ถกมหาอำนาจ-UN อาเซียนคุย'จีน-อินเดีย'/รมต.มะกันรับปากทบทวน'GSP'


เพิ่มเพื่อน    


    "บิ๊กตู่" เปิดประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 ปลุกอาเซียนจับมือสร้างความมั่งคั่งยั่งยืน สานสัมพันธ์ประชาคมโลก กระชับการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์จีน หวังเพิ่มมูลค่าการค้า-การลงทุนถึง 1 ล้านล้านบาท "นายกฯ" ยิ้มออก คุย "รมว.พาณิชย์สหรัฐ" รับปากเปิดเจรจาทบทวนตัด GSP ไทย พร้อมยินดีให้ "รัสเซีย" ตรวจโรงงานประมงไทย โชว์มาตรฐานก่อนเปิดช่องเจรจาการค้าขาย 
    ที่ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี วันที่ 3 พ.ย. เวลา 09.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 และการประชุมที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการ
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอนหนึ่งในการเปิดการประชุมว่า เมื่อพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 34 ตนกล่าวถึงเนื้อร้องของเพลงประจำอาเซียน "ดิอาเซียนเวย์" ในท่อน "we dare to dream, we care to share." เพื่อให้พวกเราทบทวนความกล้าที่จะฝันจากรุ่นสู่รุ่น และหารือถึงแนวทางร่วมกันที่จะสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และมองไปสู่อนาคต ภายใต้แนวคิดหลัก "ร่วมมือร่วมใจ ก้าวไกลยั่งยืน" ด้วยความร่วมมือร่วมใจในครั้งนั้น เราสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมหลายประการ อาทิ การรับรองวิสัยทัศน์ผู้นำอาเชียนว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืน และเอกสารมุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก เพื่อสานต่อผลของการประชุมสุดยอดครั้งนั้น 
    "วันนี้ผมขอกล่าวถึงเนื้อร้องของเพลงดังกล่าวอีกท่อนหนึ่ง นั่นคือ ASEAN we are bonded as one. Looking out to the world.  อาเซียนเราผูกพันกันเป็นหนึ่งมองออกไปสู่โลก เนื้อเพลงท่อนนี้สะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของอาเซียน ที่ไม่เพียงร่วมมือร่วมใจกันในภูมิภาคเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับหุ้นส่วนนอกภูมิภาค ซึ่งถือเป็นกัลยาณมิตรที่ช่วยสนับสนุนให้อาเซียนบรรลุเป้าหมายที่วาดฝันไว้ และขยายผลไปสู่นอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    นายกฯ กล่าวว่า การประชุมตลอด 2 วันจากนี้นับเป็นวาระสำคัญที่จะแสดงความเป็นหุ้นส่วนและมิตรภาพระหว่างอาเซียนกับประชาคมโลก เพื่อร่วมมือร่วมใจ สานต่อผลลัพธ์จากการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ผ่านมา และวางแนวทางร่วมกันในการใช้ประโยชน์จากความเป็นแกนกลางและจุดแข็งของอาเซียนที่เป็นมิตรกับทุกประเทศ และไม่เป็นศัตรูกับใคร เพื่อรับมือและแก้ไขปัญหาระดับภูมิภาคและระดับโลก และสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ
    "โดยดำเนินการในสองแนวทางคือ การสร้างสภาพแวดล้อมสำหรับสันติภาพและเสถียรภาพในระยะยาว ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีพลวัตและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งทั้งสองมิตินี้ถือว่าเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกันที่จะนำมาซึ่งภูมิภาคที่ยั่งยืน ในประการแรกการสร้างภูมิภาคที่มีเสถียรภาพ ต้องมุ่งสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในระดับยุทธศาสตร์บนพื้นฐานของหลักการ 3M คือการเคารพซึ่งกันและกัน การไว้เนื้อเชื่อใจ และการมีผลประโยชน์ร่วมกันเพื่อลดการเผชิญหน้ากัน นอกจากนี้ต้องมุ่งวางรากฐานด้านกฎกติกาด้วยการใช้ประโยชน์จากเครื่องมือสำคัญที่อาเชียนมีอยู่ ทั้งการนำหลักการสำคัญของสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ TAC (แทค) มาใช้ในบริบทที่กว้างกว่าอาเซียน" นายกฯ กล่าว 
ปลุกอาเซียนมั่นคงยั่งยืน
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การสร้างภูมิภาคที่มั่งคั่งและยั่งยืนผ่านการผลักดันให้การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ในสาระสำคัญแล้วเสร็จในปีนี้ เพื่อช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุน รวมทั้งส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคีภายใต้กรอบองค์การการค้าโลกควบคู่ไปกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค ทั้งกรอบความร่วมมือ ACMECS และเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า หรือจีบีเอ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจให้กับอาเซียนและภูมิภาคในอนาคต นอกจากนี้ยังต้องมุ่งส่งเสริมความเชื่อมโยงที่ไร้รอยต่อในอาเซียน ด้วยการสร้างความเกื้อกูลระหว่างยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงต่างๆ ทั้งภายในอาเซียนและนอกภูมิภาคตั้งแต่การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม ระหว่างประชาชนทางการเงินและด้านดิจิทัล อีกทั้งใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมในยุค 4R เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่เกษตรกรกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ รวมถึงผู้ประกอบการท้องถิ่นให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุน และปรับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรมของอาเชียนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
