เลขายูเอ็นชื่นชมไทย โดดเด่นพัฒนาที่ยั่งยืน/เวทีอาเซียนเริ่มแล้ว'บิ๊กตู่'เนื้อหอม


เพิ่มเพื่อน    


    "บิ๊กตู่" เปิดเวทีประชุมสุดยอดผู้นำธุรกิจ ย้ำแนวทางดำเนินการรัฐบาลร่วมภาคเอกชน "มิติมั่นคง-ศก.-สังคม" ขอร่วมกำหนดเป้าหมายไปด้วยกัน เพื่อ ปชช.-ประเทศชาติได้ประโยชน์ พบเลขาฯ ยูเอ็นชื่นชม ไทยโดดเด่นเรื่องการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน "พ่อจอห์น" ขวางคลอง ดูถูกคนไทยไม่รู้ประชุมอะไรกัน รู้แค่มีเมนูพิเศษอะไร แถมหยุดราชการ-ปิดถนนด้วย
    การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ที่ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-4 พฤศจิกายน 2562 โดยในการประชุมที่เกี่ยวข้องนั้น เริ่มที่การประชุมสุดยอดผู้นำธุรกิจ ASEAN Business and Investment Summit 2019 (ABIS 2019) ที่ฮอลล์ 6 อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ซึ่งจัดขึ้นโดยสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย
    เวลา 09.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวปาฐกถาพิเศษและเป็นประธานในพิธีเปิดงาน ASEAN Business and Investment Summit 2019 (ABIS 2019) โดยนายกฯ กล่าวว่า ปี 2562 ไม่เพียงแต่เป็นปีสำคัญที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน และรัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 เท่านั้น แต่ภาคเอกชนไทย โดยเฉพาะองค์กรชั้นนำ ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย ยังได้ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ จัดเวทีเสวนาระดับนานาชาติภายใต้หัวข้อหลัก “สร้างพลังอาเซียน 4.0” เพื่อติดอาวุธทางปัญญาและปูแนวทางไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมในยุคที่เรียกว่า 4.0
         ผมเป็นคนหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับนิยามของคำว่า 4.0 ดังจะเห็นได้จากการที่รัฐบาลปัจจุบันได้ผลักดันนโยบาย Thailand 4.0 ที่มีเป้าหมายให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านจากระบบเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการค้า การส่งออก การลงทุนแบบ offline เพียงอย่างเดียว ไปสู่รูปแบบธุรกิจใหม่ หรือ new business model ที่ผสมผสานระหว่างการค้าการลงทุนแบบ online และ offline ควบคู่กันไป ซึ่งประเทศไทยได้เริ่มเข้าสู่กระบวนการการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลแล้ว โดยมีนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกปัจจุบัน เป็นตัวช่วยยกระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในระดับมหภาคและจุลภาคของประเทศ 
    นายกฯ กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญคือทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมนำการผลิตเพื่อสร้างห่วงโซ่แห่งคุณค่าและมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด และการมีประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาที่ยั่งยืน
มิติความมั่นคง
     พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวว่า ดังนั้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงความชัดเจนในแนวทางการดำเนินการของรัฐบาล ตนขอกล่าวถึงสิ่งที่รัฐบาลไทยและภาคธุรกิจเอกชนได้ร่วมกันดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ได้แก่ ในมิติด้านความมั่นคง รัฐบาลไทยได้หารือกับภาคเอกชนในหลายเวที โดยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะในมิติด้านความมั่นคง ซึ่งในปัจจุบันครอบคลุมประเด็นต่างๆ อย่างกว้างขวาง อาทิ ความมั่นคงของมนุษย์ ความมั่นคงทางพลังงาน และความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่ภาครัฐและภาคเอกชนมีพันธกิจที่ต้องตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและทำให้ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง และมีการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งตนเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่นำปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคมมาผนวกเข้าไว้ในนโยบายการสร้างความมั่นคงของประเทศ
