กลุ่มนอกโอเปก (non-OPEC)


เพิ่มเพื่อน    

                

                คำว่า “กลุ่มนอกโอเปก” (non-OPEC) ใช้ใน 2 ความหมาย ความหมายแรกคือประเทศที่ไม่เป็นสมาชิกโอเปก

                “โอเปก” มีชื่อเต็มว่า “องค์การประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก” (Organization of Petroleum Exporting Countries : OPEC) เป็นกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก ก่อตั้งเมื่อปี 1960 โดยอิหร่าน อิรัก คูเวต ซาอุดีอาระเบีย และเวเนซุเอลา จากนั้นมีสมาชิกใหม่เข้ามาและออกไปบ้าง ล่าสุดมีสมาชิกรวม 14 ประเทศ รัฐบาลซาอุฯ  เป็นแกนนำ

                ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอื่นๆ ที่ไม่เข้าร่วมโอเปกจึงมักเรียกรวมๆ ว่า “กลุ่มนอกโอเปก” คำนี้ถูกเรียกขานควบคู่กับการมีกลุ่มโอเปกตั้งแต่ต้น ยกตัวอย่าง บรูไน มาเลเซีย รัสเซีย จีน

                ความหมายที่ 2 คือ ประเทศกลุ่มนอกโอเปกที่ร่วมมือกัน ความหมายนี้เน้นว่าประเทศที่ไม่เป็นสมาชิกโอเปกบางส่วนพยายามร่วมมือกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองของตนเอง  ทั้งต่อรองกับโอเปก บรรษัทน้ำมัน ฯลฯ อย่างไรก็ตามกลุ่มยังไม่ประกาศจัดตั้งเป็นทางการ ไม่มีสถานะเป็นองค์กรระหว่างประเทศ มีลักษณะเป็นการรวมกลุ่มเฉพาะกิจ

                ถ้ายึดตาม “Declaration of Cooperation” อันเป็นข้อตกลงร่วมระหว่างโอเปกกับกลุ่มนอกโอเปก 10 ประเทศ กลุ่มนอกโอเปกจะประกอบด้วย อาเซอร์ไบจาน บาห์เรน บรูไน คาซัคสถาน มาเลเซีย เม็กซิโก โอมาน รัสเซีย สาธารณรัฐซูดาน สาธารณรัฐเซาท์ซูดาน (เดิมสาธารณรัฐอิเควทอเรียลกินีอยู่ในกลุ่มนี้แต่ได้ย้ายไปอยู่โอเปก) ปัจจุบันรัสเซียได้รับการยอมรับว่าเป็นแกนนำกลุ่ม

                มีบางประเทศที่ส่งออกน้ำมัน แต่ไม่แน่ใจว่าควรถูกจัดอยู่ในกลุ่มนอกโอเปกหรือไม่ เช่น สหรัฐ

                สหรัฐเป็นกลุ่มนอกโอเปกหรือไม่ :

                สหรัฐถูกจัดว่าอยู่กลุ่มนอกโอเปกในแง่ไม่เป็นสมาชิกโอเปก เอกสารรายงานหลายฉบับจะรวมสถิติของสหรัฐในฐานะกลุ่มนอกโอเปก แต่สหรัฐมักดำเนินนโยบายเป็นอิสระไม่เข้าพวกกับกลุ่มนอกโอเปก ดังนั้นจึงไม่เข้าพวกในฐานะกลุ่มความร่วมมือ

                ในอดีตสหรัฐคือผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ของโลก เมื่อรัฐบาลปรับเปลี่ยนนโยบายลดการนำเข้า ขยายกำลังผลิตของตัวเอง จึงเริ่มเป็นประเทศที่มีบทบาทต่อราคาน้ำมันดิบโลกในฐานะเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ และเป็นผู้ผลิตรายใหญ่สุดในปัจจุบัน สำนักงานบริหารสารสนเทศพลังงานของสหรัฐ (U.S. Energy Information Administration : EIA) รายงานว่าเมื่อเดือนสิงหาคมสหรัฐเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่สุดของโลกด้วยกำลังผลิต 12.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน มีอิทธิพลต่อราคาน้ำมันโลก และมีแนวโน้มเพิ่มกำลังผลิตมากขึ้นอีกด้วย

