สถานการณ์แบ่งแยกซีเรียหลังสหรัฐยึดบ่อน้ำมัน


เพิ่มเพื่อน    

 

            ปลายเดือนตุลาคม มาร์ค เอสเปอร์ (Mark Esper) รัฐมนตรีกลาโหมกล่าวว่า สหรัฐอาจคงทหารจำนวนหนึ่งในซีเรีย เพื่อคุ้มกันบ่อน้ำมันไม่ให้ตกอยู่ในมือไอซิส ไม่กี่วันต่อมาประธานาธิบดีทรัมป์เห็นว่าควรคงทหารจำนวนหนึ่งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรียเหตุเพราะต้องคุ้มกันบ่อน้ำมัน

                ก่อนหน้านี้ทรัมป์ให้เหตุผลว่าเป็นการสิ้นเปลืองที่จะคงทหารในซีเรียเพื่อทำสงครามที่ไม่รู้จบ ต้องพาทหารกลับบ้าน ความจริงคือทหารที่ว่ามีเพียงไม่กี่ร้อยนาย ในขณะที่กองทัพสหรัฐมีทหารนับแสนนาย ใช้งบกลาโหมกว่า 700,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี เป็นประเทศที่ใช้งบกลาโหมสูงที่สุดในโลก และสวนทางกับที่พูดหลายครั้งว่าผู้ก่อการร้ายไอซิสไม่เป็นภัยร้ายแรงอีกแล้ว

                เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังกองกำลังเคิร์ดซีเรียถอนตัวออกจากพื้นที่ ตุรกีเคลื่อนทัพเข้ามา รัฐบาลซีเรียส่งกองทัพขึ้นไปยันไว้ และรัสเซียส่งทหารจำนวนหนึ่งทำหน้าที่เป็นแนวกันชนระหว่างกองทัพตุรกีกับซีเรีย

การเข้ามาพัวพันของตุรกีกับสหรัฐ :

                ตั้งแต่เริ่มทำสงครามต่อต้านกลุ่มก่อการร้ายไอซิส รัฐบาลตุรกีใช้เหตุผลนี้ส่งทหารเข้ามาในซีเรียหลายรอบด้วยหลายเหตุผล เช่น เพื่อช่วยปราบปรามผู้ก่อการร้าย ต่อมาเมื่อชาติตะวันตกสนับสนุนกองกำลังเคิร์ดซีเรียเพราะหวังให้เป็นหัวหอกรบกับไอซิส ตุรกีเห็นว่าหากเคิร์ดซีเรียเข้มแข็งจะเป็นภัยต่อตนเอง พยายามหาทางเข้ามาปราบปรามสกัดกั้นพวกนี้ด้วย อ้างว่ากองกำลังเคิร์ดเป็นผู้ก่อการร้ายเหมือนไอซิส

                สถานการณ์ปัจจุบันคือไอซิสไม่เป็นภัยร้ายอีกต่อไปแล้ว เอกสารของสหรัฐเป็นผู้เอ่ยเรื่องนี้เอง ที่น่าติดตามคือรัฐบาลตุรกีต้องการสร้างเขตปลอดภัยในซีเรีย ผลการเจรจากับรัสเซียคือตุรกีสามารถควบคุมดินแดนซีเรียลึกเข้ามา 32 กม. (20 ไมล์) ตั้งแต่เมือง Tal Abyad ถึง Ras al-Ain เป็นแนวยาว 120 กม. (75 ไมล์) คิดเป็นพื้นที่เท่ากับ 3,840 ตร.กม. (ใหญ่กว่ากรุงเทพฯ กว่า 2 เท่า พื้นที่กรุงเทพฯ เท่ากับ 1,569 ตร.กม.) โดยที่ตุรกียอมรับบูรณภาพทางการเมืองและดินแดนของซีเรีย

                ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลสร้างเขตปลอดภัยเพื่อรองรับผู้อพยพลี้ภัยหรือเพื่อยึดครองดินแดน ตุรกีได้ส่วนนี้และส่วนอื่นๆ ที่ได้ก่อนหน้านี้แล้ว อาจกลายเป็นปัญหาในอนาคต แม้วันนี้รัฐบาลตุรกีจะยืนยันบูรณภาพแห่งดินแดนของซีเรียก็ตาม

