผิงนัดเจอกันที่กรุงเทพฯ ในช่วงเวลาการประชุมสุดยอดอาเซียนช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ก็น่าจะเปิดทางให้ไทยเราเชิญผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จองอึนมาร่วมวงเสวนาได้ด้วย

                เพราะทรัมป์กับคิมก็อยู่ในช่วงจังหวะที่ต้องการจะหาทางลงจากการเผชิญหน้าเรื่องนิวเคลียร์อยู่

                แต่ดูเหมือนอุปสรรคระหว่างเปียงยางกับวอชิงตันจะมีมากกว่าระหว่างปักกิ่งกับวอชิงตัน

                คิมออกภาพและข่าวขี่ม้าขาวขึ้นภูเขาศักดิ์สิทธิ์เพ็กตู (Paektu) ท่ามกลางหิมะขาวโพลนเมื่อสัปดาห์ก่อน เป็นการสำทับว่าเขากำลังต้องการจะแสดงอิทธิฤทธิ์ว่าพร้อมจะปฏิบัติการใหญ่อะไรบางอย่าง ทำให้โอกาสที่จะสำแดงความพร้อมจะประนีประนอมทางการทูตกับทรัมป์ลดน้อยถอยลงไปทันที

                เพราะคิมยังเดินหน้าทดลองขีปนาวุธ และทรัมป์ยังไม่มีทีท่าว่าพร้อมจะเลิกมาตรการลงโทษเกาหลีเหนือทางเศรษฐกิจแต่ประการใด

                ความฝันของผมที่จะเห็นทรัมป์, สี, คิม, มูน, อาเบะ, โมดี (แห่งอินเดีย) ที่กรุงเทพฯ เพื่อจับมือแสดงความพร้อมจะแสวงหา "สูตรสันติภาพโลก" ก็จึงยังต้องรอไปก่อน

                แต่ผมคิดว่าไม่ได้แปลว่าจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพียงแต่เป็นเรื่องของจังหวะและเวลาที่เหมาะเจาะเท่านั้น

                ที่น่าเสียดายก็ตรงที่ว่า สถานภาพความเป็นประธานอาเซียนหมุนเวียนอาเซียนของประเทศไทยเราจะหมดลงในสิ้นเดือนธันวาคมนี้ และจะต้องส่งไม้ต่อไปยังเวียดนาม ดังนั้นโอกาสทองที่ไทยจะสร้างปรากฏการณ์ระดับโลกอย่างนี้จึงหดหายไป

                แต่การไม่ได้เป็นประธานอาเซียนไม่ได้แปลว่าไทยจะไม่สามารถมีบทบาทในการประสานสร้างสันติภาพและความร่วมมือในภูมิภาคได้

                อยู่ที่ว่าเราแก้ปัญหาภายในของเราได้พอที่จะสร้างภูมิต้านทานในการทำงานใหญ่กว่าทุกวันนี้หรือไม่.

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"