                ถ้าหากรวมสถิติสหรัฐเข้าไปในกลุ่มนอกโอเปก ในระยะหลังกำลังการผลิตของกลุ่มนอกโอเปกที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากสหรัฐ

                กลุ่มนอกโอเปกมีผลต่อราคาน้ำมัน :

                วิกฤติน้ำมันในทศวรรษ 1970 ราคาน้ำมันดิบโลกพุ่งพรวด จุดประกายให้ทุกประเทศสำรวจขุดเจาะน้ำมันของตัวเอง ราคาที่ถีบตัวสูงลิบทำให้คุ้มค่าการลงทุน ผู้ผลิตเดิมเพิ่มกำลังการผลิต เกิดผู้ผลิตรายใหม่ที่ไม่ใช่สมาชิกโอเปก

                ปัจจุบันการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความต้องการน้ำมันจากเอเชียและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอุตสาหกรรมน้ำมันเป็นอีกปัจจัยส่งเสริมให้กลุ่มนอกโอเปกค่อยๆ เพิ่มกำลังการผลิต (มีบางประเทศที่กำลังการผลิตลดลง)

                ข้อมูล EIA ระบุว่า ปี 2018 ประเทศที่มีกำลังการผลิตสูงสุด (รวมน้ำมันกับก๊าซธรรมชาติ) เรียงตามลำดับ ได้แก่ สหรัฐ ซาอุฯ รัสเซีย แคนาดา จีน อิรัก อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บราซิล คูเวต

                แม้โอเปกยังอยู่ในฐานะผู้ทรงอิทธิพลเรื่องอุปทานน้ำมันดิบโลก มีผลต่อราคาน้ำมันโลก กลุ่มนอกโอเปกกำลังก้าวขึ้นมา ปริมาณการส่งออกจากกลุ่มนี้ค่อยๆ เพิ่มขึ้น มีอำนาจต่อรองมากขึ้น

                ในอดีตมีหลายครั้งที่กลุ่มโอเปกกับนอกโอเปกขัดแย้งเรื่องโควตาผลิตน้ำมัน ทำให้ราคาตลาดอ่อนตัว ท้ายที่สุดพยายามร่วมมือกันเพื่อยกระดับราคาให้ได้ตามต้องการ เป็นผลประโยชน์ร่วม

                น้ำมันจะหมดโลกหรือไม่ :

                ทศวรรษ 1970 เป็นช่วงที่โลกวิตกว่าน้ำมันกำลังจะหมดโลกในอีก 30 ปีข้างหน้า แต่นับจากกลางทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ได้ค้นพบแหล่งน้ำมันใหม่ๆ ทั้งนี้เพราะเทคโนโลยีสำรวจดีขึ้น สามารถขุดเจาะ

                น้ำมันในแหล่งที่ทำไม่ได้ในอดีต รวมทั้งหลุมเก่าที่คิดว่าหมดแล้วเพราะไม่สามารถนำน้ำมันขึ้นมาได้อีก แต่ด้วยเทคโนโลยีการขุดเจาะสมัยใหม่ช่วยนำน้ำมันขึ้นมาเพิ่ม หรือหลุมที่ยังไม่ขุดเพราะคิดว่าจะได้น้ำมันน้อย แต่ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้สามารถประมาณการจำนวนน้ำมันที่จะขุดได้มากขึ้น คุ้มค่าการลงทุน

                การค้นพบแหล่งน้ำมันใหม่ การผลิตน้ำมันชั้นหินดินดาน (shale oil) การใช้พลังงานทางเลือก น่าจะเป็นเหตุให้โลกมีน้ำมันใช้อีกกว่า 50 ปี

                ข้อมูลอีกแนวหนึ่งชี้ว่าน้ำมันสำรองในโลกมีอีกมาก ซาอุฯ เป็นกรณีตัวอย่างว่านับจากทศวรรษ 1970 เป็นต้นมาก็ไม่ค่อยสำรวจแหล่งน้ำมันเพิ่ม เชื่อว่ายังมีอีกมาก ส่วนประเทศกลุ่มนอกโอเปกที่ค้นพบน้ำมันทีหลังเชื่อว่ามีอีกมากเช่นกัน โดยเฉพาะประเทศที่อาศัยบรรษัทน้ำมันข้ามชาติในการสำรวจ บรรษัทน้ำมันมักจะขุดสำรวจบางพื้นที่ที่คิดว่ามีโอกาสสูง ไม่พยายามสำรวจให้ครบ และขึ้นกับข้อตกลงกับประเทศเจ้าของน้ำมันด้วย

