WHOชื่นชมไทยมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้นแบบระดับโลก


เพิ่มเพื่อน    

 

สสส.ร่วมถกบนเวทีนานาชาติ 51th APACPH จาก 29 ประเทศ ชี้มาตรการสร้างเสริมสุขภาพช่วยแก้ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ผู้แทน WHO ประจำประเทศไทยแสดงความชื่นชมระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เมืองไทยเป็นต้นแบบระดับโลก มีระบบจัดการข้อมูลที่ดี ดึงภาคส่วนอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วม สภาพัฒน์ตั้งความหวังรอเติมเต็มช่องว่างด้านสุขภาพ หนุนสร้างแผนจัดการความเสี่ยง ประเมินผลจริงจังต่อเนื่อง

             

บนหนทางแห่งการพัฒนาภายใต้ข้อตกลงร่วมกันของประชาคมโลก ตามที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้กำหนดให้มี “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” เริ่มประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2558-2573 กระบวนทัศน์ดังกล่าวสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยในหลายโอกาสนับตั้งแต่ปี 2517 และหลังวิกฤติเศรษฐกิจ พ.ศ.2540 ที่พสกนิกรได้สืบสานพระราชปณิธานต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

             

ด้วยแนวทางการดำรงชีวิตและการบริหารจัดการ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานทางสายกลางและความไม่ประมาท มุ่งประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน โดยใช้ความรู้และคุณธรรมเป็นฐานในการกลั่นกรองกระบวนการทางความคิดและการจัดการ ภายใต้หลักของความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน นำไปสู่การตัดสินใจที่รอบคอบ ระมัดระวัง สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทและสถานการณ์แวดล้อมต่างๆ อันจะก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืนต่อชีวิตตนเองและประเทศชาติ

 

             

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฏ์สกุล รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, ดร.แดเนียล เคอร์เทส ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย บรรยายในเวทีหลักหัวข้อ “SDGs and Public Healt h: At Present” เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการสาธารณสุข : ณ ปัจจุบัน ภายในการประชุมวิชาการสาธารณสุขนานาชาติ 51st APACPH conference : SDGs in Reality” จัดโดยคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพทั้งในและต่างประเทศ

             

ดร.สุปรีดากล่าวว่า ในช่วงศตวรรษที่ 21 เป้าหมายการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีถูกจัดเป็น 1 ใน 17 เป้าหมายโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs (ข้อ 3) ในขณะที่ภาพใหญ่ของ 17 เป้าหมาย SDGs เน้นพัฒนาความสมดุลระหว่างปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมล้วน แต่เป็นปัจจัยกำหนดสุขภาพประชาชนซึ่งการสร้างเสริมสุขภาพร่วมสมัยได้มุ่งที่จะทำงานกับปัจจัยเหล่านี้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายขจัดความยากจน ขจัดความหิวโหย การศึกษาเท่าเทียม ความเท่าเทียมทางเพศ การจัดการน้ำและสุขาภิบาล การจ้างงานที่มีคุณค่า การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน หมอดูแลเรื่องสุขภาพได้ดี คนมีอายุยืนขึ้น แต่คนทั้งโลกเสียชิวิตด้วยโรค NCDs ซึ่งมีส่วนสัมพันธ์กับวิถีชีวิต จึงหนีไม่พ้นในด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมวิถีชีวิตเพื่อการมีสุขภาพที่ดี

             

ดร.สุปรีดากล่าวว่า มีการพิสูจน์แล้วว่ามาตรการสร้างเสริมสุขภาพที่มุ่งแก้ไขปัจจัยกำหนดสุขภาพ มีส่วนสำคัญในการพัฒนาสุขภาวะของประชาชนในวงกว้าง แล้วยังนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่สมดุลทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมผ่านยุทธศาสตร์สำคัญของการสร้างเสริมสุขภาพ อาทิ แนวคิดทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ (health in all policies) สสส.ในฐานะองค์กรหลักที่สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรืออีกนัยหนึ่งนับได้ว่าได้ปฏิบัติภารกิจประสานภาคีที่มุ่งขับเคลื่อนเพื่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง

               

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2544 ด้วยการจัดเก็บภาษี 2% จากยาสูบและแอลกอฮอล์เพื่อที่จะได้นำมาสร้างงานเป็น Model win-win ในการสร้างนวัตกรรม การสร้างความพอเพียงในการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ขณะนี้ สสส.มีภาคีเครือข่าย 2 หมื่นองค์กร มีผู้ได้รับประโยชน์ส่วนรวมหลายล้านคน ทั้งนี้ สสส.สนับสนุน 5,000 โครงการเพื่อให้คนไทยดื่มเหล้าและสูบบุหรี่น้อยลงเพื่อรักษาสุขภาพ

 

             

ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฏ์สกุล รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวถึงช่องว่างในการบรรลุเป้าหมาย SDGs ว่า ประเทศไทยยังมีช่องว่าง โดยเฉพาะมิติทางด้านสุขภาพ ความท้าทายของคุณภาพ ความเท่าเทียมในระบบบริการสุขภาพ ปัญหาความยากจนของผู้สูงวัยที่กำลังเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับประชากรวัยอื่นๆ รวมทั้งปัญหาผู้สูงวัยป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่พบมากขึ้นเรื่อยๆ จึงได้มีการเสนอให้รัฐจัดทำแผนจัดการความเสี่ยง สร้างสรรค์นวัตกรรมเชิงนโยบายใหม่ๆ พร้อมกับมีระบบประเมินผลติดตามนโยบายนั้นๆ ว่ายังตอบสนองถูกกลุ่มเป้าหมาย และที่สำคัญคือความร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่นระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่ 3 ของ SDGs “การมีสุขาภาพและความเป็นอยู่ที่ดี”

