7 ประเทศใช้’เศรษฐกิจหมุนเวียน’ ลดปัญหาขยะ-ผลิตพลาสติกที่ยั่งยืน


เพิ่มเพื่อน    



    เวลานี้ประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย เผชิญวิกฤตปัญหาขยะที่ไหลลงสู่ทะเลมากติดอันดับโลก ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ข้อมูลปี 2560 ทวีปเอเชียทวีปเดียว ได้ชื่อว่าผลิตพลาสติกมากถึงร้อยละ 50 ของโลก โดยจีนผลิตพลาสติกร้อยละ 29  ขณะที่ระบบจัดการขยะยังไร้ประสิทธิภาพในการจัดเก็บ คัดแยก แปรสภาพขยะเพื่อนำมารีไซเคิล รวมทั้งไม่สามารถเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน  


      แม้แต่ละประเทศจะตั้งเป้าหมายลดขยะทะเล ผลักดันแผนจัดการขยะพลาสติก หรือเตรียมแบนพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งอย่างเด็ดขาด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในภูมิภาคนี้ยังต้องการการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การบริโภคและการผลิตพลาสติกที่ยั่งยืน เหตุนี้ สหภาพยุโรป (EU)  และรัฐบาลเยอรมนี นำร่อง ” โครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเล ”   กับ 7 ประเทศภาคี ประกอบด้วย จีน อินโดนีเซีย  ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ สิงค์โปร์ ไทย และเวียดนาม เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่าง EU กับประเทศต่างๆ ในเอเชีย ในด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน การลดปริมาณขยะพลาสติกและขยะในทะเล โดยการดำเนินการจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (GIZ) จัดเปิดตัวโครงการที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสหประชาชาติ (UNCC) เมื่อวันก่อน สะท้อนมลพิษขยะทะเลอย่ารีรอต้องแก้ไขโดยเร็ว

เปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัคราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย


       เปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัคราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า สหภาพยุโรปให้ความสำคัญกับปัญหาขยะพลาสติก มียุทธศาสตร์ยุโรปเพื่อพลาสติกในเศรษฐกิจหมุนเวียน พร้อมแผนปฏิบัติการใหม่ที่กำหนดว่า ภายในปี 2573 บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกทั้งหมดในตลาด EU จะต้องนำไปรีไซเคิลได้ จุดหมายคือลดขยะพลาสติก  ถ้ามาเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิต จะได้รับผลกระทบมาก  โดยเฉพาะปัญหาไมโครพลาสติก ไม่เพียงพบในทะเล ยังปนเปื้อนในอากาศ  ขยะที่เพิ่มขึ้นทุกปีต้องเร่งแก้ไขไม่ให้ปัญหาลุกลาม เรามีเวลาเหลืออยู่บนโลกใบนี้น้อยลงทุกที การจัดการขยะเป็นปัญหาระดับนานาชาติ ต้องจัดการตั้งแต่ต้นทาง เราส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียน  มีการผลิตพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  ไม่ให้หลุดรอดลงแม่น้ำและไหลลงทะเล เพราะขยะลอยจากประเทศสู่อีกประเทศ ไม่มีพรมแดน   เช่นเดียวกับโครงการนี้เป็นการทำงานข้ามพรมแดน ถือเป็นการแลกเปลี่ยนและการปฏิบัติงานที่รวบรวมความร่วมมือจากหลายประเทศในการลดขยะพลาสติก    

  เกออร์ค ชมิดท์ เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย


          เกออร์ค ชมิดท์ เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย กล่าวว่า เยอรมนีสนับสนุนให้มีการจัดการขยะอย่างยั่งยืนและส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน เน้นหลีกเลี่ยง รวบรวม รีไซเคิล แทนที่จะปล่อยขยะลงสู่ทะเล เยอรมนีเป็นประเทศขนาดใหญ่ เมื่อวันที่  6พ.ย.ที่ผ่านมา แบนพลาสติกใช้ครั้งเดียวเพิ่มเติมอีกหลายชนิด เพราะทุกวันนี้เทคโนโลยีเอื้อต่อการผลิตพลาสติกอย่างยั่งยืน   ปีที่แล้วมีขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวร้อยละ 45 ขณะนี้ ปริมาณขยะลดลงเหลือร้อยละ 25 ความร่วมมือ คือ ทางออกแก้ปัญหาป้องกันพลาสติกเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร   อันตรายต่อระบบนิเวศและสุขภาพของมนุษย์ อีกทั้ง การเผาขยะพลาสติกยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกทำลายชั้นบรรยากาศโลก  โครงการนี้ไม่ได้มองพลาสติกเป็นผู้ร้าย แต่ต้องมีการจัดการอย่างเหมาะสม สร้างความตระหนักรู้ใช้พลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพ บนพื้นฐาน 3 R ลดใช้ นำกลับมาใช้ซ้ำ และนำขยะกลับมาใช้ใหม่     ช่วยลดการสร้างขยะ กู้วิกฤตปัญหาขยะทะเล

อาวาโร ซุริตา ผอ.โครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนจัดการขยะทะเล GIZ