    นายกฯ กล่าวว่า ในมิติด้านเศรษฐกิจ การลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน (Public and Private Partnership - PPP) ถือเป็นสิ่งที่มีความโดดเด่นอย่างยิ่งของความร่วมมือที่มีอยู่ในขณะนี้ การผลักดันโครงการ Eastern Economic Corridor หรือ EEC โดยมีโครงการร่วมลงทุนขนาดใหญ่ที่สำคัญ 4 โครงการ ได้แก่ การพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก, โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน,  โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมและชัดเจนที่สุดของการดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน โดยมีอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนองคาพยพทางเศรษฐกิจของไทย อุตสาหกรรมเป้าหมายเหล่านี้ รวมถึงอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ รถยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูง และเศรษฐกิจ BCG
     ในมิติด้านสังคม ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ในด้านหนึ่ง โครงสร้างประชากรของไทยแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการในเชิงบวกของคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ และการสาธารณสุขของไทยที่มีมาตรฐานสูงในระดับสากลในอีกด้านหนึ่ง ความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างประชากรเป็นปัจจัยเร่งให้ประเทศไทยต้องปรับตัวด้วยการนำนวัตกรรมและองค์ความรู้เข้ามารองรับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธุรกิจเกิดใหม่ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการสร้างความสะดวกสบายในการเดินทาง การสร้างที่พักอาศัยเชิงอัจฉริยะ และการผลิตบุคลากรที่มีองค์ความรู้ในด้านการบริหารจัดการเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล
เข้าสู่ยุคดิจิทัล
     "สิ่งที่ผมได้กล่าวมาทั้งหมดนี้จะสำเร็จลงมิได้ หากขาดความร่วมมือจากภาคเอกชน ทั้งในด้านการค้า การลงทุน การเงิน และการธนาคาร โดยเฉพาะในศตวรรษที่ 21 ที่ความเชื่อมโยงเป็นไปอย่างอย่างรวดเร็วและไร้รอยต่อ"
    พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลของประเทศสมาชิกอาเซียน จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่ทุกประเทศจะต้องเตรียมความพร้อม ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล การเชื่อมโยงทางดิจิทัล การพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับสังคมดิจิทัล และการส่งเสริมภาคธุรกิจ 
    นอกจากนี้ ในยุคที่การค้าดิจิทัลขึ้นอยู่กับความรวดเร็วของการผลิต ช่องทางการกระจายสินค้า และการบริหาร การผสมผสานระหว่างการใช้ฐานการติดต่อผ่านดิจิทัลเพื่อกระตุ้นให้ปัจเจกบุคคลหรือผู้บริโภคเกิดความประสงค์ที่จะเข้ามาในห่วงโซ่อุปทานนั้น จำเป็นต้องใช้เครือข่ายการประกอบธุรกิจในประเทศและระหว่างประเทศที่เข้มแข็ง โดยภาครัฐต้องช่วยสนับสนุนและหาวิธีการทำให้ขั้นตอนในด้านการติดต่อ การนำเข้า-ส่งออก และการบริการ มีความสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
     พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า นอกเหนือจากการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ทางดิจิทัล รัฐบาลไทยยังให้ความสำคัญกับความร่วมมือในระดับภูมิภาคที่สำคัญ ที่ประเทศไทยเป็นผู้ผลักดัน คือ ACMECS RCEP และ GMS ซึ่งถือเป็นเส้นเลือดสำคัญทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้เกิดขึ้นบนพื้นฐานของความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศคู่เจรจา และประเทศหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของอาเซียน  
    ผลลัพธ์ที่เป็นคำตอบของความร่วมมือ คือการเชื่อมโยงกับประเทศและเขตเศรษฐกิจที่สำคัญในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ทั้งนี้ บทบาทและความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนทวีความสำคัญอย่างต่อเนื่องในการเป็นศูนย์กลางของเครือข่ายการพบปะหารือ การประชุมเสวนา และการนำเสนอข้อคิดเห็นในเชิงเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ให้กับภาครัฐบาลได้นำมาพิจารณาปรับใช้กับยุทธศาสตร์และแผนงานการดำเนินงาน 
ประชาชนได้ประโยชน์
