บูดาเปสต์..อีกครั้ง


เพิ่มเพื่อน    

 เกาะมาร์กาเร็ตกลางแม่น้ำดานูบ สวรรค์ของทุกสิ่งมีชีวิต

เนื่องจากต้องขึ้นเครื่องบินกลับกรุงเทพฯ จากกรุงบูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนีย ในอีกสามสี่วันข้างหน้า แผนเดิมที่ว่าจะไปเยือนเมืองกรากุฟ ประเทศโปแลนด์ คำนวณแล้วเหลือเวลาไม่พอ จึงต้องเดินทางออกจากกรุงปรากไปยังกรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี อย่างเร่งด่วน แล้วค่อยเข้าโรมาเนียหลังจากนั้น

อีกทั้งขาเดินทางกลับไม่ค่อยคล่องตัวมากนักด้วยกระเป๋าสะพายหลัง 1 ใบ และเป้ใบเล็กสะพายด้านหน้าอีก 1 ใบสำหรับสัมภาระจำเป็นตลอดทั้งทริป 6สัปดาห์ บัดนี้จำต้องลากกระเป๋าล้อเลื่อนเพิ่มอีก 1 ใบ ซึ่งอูเวอร์ เพื่อนนักสะสมกล้องให้ยืม ในกระเป๋าบรรจุกล้องคอมแพ็คโบราณ 6 ตัวที่อูเวอร์ฝากไปให้พิพิธภัณฑ์ที่เมืองไทย และของฝากอีกหลายชิ้นของพี่แก้ว เพื่อนรุ่นพี่ผู้ให้ที่พักอาศัยในแฟรงก์เฟิร์ต เธอซื้อฝากพรรคพวกที่กรุงเทพฯ อย่างเมามัน น้ำหนักของกระเป๋าใบนี้ก่อนขึ้นเครื่องชั่งได้ 13 กิโลกรัม รวมทุกชิ้นที่ผมต้องแบกผ่านสามสี่ประเทศ เท่ากับ 30 กิโลกรัม

ตั๋วระบุเวลารถไฟออกที่ 11.48 น. แต่จวนจะ 11.40 น.อยู่แล้ว โกรันเพื่อนชาวเซิร์บผู้ตั้งรกรากในสาธารณรัฐเช็กนานกว่า 20 ปี ซึ่งจะมาส่งผมก็ยังเดินทางมาไม่ถึง เขาโทรมาว่าหาที่จอดรถไม่ได้เสียที โชคดีที่จออิเล็คทรอนิกส์แสดงตารางรถไฟขึ้นข้อความว่าเที่ยวของผมจะเลื่อนออกไป 20 นาที และอีกสักพักก็บวกเพิ่มเป็น 40 นาที โกรันจึงมาทันเดินไปส่งผมที่ชานชาลาและได้พูดคุยล่ำลากัน รถไฟวิ่งมาเทียบได้ครู่เดียวก็เปิดหวูดออกเดินทางมุ่งหน้าบูดาเปสต์

มุมมองจากกลางสะพานมาร์กาเร็ตไปยังฝั่งบูดา

ในตั๋วเขียนหมายเลขรถ (คันหรือโบกี้) และห้องนั่งไว้ ผมได้ห้องที่ 116 จึงให้สงสัยว่าคันหนึ่งจะมีถึง 116 ห้องได้อย่างไร ขึ้นไปเห็นห้องที่ 16 จึงเอากระเป๋าวางไว้ก่อนแล้วเดินไปเรื่อยๆ ปรากฏว่าเจอห้อง 116 จากทั้งหมดที่มีประมาณ 120 ห้องต่อ 1 คัน (ฝั่งซ้ายและขวา คั่นกลางด้วยทางเดินแคบๆ) ก็กลับไปเอากระเป๋าที่ห้อง 16 ซึ่งเป็นห้องที่ไม่มีการจองตั๋วล่วงหน้า มีคนอัดกันอยู่เต็ม ส่วนห้องของผมมีสองหนุ่มอเมริกันที่เพิ่งเรียนจบปริญญาตรี พวกเขาให้รางวัลตัวเองด้วยการท่องเที่ยวยุโรป หนึ่งในนั้นเป็นคนอิตาเลียนที่ไปเกิดในสหรัฐฯ

