โพลชี้บิ๊กตู่โปร่งใส-ก้าวข้ามทักษิณ


เพิ่มเพื่อน    

 

 "บิ๊กตู่" ปลื้ม ปชช.ให้คะแนนรัฐบาลทำงานหนัก-มือสะอาด ลุยเดินหน้าทำงานเพื่อชาติต่อ "ซูเปอร์โพล" เผยผลสำรวจความเห็นเรื่องทำอย่างไรเราจึงก้าวข้ามทักษิณได้ พบคนส่วนใหญ่ชอบความเรียบง่ายเป็นกันเอง "ลุงตู่" มากกว่า "แม้ว" แนะเพิ่มใกล้ชิดคนโซเชียลมากขึ้น เชื่อก้าวผ่าน "ทักษิณ" ได้แน่ "เจี๊ยบ" โวย "ซูเปอร์อวย" เอาใจ "ประยุทธ์" ข้องใจคนทำโพลมีผลประโยชน์ทับซ้อนภาครัฐ "จตุพร" โผล่สะกิด "เสรีพิศุทธ์" ตั้งหลักดีๆ ก่อน กมธ.ป.ป.ช.พัง "พท." แย้มเปิดซักฟอก 3 กลุ่มหลักรัฐบาล

    เมื่อวันที่ 24 พ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี? และ รมว.กลาโหม ส่งยิ้มและพยักหน้าเมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงผลสำรวจซูเปอร์โพล ในหัวข้อเรื่อง “ภาพลักษณ์ ครม.ในใจประชาชน” ระบุรัฐบาลมีภาพลักษณ์ทำงานหนัก กล้าคิด กล้าทำ, คณะรัฐมนตรี (ครม.) มือสะอาด ไม่ด่างพร้อย และ ครม.มีบารมีคุมผู้มีอิทธิพลได้ โดยไม่ได้ตอบคำถามใดๆ ระหว่างเดินไปขึ้นเครื่องบินที่ท่าอากาศยานทหาร 2 (กองบิน 6) ดอนเมือง กรุงเทพฯ เพื่อเดินทางไปร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนที่สาธารณรัฐเกาหลี ระหว่างวันที่ 24-27 พ.ย.62 
    นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลโพลดังกล่าวว่า นายกฯ ได้ขอบคุณ ถือเป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยรัฐบาลจะทำงานเพื่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ รวมถึงประชาชนต่อไป 
    ขณะที่สำนักวิจัยซูเปอร์โพล ยังได้นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ทำอย่างไรเราจึงก้าวข้ามทักษิณได้ กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ผ่าน “เสียงประชาชนในโลกโซเชียล” (Social Media Voice) ด้วยระบบ Net Super Poll จำนวน 1,850 ตัวอย่าง และ “เสียงประชาชนในสังคมดั้งเดิม” (Traditional Voice) จำนวน 1,189 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 15-23 พ.ย.2562 
    โดยผลสำรวจได้สอบถามถึงนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยที่ไม่เคยทำอะไรเพื่อธุรกิจของครอบครัวตัวเอง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 46.0 ระบุ พล.อ.ประยุทธ์ รองลงมาร้อยละ 29.9 ระบุอดีตนายกรัฐมนตรี ดร.ทักษิณ ชินวัตร, ร้อยละ 13.9 ระบุนายชวน หลีกภัย, ร้อยละ 5.2 ระบุนายบรรหาร ศิลปอาชา และร้อยละ 5.0 ระบุคนอื่นๆ เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี, ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และนายควง อภัยวงศ์ เป็นต้น
    เมื่อถามถึงผลเปรียบเทียบภาพลักษณ์ที่ประชาชนจำได้ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์กับอดีตนายกฯ ทักษิณ ด้านความเรียบง่ายเป็นกันเองนั้น พล.อ.ประยุทธ์ได้ร้อยละ 60.3 ในขณะที่ ดร.ทักษิณได้ร้อยละ 52.8, ด้านการเปิดงานพิธีต่างๆ พล.อ.ประยุทธ์ได้ร้อยละ 77.2 ดร.ทักษิณได้ร้อยละ 50.8, ด้านยิ้มเก่ง พล.อ.ประยุทธ์ได้ร้อยละ 38.0 ดร.ทักษิณได้ร้อยละ 47.4, ด้านมีคนรักขอถ่ายรูปด้วย พล.อ.ประยุทธ์ได้ร้อยละ 28.9 ดร.ทักษิณได้ร้อยละ 36.9, ด้านลงพื้นที่ช่วยคนเดือดร้อน พล.อ.ประยุทธ์ได้ร้อยละ 36.7 ดร.ทักษิณได้ร้อยละ 55.2, ด้านมีผลงานยั่งยืน พบว่าสูสีกันมาก โดย พล.อ.ประยุทธ์ได้ร้อยละ 50.5 ดร.ทักษิณได้ร้อยละ 48.1, ด้านคดีความต่างๆ พล.อ.ประยุทธ์ได้ร้อยละ 21.2 ในขณะที่ ดร.ทักษิณได้ร้อยละ 40.9 