                ราคาตลาดคือปัจจัยสำคัญว่าผู้ผลิตน้ำมันจะสามารถผลิตออกมาขายได้หรือไม่ ดังนั้น น้ำมันไม่มีวันหมดจากโลกจริงๆ (ที่ยังอยู่ใต้ดิน) อยู่ที่ว่าคุ้มค่าที่จะขุดมาขายหรือไม่

                ซื้อขายด้วยเหตุผลอื่นนอกจากราคา :

                แม้ว่าราคาคือปัจจัยสำคัญที่สุด ผู้ส่งออกต้องการกำไรมากที่สุด ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการขายน้ำมัน เช่น ผูกการขายน้ำมันกับนโยบายเศรษฐกิจการค้า ผลประโยชน์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

                ความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างรัสเซียกับจีนเป็นกรณีตัวอย่าง รัสเซียเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันกับก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ เป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศ ด้านเศรษฐกิจจีนที่กำลังเติบโตและคาดว่าจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า คือตลาดใหญ่ที่หิวกระหายพลังงาน 2 ประเทศได้ลงนามซื้อขายก๊าซธรรมชาติระหว่างกันเป็นเวลา 30 ปี (2018-2047) คิดเป็นมูลค่ารวม 400,000 ล้านดอลลาร์ นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า แรงจูงใจของข้อตกลงดังกล่าวมาจากการเมืองมากกว่าเศรษฐกิจ เป็นการแก้ปัญหาของรัสเซียในยามที่ถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตร และตอบสนองความมั่นคงด้านพลังงานของจีน

                ผู้นำจีนเยือนแอฟริกากับลาตินอเมริกาติดต่อซื้อขายพลังงาน ทางการจีนมักใช้วิธีลงทุนในแหล่งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ มากกว่าที่จะซื้อจากตลาดโลก ลงทุนอุตสาหกรรมน้ำมันในหลายประเทศที่ชาติตะวันตกหลีกเลี่ยงหรือคว่ำบาตร เช่น ซูดาน เวเนซุเอลา อิหร่าน เมียนมา เป็นวิธีป้องกันไม่ให้สหรัฐหรือประเทศใดๆ ปิดกั้นน้ำมันเหล่านี้ หรือต้องตกอยู่ใต้อิทธิพลของโอเปกผู้มีอิทธิพลต่อราคาน้ำมันโลก

                ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกลุ่มนอกโอเปกกับผู้ซื้อจึงมีมากกว่าเพียงราคาน้ำมัน มีผลต่อความเป็นไปของกลุ่มนอกโอเปกไม่มากก็น้อย

                ประโยชน์ของกลุ่มนอกโอเปก :

                ไม่ว่าเศรษฐกิจโลกจะผันผวนอย่างไร ความจริงคือปริมาณการใช้น้ำมันของโลกค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับ โลกต้องการแหล่งน้ำมันมากขึ้น กลุ่มนอกโอเปกช่วยเรื่องนี้ได้ระดับหนึ่ง หลายประเทศพร้อมส่งออกให้มากที่สุด ลงทุนสำรวจขุดเจาะถ้ามีตลาดรองรับ

                กลุ่มนอกโอเปกช่วยลดการผูกขาด ลดโอกาสที่ราคาน้ำมันจะพุ่งสูงเกินขนาด (แม้กลุ่มนอกโอเปกต้องการขายในราคาสูงเช่นกัน)

                ในอนาคตเป็นไปได้ว่า “กลุ่มนอกโอเปก” จะมีบทบาทเทียบเคียงกลุ่มโอเปกมากขึ้น และภายในกลุ่มนอกโอเปกจะเต็มไปด้วยความซับซ้อน.

---------------------

ภาพ : แท่นขุดเจาะน้ำมันแห่งหนึ่งในไซบีเรีย

ที่มา : https://siberiantimes.com/business/investment/news/rosneft-invests-28-billion-in-three-siberian-oil-fields-to-supply-asia/

---------------------

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"