    นายกฯ กล่าวว่า อาเซียนจำเป็นต้องมีกระบวนทัศน์ใหม่สำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีพลวัต มีความยั่งยืนและครอบคลุมทุกภาคส่วน ไม่ทิ้งใครข้างหลัง โดยต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนมนุษย์ และการรักษาสภาพแวดล้อมควบคู่กันไป โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาขยะทะเลด้วยการดำเนินการตามกรอบการปฏิบัติงานอาเซียนว่าด้วยขยะทะเล ปัญหามลพิษทางอากาศด้วยการปฏิบัติตามข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน และปัญหาประมง ด้วยการพัฒนาเครือข่ายอาเซียนเพื่อแก้ไขปัญหาการประมง ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องพึ่งพาความร่วมมือกับหุ้นส่วนอาเซียนและมิตรประเทศ ความมั่นคงที่ยั่งยืนและการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
    "การสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันระหว่างประชาชน ผ่านการส่งเสริมอัตลักษณ์ของอาเซียนและสายใยทางวัฒนธรรมระหว่างกัน จึงเป็นเรื่องที่เราต้องให้ความสำคัญควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนกับภาคีภายนอก วันนี้ผมขอเชิญชวนทุกท่านร่วมมือร่วมใจกันอีกครั้ง และจับมือกับหุ้นส่วนให้แน่นขึ้น เพื่อร่วมกันสานต่อเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งอาเซียนที่จะสร้างภูมิภาคที่มีสันติภาพ มีเสถียรภาพ และมีความไพบูลย์ เพื่อวางรากฐานประชาคมอาเซียนที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ให้แก่คนรุ่นนี้และคนรุ่นหน้า โดยให้ประชาคมอาเซียนของพวกเราที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และมองไปสู่อนาคต สามารถเป็นพลังสำคัญในการบรรลุความฝันนี้โดยร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับภูมิภาคและประชาคมโลกเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติต่อไป" นายกฯ กล่าว
    จากนั้นเวลา 09.45 น. พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 22 ภายหลังเสร็จสิ้น นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญว่า นายกฯ ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับจีนถือว่ามีพลวัตมากที่สุดประเทศหนึ่ง จากพัฒนาการความสัมพันธ์ใน 10 ปีที่ผ่านมา โดยถือเป็นเสาหลักสำคัญที่ค้ำจุนสันติภาพ เสถียรภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และความยั่งยืนของภูมิภาค ไทยในฐานะประธานอาเซียน หวังที่จะเห็นความสัมพันธ์อาเซียน-จีนเจริญเติบโตยิ่งขึ้นไป เพื่อความผาสุกและผลประโยชน์ของประชาชนทั้งสองฝ่าย
     "นายกฯ ระบุด้วยว่าอาเซียนชื่นชมจีนสำหรับบทบาทในการส่งเสริมความเป็นแกนกลางของอาเซียนในโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาค และในการช่วยขับเคลื่อนความร่วมมือด้านความมั่นคง เศรษฐกิจความเชื่อมโยง และความร่วมมือระหว่างประชาชนอย่างแข็งขันในปี 2561 ที่ผ่านมา ครบรอบ 15 ปี ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์อาเซียนและจีน โดยได้รับรองวิสัยทัศน์ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-จีน ค.ศ.2030 ที่ถือเป็นแนวทางความสัมพันธ์อย่างรอบด้านระหว่างกัน โดยที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายได้กระชับความร่วมมือตามวิสัยทัศน์ดังกล่าว เช่น การที่จีนยังคงตำแหน่งคู่ค้าอันดับหนึ่งของอาเซียน และมีเป้าหมายที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกันถึง 1 ล้านล้าน และ 150, 000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ" นางนฤมลกล่าว 
ชูหุ้นส่วนยุทธศาสตร์จีน
    โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว่า ภายในปีหน้าการที่อาเซียนและจีนจะส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกัน โดยมีแผนการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างแผนแม่บทของอาเซียนในเรื่องนี้ (MPAC 2025) กับ BRI ของจีน รวมถึงการสนับสนุนระบบพหุภาคีนิยมและภูมิภาคนิยม เพื่อส่งเสริมเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค รวมทั้งนายกฯ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการรักษาพลวัตด้านความมั่นคงที่ยั่งยืนระหว่างกัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจในระดับยุทธศาสตร์ และร่วมมือกันเสริมสร้างโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง ผ่านกลไกในด้านเศรษฐกิจ