    ส่วนผลการสำรวจ “เสียงประชาชนในโลกโซเชียล” ผ่านระบบ Net Super Poll พบว่า พล.อ.ประยุทธ์กำลังเข้าถึงคนทั้งหมดประมาณ 27,477,598 คน ซึ่งมากกว่าจำนวนคนที่ ดร.ทักษิณกำลังเข้าถึงคนในโลกโซเชียลจำนวน 7,843,158 คน ที่น่าพิจารณาคือ คนในโลกโซเชียลจากหลากหลายประเทศกำลังให้ความสำคัญกับบุคคลทั้งสอง แต่ยังคงพบว่า พล.อ.ประยุทธ์มีจำนวนคนจากประเทศต่างๆ ที่กำลังเกาะติด พล.อ.ประยุทธ์ มากกว่า ดร.ทักษิณ แต่มีคำพูดที่แสดงถึงภาพลักษณ์ของบุคคลทั้งสองแตกต่างกันคือ พล.อ.ประยุทธ์จะมีคนพูดถึงตำแหน่ง อำนาจบริหาร เอาเรื่องเอาราว ลงโทษเอาผิดคนอื่น เปิดงาน ร่วมกิจพิธีการต่างๆ มากกว่า แต่ถ้าเป็นคำพูดที่พูดแล้วดูดี มีผลทางจิตใจให้เกิดความรัก ความศรัทธาของคนในโลกโซเชียลเพราะช่วยเหลือคน จะพบว่า ดร.ทักษิณจะถูกพูดถึงมากกว่า
'พท.'โวยโพลเอาใจ'บิ๊กตู่'
    ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นช่องทางอะไรบางอย่างว่ามีความเป็นไปได้ที่จะก้าวผ่านอดีตนายกรัฐมนตรี ดร.ทักษิณไปได้อย่างดี ถ้าทุกฝ่ายช่วยกันบริหารจัดการอารมณ์ความรู้สึกของสาธารณชน โดยข้อมูลชี้ให้เห็นชัดเจนแล้วว่า ภาพลักษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่กับเรื่องของตำแหน่ง อำนาจ การเปิดงานและพิธีการต่างๆ ที่เรื่องเหล่านี้ต้องทำให้เป็นช่องทางเข้าช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริงมากกว่าเป็นเพียงพิธีกรรมที่วันเปิดคือวันปิด ซึ่งประชาชนจะไม่ได้อะไร 
    "ควรเกาะติดการพูดคุยของคนในโลกโซเชียลให้เป็นระบบ เพื่องานความมั่นคง เพราะอาจเป็นหัวเชื้อจุดไฟลามไปถึงคนนอกโลกโซเชียลคล้ายๆ กับทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย แต่ครั้งนี้ไม่ใช่คนกรุงเทพฯ กับคนต่างจังหวัด แต่จะเป็นคนในโลกโซเชียลกับคนในโลกดั้งเดิม จึงต้องป้องกันปัญหาดีกว่าตามแก้ปัญหา จะได้ไม่ต้องเหนื่อยกันทั้งประเทศ" ผอ.สำนักวิจัยซูเปอร์โพลกล่าว    
    อย่างไรก็ตาม ร.ท.หญิงสุณิสา ทิวากรดำรง รองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า เป็นอีกครั้งที่ผลการศึกษาของซูเปอร์โพลค้านสายตาประชาชนส่วนใหญ่ จนน่าสงสัยในความน่าเชื่อถือและความเป็นกลางของระเบียบวิธีวิจัย เพราะหลังการรัฐประหาร ผู้อำนวยการซูเปอร์โพลคือ ดร.นพดล กรรณิกา ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าราชการการเมือง โดยได้รับความเห็นชอบจากมติ ครม. ของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อเดือน ต.ค.2557 ทำให้มีรายได้ขั้นต่ำ เดือนละ 57,250 บาท (เงินเดือน+เงินประจำตำแหน่ง) โดยยังไม่รวมค่าเบี้ยประชุมอื่น แล้วจะให้สังคมเชื่อได้อย่างไรว่าผู้บริหารของซูเปอร์โพลไม่ได้มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับรัฐบาล และจะไม่ให้สงสัยได้ยังไงว่าเป้าหมายของการทำโพลเป็นไปเพื่อตอบแทนทางการเมือง หรือมุ่งรับใช้ทางการเมืองแก่ผู้มีอำนาจหรือไม่ เพราะเข้าข่าย Conflict of interest