ห้องหนึ่งมี 6 ที่นั่ง ฝั่งละ 3 ที่นั่งหันหน้าเข้าหากัน ห้องของเราเริ่มแรกมี 3 คน จากนั้นมีคนสลับขึ้นมาแล้วก็ลงไป ซึ่งผมเชื่อว่าพวกเขาไม่ได้จองที่นั่ง มีสตรีคนหนึ่งถือกระเป๋าปริศนาขึ้นมานั่งข้างๆ ผม ก่อนที่เธอจะลงจากรถไฟไม่นานก็ได้เปิดกระเป๋าใบนั้นเพียงแง้มๆ ผมไม่สามารถมองเห็นข้างในได้ แล้วเธอก็ป้อนนมจากขวดเล็กๆ ให้กับสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในนั้น เมื่อเธอลงไปพวกเราสามคนก็สงสัยกันว่าในนั้นคืออะไร ทำไมสิ่งมีชีวิตในนั้นไม่ร้องออกมาเลย

ผมแบ่งขนมที่ได้รับจากเจ้าของ All Seasons Hostel ในกรุงปรากให้กับสองหนุ่มอเมริกัน ถุงแรกเป็นขนมปังแครกเกอร์ พวกเขาชอบกันมาก ถุงที่สองผมควานเจอขนมปังแท่งคล้ายกูลิโกะที่ไม่เคลือบอะไร พวกเขาก็ชอบกันอีก โดยเฉพาะอิตาเลียนเจ้าเนื้อ พวกเขาเรียกมันว่า “เพรทเซล” เมื่อขนมผมหมดคนที่ดูสุภาพกว่า (ไม่ใช่อิตาเลียน) หยิบเวเฟอร์ธัญพืชยื่นให้ผม รสชาติอร่อยดี ดูที่ซองจึงทราบว่าเขาหอบมาจากอเมริกา เมื่อถามก็ได้รับคำตอบว่าใช่ ตอนหลังอิตาเลียนตุ้ยนุ้ยหยิบขนมซึ่งน่าจะเป็นถั่วลิสงเคลือบอะไรบางอย่างออกมากินอย่างเพลิดเพลิน ถุงขนาดใหญ่มาก แต่เขาไม่แบ่งใครเลย แม้แต่เพื่อนเขาเอง

The Centennial Memorial สร้างขึ้นบนเกาะมาร์กาเร็ตเมื่อปี ค.ศ. 1973 เพื่อรำลึกครบรอบ 100 ปี การรวมเมือง Buda, Obuda (บูดาเก่า) และ Pest เป็นBudapest

ผ่านไปหลายชั่วโมง ผมเดินไปที่โบกี้ร้านอาหาร ราคาอาหารและเครื่องดื่มย่อมเยาอย่างไม่น่าเชื่อ สั่งไส้กรอกมา 2 ชิ้น (ร้านให้กำหนดจำนวนชิ้นเอาเอง) และ Pilsner Urquell 1 แก้วแกล้มนิยายของ “เออร์เนสต์ เฮมมิงเวย์” ที่อ่านค้างไว้ และไม่ทันจะหมดแก้วที่สองนิยายก็จบลงพร้อมกับรถไฟที่ใกล้จะเข้าเทียบสถานีบูดาเปสต์ตะวันออก