         สำหรับ  โครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อจัดการปัญหาขยะทะเลใน 7 ประเทศภูมิภาคนี้ จะมีการดำเนินงานครอบคลุมหัวข้อต่างๆ ทั้งการหารือเชิงนโยบายระหว่าง EU และประเทศภาคี  เรื่องการผลิตและจัดการพลาสติกในสิ่งแวดล้อม  การผลักดันให้ผู้ผลิตร่วมรับผิดชอบ (EPR) รวมถึงทำโครงการวางมัดจำบรรจุภัณฑ์ (DRS)   การออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อนำกลับมาใช้และหมุนเวียน ตลอดจนสร้างมาตรฐานสำหรับพลาสติก ที่จะนำกลับมารีไซเคิล และการใช้ไมโครพลาสติกในผลิตภัณฑ์ อีกแนวทาง คือ ส่งเสริมการลดปริมาณขยะ ณ แหล่งทิ้งขยะลงสู่ทะเล เช่น พื้นที่รับขยะจากเรือ บริเวณท่าเรือต่างๆ ลดขยะจากเครื่องมือประมง  


        ” โครงการนี้แม้เพิ่งเริ่มตั้งไข่ แต่ประเทศภาคีล้วนมีการดำเนินโครงการแก้ปัญหาและคนตื่นตัวลดใช้พลาสติก ตระหนักว่าขยะพลาสติกเป็นปัญหาใหญ่ หลายประเทศเห็นความสำคัญต้องเร่งทำ นี่คือ โอกาสในการตีเหล็กตอนร้อน โครงการนี้ยังสอดคล้องกับแผนปฏิบัติจัดการขยะพลาสติกของแต่ละประเทศ ถือเป็นแรงผลักดันเพิ่มเติมให้เกิดผลสำเร็จมากขึ้น หลายประเทศต้องการการสนับสนุนด้านความรู้และจำเป็นต้องร่วมมือกันอย่างแท้จริง โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี พ.ศ.2562-2565 ในประเทศไทยอยู่ระหว่างคัดเลือกพื้นที่ทำโครงการนำร่อง “  อาวาโร ซุริตา ผู้อำนวยการโครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเล GIZ   กล่าว

ตัวแทนประเทศภาคีขึ้นเวทีสะท้อนปัญหาขยะทะเลและมาตรการแก้ไข


        นอกจากเปิดตัวโครงการ ยังเปิดเวทีให้โอกาสตัวแทนของประเทศต่างๆ รวมถึงไทย เผยสถานการณ์ขยะทะเล โดยเฉพาะขยะพลาสติก และมาตรการกู้วิกฤตขยะทะเลเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงแผนงานในอนาคตลดขยะ  
ในประเทศไทยโครงการนี้ทำงานร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ(คพ.)เป็นหลัก ประลอง ดำรงไทย อธิบดี คพ. กล่าวว่า พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ทำให้เกิดขยะทะเลจำนวนมาก กระทบต่อระบบสัตว์ทะเล การประมง รวมถึงภาคการท่องเที่ยว ไทยมีเป้าหมายวันที่ 1 มกราคม 2563 ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อรวม 47 แห่ง  งดแจกถุงพลาสติก ครม.สัญจรที่ผ่านมาอนุมัติหลักการ คพ.กำลังทำแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการให้ชัดเจน  แต่ก็จะช่วยลดขยะพลาสติกลงร้อยละ 30 เหลืออีกร้อยละ 70 ที่กระจัดกระจาย สร้างปัญหา ซึ่งในปีหน้าจะขับเคลื่อนร่วมกับสมาคมผู้ผลิตพลาสติกเพื่อเปลี่ยนแปลงการผลิตพลาสติกแบบใส่ใจสิ่งแวดล้อม รวมถึงลดการใช้ไมโครพลาสติกในผลิตภัณฑ์ เพราะมีทางเลือกทดแทนแล้ว เราหวังว่า ประเทศไทยจะได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้ทั้งเรื่องกฎหมายและนโยบายที่ผลักดันให้คนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมลดใช้พลาสติกจากโครงการฯ เพื่อมาใช้กับโรดแมฟจัดการขยะพลาสติกไทย  

 มะ จินจิน ผู้อำนวยการกรมความร่วมมือระหว่างประเทศของสมาคมเศรษฐกิจหมุนเวียน (CACE) ตัวแทนจากประเทศจีน