    "แหล่งเงินทุนในการทำโพลของซูเปอร์โพลก็มาจากลูกค้าที่เป็นหน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจเป็นหลัก ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิชาการที่น่าเชื่อถือในต่างประเทศเขาไม่ทำกัน เพราะการรับตำแหน่งจากรัฐบาลหรือการรับเงินสปอนเซอร์จากหน่วยงานรัฐ จะทำให้ผู้วิจัยไม่สามารถพูดความจริงได้ เพราะต้องเกรงใจสปอนเซอร์ ซึ่งจะทำให้งานวิจัยขาดความเป็นกลางและไม่น่าเชื่อถือ จนไม่สามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงได้ตามมาตรฐานงานวิจัยในระดับสากล" ร.ท.หญิงสุณิสากล่าว
    รองโฆษกพรรค พท.กล่าวว่า ที่ผ่านมาผลศึกษาของซูเปอร์โพลมักจะเชียร์รัฐบาลประยุทธ์มาตลอด แต่ผลสำรวจมักจะค้านสายตาประชาชน เช่น 1.ระบุว่าคนไทยส่วนใหญ่มีความสุขภายใต้การบริหารของรัฐบาลลุงตู่ 2.พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้นำอันดับหนึ่งในสายตาประชาชน เพราะสอนให้ประชาชนทำมาหากินมากกว่าขอกิน 
    3.พล.อ.ประยุทธ์มีผลงานที่ยั่งยืนกว่าอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร 4.อ้างว่ามีความเป็นไปได้ที่สังคมจะก้าวผ่านอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร 5.บอกว่าคนส่วนใหญ่รู้สึกเฉยๆ ถ้าพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ 6.บอกว่าประชาชนส่วนใหญ่อยากให้แก้นิสัย ส.ส.ก่อนค่อยแก้รัฐธรรมนูญ และ 7.ระบุว่าคนส่วนใหญ่มองว่านักการเมืองจะแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดช่องให้โกงได้ เป็นต้น 
    "สังคมน่าจะมองออกว่าแบบนี้เป็นโพลที่มุ่งรับใช้การเมืองหรือไม่ อันที่จริงหากผู้วิจัยต้องการทำโพล เพื่อช่วยเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล ก็เป็นสิทธิที่จะทำได้ แต่ถ้าจะให้แฟร์กับคนอ่านงานวิจัย ก็ควรจะเปลี่ยนชื่อสำนักจากซูเปอร์โพล เป็นซูเปอร์อวย ก็จะชัดเจนและตรงปกมากยิ่งขึ้น" รองโฆษกพรรค พท.กล่าว
จตุพรแนะเสรีพิศุทธ์ตั้งหลัก
    ด้านนายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเรื่อง "เวทีของคณะกรรมาธิการไม่ใช่ที่ระบายอารมณ์หรือระบายความใคร่ทางอำนาจ" ตอนหนึ่งระบุว่า จากข่าวที่ปรากฏว่าคณะกรรมาธิการของ ส.ส.บางคณะทะเลาะเบาะแว้งขัดแย้งกัน ไม่มีใครยอมใคร ต่างฝ่ายต่างปะทะกัน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ใส่กันเต็มที่ จนประชาชนเริ่มเอือมระอาว่าเวทีกรรมาธิการเขามีไว้ทะเลาะกันหรือเป็นที่แสดงอำนาจใหญ่โต ข่มกันไปข่มกันมา หรือว่าเป็นเวทีที่จะทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้หรือไม่ ขอทำความเข้าใจกันสักหน่อย
    นายวันชัยกล่าวว่า กมธ.มีไว้ให้กระทำกิจการพิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาเรื่องใดๆ และรายงานให้สภาทราบตามรัฐธรรมนูญ ม.129 ไม่ให้เอาไว้ทะเลาะกัน ไม่ให้เอาไว้เป็นที่แสดงอำนาจบาตรใหญ่หรือสนองความใคร่ทางอำนาจของใคร และต้องเป็นหลักวางตัวเป็นกลาง ต้องทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก เนื้องานที่ออกมาต้องเป็นประโยชน์และเพื่อการปฏิรูปแก้ไขปัญหาให้กับส่วนรวม ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของใครในปัจจุบันหรืออดีต และไม่ใช่เวทีเอามันส์ ล้างแค้นคนนั้นคนนี้
