เมื่อผมเจอนักดาราศาสตร์ SETI จากอเมริกา!


เพิ่มเพื่อน    

            คุณเชื่อไหมว่าวันหนึ่งมนุษย์เราจะค้นพบ "สิ่งมีชีวิตนอกโลก"?

                หลายคนไม่เชื่อ แต่มีนักดาราศาสตร์ระดับโลกไม่น้อยเชื่อว่า การพยายามแสวงหาหลักฐานและสัญญาณอย่างเป็นระบบที่พิสูจน์ได้เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องทำ

                SETI เป็นองค์กรที่มีชื่อเสียงทางด้าน "สืบหาสิ่งมีชีวิตที่มีสติปัญญานอกโลก" หรือ Search for  Extraterrestrial Intelligence

                ผมได้พบกับ Dr. Andrew Siemion ผู้อำนวยการของ SETI ที่มีศูนย์บัญชาการอยู่ที่มหาวิทยาลัย Berkeley ที่แคลิฟอร์เนีย (คนซ้ายสุดในภาพ)

                และ Prof. Michael Garrett ซึ่งก็ทำเรื่อง SETI เหมือนกัน ประจำการอยู่ที่มหาวิทยาลัย Manchester ของอังกฤษ (คนที่สองจากซ้าย)

                ทั้งสองท่านไปหา ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา (ขวาสุดในรูป) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ที่เชียงใหม่เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

                มีการจัดเวทีเสวนาทั้งที่กรุงเทพฯ และที่สำนักงานของ สดร.ที่เชียงใหม่

                มีคนมาฟังและร่วมเสวนากันล้นหลาม

                เป็นช่วงจังหวะเวลาเดียวกับที่ สดร.กำลังสร้าง "หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ" (Thai  National Radio Astronomy Observatory) ที่มีกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตรซึ่งใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์

                สดร.ร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ วางแผนการจัดตั้ง "อุทยานการเรียนรู้ดาราศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต" ในบริเวณรอบสถานที่ก่อสร้างหอสังเกตการณ์แห่งนี้ที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่

                สองผู้เชี่ยวชาญ SETI นี้ยืนยันว่า สิ่งที่พวกเขาทำอยู่ขณะนี้ (ด้วยเงินบริจาค 100 ล้านเหรียญหรือกว่า 3,000 ล้านบาทจากเศรษฐีจากซิลิคอนวัลเลย์ที่สหรัฐฯ ชื่อ Yuri Milner ทำการค้นคว้า วิจัยและรับสัญญาณวิทยุจากนอกโลก) ไม่มีอะไรเหมือนกับเรื่อง UFOs แต่อย่างใด

                เพราะ UFOs (Unidentified Flying Objects) เป็นเรื่องของความเชื่อหรือการอ้างว่ามีคนพบเห็นสิ่งแปลกๆ ที่อธิบายไม่ได้หรือเป็นการเล่ากันปากต่อปาก ไม่มีหลักฐานอ้างอิงที่เชื่อถือได้ แต่ SETI เป็นการทำงานอย่างนักวิทยาศาสตร์ ทุกอย่างต้องมีหลักฐานและข้อมูลที่ตรวจสอบและพิสูจน์ได้

                สถาบัน SETI ถูกก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อปี 1984 ณ ใจกลางซิลิคอนวัลเลย์ด้วยความร่วมมือและการลงทุนสนับสนุนของทั้งภาครัฐและเอกชน

                เช่นองค์การนาซา บริษัทคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ หน่วยงานเทคโนโลยีระดับโลก เช่น Facebook, Intel, IBM, Microsoft เป็นต้น รวมถึงเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร

                ต่อมาในปี 2007 SETI ได้สร้างเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุแอลเลน เพื่อให้สำหรับงานวิจัยโดยเฉพาะ และในปี 2016 เริ่มสำรวจและค้นหาสัญญาณวิทยุจากระบบดาวแคระแดงจำนวนหลายหมื่นระบบและดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะในเขตที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตที่ค้นพบใหม่ซึ่งคาดว่าจะมี "สิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญา" อาศัยอยู่

                แน่นอนว่างานวิจัยที่ว่านี้ได้ใช้เทคโนโลยี AI algorithm และ Machine Learning ช่วยวิเคราะห์และคัดกรองสัญญาณอย่างกว้างขวาง...กว่า 20 ล้านสัญญาณ

                ก่อนหน้านี้เมื่อปี 1999 มีกิจกรรมที่น่าสนใจเรียกว่า SETI@home โดยที่ Berkeley SETI  Research Center เชิญชวนอาสาสมัครใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลมาร่วมประมวลผลผ่านระบบอินเทอร์เน็ตวิเคราะห์ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์วิทยุในงานวิจัยเซติ

                นั่นย่อมเหมือนการสร้างซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีเครือข่ายกระจายไปทั่วโลก

                หากท่านสนใจติดตามได้ทางเว็บไซต์ https://setiathome.berkeley.edu/

                อย่าได้แปลกใจหาก สดร.ของไทยเราจะร่วมเป็นเครือข่าย SETI ระดับสากลเมื่อเปิดตัวกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติในปีหน้า เพราะสามารถรับสัญญาณวิทยุในช่วงความถี่ 300MHz ถึง 115GHz

                เพราะนี่คือการออกแบบก่อสร้างและใช้เทคโนโลยีทันสมัยทัดเทียมหอดูดาวชั้นนำของโลกทีเดียว

                จึงเป็นหน้าที่ของผมที่จะเกาะติดผู้เชี่ยวชาญ SETI ทั่วโลกเพื่อหาข้อมูลข่าวสารมารายงานท่านๆ  เป็นระยะๆ จากนี้ไป!

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"