ผมเดินกลับไปยังตู้หมายเลข 116 บอกสองหนุ่มมะกันว่าใกล้จะถึงแล้ว พวกเขาก็เก็บของเตรียมตัวกันอย่างรวดเร็ว เมื่อรถไฟจอดที่สถานีในเวลาประมาณ1 ทุ่มพวกเขาก็ลงไปทันที ผมน่าจะลงจากรถไฟเป็นคนสุดท้าย เพราะผู้โดยสารคนอื่นๆ เดินไปไกลแล้ว และมองไปด้านหลังก็ไม่มีใครเดินตามมา เมื่อถึงสถานีเมโทรที่อยู่ติดกับสถานีรถไฟก็ซื้อตั๋วจากเครื่องจำหน่ายอัตโนมัติโดยสารไปยังสถานี Kalvin ter ช่วงที่จะออกสู่พื้นถนนไม่มีบันไดเลื่อนจึงต้องยกกระเป๋าของฝากขึ้นบันได รู้สึกว่าไหล่ขวาที่ใช้ยกเจ็บจี๊ดขึ้นมา

ผ่านมาจนถึงวันนี้เกือบจะปีหนึ่งแล้วอาการแปลกๆ ที่ไหล่ขวานี้ยังไม่หายไป หากหมุนไหล่ขึ้นลงก็จะได้ยินเสียง “แกล็กๆๆ” จึงเป็นอุทาหรณ์ว่าถ้าท่านเจอนักเดินทางแบบแบ็คแพ็คเกอร์ที่มีข้าวของล้นตัวอยู่แล้ว ท่านโปรดชั่งใจสักนิดก่อนจะฝากของกับเขาไป แม้เขาจะพูดว่ายินดีพร้อมมีรอยยิ้มให้ก็ตาม

 “น้ำพุดนตรี” พลิ้วไหวไปตามจังหวะดนตรี ในช่วงฤดูร้อนจะมีแสงสีเข้ามาเพิ่มด้วย​​​​​​​

ท้องฟ้าเวลาทุ่มกว่าๆ ยังสว่างจ้าเพราะยุโรปกำลังเข้าสู่ฤดูร้อน ผมเดินไปตามเส้นทางที่จำได้ กดกริ่งของ Suite Hostel พูดกับเครื่องอินเตอร์คอมว่าต้องการที่พักก็มีคนกดรีโมตเปิดประตูให้ รีเซ็พชั่นชื่อ “อัลเบิร์ต” เกย์หนุ่มชาวเยอรมันเดินลงมารับที่กลางบันไดขึ้นชั้นสอง อย่างกับฉากในหนังโรแมนติก ผมแจ้งว่า“ไม่ได้จองไว้เพราะทราบว่าพวกคุณชอบอย่างนี้มากกว่า” ซึ่งหากจองกับโฮสเทลโดยตรงหรือวอล์คอินเข้ามาจะได้ราคาถูกกว่าจองกับเว็บไซต์รับจองทั้งหลาย เพราะโฮสเทลไม่ต้องจ่ายส่วนแบ่งให้กับเว็บไซต์เหล่านั้น (แต่บางกรณีการวอล์คอินกลับแพงกว่า)

อัลเบิร์ตจัดให้ผมนอนห้องเดียวกับครั้งที่แล้ว เป็นห้อง 6 เตียง มีแขกร่วมห้องอีกคนหนึ่ง แต่อัลเบิร์ตบอกว่าชายคนนี้จะกลับเกือบเช้า ส่วนอีกเตียงที่เหมือนมีคนนอนก็คือเตียงของอัลเบิร์ตเอง แต่เขา (เธอ) จะเข้านอนตอน 8 โมงเช้าเพราะอยู่เวรทั้งคืน อัลเบิร์ตทำงานเฉพาะสุดสัปดาห์จึงยอมอดนอนแล้วค่อยไปนอนให้เต็มที่ในวันปกติ ราคาที่พักคืนนี้ 13 ยูโร ผมจ่ายเงินยูโรใบละ 10 ยูโร และที่เหลือเป็นเงินสกุลโฟรินต์ของฮังการี