    "ต้องกลับมาทบทวน สรุปบทบาทอำนาจหน้าที่และพิจารณาศึกษาตรวจสอบตัวเองให้มากๆ เสียก่อน ก่อนที่จะไปศึกษาตรวจสอบคนอื่น ไม่อย่างนั้นจะทำให้กรรมาธิการเขาเสียของเสียคน... ที่พูดมาทั้งหมดนี้นะ เป็นหลักการโดยทั่วไป ส่วนจะโดนใครหรือไม่ ก็แล้วแต่สติปัญญา" นายวันชัยกล่าว
    ส่วนนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวถึงการทำงานของ กมธ.ป.ป.ช.ว่า จะเห็นว่า กมธ.ชุดดังกล่าวทำงานไม่ได้อีกต่อไป มีชายหญิงคู่หนึ่งคอยป่วนทุกสัปดาห์ ถ้าทุกสัปดาห์ยังต้องเจอปัญหาแบบนี้ อย่าประชุมให้เสียเวลา ต้นเหตุแค่จากเรื่องเชิญนายกฯ และรองนายกฯ ทำให้มีคนเข้ามาป่วน
    "คนที่ทำหน้าที่ประธาน กมธ.นี้ ต้องตั้งหลักใหม่ จัดการปัญหาให้ได้ หากจัดการไม่ได้จะเกิดวิวัฒนาการเหมือนในอดีต อาทิ การลากเก้าอี้ในที่ประชุม นำพาความเสื่อมสู่สภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่ง" นายจตุพรกล่าว 
    ประธาน นปช.กล่าวว่า ในส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากยังฝืนตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะพังตั้งแต่เริ่ม เป็นการซื้อเวลาไม่มีวันสำเร็จ ถ้าทำตามที่ตนแนะ คือแก้มาตรา 256 เพื่อให้มีการเลือกตั้ง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. เพียงแค่นั้น ไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาฯ ใดๆ การทำเช่นนี้ จะทำให้หนทางยากลำบากไปอีก 
    ถามถึงการอภิปรายซักฟอกรัฐบาล นายจตุพรกล่าวว่า คาดว่าในวันที่จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ วันนั้นสถานการณ์ทางการเมืองจะแย่ กำลังฝ่ายค้านจะหายไปส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เราหนีวิบากรรมเศรษฐกิจประเทศไม่ได้ ท้ายที่สุดเมื่อท้องประชาชนหิวถึงที่สุด รัฐบาลที่แก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้จะอยู่ไม่ได้ เมื่อแก้ปัญหาชาติไม่ได้ ควรคิดสละ โดยเฉพาะผู้มีอำนาจ ไม่ควรอยู่เป็นภาระประชาชน 
    ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรค พท. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลว่า ก่อนหน้านี้โพลหลายสำนักก็สะท้อนความเห็นของประชาชนว่าสถานการณ์สุกงอมที่จะขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ไม่ใช่การดำเนินการที่เร็วเกินไป ในอดีตรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช 4 เดือนก็ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว เบื้องต้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งนี้น่าจะแบ่งกลุ่มผู้ที่ถูกอภิปรายเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่ม 3 ป. ที่เป็นแกนหลักตั้งแต่รัฐบาลรัฐประหาร จนถึงรัฐบาลหลังเลือกตั้ง 2.กลุ่มใกล้ชิดหรือตัวแทนของ 3 ป. ที่อยู่ในอำนาจต่อเนื่องนานๆ และ 3.กลุ่มที่เข้ามาใหม่ แล้วพบพิรุธในโครงการต่างๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ตัวเองและพวกพ้อง 
    “การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งนี้ ฝ่ายค้านจะทุ่มเทสรรพกำลังอย่างเต็มที่ ให้สมกับที่ประชาชนฝากความหวังในการตรวจสอบรัฐบาล เพื่อไม่ให้ประเทศชาติและประชาชนเสียโอกาสในการแข่งขันและการพัฒนาประเทศ” โฆษกพรรค พท.กล่าว.
  


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"