ชูพลังครอบครัวทำลายกำแพงปิดกั้น’คนข้ามเพศ’


เพิ่มเพื่อน    

วันรำลึกถึงคนข้ามเพศที่ถูกฆ่าสังหาร (Transgender Day of Remembrance) ที่จัดกิจกรรมรณรงค์ขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 ในประเทศไทยเมื่อค่ำวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ไม่ใช่เพียงการรวมกลุ่มของคนข้ามเพศเพื่อร่วมกันจุดเทียนรำลึกถึงคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะกะเทย ตุ๊ด เกย์ ทอม ดี้ เลสเบี้ยน ที่จากโลกนี้ไปเพราะถูกฆ่าด้วยความเกลียดชัง แม้ทุกวันนี้ภาพของคนข้ามเพศดูเปิดกว้างมากขึ้น โดยปีนี้เปลี่ยนแนวคิดการจัดกิจกรรมแทนที่จะฉายภาพความน่าสงสารของกลุ่มคนเหลานี้กลายเป็นการชูมุมบวกเชียร์ให้ครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นของพลังการยอมรับและทลายกำแพงความชิงชังต่อคนข้ามเพศแทน เพราะมั่นใจว่าเป็นทางออกช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น

 

 

หัวใจของงานเป็นกิจกรรมเวทีเสวนาในปีนี้ ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชนมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ(SWING) และคณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดวงเสวนาเรื่องครอบครัวจุดเริ่มต้นของพลังการยอมรับและทลายความเกลียดชังต่อคนข้ามเพศและคนที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยมีสองแม่ลูก รณิศร ปิยะปภากรกูล กับเต็งหนึ่ง คณิศ ปิยะปภากรกูล , อารี ระมิงค์วงศ์ คุณพ่อของลูกสาวข้ามเพศและตัวแทนจากเครือข่ายผู้ปกครองที่มีบุตรหลานข้ามเพศและหลากหลายทางเพศ และมณฑา สาช่อฟ้า ผู้ปกครองหญิงข้ามเพศหูหนวก ตลอดจนอัจฉราภรณ์ ทองแฉล้ม ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายครอบครัวที่มีบุตรหลานหลากหลายเพศ พูดคุยแลกเปลี่ยนจุดประกายให้ครอบครัวอื่นๆ เข้าใจและไม่เหยียดผู้เป็นคนข้ามเพศ

 

 

ผศ.ดร. รณภูมิ สามัคคีคารมย์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและอาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. มีพันธกิจชัดเจนสนับสนุนสุขภาวะกลุ่มประชากรกลุ่มเฉพาะ หนึ่งในนั้น คือ กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ด้วยเห็นว่า กลุ่มคนเหล่านี้เป็นคนหนึ่งในสังคม แม้คนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดไม่ได้อยู่ในกลุ่มนี้ แต่หากเกิดอะไรขึ้นก็กระทบกับคนในสังคม นำสู่การสนับสนุนโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายครอบครัวที่มีบุตรหลานเป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งมูลนิธิฯ ดำเนินการมามากว่า 6 เดือน พบข้อมูลน่าสนใจ ครอบครัวปัจจุบันที่มีบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศยังอึดอัดคับข้องใจ เพราะสังคมไทยยังขาดแคลนข้อมูลให้แสวงหา เมื่อถึงเวลาพ่อแม่สงสัยลูกตัวเองจะนิยามตนเองว่า บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศต้องปฏิบัติอย่างไร เป็นความกังวลด้วยความรัก ยิ่งกว่านั้น พบว่า บุคคลที่มีอิทธิพลอย่างมากในการที่ครอบครัวจะปฏิบัติอย่างไรต่อลูกตัวเอง คือ คนแถวบ้านคนในสังคม หลายครอบครัวทุกข์จากครอบครัวรอบข้างพยายามชี้แนะในสิ่งที่เขารู้ แต่อาจจะถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง โครงการนี้ต้องการสร้างเครือข่ายครอบครัวขึ้นมา พูดคุย และแสวงหาช่องทางของครอบครัวเอง บนฐานการมีสุขภาวะและเคารพสิทธิทางเพศ

 

