จะเข้าใจ GSP ต้องรู้จัก AFL-CIO ของสหรัฐฯ


เพิ่มเพื่อน    

    การติดตามข่าวเรื่องสหรัฐฯ ตัดสิทธิพิเศษภาษีศุลกากรหรือ GSP (Generalized System of  Preferences) ที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางขณะนี้ ควรจะต้องทำความเข้าใจ "ตัวละคร"  ที่เกี่ยวข้องก่อนที่เราจะกระโจนลงไปตัดสินว่าใครผิดใครถูก ใครได้ใครเสีย
    ยิ่งมีคนเสนอให้เราตอบโต้ด้วยการแบนสินค้าอเมริกันบางอย่างเพื่อตอบโต้ลักษณะ "แลกหมัด" กันยิ่งน่ากลัว
    จะ Go So Big…ไปกันใหญ่
    การปลุกกระแสชาตินิยมไม่ได้ช่วยอะไรในการต่อรอง หรือการแก้ปัญหาระดับสากลที่กำลังมีความสลับซับซ้อนและยุ่งยากมากขึ้นทุกที
    หนึ่งในกลไกที่เสนอเรื่องนี้ต่อรัฐบาลสหรัฐฯ และสภาคองเกรสคือ องค์กรที่เรียกว่า AFL-CIO ซึ่งเป็นสมาพันธ์องค์กรแรงงานระดับชาติของอเมริกาที่ทรงอิทธิพลทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองไม่น้อย
    ผมเอาปกของเอกสารทั้งหมด 10 หน้าที่องค์กรนี้กล่าวหาว่าไทยได้ละเมิดสิทธิแรงงานหลายประเด็น โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสิทธิในการรวมตัวและตั้งสหภาพแรงงานของคนงานต่างด้าวในประเทศไทย
    เอกสารนี้เสนอไปให้ผู้แทนการค้าหรือ Trade Representative ของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 12 กันยายน  2017 ให้ตัด GSP ของไทย
    ข้อสรุปในตอนท้ายของเอกสารนี้ระบุว่า
    "The government of Thailand has not taken steps to afford internationally recognized  worker rights, including the right of association, the right to organize and bargain collectively  and the prohibition on forced labour. On the contrary, the government continues to actively  restrict internationally recognized worker rights under the law and fails to enforce these rights  in practice."
    องค์กร AFL-CIO นี้ย่อมาจาก The American Federation of Labour and Congress of  Industrial Organizations 
    ข้อเรียกร้องและข้อกล่าวหานี้ต้องได้รับการตอบโต้และชี้แจงจากฝ่ายไทยเราอย่างกระตือรือร้น เพราะเอกสารของเขาจะเน้นเฉพาะเรื่องที่เขาต้องการร้องเรียน
    หน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องอาจจะได้ทำหน้าที่ตรงนี้แล้ว แต่อาจจะยังไม่มีการบูรณาการเพียงพอที่จะเปลี่ยนจุดยืนของเขาได้
    ประเด็นเรื่องการให้สิทธิแรงงานต่างด้าวตั้งสหภาพได้คงเป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยยังไม่อาจจะยอมได้ เพราะแม้แต่รัฐบาลสหรัฐฯ เองก็ยังทำไม่ได้....ด้วยเหตุผลของตนเองที่บางครั้งก็ไม่ต่างกับเหตุผลของเรานัก
    แต่ต้องเข้าใจว่ากลไกการถ่วงดุลอำนาจในสังคมของอเมริกาต่างจากเรา
    นั่นไม่ได้แปลว่าเราจะอยู่เฉยๆ ปล่อยให้มีการกล่าวหาเรื่องต่างๆ ที่มีผลต่อเศรษฐกิจของเราทั้งทางตรงและทางอ้อม
    ประเด็นว่าการที่เราถูกตัด GSP ไป 573 รายการ มีผลมากน้อยแค่ไหนเป็นเรื่องต้องประเมินอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่จากความรู้สึกหรือกระแสชั่วครั้งชั่วคราว
    แต่ที่ควรจะทำความเข้าใจต่อ AFL-CIO คือบทบาทและอิทธิพลทางการเมืองขององค์กรนี้
    เขาเรียกตัวเองว่าเป็นการรวมตัวของสหภาพที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ มีสมาชิกกว่า 55 สหภาพทั้งในและต่างประเทศ
    อ้างว่ามีสมาชิกที่เป็นคนงาน 12 ล้านคน
    และประกาศตนเป็นกลไกที่ทำเรื่องการเมืองอย่างเปิดเผยและระดมทุนเพื่อช่วยเหลือพรรคการเมืองที่ยืนเคียงข้างคนงาน
    ที่ผ่านมา AFL-CIO ได้แสดงจุดยืนอยู่ข้างพรรคเดโมแครตมาตลอด เพราะเป็นพรรคที่สนับสนุนชนชั้นแรงงานและคนผิวดำซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญในการเลือกตั้งทุกครั้งในทุกระดับ
    องค์กรนี้ตรวจสอบเรื่อง GSP เพราะมีผลกระทบต่อการจ้างงาน เขาจึงโยงเรื่องสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรของต่างประเทศเข้ากับเรื่องสิทธิแรงงาน
    อีกทั้งยังเกาะติดความเคลื่อนไหวเรื่องแรงงานของทุกประเทศที่ค้าขายกับสหรัฐฯ
    ผมไม่สงสัยเลยว่าโดนัลด์ ทรัมป์เห็นโอกาสที่จะเอาใจสมาพันธ์แรงงานในประเทศที่มีอิทธิพลทางการเมืองสูงเช่นนี้
    เมื่อได้จังหวะที่จะเอาใจแรงงานจำนวนมากอย่างนี้ในปีของการหาเสียงเลือกตั้ง มีหรือที่ทรัมป์จะไม่คิดแย่งเอาเสียงสหภาพแรงงานจากพรรคเดโมแครตมาเป็นของตน
    เราจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม สำหรับทรัมป์แล้วทุกอย่างย่อมโยงถึงชัยชนะการเลือกตั้งของตนในปีหน้าอย่างปฏิเสธไม่ได้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"