คุณค่า "แม่กลอง-เมืองสามน้ำ"ที่นักวิจัยขับเคลื่อนให้ขึ้นสู่ "มรดกโลก"


เพิ่มเพื่อน    

 

อาชีพประมงชายฝั่งหนึ่งในวิถีเชื่อมโยงระบบนิเวศเมืองสามน้ำ จ.สมุทรสงคราม

 

     จากแผนที่ประเทศไทยจะพบว่า สมุทรสงคราม เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่เล็กที่สุดของไทย เนื้อที่เพียง 416.7 ตารางกิโลเมตร แต่มีคลองมากถึง 360 คลอง ไม่รวมคลองซอยหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "ลำปะโดง" อีกเกือบ 2,000 ลำประโดง ที่กระจัดกระจาย โดยในพื้นที่มีระบบนิเวศสามน้ำอันล้ำค่า คือ น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม สร้างความอุดมสมบูรณ์ต่อผลผลิตการเกษตรและสัตว์น้ำ

      แม่น้ำแม่กลองสายสำคัญที่ไหลผ่านอำเภอบางคนที อำเภออัมพวา ก่อนออกสู่ทะเลอ่าวไทยที่อำเภอเมืองสมุทรสงคราม ยังขึ้นชั้นแม่น้ำที่มีคุณภาพดีที่สุดที่หลงเหลืออยู่ไม่กี่สายน้ำทั้งประเทศที่ยังใช้อุปโภคบริโภคได้ และตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เมืองสามน้ำแห่งนี้ได้รับการสนับสนุนงานวิจัยด้านน้ำและการบริหารจัดการน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะงานวิจัยภายใต้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในอดีต ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) ทั้งวิจัยสร้างยุทธศาสตร์ วิจัยเชิงพื้นที่ และวิจัยเพื่อท้องถิ่น หยุดความบาดหมางของคนน้ำจืดกับคนน้ำเค็มได้สำเร็จ งานวิจัยที่ครอบคลุมทุกอำเภอนี้ คนแม่กลองคาดหวังว่าจะเป็นหนทางช่วยผลักดันเมืองสามน้ำให้กลายเป็นแหล่งผลิตอาหารที่ยั่งยืนของท้องถิ่นและประเทศ และความหวังไกลกว่านั้นคือ การก้าวสู่ฐานะ "เมืองมรดกโลก"

      " แม่กลองเป็นเมืองที่มีลักษณะพิเศษ เป็นเมืองสามน้ำ สามนา และสามสวน ทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีการทำงานเพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติอย่างโดดเด่น งานวิจัยสนับสนุนให้คนในพื้นที่เป็นนักวิจัยได้ แม้ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ 20 ปีที่ผ่านมาพิสูจน์แนวทางที่ให้คนในชุมชนรู้จักใช้ข้อมูลแก้ปัญหา ใช้งานวิจัยเป็นเครื่องมือนี้ถูกต้อง และจะก้าวต่อไปในอนาคต หลายงานวิจัยยกระดับสู่ภาคนโยบาย มีการใช้ประโยชน์ในวงกว้าง สร้างผลกระทบต่อสังคม เช่น โครงการรูปแบบการจัดการน้ำในคลองตำบลแพรกหนามแดง วิจัยปรับระดับน้ำเข้า-น้ำออกตามความจำเป็นและอิงธรรมชาติ ลดความขัดแย้ง ปัจจุบันเราจะยกระดับโครงการวิจัยพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจฐานรากที่กำลังดำเนินการ ทำในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน รวมสมุทรสงคราม" ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกสว.กล่าว   

 

สกสว. เปิดเวทีเสวนาการจัดการน้ำแบบบูรณาการบนความหลากหลายทางนิเวศวัฒนธรรมที่จ.สมุทรสงคราม เมื่อวันก่อน  

 

      การขับเคลื่อนให้สมุทรสงครามเป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรมด้านการจัดการน้ำ มีความเป็นไปได้ ชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งทำวิจัยบริบทเมืองสามน้ำ มานาน ความงดงามของความหลากหลายทางนิเวศวัฒนธรรม คือ   สิ่งที่เขาหลงรัก กล่าวว่า แม่กลองมีวัฒนธรรมชาวน้ำ คือ น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ซึ่งชุมชนมีอาชีพบนพื้นฐานการจัดการน้ำ ตอนบนรับน้ำจืด ทำสวนผลไม้และไม้ล้มลุก ตอนกลาง ได้รับอิทธิพลน้ำกร่อย จะทำสวนมะพร้าว สวนผลไม้ และปลูกข้าวนาปี ทำเกษตรแบบสวนยกร่อง ขณะที่ตอนล่างอยู่ติดทะเล เป็นนิเวศน้ำเค็ม ทำนาเกลือ นากุ้ง และประมงชายฝั่ง ความหลากหลายทางนิเวศวัฒนธรรมเป็นต้นทุนทางปัญญา

