พรบ.การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562


เพิ่มเพื่อน    

พระราชบัญญัติไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่รอคอยกันมานานนับสิบปีฉบับนี้ ถือเป็นมิติใหม่ของกระบวนการยุติธรรมของประเทศ กระทรวงยุติธรรมโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้สร้างการมีส่วนร่วมกับเครือข่ายอาสาสมัครภาคประชาชน  และบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการส่งเสริมพัฒนาและขับเคลื่อนการระงับข้อพิพาททางเลือกด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการเข้าถึงความยุติธรรมอย่างสะดวก รวดเร็ว เป็นธรรม โดยปัจจุบันได้ผลักดันให้มีพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562

 

ซึ่งเป็นกฎหมายกลาง เพื่อให้หน่วยงานของรัฐ พนักงานสอบสวน และศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนใช้ในการจัดกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทอย่างมีระบบและเป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จะมีผลบังคับใช้ทั้งฉบับในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 อันมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่ง ได้แก่ ข้อพิพาทที่เกี่ยวกับที่ดินที่มิใช่ข้อพิพาทเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ ข้อพิพาทระหว่างทายาทเกี่ยวกับทรัพย์มรดก และข้อพิพาทอื่นที่มีทุนทรัพย์ไม่เกินห้าล้านบาท ประเภทข้อพิพาททางอาญา ได้แก่ ความผิดอาญาอันยอมความได้ ความผิดลหุโทษที่ยอมความได้เป็นความผิดต่อส่วนตัวไม่กระทบต่อส่วนรวม ตามมาตรา 390-395 และมาตรา 397 และความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 3 ปี ปรากฏตามท้ายพระราชบัญญัติให้สามารถยุติหรือระงับได้ด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทอันเกิดจากความสมัครใจของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย

 

พระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562 ฉบับนี้ ถือเป็นกฎหมายที่จะช่วยให้หน่วยงานของรัฐ และภาคประชาชนสามารถอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนได้โดยสะดวก รวดเร็ว และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายค่าทนาย ค่าธรรมเนียมศาล เป็นการดำเนินการให้คู่กรณีมีโอกาสเจรจาตกลงกันใน การระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธีและปราศจากการวินิจฉัยข้อพิพาท และให้ข้อตกลงอันเกิดจากความตกลงยินยอมของคู่กรณีมีสภาพบังคับตามกฎหมาย  ประชาชนทุกชนชั้นสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างแท้จริง ทำให้ปริมาณคดีที่ขึ้นสู่ศาลลดน้อยลง ลดปัญหาความขัดแย้ง และเกิดความสมานฉันท์ในการยุติข้อพิพาท 

 

กลไกที่สำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ “ผู้ไกล่เกลี่ย” ซึ่งได้บัญญัติคุณสมบัติของบุคคลที่ประสงค์จะขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยต้องผ่านการฝึกอบรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามหลักสูตรที่คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติรับรอง กระทรวงยุติธรรมโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้ทำการเปิดอบรมเตรียมความพร้อมผู้ไกล่กลี่ย เพื่อขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562 โดยเล็งเห็นถึงความสำคัญในการเตรียมความพร้อมให้ผู้ไกล่เกลี่ยได้มีความรู้เกี่ยวกับกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท กฎหมายเบื้องต้นที่เกี่ยวข้อง ความสามารถและทักษะการเป็นคนกลางเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาท รวมถึงจริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ผู้ไกล่เกลี่ย จึงได้ร่วมมือกับสถาบันพระปกเกล้า จัดทำเนื้อหาหลักสูตรและคู่มือการฝึกอบรมสำหรับฝึกอบรมบุคคลที่จะขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยตามพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้มีศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนที่สามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้อย่างเป็นระบบมาตรฐาน

 

รวมถึงสร้างผู้ไกล่เกลี่ยที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เครือข่ายภาคประชาชนและทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เพื่อจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธี และเป็นมิติใหม่ในการไกล่เกลี่ยของกระทรวงยุติธรรม ที่มีระบบขึ้นทะเบียนโดยจัดทำบัญชีผู้ไกล่เกลี่ยครอบคลุมทั่วประเทศทั้ง 76 จังหวัด โดยยกระดับผู้ไกล่เกลี่ยภาคประชาชน ปราชญ์ชาวบ้านที่มีความสามารถและประสบการณ์ในการระงับข้อขัดแย้งในชุมชนขึ้นมาเป็นผู้ไกล่เลี่ยข้อพิพาทโดยวิชาชีพ.

 

โดย จิตติมา กุลประเสริฐรัตน์ ([email protected])

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"