                บ่อน้ำมันที่ทหารสหรัฐเข้าควบคุมเหล่านี้อยู่ในมือของผู้ก่อการร้ายในช่วงที่ผู้ก่อการร้ายขยายตัว จากนั้นตกอยู่ในมือของกองกำลังเคิร์ดซีเรียภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐ (ถ้าไม่มีสหรัฐ เคิร์ดไม่สามารถยึดครองบ่อน้ำมัน) เมื่อเคิร์ดถอนตัว รัฐบาลสหรัฐจึงประกาศว่าจะเข้าดูแลด้วยตนเอง ความจริงคือรัฐบาลสหรัฐเป็นผู้ดูแลมานานแล้ว                การประกาศควบคุมพื้นที่บ่อน้ำมันแม้ไม่ได้ระบุว่าต้องการยึดครองถาวร น่าเชื่อว่าจะอยู่อีกนาน ประเด็นสำคัญคือไม่ว่าจะอยู่ภายใต้กองกำลังสหรัฐโดยตรงหรือไม่ เป็นไปได้ว่ารัฐบาลสหรัฐต้องการเป็นผู้ดูแลหรือมีอิทธิพลต่อความเป็นไปของบ่อน้ำมันเหล่านี้

                เป็นวิธีการที่รัฐบาลสหรัฐใช้เรื่อยมา

                รัฐบาลทรัมป์ประกาศว่าจะนำเงินที่ได้จากบ่อน้ำมันเหล่านี้ให้แก่ฝ่ายต่อต้านสายกลาง (SDF) เรื่องนี้ยังเป็นปริศนาอยู่ เพราะฝ่ายต่อต้านสายกลางใช้ในความหมายคนซีเรียที่ต่อต้านรัฐบาลอัสซาด ที่ผ่านมากองกำลังเคิร์ดซีเรียเป็นกองกำลังหลักของ SDF นี้

                แม้กองกำลังเคิร์ดแสดงความไม่พอใจเมื่อสหรัฐถอนทหารออกจากพื้นที่พรมแดนทางภาคเหนือฝั่งตะวันออกของแม่น้ำยูเฟรติส ยอมให้กองทัพตุรกีเข้ามา และเคิร์ดต้องถอยออก ล่าสุดยังมีแนวโน้มว่าอยู่ฝ่ายสหรัฐมากกว่าฝ่ายรัฐบาลอัสซาด ความสัมพันธ์ระหว่างชาวเคิร์ดกับรัฐบาลสหรัฐเป็นเรื่องน่าติดตาม

                การเข้ามาของกองทัพตุรกี การคงอยู่ของกองทัพสหรัฐทั้งหมดล้วนมีผลต่ออนาคตของประเทศนี้

                ถ้าสังเกตให้ดีทุกวันนี้ประเทศซีเรียถูกแบ่งแยกโดยปริยายแล้ว เพียงแต่ไม่ใช้คำว่า “แบ่งแยก” หรือเป็น “เขตปกครองตัวเอง” ทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านี้มีอยู่จริงและชัดเจนยิ่งขึ้น

จุดเริ่มต้นคือต้องล้มระบอบอัสซาด :

                ย้อนหลังปี 2011 ไม่กี่เดือนหลังการประท้วงเริ่มบานปลาย รัฐบาลโอบามาขอให้ประธานาธิบดีบาชาร์ อัลอัสซาด (Bashar al-Assad) ก้าวลงจากตำแหน่ง ถ่ายโอนอำนาจแก่ประชาชนโดยสันติ เป็นขั้นตอนเปลี่ยนจากระบอบอำนาจนิยมเป็นประชาธิปไตย

                ต่อมาเมื่อกลายสงครามกลางเมืองเต็มตัว เกิดการสู้รบฆ่าฟันไปทั่ว ยิ่งมีข้ออ้างว่ารัฐบาลอัสซาดเข่นฆ่าประชาชน

                ประธานาธิบดีอัสซาดเล่าย้อนความหลังที่มาของการชุมนุมประท้วงว่าส่วนหนึ่งมาจากเงินต่างชาติ มาจากประเทศกาตาร์ อุดหนุนให้คนในประท้วงต่อต้านรัฐบาล ความรุนแรงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นมาจากผู้ประท้วงบางคน จากนั้นไม่นานกลายเป็นสงครามกลางเมือง ทุกฝ่ายต่างมีและใช้อาวุธสงครามเข้าห้ำหั่น

                ไม่ว่าต้นเหตุที่มาคืออะไร การชุมนุมประท้วงลุกลามกลายเป็นสงครามกลางเมือง ซ้ำร้ายกว่านั้นผู้ก่อการร้ายหลายสิบกลุ่ม (ไอซิสเป็นเพียงกลุ่มที่มักเอ่ยถึง) กองกำลังมุสลิมหลายหมื่นคนกว่าร้อยสัญชาติเข้าร่วมรบเพื่อล้มระบอบอัสซาด การเข้าแทรกจากรัฐบาลหลายประเทศ ผู้เสียชีวิตจึงเพิ่มเป็นหลายแสน หลายล้านคนอพยพ บ้านเมืองพังพินาศ ยังไม่รู้ว่าจบลงที่ใด ที่สำคัญคือตราบใดรัฐบาลสหรัฐไม่เลิกนโยบายล้มระบอบอัสซาด การปรองดองย่อมเป็นไปไม่ได้ ซีเรียไม่มีวันสงบ