       " เมืองแม่กลองออกแบบให้เผชิญน้ำ มีน้ำกระจายทั่วพื้นที่ การจัดการน้ำที่ยึดภูมินิเวศจะชนะกับทุกการเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งภาวะโลกร้อน การกัดเซาะชายฝั่ง เราไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนา แต่คนแม่กลองต้องช่วยกันรักษาแม่น้ำแม่กลอง ที่เวลานี้มีคุณภาพดี อันดับต้นๆ รวมถึงลำคลองลำประโดง สมุทรสงครามเมืองเล็กๆ เมื่อ 30 ปี ก่อนเก็บภาษีได้สูงสุดในประเทศ แต่ปัจจุบันถดถอย เพราะการจัดการที่ผิดพลาด อนาคตระบบนิเวศสามน้ำเหลือไม่มากในไทยและโลก กรุงเทพฯ ก็เป็นเมืองสามน้ำ แต่เจริญจนกลับมาได้ยาก ขณะที่แม่กลองยังรักษาไว้ได้ เราจะผลักดันเป็นมรดกโลก ถ้าไม่รักษาไว้จะอยู่ยาก เพราะน้ำต้องการที่อยู่" ชิษนุวัฒน์ กล่าว

 

ชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม

 

       วิจัยจัดการน้ำในพื้นที่แพรกหนามแดง อำเภออัมพวา ถือเป็นโครงการแรกในเมืองแม่กลอง และได้นำมาสู่การจัดการน้ำต่างๆ ตามมา ความโดดเด่นวิจัยนี้ผ่าวิกฤติน้ำจืด-น้ำเค็ม จากคนสองฝั่งที่ทะเลาะกันมาร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาเมืองสามน้ำ ไม่รอการช่วยเหลือจากภาครัฐ ล่าสุดกรมชลประทานเตรียมเสนอการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมของแพรกหนามแดงชิงรางวัลสหประชาชาติ (UN) 

      ปัญญา โตกทอง แกนนำชุมชนแพรกหนามแดง หัวขบวนนักวิจัยชาวบ้าน กล่าวว่า เดิมพื้นที่แพรกหนามแดงมีปัญหาน้ำเค็มรุกเข้าไปตามลำคลอง และขาดแคลนน้ำจืด สวนมะพร้าวกับนาข้าวเสียหาย ปัญหายังขยายไปพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึง จ.สมุทรสาคร และ อ.วัดเพลง จ.ราชบุรี กรมชลประทานจึงสร้างประตูระบายน้ำในลำคลองต่างๆ แต่กลับกลายเป็นการสร้างปัญหาใหม่ คนน้ำจืดกับคนน้ำเค็มทะเลาะกัน ถึงขั้นปะทะกันหน้าประตูน้ำ เมื่อปี 2545 จึงเริ่มมีการทำงานวิจัย เชิญคนน้ำจืดและน้ำเค็มมาคุยกัน ก็มากันบ้างไม่มาบ้าง สองปีที่พัฒนาโครงการวิจัยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม ได้การสนับสนุนทางวิชาการจาก สกว. ทำไปเรียนรู้ไปภายใต้แนวคิดคนไม่ใช่ศัตรู มองปัญหาเป็นศัตรู รวมถึงเข้าหาผู้สูงอายุเล่าความหลังเรื่องราวประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ทำให้เห็นชีวิตความเป็นอยู่คนแพรกหนามแดง ก็สกัดความรู้ชุมชนออกมา และออกแบบประตูระบายน้ำใหม่ เป็นประตูหับเผย