    นายกฯ กล่าวว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในการประชุมเสวนาที่จะมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อคิดเห็นในการประชุม จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการนำเสนอพัฒนาการที่เกิดขึ้นในระบบการค้าและการลงทุนของโลก รวมถึงข้อเสนอแนะในการวางยุทธศาสตร์และแผนการรองรับการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างความพร้อมให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีพลวัต สามารถปรับตัวเข้ากับสภาวะเศรษฐกิจของโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
         "สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องกำหนดเป้าหมายไปด้วยกัน หากกำหนดเป้าหมายไปคนละอันสองอันมันไปไม่ได้หรอก การทำเพื่อส่วนรวม แต่ในส่วนของธุรกิจก็เป็นเรื่องธุรกิจในการแข่งขันกันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ต้องมีส่วนร่วม ประเด็นที่สำคัญเราทำเพื่ออะไร เพื่อประชาชนของเราใช่ไหม เมื่อประชาชนได้ประโยชน์ ประเทศชาติก็ได้ประโยชน์ ธุรกิจเราก็เจริญเติบโต"
    เขากล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดวันนี้คือการประกอบการธุรกิจที่ต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ซึ่งวันนี้ก็มีการปฏิบัติในหลายๆ ประเทศแล้ว คือการต้องเคารพ เยียวยา มีหลักการ และในเรื่องการประกอบธุรกิจต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเสมอ หากทุกคนทำความเข้าใจไปด้วยกัน เพื่อจะได้เรียนรู้ว่ารัฐบาลเดินหน้าไปอย่างไร รัฐบาลก็จะเรียนรู้จากภาคธุรกิจและภาคเอกชน ว่าจะเดินหน้าอย่างไร และนำมาปรับให้เดินหน้าไปด้วยกัน เราไม่สามารถจะแก้ปัญหาทุกอย่างได้เพียงลำพังแต่ผู้เดียว ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จและมีผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อเสริมสร้างอาเซียนให้มีความเข้มแข็ง และก้าวสู่สังคมดิจิทัลได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืนต่อไป
    จากนั้น นายกฯ เยี่ยมชมนิทรรศการงานแสดงสินค้า ASEAN Styles โดยนายกฯ กล่าวกับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ระหว่างชมนิทรรศการว่า ประเทศไทยเราต้องให้ความสำคัญกับสินค้าจากถิ่นกำเนิด (จีไอ) ให้มากที่สุด เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าส่งออกและสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการในประเทศ ซึ่งนายจุรินทร์ยืนยันกับนายกรัฐมนตรีว่ากระทรวงพาณิชย์ถือเป็นนโยบายหลัก และได้ประสานงานผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศพร้อมกับพาณิชย์จังหวัดให้คัดเลือกสินค้าพร้อมกับจัดโมบายล์เพื่อให้ความรู้ด้านนี้
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียน พล.อ.ประยุทธ์ได้โพสต์เฟซบุ๊ก "ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha" ระบุว่า
โอกาสแลกเปลี่ยนความเห็น
    "ผมขอต้อนรับผู้นำและผู้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 ทุกท่านสู่ประเทศไทย ผมมั่นใจว่าเราจะได้มีโอกาสหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและร่วมแก้ปัญหาในประเด็นสำคัญต่างๆ ในช่วงการประชุมที่จะเกิดขึ้นครั้งนี้ครับ
    I would like to welcome leaders and all participants of the 35th ASEAN Summit to Thailand. I am certainly looking forward to all the upcoming sessions when important issues and beneficial ideas will be discussed and exchanged. #ASEANThailand #ASEAN2019 #StrongerTogether"
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดทั้งวันนายกรัฐมนตรี มีกำหนดการปฏิบัติภารกิจและพบปะหารือทวิภาคีกับบุคคลสำคัญ ที่ห้องแซฟไฟร์ 108 อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ซึ่งประกอบด้วย เลขาธิการสหประชาชาติ, นายกรัฐมนตรีเวียดนาม, นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย
    ทั้งนี้ เวลา 15.40 น. ที่ห้องแซฟไฟร์ 108 ชั้น 1 อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี พล.อ.ประยุทธ์พบหารือกับนายอันโตนิอู กุแตเรช เลขาธิการสหประชาชาติ โดยนายกฯ กล่าวยินดีที่ได้พบกับเลขาธิการสหประชาชาติอีกครั้ง ขอบคุณที่เดินทางมาร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ 10 นี้ ยืนยันว่าไทยให้ความสำคัญกับการสร้างหุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และระหว่างอาเซียนกับกลุ่มภูมิภาคต่างๆ ซึ่งอาเซียนพร้อมร่วมมือกับสหประชาชาติเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับกลุ่มต่างๆ เกี่ยวกับแนวทาง องค์ความรู้ และประสบการณ์ เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ไปด้วยกัน ทั้งนี้ ไทยยินดีเพิ่มบทบาทและมีส่วนร่วมในกรอบสหประชาชาติมากขึ้น ในการจัดกิจกรรมต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
