ย้อนดูคนอื่นสร้างชาติ จากซากสงคราม แล้วย้อนดูตัวเรา


เพิ่มเพื่อน    

       เมื่อวานเขียนถึงประสบการณ์การสร้างชาติหลังสงครามของญี่ปุ่น, เกาหลีใต้และเวียดนามเป็นตัวอย่างที่ประเทศไทยควรจะต้องนำมาสรุปเป็นบทเรียนเพื่อก่อร่างสร้างชาติกันอย่างจริงจัง

                ผมยืนยันว่าคนไทยเรายังขาดวินัยและความขยันและกระตือรือร้นพอที่จะแข่งขันกับเพื่อนบ้าน

                ทั้งๆ ที่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นกลายเป็นผุยผง เพราะถูกถล่มด้วยระเบิดปรมาณู

                เป็นช่วงเดียวกันกับที่จีนตกอยู่ในสภาวะยุ่งเหยิงวุ่นวายและแตกแยก

                แม้เมื่อ เหมา เจ๋อตุง ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อปี 1949 หลังสงครามสงบลงได้ไม่นาน แต่ใครที่ไปเมืองจีนตอนนั้น (ผมไปครั้งแรกเมื่อปี 1975) ก็จะเห็นว่าจีนตกอยู่ในภาวะแร้นแค้นยากจน

                ขณะนั้นมองไม่เห็นวี่แววว่าจีนภายใต้คอมมิวนิสต์จะสามารถสร้างประเทศให้ร่ำรวยรุ่งเรืองได้อย่างวันนี้

                ถึงกับมีการเสียดสีด้วยวลีที่ว่า “คอมมิวนิสต์ทำให้ทุกคนเท่าเทียมกัน...นั่นคือจนเท่าๆ กัน”

                เป็นช่วงจังหวะเดียวกันที่เกาหลีใต้ก็กำลังหาหนทางที่จะก้าวพ้นจากความยากจน เพราะถูกญี่ปุ่นยึดครองและกดขี่เป็นเวลาหลายร้อยปี

                ในช่วงนั้น ไต้หวันก็ยังเป็นเกาะที่มีปัญหาความแร้นแค้นไม่น้อย

                ในช่วงจังหวะนั้นใครไปไต้หวันก็จะรับรู้ปัญหาโสเภณีที่ระบาดกว้างไกลบนเกาะไต้หวัน เพราะผู้คนไม่มีอันจะกิน ต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนเพื่อความอยู่รอด

                ไม่ต้องพูดถึงเวียดนาม ซึ่งต้องตกอยู่ภายใต้สภาวะสงครามมายาวนานจนสหรัฐยอมแพ้สงครามเมื่อไซ่ง่อนแตกในปี 1975

                แม้เมื่อเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้รวมชาติในช่วงหลังสงครามสงบลง เราก็ยังมองไม่เห็นร่องรอยของการพัฒนาประเทศให้ก้าวกระโดดได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจอย่างที่เราเห็นกันวันนี้

                วันนี้ไม่ว่าจะเป็นจีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และเวียดนามอยู่แถวหน้าของเศรษฐกิจโลก

                แต่เรายังติดอยู่กับ “กับดักรายได้ปานกลาง” มายาวนาน ไม่สามารถจะขยับขึ้นสู่ความเป็นประเทศพัฒนาอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

                เพราะเราไม่เอาจริงเอาจังกับการจัดการกับปัญหาของเราเอง และยิ่งเมื่อเผชิญกับความขัดแย้งทางการเมือง แบ่งพวกแบ่งเหล่า แบ่งสีแบ่งค่าย ไทยก็ไม่อาจจะก้าวพ้นอุปสรรคทั้งหลายทั้งปวงได้

                ครั้งหนึ่งเราเคยฝันจะเป็นหนึ่งในประเทศพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมกลุ่มใหม่ที่เรียกขานกันว่าเป็น NICs (Newly Industrialized Countries) เช่นเดียวกับญี่ปุ่น, เกาหลีใต้และไต้หวัน

                แต่ถึงวันนี้ก็ยังเป็นฝันลมๆ แล้งๆ อยู่

                ยิ่งเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านอันเกิดจากความ “ป่วน” ของเทคโนโลยีเราก็ยิ่งตกอยู่ในสภาวะที่สับสนและงุนงง เพราะ “ภูมิต้านทานเดิม” ของเราไม่แข็งแกร่งอยู่แล้ว เมื่อเจอกันแรงกระแทกใหม่ที่เราไม่มีความพร้อมที่จะตั้งรับก็ยิ่งจะกลายเป็นปัญหาหนักหน่วง

                เราพูดถึง Thailand 4.0 บ่อยครั้ง แต่เราไม่รู้ว่าจะบรรลุเป้าหมายนั่นอย่างไร

                เราต้องการจะสร้างประเทศให้พัฒนาทางด้านอุตสาหกรรม แต่เราไม่ยอมแก้กฎหมายและกฎเกณฑ์ระเบียบที่ล้าหลังคร่ำครึ

                เราอ้างว่าเราอยู่ในระบอบประชาธิปไตย แต่เราไม่สร้างนักการเมืองที่มีคุณภาพ

                เราต้องการจะสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีวิสัยทัศน์และความสร้างสรรค์ให้เหมาะกับกระบวนการ digital transformation แต่เรายังเกาะติดอยู่กับระบบอุปถัมภ์เก่า

                เราต้องการจะให้ประเทศไทยก้าวหน้าพัฒนาทันชาติอื่นๆ แต่เรายังไม่อาจจะสลัดความคิดคับแคบที่อ้างว่าเป็น “ความรักชาติ” ทั้งๆ ที่ความจริงมันอาจจะเป็นเพียง “ความคิดแบบม้าลำปาง” เท่านั้น

                เราสร้างคนเก่งระดับโลกไม่ได้เพียงพอ แต่เราก็ยังกีดกันไม่ให้คนเก่งจากข้างนอกเข้ามาทำงานในประเทศเรา

                เราต้องการให้คนไทยสร้างนวัตกรรมสมัยใหม่ แต่เราไม่ยอมก้าวพ้นกรอบความคิดเก่าๆ

                เราอยากไปถึงดวงดาว และเราไม่กล้าก้าวออกจากเขตคุ้นเคย หรือ comfort zone ของเรา

                เมื่อเราเห็นจุดแข็งของเวียดนามที่ผลักและดันให้เขาวิ่งฉิวในหลายๆ ด้าน ก็ได้เวลาที่คนไทยจะลงมือวิเคราะห์จุดอ่อนของเราเพื่อลุกขึ้นก้าวให้พ้นมายาคติทั้งหลายทั้งปวงได้เสียที. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"