 

             

ดร.แดเนียล เคอร์เทส ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวเกี่ยวกับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีว่า ประเทศไทยมีความก้าวหน้าไปสู่การบรรลุเป้าหมายดังกล่าวในหลายๆ ส่วนเทียบกับประเทศที่มีรายได้ปานกลางอื่นๆ โดยยังคงมีบางประเด็นที่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางควรจะเร่งพัฒนาให้เกิดขึ้น อาทิ การมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งประเทศไทยเป็นต้นแบบระดับโลก การมีระบบจัดการข้อมูลที่ดีเพื่อใช้กำกับติดตามผลอย่างมีประสิทธิภาพ และการดึงภาคส่วนอื่นๆ นอกเหนือจากภาคสุขภาพให้เข้ามามีส่วนร่วม ทั้งนี้ มีผลพิสูจน์ที่ชัดเจนว่าการลงทุนในด้านสุขภาพให้ผลตอบแทนกลับสู่สังคมเป็นอย่างมาก สามารถนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย SDG ข้อ 3 ตลอดจนเป้าหมายข้ออื่นๆ อีกด้วย

             

ดร.แดเนียล เคอร์เทส ผู้แทน World Health Organization (WHO) ประจำประเทศไทย เริ่มต้นทำงาน WHO ตั้งแต่ปี 2540 ประจำมาแล้วหลายประเทศในทวีปแอฟริกา แคนาดา ฯลฯ ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกเกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจประจำอยู่ประเทศแคนาดา เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านอายุรศาสตร์และโรคติดเชื้อ ทั้งนี้ จบการศึกษาวิทยาการระบาดเป็นการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาพและความเจ็บป่วยของประชากร ทำให้สนใจงานด้านสาธารณสุขและเวชศาสตร์ป้องกัน จากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งลอนดอน London School of Hygiene and Tropical Medicine อีกทั้งยังจบการศึกษาด้านศัลยแพทย์ที่ประเทศแคนาดา

             

การประชุม APACPH เป็นการประชุมวิชาการนานาชาติประจำปี ริเริ่มโดยสมาพันธ์เครือข่ายสถาบันการศึกษาด้านสาธารณสุขของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ Asia-Pacific Academic Consortuum for Public Health (APACPH) โดยมีเป้าหมายเพื่อนำเสนอประเด็นที่เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพของประชาชน สร้างสรรค์และแบ่งปันนวัตกรรมที่จะส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืน และความรู้ด้านสาธารณสุขที่ทันสมัยในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง

             

การประชุมวิชาการนานาชาติด้านสาธารณสุขประจำปี 2562 จัดขึ้นเป็นปีที่ 51 ภายใต้แนวคิด “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในความเป็นจริง (SDGs in Reality)” มุ่งสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์การทำวิจัยในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานสาธารณสุขในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก โรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง สุขภาพหนึ่งเดียว การส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค โภชนาการ อนามัยสิ่งแวดล้อมและอาชีวอนามัย และระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข

 

             

นับว่าเป็นเวทีระดับโลกในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการแสวงหาองค์ความรู้ใหม่ๆ ต่อยอด และประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านสาธารณสุขในการขับเคลื่อนทุกภาคส่วนในสังคม ให้เกิดการพัฒนาและเสริมสร้างสุขภาพของประชาชนอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์และการสาธารณสุขไทย อีกทั้งยังสอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

             

และการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายสถาบันการศึกษาด้านสาธารณสุขในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก และความร่วมมือของสถาบันการศึกษาด้านสาธารณสุข 5 แห่ง ได้แก่ University of Hawaii มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ Peking Medical University National University of Singapore เพื่อร่วมเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 50 ปี วันพระราชทานนามมหาวิทยาลัยมหิดล และครบรอบ 72 ปีแห่งการสถาปนาคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีทางการศึกษาด้านสาธารณสุข งานประชุมวิชาการนานาชาติด้านสาธารณสุขประจำปี 2562 ระหว่างวันที่ 20-22 พ.ย. ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ

             

การประชุมนานาชาติครั้งนี้มีผู้ลงทะเบียนจาก 29 ประเทศกว่า 800 คน อาทิ ประเทศไทย, จีน, ไต้หวัน, ฮ่องกง, ออสเตรเลีย, ศรีลังกา, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ มีการนำเสนอด้วยวาจาและการนำเสนอด้วยโปสเตอร์กว่า 300 เรื่อง ทั้งอาจารย์ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักศึกษา ผู้แทนจากองค์กรของรัฐและเอกชน

             

การประชุมครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนแนวคิด เครื่องมือ อุปกรณ์ การจัดประชุมแบบ Healthy and Green Meeting และยังได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนที่มีนโยบายการสร้างสุขภาพและพัฒนาสุขภาพอย่างยั่งยืน ตามนโยบายองค์การอนามัยโลกที่เรียกว่า “ทุกระบบเพื่อสุขภาพ” AIA เอสแอนด์พี เบทาโกร ธนาคารออมสิน บริษัท Sensorium บริษัทเครื่องมือทางการแพทย์ Nitto มหาวิทยาลัยต่างๆ ของสมาพันธ์เครือข่าย

             

อนึ่ง ในงานนี้ผู้ที่ได้รับรางวัลผู้นำทางด้านสาธารณสุข (APACPH Award) จำนวน 3 รางวัล The APACPH Public Health Recognition Award คือ Professor Myong-Sei Sohn, APACPH President Emeritus ส่วนรางวัล The APACPH Excellence in Leadership Medallion มีผู้ที่ได้รับรางวัล 2 ท่านคือ รศ.ดร.ยุพา อุดมศักดิ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"