       ด้าน  มะ จินจิน ผู้อำนวยการกรมความร่วมมือระหว่างประเทศของสมาคมเศรษฐกิจหมุนเวียน (CACE) ประเทศจีน กล่าวว่า  จีนมีแนวทางลดขยะพลาสติกเน้นให้ผู้ผลิตร่วมรับผิดชอบ ครอบคลุมถึงการจัดเก็บผลิตภัณฑ์หลังการใช้งาน รวมถึงสร้างมาตรฐานโรงงานกำจัดขยะลดมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม  ทางรัฐบาลห้ามใช้พลาสติกบางรูปแบบ และส่งเสริมบรรจุภัณฑ์สีเขียวทำให้ผู้ประกอบการมีแนวทางผลิตที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ  จีนที่ไห่หนานยกเลิกพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งภายในปี 2568   มีการออกกฎคุมเข้มเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางบกและทางทะเล เวลานี้ทางรัฐบาลทำมาตรการใหม่ๆ แต่ก็ไม่ทันกับปรืมาณขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้น ปัญหาใหญ่ของจีน คือ กระบวนการจัดเก็บยังไม่ดีพอ ไม่สามารถคัดแยกขยะมูลค่าสูงออกมาจากขยะประเภทอื่นๆ การรีไซเคิลยังน้อยมาก เพราะประชาชนขาดความรู้ เราต้องการสนับสนุนการออกแบบโครงการที่กระตุ้นให้ประชาชนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและผลักดันให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ จีนกังวลมากเรื่องบรรจุภัณฑ์พลาสติก เพราะทำให้ปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น อยากให้กิจกรรมนี้นำมาสู่โครงการนำร่องในเมืองต่างๆ ของจีน ก่อนดันเป็นนโยบายภาพใหญ่


       ส่วนเป้าลดขยะของอินโดนีเซีย อูจัง โสลิฮิน สิดิก  รองผู้อำนวยการฝ่ายสินค้าและบรรจุภัณฑ์ คณะกรรมการจัดการขยะ กระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า ภายในปี 2564 อินโดนีเซียจะลดขยะให้ได้ร้อยละ 20 และจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นร้อยละ 70 ทุกวันนี้มีขยะตกค้าง 71 ล้านตัน ที่สะสมอยู่ ก่อมลพิษ ไม่รวมขยะใหม่อีก 50 ล้านตัน ตัวเลขมหาศาล ในยุทธศาสตร์มี 5 แผนจัดการขยะ จะกำหนดกฎหมายและมาตรการจัดการขยะเป็นรูปธรรม, พัฒนาวิธีการจัดการขยะ เพราะปัจจุบันองค์กรปกครองท้องถิ่นยังขาดความสามารถ,ส่งเสริมให้ชุมชนรับผิดชอบสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จากการสำรวจปี 62 พบว่า คนอินโดฯ ร้อยละ 72 รู้แต่ว่าต้องทิ้งขยะ แต่คัดแยกทิ้งอย่างไรให้ถูกนั้นไม่รู้ นี่เป็นปัญหาใหญ่ อีกแผนจะส่งเสริมผู้ประกอบการผลิตพลาสติกยั่งยืนแต่ต้นทาง  สุดท้ายสร้างความร่วมมือกับนานาชาติเพื่อหนุนองค์ความรู้จัดการขยะ  


        “ เราเริ่มสร้างมาตรฐานต่างๆ ไม่อยากให้เป็นแบบไฟไหม้ฟาง ปีหน้าจะเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะลดบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ทำงานกับ 3 กลุ่มสำคัญ ผู้ผลิตเจ้าของแบรนด์ ผู้ค้าปลีก และกลุ่มร้านอาหารและโรงแรม ตั้งเป้า 10 ปีข้างหน้าไม่แจกถุงพลาสติกเด็ดขาด “ ผู้แทนอินโดนีเซีย ระบุ


         เอลิกิโอ อิลเดอฟอนโซ หัวหน้าทีมฟื้นฟูอ่าวมะนิลา สำนักงานการจัดการสิ่งแวดล้อม ประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวว่า  มลพิษขยะเป็นปัญหาน่าหนักใจของฟิลิปปินส์ มีขยะพลาสติกที่ไม่ผ่านการบำบัดฝังอยู่ในกองขยะหรือไม่ก็ทิ้งในแม่น้ำ นอกจากนี้ ยังมีพฤติกรรมทิ้งแล้วเผา ทั้งนี้ ทางการกำลังทำเรื่องโรงงานกำจัดขยะเพื่อจัดการอย่างถูกต้อง ดึงเอกชนร่วมลงทุน  รวมถึงเริ่มขยับเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน แปลงสู่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะส่งเสริมใช้เทคโนโลยีจัดการขยะ ลดขยะให้มากขึ้น  


        ส่วนกรอบการทำงานลดขยะทะเลเวียดนามนั้น  เหงียน เลอวินห์ เจ้าหน้าที่กระทรวงความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเทศเวียดนาม กล่าวว่า ปีนี้รัฐบาลประกาศยุทธศาสตร์ลดขยะ แตกเป็นนโยบายลงแต่ละจังหวัด มีเป้าภายในปี 2568 ลดขยะให้ได้ร้อยละ 50 รวมถึงลดขยะทะเลจากเครื่องมือประมงร้อยละ 20 จากภาคท่องเที่ยวอีกร้อยละ 80 ขณะที่เมืองฮานอยและโฮจิมินเดินหน้าจัดการขยะอย่างจริงจัง  ในปีหน้าเวียดนามเป็นเจ้าภาพประชุมอาเซียนซัมมิท  จะจัดประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนโดยดึงประเด็นขยะทะเลสู่เวทีนานาชาติครั้งนี้ด้วย หวังว่า โครงการนี้จะสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพจัดการขยะทะเลอย่างมีประสิทธิภาพตามเป้าที่เราวางไว้



 


 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"