" เมื่อเครือข่ายเกิดขึ้นนำมาสู่กิจกรรมครั้งนี้ รำลึกถึงการฆ่าสังหารบุคคลข้ามเพศ รำลึกคนที่แต่งตัวข้ามเพศ ใช้ชีวิตข้ามเพศ ถูกฆ่าสังหารเป็นจำนวนมาก วัน แคมเปญเกิดขึ้นในสหรัฐ จุดเทียนในโลกโซเชียลรำลึก นำมาสู่ทั่วโลก 150 ประเทศรำลึกถึงคนถูกฆ่า ไม่ได้ด้วยเหตุไปกระทำคนอื่น แต่ถูกฆ่าเพราะเราต่างจากคนอื่น มูลนิธิฯ เก็บข้อมูลร่วมกับเครือข่ายคนข้ามเพศยุโรป พบว่า ปี 2560 ปีเดียว คนข้ามเพศและคนที่มีความหลากหลายทางเพศทั่วโลกถูกฆ่า 2,064 คน เพราะถูกเกลียดชัง เป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมาก เฉลี่ย 20 คนต่อเดือน ในประเทศไทยมีตัวเลขการฆ่าสังหารเพศที่แตกต่าง พบจากข่าว 21 คน ถูกฆ่าเพราะอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่าง สะท้อนเมืองไทยเมืองพุทธยอรับได้แค่ไหน สอดคล้องกับรายงาน UNDP ระบุผลสำรวจว่า สังคมไทยรับได้ แต่ไม่อยากสุงสิงด้วย ขณะที่ข้อมูลมูลนิธิฯ สำรวจคนที่ทำให้คนหลากหลายทางเพศ รู้สึกทุกข์ใจที่สุดจากคำพูดและการปฏิบัติ คือ ครอบครัว มากกว่า 30% เหตุนี้ ครอบครัวจะเป็นคานงัดสำคัญก้าวพ้นการถูกเลือกปฏิบัติหรืออคติ ครอบครัวคือ ที่ๆ ล้มแล้วจะโดนฟูกหรือล้มไปเจอไม้กระดาน เพราะคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เผชิญกับความรุนแรงในสังคม ประสบการรังแกกันสูงสุดในบรรดาอัตลักษณ์อื่นๆ " ย้ำครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ

 

 

ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. (สำนัก 9) กล่าวว่า สสส.ยินดีร่วมทำงานขับเคลื่อนกับเครือข่ายเพื่อสาธารณะทุกเครือข่าย ภารกิจ สสส. ทำเรื่องสร้างเสริมสุขภาพเป็นหลัก แต่มักจะมีกลุ่มที่ถูกละเลยหรือถูกมองเป็นคนอื่น บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมีความเปราะบางและมีความเสี่ยงต่อการเข้าไม่ถึงสุขภาวะที่ดี จึงออกแบบงานให้ละเอียดและรองรับกลุ่มที่ถูกละเลย ตัวแปรสำคัญที่ทำให้เข้าไม่ถึงสุขภาวะ หรือโอกาสทางสิทธิ คือ ครอบครัวและเพื่อน หากขาดความเข้าใจจะส่งผลต่อปัญหาการใช้ชีวิตร่วมกัน อุปสรรคนี้ สสส.อยากร่วมขับเคลื่อนแก้ปัญหาด้วย บทบาท สสส. ไม่ใช่พระเอก แต่เป็นผู้สนับสนุน เราเห็นตรงกันครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ อยากลดภาวะสุ่มเสี่ยง

 

" จากข้อมูลชี้ว่า บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเสี่ยงฆ่าตัวตายกว่าเด็กทั่วไป 8 เท่า และเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า 6 เท่า แนวทางลดปัญหาเรื่องนี้ คือ การสนับสนุนจากครอบครัวและเพื่อน จะช่วยลดอาการซึมเศร้า เพิ่มการมองเห็นคุณค่าในตัวเอง ครอบครัวจะเข้ามาร่วมแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร การปรับทัศนคติวิธีคิดของพ่อแม่ การเติมความรู้ความเข้าใจเป็นส่วนสำคัญที่ สสส.สนับสนุนมูลนิธิด้านเครื่องมือการสื่อสาร โดยอยู่ระหว่างจัดเวทีถอดชุดประสบการณ์ในการดูแลบุตรหลานที่มีความหลากหลายทางเพศในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อทำในรูปแบบคู่มือคำแนะนำครอบครัวที่มีบุตรหลานเป็นบุคคลที่มีความหลกาหลายทางเพศ เป็นแนวทางให้ครอบครัวอื่นประสบปัญหาเดียวกันได้ ชุดประสวบการณ์ต่างๆ เป็นผลผลิตจากเวทีในกรุงเพทฯ และต่างจังหวัด เป็นคำแนะนำที่ผ่านการตรวจสอบความถูกต้องและเหมาะสมในบริบทไทย แต่ไม่มีคู่มือไหนสมบูรณ์แบบต้องนำไปประยุกต์ใช้ ทำให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น คาดว่าจะแล้วเสร็จเมษายน 2563 นอกจากทำงานสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัว สสส. ให้ความสำคัญเรื่องความรอบรู้ทางสุขภาพเฉพาะของกลุ่ม การใช้ฮอร์โมน ต้องสำรวจ หาจุดอ่อน ทบทวน เพื่อแก้ปัญหา " ภรณี กล่าว

 