กิจกรรมหลากหลายบนเกาะมาร์กาเร็ต

เวลาเกือบสี่ทุ่มแล้วตอนที่ผมอาบน้ำแต่งตัวเสร็จ ตั้งใจจะกินกูลาส อาหารประจำชาติของฮังการีตั้งแต่รอบที่แล้วแต่ต้องพลาดหวังไป อัลเบิร์ตแนะนำ For Sale Pub ใกล้ๆ สะพานเหล็ก (Liberty Bridge) ข้ามแม่น้ำดานูบ เป็นร้านที่ผมเคยมาดื่มเมื่อครั้งก่อนแต่วันนี้คนเต็มร้าน ที่เข้าคิวรออยู่นอกร้านก็ไม่น้อย ร้านอื่นๆ กำลังทยอยปิด เดินไปเดินมาหลายรอบ ตัดสินใจเข้าร้านอาหารจีน มีทั้งแบบใส่กล่องและกินในร้าน แต่ร้านมีขนาดเล็กและมีคนนั่งอยู่เต็มแล้ว ส่วนนอกร้านที่วางโต๊ะไว้ 2 ตัวบนทางเท้านั้นลมก็พัดเย็นเกินไป จึงสั่งผัดบะหมี่ปลาแซลมอนใส่กล่อง ราคา 1,200 โฟรินต์ หรือประมาณ 150 บาท (8 โฟรินต์เท่ากับ 1 บาท) เจ๊คนผัดที่น่าจะเป็นเจ้าของร้านบอกว่าต้องจ่ายเงินก่อน ผมมีเงินโฟรินต์ที่เหลืออยู่จากครั้งที่แล้วมากกว่านั้นนิดหน่อย จึงถือว่าโชคดีแล้วที่ไม่ได้เข้าไปกินกูลาสในร้านอาหารเพราะลืมไปว่ายังไม่ได้แลกเงิน เมื่อแม่ค้าผัดใส่กล่องให้เสร็จ แกถามว่ามาจากไหน พอตอบ “ไทยแลนด์” แกพูดว่า “ขอบคุณค่ะ” ผมถามว่าทำไมพูดไทยได้แกตอบว่าถามคนไทยที่เป็นลูกค้าแล้วก็จำไว้พูด

ผมแวะเข้ามินิมาร์เก็ตเทสโกเพื่อซื้อน้ำดื่ม แล้วออกมานั่งกินมื้อค่ำตรงที่นั่งซึ่งสร้างยื่นออกมาจากกระจกร้าน ผมมองดูจุดนี้ก็เห็นว่าเขามีน้ำใจสำหรับคนซื้อของกินที่ต้องการกินทันทีและสำหรับคนที่อยากนั่งพักซึ่งไม่ได้เสียเงินมากมายจากการสร้างส่วนนี้เพิ่มขึ้นมา

ที่พักของผมอยู่ในอาคารเก่าติดกับร้านอาหารชื่อ Trapez ชั้นสองเป็นผับ เมื่อไม่เห็นคนในร้านอาหารและไม่ได้ยินเสียงลอดออกมาจากผับข้างบนจึงเดินไปริมแม่น้ำดานูบที่ห่างกันแค่ประมาณ 200 เมตร ขวามือคือสะพานเหล็ก และเทพีสันติภาพอยู่บนเนินเขาอีกฝั่งน้ำ ด้านซ้ายเป็นร้านอาหารและบาร์ที่ตั้งอยู่ติดๆ กัน ผมเดินผ่านไปทางนี้ ลมพัดแรงพอสมควรจึงเดินเลยไป ผ่านสวนสาธารณะ คนหนุ่มสาวซื้อเบียร์มานั่งดื่มจับกลุ่มพูดคุยกัน บางจุดมีการจัดที่นั่งอย่างดีไว้ให้ด้วย ถือเป็นทางเลือกของคนที่ไม่อยากเปลืองเงินเข้าผับบาร์ ทางการเขาไม่ได้มองว่าการคุยการดื่มเป็นสิ่งชั่วร้ายแต่ถ่ายเดียว