      " รูปแบบการทำงาน เมื่อน้ำทะเลขึ้นและลง ประตูจะเปิด-ปิดเองตามกระแสน้ำธรรมชาติ โดยที่น้ำเสียก้นคลองไม่ได้ไหลออกไปด้วย ต่างจากบานเก่าชักจากก้นเกิดปัญหาทั้งตะกอนเลน ขยะของเสีย ถูกระบายมาด้วย ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับหลักคิดที่อิงกับสภาพแวดล้อมของแพรกหนามแดงภายใต้การจัดการน้ำที่สอดคล้องกับระบบนิเวศสามน้ำ ผลสำเร็จยังต่อยอดสู่การแก้ปัญหาหนี้สิน การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน แพรกหนามแดงวันนี้ยังเป็นพื้นที่เรียนรู้ให้กับผู้สนใจสามารถนำไปปรับใช้แก้ปัญหาในพื้นที่อื่นๆ ด้วย" ปัญญาย้ำงานวิจัยช่วยหาทางออกจัดการสามน้ำ

 

ปัญญา โตกทอง แกนนำชุมชนแพรกหนามแดง อ.อัมพวา

 

      สมุทรสงครามมีงานวิจัยจัดการน้ำดีๆ เพียบ อย่างอำเภอบางคนทีที่เลี่องลือ ทั้งลิ้นจี่หวานและส้มโอดี  มนัส บุญพยุง กำนันตำบลบางสะแก อ.บางคนที กล่าวว่า   บางสะแก ห่างจากปากแม่น้ำแม่กลอง 20 กิโลเมตร มีการขึ้น-ลงของน้ำทะเลตามธรรมชาติ บวกกับคลองในพื้นที่ซับซ้อน ทั้งคลองใหญ่ คลองย่อย คลองซอย และลำประโดง พื้นที่เป็นที่ลุ่ม มีคลองแควอ้อมไหลผ่านร่องสวน ทั้งสวนมะพร้าว กล้วย ส้ม ลิ้นจี่ ส้มโอ และส้มแก้ว เกษตรกรจะใช้น้ำได้ตอนน้ำทะเลหนุนสูง ถ้าน้ำลงคลองแห้ง เราจึงให้ความสำคัญเรื่องน้ำ เพราะวิถีชาวคลองลดลง สวนทิ้งร้าง ลำคลอง ลำประโดงไม่ขุดลอกดูแลตื้นเขิน วัชพืชตามลำคลองมากขึ้น น้ำเข้าไม่ถึงคลองในพื้นที่ ทางจังหวัดให้งบมาลงแขกลงคลอง ประกอบกับทางศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม เห็นกิจกรรม ถามว่าในพื้นที่มีคลองและลำประโดงกี่สาย เป็นที่มาทำโครงการรูปแบบการจัดการน้ำในคลองและลำประโดงเชื่อมโยงกับการจัดทำผังเมืองระดับตำบล เพื่อการวางแผนพัฒนาอาชีพโดยมีส่วนร่วมของชุมชน" โดย สกสว.สนับสนุน

 

นักวิจัยชาวบ้านบางสะแกสำรวจเส้นทางน้ำด้วย GPS

 

      " มีทีมวิจัยชุมชนเก็บข้อมูล ทำให้เห็นว่ามี 30 ลำคลอง 72 ลำประโดง รวมถึงนำเครื่องมือ GPS มาสำรวจเส้นลำคลองเร่งจัดทำฐานข้อมูลแผนที่หรือผังน้ำชุมชนเพื่อคุ้มครองพื้นที่ จะแล้วเสร็จสิ้นปีนี้ พบว่ามีแหล่งน้ำในบางสะแก 72 สาย ที่ผ่านมาชุมชนช่วยกันขุดลอกทุกเดือน เดือนละ 2 ครั้ง หมุนเวียนตั้งแต่ต้นคลองถึงปลายสุดของตำบล วันนี้บางสะแกไม่เจอน้ำแห้งคลองเหมือน 3-4 ปีก่อน เราต้องช่วยกันรักษาคลองไม่ให้ลดลง เพื่อรักษาสังคมเกษตรกรรม  เพราะนี่คือเศรษฐกิจฐานรากที่มั่นคง คนในพื้นที่ร้อยละ 80 ยึดอาชีพเกษตรกรรม เป็นสวนส้มโอเกือบหมด ที่เหลือสวนมะพร้าว" กำนันมนัส กล่าวเดินหน้าพัฒนาชุมชนบางสะแกต่อไป

ลงแขกลงคลองของชุมชนบางสะแกมีทุกเดือน รักษาลำประโดงรักษาสังคมเกษตร

 

      เห็นได้ชัดแต่ละพื้นที่สร้างเสริมประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีส่วนร่วม ช่วยรักษาความเป็นเมืองระบบนิเวศสามน้ำ เป็นความโดดเด่นที่จะหนุนสมุทรสงครามสู่เส้นทางเมืองมรดกโลก.

 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"