    ด้านเลขาธิการสหประชาชาติกล่าวชื่นชมไทยและนายกฯ ที่มีบทบาทในเวทีระหว่างกันอย่างกระตือรือร้น ทั้งการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน และการแสดงวิสัยทัศน์ในประเด็นท้าทายต่างๆ ในโลก ขอชื่นชมบทบาทของไทยที่โดดเด่นในเรื่องการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs และยืนยันว่าองค์การสหประชาชาติให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม โดยขอให้ไทยช่วยเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันเพื่อแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้พลังงานหมุนเวียน และชื่นชมความริเริ่มของไทยในการประชุมเกี่ยวกับการลดขยะในทะเล
    ทั้งนี้ สองฝ่ายเชื่อมั่นในความร่วมมือระหว่างกัน และระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติ โดยเชื่อมั่นว่าความเข้าใจในระดับพหุภาคีเป็นเรื่องสำคัญ โดยนายกฯ ยังย้ำนโยบายของไทยที่สอดคล้องกับแนวทางความร่วมมือกับสหประชาชาติ อาทิ การแก้ไขปัญหาการประมง IUU การต่อต้านการค้ามนุษย์ การป้องกันการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ และสิทธิมนุษยชน ยินดีสนับสนุน ESCAP และทีมงานสหประชาชาติในการจัดงานครบรอบ 75 ปีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อย่างไรก็ตาม ในตอนท้าย เลขาธิการสหประชาชาติอวยพรให้นายกฯ และประเทศไทยประสบความสำเร็จในการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนในครั้งนี้
'พ่อจอห์น'เท้าราน้ำ
    จากนั้น ในเวลา 17.00 น. นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 แบบเต็มคณะ และในเวลา 18.40 น. นายกรัฐมนตรีร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ว่าด้วยความร่วมมือทางด้านกีฬาฟุตบอลระหว่างอาเซียนกับ FIFA หรือสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ 
    ขณะที่บรรยากาศภายในงานช่วงเช้ามีภาคธุรกิจจากนานาประเทศตบเท้าเข้าร่วมการประชุมคึกคัก รวมทั้งสื่อมวลชนไทยและต่างชาติทยอยติดตามทำข่าวการประชุม ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด และการตรวจเข้มบุคคลเข้าพื้นที่จัดงานต้องมีบัตรที่ลงทะเบียนร่วมงานทุกคน
    นายดอน ปรมัตถ์วินัย เป็นประธานการประชุมคณะมนตรีประสานงานอาเซียน ครั้งที่ 24 (ACC) เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง โดยมีรัฐมนตรีต่างประเทศที่เป็นสมาชิกอาเซียนเข้าร่วม    
    ที่ประชุมได้หารือติดตามผลการดำเนินงานจากการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 34 และหารือเรื่องการเสริมสร้างประสิทธิภาพสำนักเลขาธิการอาเซียน การส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างวิสัยทัศน์อาเซียนปี 2568 และวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนปี 2573 ของสหประชาชาติ ตลอดจนการเสริมสร้างทุนมนุษย์และความเชื่อมโยงในภูมิภาคอาเซียนมากยิ่งขึ้น
     จากนั้น เชคคาหลิด บิน อาเหม็ด บิน โมฮัมเหม็ด อัล คอลิฟะห์ รัฐมนตรีต่างประเทศบาห์เรน ได้เป็นผู้แทนบาห์เรนลงนามภาคยานุวัติสารเข้าเป็นอัครภาคีสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC)
     ต่อจากนั้น ผู้แทนถาวรเยอรมนี ประจำอาเซียนได้เป็นผู้แทนประเทศลงนามภาคยานุวัติสารเข้าเป็นอัครภาคีใหม่ของอาเซียนลำดับล่าสุด
     นายโกวิท วงศ์สุรวัฒน์ อดีตอาจารย์ณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บิดาของนายจอห์น วิญญู ทวีตข้อความในทวิตตอร์ kovitw@kovitw1 ระบุว่า...เรื่องการประชุมอาเซียนที่เมืองไทยขณะนี้นั้น ประชาชนคนไทยรู้แค่ว่าจะทำอาหารชนิดวิเศษเลิศเลออะไรบ้างให้ผู้เข้าประชุมกินกัน แต่มาประชุมเรื่องอะไร แล้วก็มาประชุมทำไมนั้น ถามเถอะไม่มีใครรู้หรอกเพราะว่ามันสำคัญขนาดหยุดราชการ ปิดถนนทีเดียวนะครับ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"