ผับของนักปั่น

ขากลับผมลังเลที่หน้าร้าน Trapez อีกครั้ง แต่สุดท้ายเอาชนะใจตัวเองเดินเข้าที่พักไปเปิดแจ็คแดเนียลส์ที่เหลืออีกค่อนขวดรินแบ่งให้อัลเบิร์ต เขา (เธอ) ยินดีเป็นอย่างมาก แม้จะบอกว่าไม่อยากดื่มเยอะเพราะต้องอยู่เวรถึงเช้า แต่เมื่อผมรินให้ทีไรอัลเบิร์ตก็ไม่เคยปฏิเสธ จนตีหนึ่งกว่าๆ ผมจึงเข้านอน

ตื่นมาสายๆ ตัดสินใจที่จะไปจองตั๋วที่สถานีรถไฟเดินทางไปยังกรุงบูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนียในคืนนี้ เพื่อจะถึงบูคาเรสต์ในตอนบ่ายๆ หรือเย็นวันถัดไป บอกกับอัลเบิร์ตที่ตื่นเร็วอย่างเหลือเชื่อว่าขอจองที่พักต่ออีกคืน แต่จะเช็คเอาต์ออกไปตอนประมาณ 4 ทุ่ม เขาปรึกษากับรีเซ็พชั่นสาวหน้าตาดีคนใหม่ (มาแทนคริสตีนาผู้มีอารมณ์ขันและให้ความรู้เกี่ยวกับกูลาสแก่ผมเมื่อครั้งก่อน) แล้วบอกผมว่าไม่ต้องจ่ายเงินเพราะผมไม่ได้ใช้ห้องเพื่อนอน ผมบอกว่า “คิดไปเถอะ เกรงใจ และผมก็อาจจะกลับมางีบในตอนบ่าย” อัลเบิร์ตและรีเซ็พชั่นสาวก็ยังบอกว่าไม่เป็นไร ผมจึงขอบคุณแล้วคิดในใจว่าต้องให้แจ็คที่เหลือกับพวกเขา ไม่ต้องหิ้วไปบูคาเรสต์

เมื่อได้ตั๋วสำหรับคืนนี้ในราคาประมาณ 80 ยูโรแล้ว (จ่ายด้วยบัตรเดบิต) ก็ลงเมโทรกลับ แวะกินข้าวร้านคนไต้หวันข้างเทสโกซึ่งมีลักษณะคล้ายข้าวราดแกงบ้านเรา ผมสั่งข้าวผัดราดหมูทอดและผัดผัก รสชาติอร่อยเหมือนเดิม เดินกลับที่พัก เก็บของพอประมาณ เดินไปแลกเงินแล้วลงเมโทรไปยังสถานี Nyugati pályaudvar ซึ่งอยู่ติดกับสถานีรถไฟสายตะวันตก (Nyugati pályaudvar แปลว่าสถานีรถไฟตะวันตก) เดินมั่วๆ อยู่ไม่นานก็ไปออกแม่น้ำดานูบ เดินไปบน “สะพานมาร์กาเร็ต” (Margaret Bridge) จนถึงกลางสะพานแล้วเลี้ยวขวาตามทางเชื่อมเข้า “เกาะมาร์กาเร็ต” (Margaret Island) การมายังเกาะนี้นอกจากเดินเท้าแล้วก็ทำได้เพียงโดยสารรถเมล์ที่มีอยู่สายเดียวและแท็กซี่เท่านั้น

อาคารรัฐสภาอันเลื่องชื่อบนฝั่งเปสต์

เกาะกลางแม่น้ำดานูบแห่งนี้ถือเป็นปอดของชาวบูดาเปสต์ มีความยาว 2.5 กิโลเมตร ไปจนติดกับอีกสะพานชื่อ Arpad Bridge ทางด้านทิศเหนือ กว้างประมาณ 500 เมตร เคยเป็นที่พำนักของขุนนางระดับสูงในคริสต์ศตวรรษที่ 12 รวมถึงเป็นที่ตั้งของโบสถ์คริสต์ 3 แห่ง ซึ่งมีอารามให้กับบาทหลวงและแม่ชีอยู่อาศัย แต่ถูกกองทัพออตโตมันบุกทำลายลงในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ปัจจุบันจึงเหลือแต่เศษซากให้รำลึกถึง

