ปตท.สผ.โชว์ 4 นวัตกรรมไทย เปิดประตูสู่ภูมิภาคตะวันออกกลาง


เพิ่มเพื่อน    

        งานอาบู ดาบี อินเตอร์เนชั่นแนลปิโตรเลียม เอ็กซิบิชั่น แอนด์ คอนเฟอเรนซ์ หรือ อาดิเพก 2019 ณ (Abu Dhabi International Petroleum Exhibition & Conference (ADIPEC) ) ณ กรุงอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นงานนิทรรศการและการประชุมด้านน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ระดับโลก และจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ครอบคลุมทั้งธุรกิจขั้นต้น (Upstream) ขั้นกลาง (Midstream) และขั้นปลาย (Downstream) ในปีนี้ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เป็น 1 ใน 35  บริษัทน้ำมันแห่งชาติจากทั่วโลกที่เข้าร่วมงาน ซึ่งการเข้าร่วมงานจะเป็นการเปิดโอกาสให้ ปตท.สผ.ได้แลกเปลี่ยนมุมมองกับบริษัทน้ำมันต่างๆ จากทั่วโลก

        ขณะเดียวกัน งานดังกล่าวจะได้รับทราบสถานการณ์ปัจจุบันของธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงสร้างความสัมพันธ์กับผู้ที่อยู่ในธุรกิจด้วยกัน ทั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติ  (Nation Oil Companies หรือ NOCs) และบริษัทน้ำมันข้ามชาติ (International Oil Companies หรือ IOCs) และผู้ให้บริการ (Service company) ซึ่งสามารถนำไปสู่ความร่วมมือกันในอนาคต ภายในงานมีบริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจพลังงานมาร่วมแสดงนิทรรศการมากกว่า 2,200 บริษัท โดยผู้จัดงานคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 145,000 คน จาก 167 ประเทศทั่วโลก

        สำหรับบูธนิทรรศการของ ปตท.สผ. ได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านต่างๆ มาแสดงผลงาน ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้คนที่เข้าร่วมงานอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น หุ่นยนต์ใต้น้ำอัตโนมัติไร้สาย (Inspection-class Autonomous Underwater Vehicle - IAUV) เป็นหุ่นยนต์ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบอุปกรณ์ใต้ทะเล เช่น ท่อส่งปิโตรเลียมที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่มีสัญญาณ GPS โดยหุ่นยนต์ IAUV มีความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน ไม่จำเป็นต้องใช้นักดำน้ำและเรือขนาดใหญ่ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบอุปกรณ์ใต้ทะเลได้ถึงกว่าร้อยละ 50 ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย  บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส (ARV) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ และบริษัทเอกชน คาดว่าจะสามารถนำมาให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2563

        อุปกรณ์ดูดซับสารประกอบในคอนเดนเสต หรือ ทูสแลม (Safe Self Loading/Unloading Adsorber Modular - 2SLAM) เป็นเทคโนโลยีดูดซับเพื่อกำจัดสารประกอบบางชนิดในก๊าซธรรมชาติเหลว หรือคอนเดนเสต โดยไม่ต้องหยุดกระบวนการผลิต ช่วยประหยัดเวลาและเพิ่มความปลอดภัยในการทำงาน ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการออกแบบ โดยจะสร้างหน่วยต้นแบบและทดสอบการใช้งานจริงในปี 2563  

        นวัตกรรมการเก็บตัวอย่างสารในท่อส่งปิโตรเลียม (Sampling PIG) เป็นเทคโนโลยีการเก็บตัวอย่างพื้นผิวภายในของท่อส่งปิโตรเลียม โดยไม่ต้องอาศัยเรือสนับสนุน เพื่อนำมาวิเคราะห์ปริมาณของสารตกค้างและประเมินสภาพพื้นผิวภายในของท่อ ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 3 เท่าจากวิธีเดิม คาดว่าจะทดสอบการใช้งานในสภาพแวดล้อมจริงในปี 2563

        และ เทคโนโลยีการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อติดตามการไหลของน้ำและน้ำมันในแหล่งกักเก็บปิโตรเลียม (Electro magnetics) เทคโนโลยีการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และหลักการเหนี่ยวนำไฟฟ้า เพื่อวิเคราะห์ตำแหน่งของน้ำและน้ำมันใต้ดิน ช่วยในการติดตามทิศทางการไหลของน้ำที่อัดเข้าไปในหลุมเจาะปิโตรเลียม เพื่อดันน้ำมันดิบในแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมเข้าไปยังหลุมผลิต ช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ โดย ปตท.สผ.ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ผล ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบการใช้งานในแหล่งผลิตปิโตรเลียมบนบก

        อย่างไรก็ตาม การพัฒนาและการวิจัยคิดค้นนวัตกรรมใหม่ของ ปตท.สผ. ถือว่าเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างชาติ และยังประหยัดค่าใช้จ่ายลงด้วย