    "ไทยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจทางทะเล การสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับ Greater Bay Area (GBA) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีพลวัตทางเศรษฐกิจที่สูง รวมทั้งประสงค์ที่จะเชิญชวนให้อาเซียน จีน และรวมถึงประเทศที่สาม มาลงทุนใน EEC ในภาคตะวันออกของไทย โดยไทยยินดีที่จะประกาศว่า อาเซียนและจีนกำหนดให้ปี พ.ศ. 2563 เป็นปีแห่งความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน-จีน ซึ่งนายกฯ เชื่อมั่นว่าจะช่วยขยายโอกาสทางเศรษฐกิจและการค้า เพื่อความมั่งคั่งของภูมิภาค" โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว
    เวลา 11.15 น. พล.อ.ประยุทธ์และผู้นำจาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน หารือร่วมกับนายนเรนทร โมที นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอินเดีย ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 16 
    นางนฤมลสรุปสาระสำคัญการหารือว่า นายกฯ แสดงความขอบคุณอินเดียในฐานะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่สำคัญของอาเซียน และให้การสนับสนุนไทยและอาเซียนมาโดยตลอด โดยเชื่อมั่นว่าความสัมพันธ์ระหว่างกันจะพัฒนาในมิติที่หลากหลายเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของทั้งสองภูมิภาคร่วมกัน
    ต่อมาเวลา 12.25 น. พล.อ.ประยุทธ์พบปะหารือกับนายนเรนทร โมที นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอินเดีย โดยนางนฤมลกล่าวว่า อินเดียขอให้ไทยเป็นสื่อกลางช่วยให้อินเดียได้ยกระดับการฝึกร่วมทางทหาร Cobra Gold จากการเข้าร่วมการฝึกแบบจำกัดกิจกรรมเป็นสมาชิก Full Participant และนายกรัฐมนตรีอินเดียได้เชิญนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมงาน Expo ด้านการป้องกันประเทศ (DEFEXPO 2020) ที่ประเทศอินเดีย ในเดือน ก.พ.2563 
    "ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้ขับเคลื่อนและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในทุกด้าน โดยทั้งสองฝ่ายควรใช้ประโยชน์จากโอกาส และลู่ทางที่ยังมีอยู่อีกมาก ทั้งนี้ เห็นว่าการจัดการประชุม JC ไทย-อินเดีย ครั้งที่ 8 จะเป็นโอกาสในการรักษาความร่วมมือโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการค้า โดยนายกรัฐมนตรีขอให้อินเดียพิจารณาลดภาษีนำเข้าสินค้ายางพารา น้ำมันปาล์ม และมันสำปะหลัง ซึ่งตลาดอินเดียมีความต้องการสูง รวมทั้งนายกรัฐมนตรีชื่นชมความร่วมมือด้านความเชื่อมโยงระหว่างกัน ทั้งด้าน ทางบก ทางทะเล และทางอากาศ" โฆษกประจำสำนักนายกฯกล่าว
    เวลา 14.00 น. พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ 10 ภายหลังเสร็จสิ้น นางนฤมล  สรุปสาระสำคัญว่า นายกฯ ระบุอาเซียนและสหประชาชาติควรร่วมกันสนับสนุนและเสริมสร้างระบบพหุภาคีนิยมและภูมิภาคนิยม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค และขอบคุณเลขาธิการสหประชาชาติที่สนับสนุนความพยายามของอาเซียนในการเสริมสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ ซึ่งรวมถึงการจัดตั้งศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน
     นางฤมลกล่าวว่า ไทยได้ย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนและสหประชาชาติอย่างรอบด้าน อาทิ การส่งเสริมความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดนอย่างมีประสิทธิภาพ การเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ การส่งเสริมบทบาทและสิทธิของสตรี เยาวชน ผู้พิการ และกลุ่มเปราะบาง และการเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจ เป็นต้น เพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ประชาชน และความยั่งยืนในทุกมิติแก่อาเซียนและระบบพหุภาคีนิยม
    "ทั้งสองฝ่ายควรร่วมกันรับมือกับความท้าทายข้ามพรมแดน ผ่านการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดนในอาเซียน เสริมสร้างศักยภาพในการรับมือกับภัยพิบัติ ผ่านความร่วมมือระหว่างศูนย์ และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ตลอดจนผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งรวมถึงการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมทางทะเล ปัญหาขยะทะเลและการประเมินผลกระทบต่อสุขภาวะและสิ่งแวดล้อม ขยะพลาสติก รวมถึงมลพิษและหมอกควัน" โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว
สหรัฐรับทบทวน GSP ไทย