ชื่อของเกาะมาจากชื่อราชธิดาของกษัตริย์บีลา ที่ 4 แห่งฮังการีและโครเอเชีย ซึ่งเคยประทับอยู่ในคอนแวนต์บนเกาะนี้ ในอดีตก่อนหน้านั้นถูกเรียกกันในหลากหลายชื่อ รวมถึง “เกาะกระต่าย” พื้นที่ในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นสวน แต่ก็มีทั้งสนามฟุตบอลที่ล้อมด้วยลู่วิ่ง สนามเทนนิส ศูนย์กีฬาทางน้ำ มีลู่วิ่งยางกินระยะทางรวมกว่า 5 กิโลเมตร สวนสัตว์ขนาดเล็ก โรงแรม 2 แห่ง โรงละครกลางแจ้ง ศาลาแสดงคอนเสิร์ต ถังน้ำโบราณทรง 8 เหลี่ยม สูง 57 เมตร ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นหอคอยและห้องแสดงนิทรรศการ สระน้ำพุขนาดใหญ่เรียกว่า “น้ำพุดนตรี” ซึ่งมีการแสดงแสงสีเสียงให้ดูเสมือนว่าน้ำพุเต้นรำในช่วงหน้าร้อน สองอย่างหลังที่กล่าวถึงนี้ได้รับการคุ้มครองโดยองค์การยูเนสโก

นอกจากนี้ยังมีเส้นทางปั่นจักรยาน ร้านอาหาร บาร์ ม้านั่งสำหรับนัดสนทนา ลานหญ้าสำหรับปิกนิกสังสรรค์หรือหย่อนใจ บางคู่รักก็พะเน้าพะนอกันอยู่ในอ้อมกอด เด็กๆ ปีนต้นไม้เล่น ที่เตะฟุตบอลและโยนจานร่อนก็มี บางคนนำสัตว์เลี้ยงมาวิ่งเล่นสนุกสนานกันทั้งสัตว์และคน เป็นภาพที่มีชีวิตชีวาที่สุดเท่าที่ผมพบเจอในบูดาเปสต์

ใช้เวลาอยู่บนเกาะ 2 ชั่วโมงกว่า ผมก็เดินไปยังกลางสะพานมาร์กาเร็ตแล้วข้ามแม่น้ำไปฝั่งบูดา เดินไปยังถนนหลังอาคารแถวแรกเพื่อหลบแดดร้อนแล้วเดินไปทางทิศใต้ เห็นเด็กชายอายุสิบขวดนิดๆ เดินเอาของมาให้เด็กสาวรุ่นราวคราวเดียวกัน ส่งของให้เธอแล้วหนุ่มน้อยก็จุ๊บเสียทีหนึ่ง ก่อนวิ่งหายไป

สถานีกระเช้าขึ้นปราสาทบูดา 

ที่ด้านล่างของทางขึ้นปราสาทบูดา ขณะผมกำลังรอคิวเพื่อซื่อตั๋วขึ้นรถกระเช้าไปยังปราสาทก็มีหนุ่มอินเดียรูปร่างอ้วนท้วนเข้ามาทักทาย เขาอาศัยอยู่ในประเทศออสเตรเลียแถมยังบอกน้ำหนักให้ทราบด้วยว่าชั่งมาไม่นานนี้ได้ 110 กิโลกรัม เขาชวนผมเดินขึ้นปราสาท (ไม่ต้องเสียเงิน) แล้วก็มุ่งหน้าไปเลย ผมจะปล่อยให้ชายรุ่นเฮฟวีเวทข่มกันอย่างนี้ก็นึกสังเวชตัวเอง จึงเดินตามไปจนทันที่บริเวณทางเดินกลางเนินเขา หนุ่มอินเดียยืนหายใจหอบอยู่ พูดจาตะกุกตะกักว่าแซงไปก่อน ขอเขาพักเหนื่อยสักครู่

ผมเดินไปเดินมาบนปราสาทอยู่นาน แต่ก็ไม่เจอเขาอีกเลย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"