                เรื่องที่ต้องยึดไว้ให้มั่นคือจนถึงปัจจุบันรัฐบาลสหรัฐยังคงนโยบายล้มระบอบอัสซาด ยังคงกระทำการต่างๆ เพื่อเป้าหมายดังกล่าว

ยุทธศาสตร์ครองความเป็นเจ้า :

                นักวิเคราะห์บางคนเห็นว่าความเป็นไปของซีเรียเป็นพัฒนาการครองความเป็นเจ้าของรัฐบาลสหรัฐที่เปลี่ยนจากการส่งกองทัพ ทุ่มงบประมาณมหาศาลเข้าทำสงคราม เช่นสงครามในอัฟกานิสถาน (รบกับตอลิบัน อัลกออิดะห์) อิรัก มาสู่รูปแบบใหม่ คราวนี้รัฐบาลสหรัฐจะไม่ทุ่มทหารเข้ารบด้วยตัวเอง กลายเป็นสงครามกลางเมือง นักรบมุสลิมกว่าร้อยสัญชาติเดินทางเข้ามาเพื่อโค่นล้มระบอบอัสซาด

                มีประเด็นน่าคิดว่าทางการสหรัฐชี้ว่าไอซิสยึดบ่อน้ำมันกับโรงกลั่นบางส่วนในอิรักกับซีเรียแล้วขายน้ำมันแก่ตลาดมืด พ่อค้าคนกลางรายเล็กรายน้อย น้ำมันเป็นหนึ่งในรายได้หลักของไอซิส ประเมินว่าอาจสูงถึง 1 ล้านดอลลาร์ต่อวัน (หรือมากกว่า) รัฐบาลสหรัฐพยายามสุดกำลังที่จะสกัดหรือปิดกั้นการเงินของไอซิส

                คำถามคือสหรัฐรู้อยู่แล้วว่าบ่อน้ำมัน โรงกลั่นอยู่ที่ไหน ทำไมไม่ส่งเครื่องบินทำลาย ป้องกันไม่ไอซิสใช้ประโยชน์ คำตอบคือมีการโจมตีทางอากาศบ่อน้ำมันเหล่านี้ แต่ทำลายไม่หมด ที่สุดแล้วไอซิสยังสามารถขายน้ำมันต่อ ทั้งๆ ที่กองทัพสหรัฐเข้าถึงการเคลื่อนไหวทางภาคพื้นดินทั้งหมด ยากจะเล็ดลอดสายตา การที่ไอซิสยังสามารถขายน้ำมันเป็นประเด็นที่ค้านสายตาหลายคน

                ในช่วงนั้นนักวิชาการตะวันตกถกกันว่าใครเป็นภัยมากกว่ากัน ระหว่างระบอบอัสซาดกับผู้ก่อการร้ายไอซิส ควรจะให้ใครอยู่ใครไป เรียงลำดับก่อนหลังอย่างไร

                ถ้าวิเคราะห์ภาพกว้าง นโยบายล้มระบอบอัสซาดคือกลวิธีหรือข้ออ้างเพื่อให้รัฐบาลสหรัฐมีเหตุเข้ามาพัวพันซีเรีย เข้าไปในในตะวันออกกลางเพิ่มอีก 1 ประเด็น

                พูดให้กว้างกว่านั้นเป็นความพยายามรักษาความเป็นเจ้าของสหรัฐ ประธานาธิบดีอัสซาด กล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐจะไม่ยอมให้มีประเทศอื่นใดมาเทียบเคียงตนหรือบดบังอิทธิพลของตน แม้กระทั่งสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส (ที่เป็นชาติประชาธิปไตยเหมือนกัน) เป็นนโยบายปล้นสะดมประเทศอื่นๆ ปล้นทรัพยากร สิทธิของประชาชนประเทศอื่นๆ ผลประโยชน์เรื่องน้ำมันหรือท่อส่งน้ำมันเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เป็นสงครามระหว่างสหรัฐกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก.

                                                                                         -----------------------                                                  

รูป : ประธานาธิบดีบาชาร์ อัลอัสซาด (Bashar al-Assad)

ที่มา : https://www.thenational.ae/world/mena/syrian-president-reshuffles-government-state-media-1.692101

                                                                                -----------------------

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"