    กระทั่งเวลา 15.50 น. พล.อ.ประยุทธ์พบปะหารือกับ น.ส.จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ซึ่งภายหลังเสร็จสิ้น นางนฤมลสรุปสาระสำคัญการหารือว่า นายกฯ ได้กล่าวถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ไทยและนิวซีแลนด์สามารถผลักดันและขยายผลให้เกิดประโยชน์ระหว่างกัน เช่น การแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญและประสบการณ์การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ซึ่งตรงกับนโยบายการส่งเสริม Smart Farmer ของไทยแนวปฏิบัติที่ดีของนิวซีแลนด์ในด้านการบริหารการศึกษา โดยเฉพาะการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งขอให้นิวซีแลนด์พิจารณาเกี่ยวกับขั้นตอนการขอวีซ่า หรือการยกเว้นวีซ่าเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ได้แสดงความเห็นด้วยและให้เจ้าหน้าที่พิจารณาต่อไป
     นางนฤมลกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ประสงค์ขยายความร่วมมือด้านความมั่นคงกับไทย และเพิ่มบทบาทของนิวซีแลนด์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน เช่น ความมั่นคง การค้าการลงทุน การพัฒนาที่ยั่งยืน และเจตนารมณ์ของนิวซีแลนด์ที่จะเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของ ACMECS 
     "ทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นระหว่างประเทศที่เป็นประเด็นท้าทาย ได้แก่ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของสตรี ความเท่าเทียมกันทางเพศสภาพ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบรรเทาภัยพิบัติและการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม และการจัดการปัญหาขยะพลาสติกและขยะทะเล" โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว
    เวลา 16.30 น. นายวิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35
    นางนฤมลสรุปสาระสำคัญการหารือว่า นายกฯ แสดงความขอบคุณที่ รมว.พาณิชย์สหรัฐนำคณะนักธุรกิจจากบริษัทชั้นนำของสหรัฐร่วมเดินทางมาไทยครั้งนี้ เชื่อมั่นว่าจะเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะในการขยายความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน ซึ่ง รมว.พาณิชย์สหรัฐกล่าวว่าการมาเยือนครั้งนี้นำภาคเอกชนจากสาขาต่างๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของไทยมาร่วมประชุม Indo Business Forum ที่หอการค้าไทยและหอการค้าสหรัฐร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงาน เชื่อมั่นว่าการประชุมครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจสำหรับภาคเอกชน 
    "ทั้งสองฝ่ายหารือถึงการเพิ่มพูนความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างกัน นายกฯ กล่าวว่าไทยมีนโยบายส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้แก่การลงทุนของภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างชาติ รวมทั้งได้พัฒนากฎระเบียบต่างๆ และผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง จึงเชิญชวนภาคเอกชนสหรัฐมาร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคของอาเซียน" นางนฤมลกล่าว
    โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า สำหรับประเด็นการพักสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (จีเอสพี) บางส่วนแก่ไทย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลห่วงกังวลเรื่องผลกระทบต่อภาคเอกชนและสาธารณชน แต่เข้าใจดีเรื่องกติกาของสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ในฐานะมิตรอันใกล้ชิด ขอให้สหรัฐพิจารณาทบทวนอีกครั้ง ซึ่ง รมว.พาณิชย์สหรัฐพร้อมเปิดให้มีการเจรจาทบทวนระหว่างกันก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ในอีก 6 เดือนข้างหน้า
    เวลา 17.10 น. พล.อ.ประยุทธ์หารือกับนายดมิทรี เมดเวเดฟ นายกรัฐมนตรีสหพันธรัฐรัสเซีย ภายหลังเสร็จสิ้น นางนฤมลสรุปสาระสำคัญว่า นายกฯ ได้เชิญบริษัทรัสเซียเข้ามาลงทุนในอีอีซี  ในสาขาที่รัสเซียเชี่ยวชาญ อาทิ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เทคโนโลยีดิจิทัล การเมือง ระบบเมืองอัจฉริยะ และการผลิตเครื่องมือแพทย์ พร้อมกล่าวว่าไทยมีความสนใจที่จะส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังตลาดรัสเซียเพิ่มขึ้น และขอบคุณรัสเซียที่นำเข้าสินค้าเกษตรจากไทยอย่างต่อเนื่อง 
    "ไทยยินดีที่มีการตรวจสอบโรงงานสินค้าประมงไทย โดยหวังว่าจะนำไปสู่การค้าขายสินค้าระหว่างกันมากขึ้น นอกจากนี้ ไทยหวังที่จะกระชับความร่วมมือด้านพลังงานกับรัสเซีย โดยหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะใช้ประโยชน์จากคณะทำงานร่วมด้านพลังงานเป็นกลไกขับเคลื่อนความร่วมมือดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมต่อไป" โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"