จากวงเสวนาสะท้อนปัญหาที่คนข้ามเพศต้องเผชิญในสังคม การถูกปิดกั้น หรือค่านิยมในสังคมไทย เต็งหนึ่ง คณิศ ปิยะปภากรกูล ดารานักแสดงชื่อดังผู้ประกาศตัวเองว่าเป็นเกย์เมื่อปีที่ผ่านมา กล่าวว่า ไม่เคยมองว่า การเป็นเกย์หรือมีแฟนเป็นผู้ชายผิดปกติ เพราะเราทำทุกอย่างได้ปกติ ทั้งการเรียน อาชีพการงาน ได้คุยกับที่บ้านมาตลอดเรื่องความเป็นตัวเรา อยากสบายตัว ถ้ามีโอกาสอยากจะเปิดเผยตัวเอง เล่นละครมา 18 เรื่อง คำถามที่เจอตลอดพระเอกเป็นเกย์หรือเปล่า พระเอกหน้าสวยขนาดนี้ อยากให้คนดูที่ผลงานมากกว่า เมื่อรู้สึกพร้อมก็ประกาศผ่านยูทูปส่วนตัว ซึ่งโชคดีที่คุยกับครอบครัวได้ทุกเรื่อง รู้สึกมีทัพหลังคอยช่วยเหลือในบ้าน ปัญหาใหญ่กว่านี้เคยผ่านมาได้ ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาก

 

 

" ผมคุยกับคุณแม่เรื่องนี้ตอนอายุ 25 ปี ปัจจุบันอายุ 32 ปี แม่อยากให้เปิดเผย เพราะไม่อยากตอบคำถาม แต่ผมยังทำงานในวงการบันเทิง สุดท้ายเมื่อหนีการเป็นคนสาธารณะไม่ได้ และรู้สึกว่าในประเทศไทยไม่มีต้นแบบของคนหลากหลายทางเพศ คนชอบมองภาพของคนข้ามเพศเป็นเรื่องความตลก ภาพเป็นแบบนั้น ผมก็ขอเป็นต้นแบบของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ สามารถปฏิบัติตัวเป็นสุภาพบุรุษได้เช่นเคย ดูแลผู้หญิง และยังเป็นเพื่อนกับผู้ชาย ผมได้รับข้อความขอบคุณ ครบ 1 ปี คลิปวีดีโอเผยแพร่ ก็ยังถูกถามเมื่อไหร่จะเป็นลูกสาวให้สุดไปเลย เมื่อไหร่จะแต่งหญิง ท้ายสุดอยากให้ทุกคนเคารพความแตกต่างทางเพศ เห็นด้วยที่จะเริ่มต้นจากพ่อแม่ที่มีลูกเป็นคนข้ามเพศ ความเข้าใจจะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ “เต็งหนึ่ง คณิศ ศิลปินชื่อดัง พูดคุยแลกเปลี่ยนในวงเสวนา

 

 

ภายในงานมีการอ่านแถลงการณ์ทางตัวแทนจากคนข้ามเพศโดยมีข้อเรียกร้องต่อสถาบันทางสังคมเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางเพศดังนี้ 1. สถาบันการแพทย์จะต้องหยุดระบุว่าเด็กข้ามเพศเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นภาวะของการเบี่ยงเบนทางเพศ ภาวะความเจ็บป่วยทางจิต การปรับเปลี่ยนร่างกายการทำศัลยกรรมไม่ใช่การบำบัดรักษาเป็นการสนับสนุนทางการแพทย์ เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่พึงได้รับ 2. สถาบันทางการศึกษาต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้และเติบโตให้สอดคล้องตามอัตลักษณ์ทางเพศของเด็ก 3. องค์กรที่ทำงานด้านการพัฒนาเด็กและครอบครัวจะต้องทำให้เด็กข้ามเพศรู้เท่าทันเพื่อเข้าถึงสิทธิและโอกาสที่ทัดเทียมกับเด็กคนอื่นๆ 4. รัฐบาลจะต้องเห็นถึงช่องว่างทางนโยบายที่ขาดระบบข้อมูลความรู้ระบบบริการที่มีการสนับสนุนครอบครัวที่มีบุตรหลานข้ามเพศหลากหลายเพศ 5. รัฐบาลไทยต้องผลักดันกฎหมายพิทักษ์คุ้มครองสิทธิมนุษยชนของกลุ่มคนข้ามเพศในเรื่องกฎหมายรับรองเพศสภาพกฎหมายเปลี่ยนคำนำหน้านามบุคคลกฎหมายจดทะเบียนสมรสเป็นต้นเพื่อลดความกังวลของพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานหลากหลายเพศ หลังแถลงการณ์มีการจุดเทียนและยืนสงบนิ่งเพื่อรำลึกถึงเพื่อนคนข้ามเพศคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่เสียชีวิต ด้วยหวังว่าจะหยุดความชังที่ฝังรากลึกและไม่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"