5 ปีเพิ่มผลิต 6-7 แสนบาร์เรลต่อวัน

        นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงของ ปตท.สผ. เป็นผลจากวิสัยทัศน์ใหม่ เอนเนอร์จี พาร์ตเนอร์ ออฟ ชอยส์ (Energy Partner of Choice) เป็นการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจพลังงานแทนการแข่งขัน ผ่าน 2 กลยุทธ์ ได้แก่ กลยุทธ์ Expand เน้นขยายการลงทุนในไทยและอาเซียน (Coming-home) และมองหาโอกาสการลงทุนกับประเทศอื่นที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะตะวันออกกลาง (Strategic Alliance) และกลยุทธ์ Execute เพิ่มปริมาณการผลิตและรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน

        สำหรับแผนการดำเนินงานในช่วง 5 ปี หรือปี 2563-67 ตั้งเป้าจะเพิ่มกำลังการผลิตปิโตรเลียมเป็น 600,000-700,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดิมปี 2562 อยู่ที่ 345,000 บาร์เรลต่อวัน  หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5-7 ต่อปี โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณ 1,700-2,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี นอกจากนี้ จะลดการซื้อกิจการลง และหันมาเน้นลงทุนการสำรวจ เนื่องจากผลตอบแทนการลงทุนดีกว่า และเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมและปริมาณการผลิตในอนาคตด้วย

        ทั้งนี้ ในปี 2562 ปตท.สผ.เข้าซื้อกิจการปิโตรเลียมหลายโครงการ ได้แก่ ชนะการประมูลโครงการบงกช-เอราวัณ ในอ่าวไทย ซึ่งสัมปทานจะหมดอายุในปี 2565-2566, เข้าซื้อกิจการในบริษัท พาร์เท็กซ์ โฮลดิ้ง บี.วี. ในโอมาน ทำให้ปริมาณการขายเพิ่มราว 16,000 บาร์เรลต่อวัน, เข้าซื้อกิจการของเมอร์ฟี ออยล์ คอร์ปอเรชัน ในมาเลเซีย เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณการขายในปีนี้เพิ่มเป็น 50,000 บาร์เรลต่อวัน และจะเป็น 70,000 บาร์เรลต่อวัน ในปี 2563, เข้าถือหุ้นในโครงการแหล่งก๊าซสินภูฮ่อม และมองหาโอกาสต่อยอดทางธุรกิจก๊าซธรรมชาติในเมียนมา

        นายพงศธร กล่าวว่า ปัจจุบัน ปตท.สผ.มีโครงการใน 15 ประเทศ แต่จะเน้นลงทุนการสำรวจใน 5 ประเทศเป้าหมาย ได้แก่ ไทย มาเลเซีย เมียนมา โอมาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่มาเลเซียมีการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่จากหลุมลัง เลอบาห์-1 อาร์ดีอาร์ 2 ในแปลงเอสเค 410 บี อยู่ระหว่างการวางแผนเจาะหลุมประเมินผล

        สำหรับตะวันออกกลาง ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ลงทุนในโครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 1 และโครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 2 แหล่งก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่ง ซึ่ง ปตท.สผ.ถือหุ้น 30%  และอยู่ระหว่างการศึกษาธรณีวิทยาและประเมินศักยภาพปิโตรเลียมเพื่อวางแผนสำรวจต่อไป

        นอกจากนี้ ลงทุนในโครงการแอดนอค ก๊าซ โพรเซสซิง (AGP) กลุ่มโรงแยกก๊าซธรรมชาติบนบกขนาดใหญ่สุดของรัฐอาบูดาบี กำลังการผลิต 8,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และ ปตท.สผ.ถือหุ้นร้อยละ 2 ในโรงแยกที่มีกำลังการผลิตราว 1,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

        ส่วนในโอมานมีโครงการพีดีโอ (บล็อก 6) แปลงสัมปทานน้ำมันดิบบนบกขนาดใหญ่สุดของประเทศ กำลังการผลิตเฉลี่ยราว 610,000 บาร์เรลต่อวัน โครงการมุคไซนา (บล็อก 53) ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ย 120,000 บาร์เรลต่อวัน และ ปตท.สผ.ถือหุ้น 1% และโครงการโอมาน แอลเอ็นจี โรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวแห่งเดียวในประเทศ กำลังการผลิตรวม 10.4 ล้านตันต่อปี และ ปตท.สผ.ถือหุ้น 2%

        อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 นี้ ปตท.สผ.มีแผนเจาะหลุมสำรวจเพิ่มจาก 3 หลุม เป็น 20 หลุม ด้วยงบประมาณ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่น ในมาเลเซีย 11 หลุม เมียนมา โอมาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

 

ปตท.ตั้งเป้า Global Trading

        ด้าน นายดิษทัต ปันยารชุน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธุรกิจเทรดดิ้งของ ปตท.ตั้งเป้าหมายเป็น Global Trading ขยายพอร์ตการค้าให้เพิ่มขึ้น ซึ่งล่าสุดนอกจาก ปตท.ได้ร่วมลงนามกับอีก 10 พันธมิตร เปิดตัว ICE Futures Abu Dhabi (IFAD) ตลาดน้ำมันล่วงหน้าในเอเชียแล้ว ยังเตรียมแผนจะเปิดสำนักตัวแทนการค้าเพิ่มขึ้น ทั้งรัฐอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประเทศสหรัฐอเมริกา นอกเหนือจากที่ปัจจุบันมีสำนักงานตัวแทนในลอนดอน (อังกฤษ),  สิงคโปร์, เซี่ยงไฮ้ (จีน), อินโดนีเซีย และดูไบ (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์)

        ในส่วนของสหรัฐขณะนี้กลายเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก ดังนั้น ปตท.จึงเห็นว่าเป็นโอกาสดีในการเข้าไปทำตลาด โดยจะเสนอคณะกรรมการ ปตท.เพื่อจัดตั้งสำนักงานตัวแทนภายในไตรมาส 1/2563 ตั้งเป้าหมายจะค้าขายจากตลาดสหรัฐเพิ่มขึ้นอีก 5-10% จากปัจจุบันพอร์ตเทรดดิ้งของ ปตท.มาจากตลาดสหรัฐ 5-10% ที่เหลือมาจากตะวันออกกลาง 70% และตะวันออกไกล 20% และตั้งเป้าจะเพิ่มยอดขายจากตลาดสหรัฐปี 2563-2564 เพิ่มจากปัจจุบัน 70,000 บาร์เรล/วัน เป็นกว่า 100,000 บาร์เรล/วัน คาดยอดขายจะเพิ่มจาก  30,000 ล้านบาท/ปี เป็นกว่า 80,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งจะทำให้  ปตท.มีรายได้เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันธุรกิจเทรดดิ้งมีสัดส่วนในรายได้ของ ปตท.ถึงประมาณ 25-30%

 

ตั้งสำนักรองรับธุรกิจใหม่

        นายดิษทัต กล่าวว่า สำหรับตั้งสำนักงานตัวแทนในอาบูดาบีเป็นการรองรับธุรกิจใหม่ที่ ปตท.ร่วมกับ ADNOC บริษัทน้ำมันแห่งชาติอาบูดาบี และ ICE หนึ่งในตลาดน้ำมัน Futures ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เปิดตัว ICE Futures Abu Dhabi (IFAD) ตลาดฟิวเจอร์ใหม่ในเอเชีย โดยมีพันธมิตรเป็นบริษัทน้ำมันชั้นนำอื่นๆ อย่าง BP, Total, Vitol, Shell, Petro China เข้ามาร่วมถือหุ้นกันด้วย โดยจะเริ่มเปิดตลาดการซื้อขายภายในช่วงต้นปี 2563

        “ความร่วมมือดังกล่าวได้ประกาศตัวใน ADIPEC 2019 หนึ่งในงาน Conference น้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ที่เมืองอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 11 พ.ย. ตลาด IFAD นี้มีจุดประสงค์ที่จะเพิ่มสภาพคล่องในการซื้อขายน้ำมันดิบในภูมิภาคเอเชียและทาง ICE  และ ADNOC มีความตั้งใจที่จะพยายามสร้างให้น้ำมันดิบเกรด Murban ของ UAE นี้ให้กลายมาเป็นเกรดพื้นฐาน หรือเป็น Benchmark ใหม่ของตลาดเอเชียต่อไป จากที่ผ่านมาตลาดสำคัญ คือ WTI แห่งสหรัฐอเมริกาและ Brent ประเทศอังกฤษ”

        สำหรับน้ำมันดิบเกรด Murban ของ UAE เป็นน้ำมันกำมะถันต่ำ โดยมียอดส่งออก 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ  ปตท.จัดซื้อมาในสัดส่วนร้อยละ 20 หรือประมาณ 200,000 บาร์เรลต่อวัน โดยเกรด Murban ทาง UAE มีการผลิต 1.6 ล้านบาร์เรล/วัน จากยอดผลิตน้ำมันรวมของ UAE ที่ 3 ล้านบาร์เรล/วัน 

        ขณะที่ธุรกิจเทรดดิ้งของ ปตท.ดำเนินธุรกิจการค้าระหว่างประเทศครบวงจร ทั้งการซื้อขายน้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีต่างๆ และก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas - LNG)

        ปตท.สผ.เป็นบริษัทของคนไทย มีพันธกิจหลักในการสรรหาปิโตรเลียมเพื่อสนองความต้องการใช้พลังงานทั้งภายในประเทศ และประเทศที่ไปลงทุน รวมทั้งสามารถนำเป็นรายได้กลับคืนสู่ประเทศไทย ปตท.สผ.เป็นบริษัทมหาชน 1 ใน 10 บริษัทจดทะเบียนที่มีมูลค่าทุนตามตลาดสูงสุดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"