ขสมก.พับแผนซื้อลุยเช่ารถเมล์ 2,511 พันคันแทน ย้ำหลังปฏิรูปเส้นทางผู้โดยสารรอรถเมล์แค่ 5 นาที


เพิ่มเพื่อน    

17 ธ.ค. 2562 นายสุระชัย เอี่ยมวชิรกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) เปิดเผยว่า หลังจากหารือร่วมกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) แล้ว ขณะนี้ได้ทำความเข้าใจร่วมกันชัดเจนแล้ว ตนยืนยันว่าจะไม่มีการแปรรูปองค์กรแน่นอน จะไม่มีการเปิดให้เอกชนเข้ามาเดินรถหรือบริหารเส้นทางแทนรัฐ อีกทั้งยังปรับบางแผนที่เห็นควรร่วมกันเพื่อลดภาระหนี้สินขององค์กร หวังสร้างผลประโยชน์สูงสุดให้ประชาควบคู่ไปกับความอยู่รอดขององค์กร 

นายสุระชัยกล่าวว่า สำหรับแผนฟื้นฟูกิจการขสมก.ที่ครม.เห็นชอบแล้วจึงได้ปรับปรุงนั้นประกอบไปด้วย 2 ประเด็น ได้แก่ 1.การยกเลิกลงทุนจัดซื้อรถเมล์ใหม่ มูลค่า 20,000 ล้านบาท โดยจะเป็นการเช่ารถเมล์ใหม่ 2,511 คันจากเอกชน โดยเปิดประมูลให้ยื่นข้อเสนอ โดยขสมก.ไม่ต้องลงทุนและรับความเสี่ยงเรื่องซ่อมบำรุง รูปแบบการเช่าจะเป็นการจ่ายแทนกิโลเมตรที่วิ่งจริง แต่ไม่มีการจ้างวิ่งแน่นอน 2.ภาระหนี้สินจำนวน 100,000 ล้านบาท จะยึดตามเดิมคือรัฐบาลต้องอุดหนุนหนี้สินราว 80,000 ล้านบาท ที่เกิดจากนโยบายรัฐบาล 

นอกจากนี้ขสมก.ยังเตรียมเสนอแผนขอรับเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ(PSO) อีก 10,000 ล้านบาท ทยอยขอรับเป็นรายปี เฉลี่ย 2,000 ล้านบาทต่อปี เพราะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้องปฏิรูปการบริหารรถเมล์ใหม่ทั้งหมด ในระหว่างนี้จะยังมีต้นทุนเท่าเดิมและมีปัจจัยเสี่ยงทางธุรกิจทั้งการขึ้นค่าแรงของรัฐบาลและความผันผวนด้านราคาน้ำมัน

นายสุระชัยกล่าวว่า การเปิดประมูลจัดเช่ารถเมล์ใหม่ทั้งหมด ตอนนี้ยังไม่ได้สรุปเรื่องประเภทรถว่าจะใช้ระบบNGV, EV หรือ Hybrid จึงยังไม่มีวงเงินที่ชัดเจน คาดว่าจะได้เปิดประมูลกลางปี 2563 และส่งมอบรถเมล์ใหม่ล็อตแรกภายใน 1 ปี อาจเปิดประมูลหลายสัญญา เพื่อให้ได้เอกชนสัก 2-3 ราย เช่น สัญญาละ 800 คัน โดยต้องการเอกชนรายใหญ่เพื่อความมีเสถียรภาพงานบริการ ดังนั้นหากยึดตามแนวทางนี้จะยกเลิกโครงการปรับปรุงรถเมล์เก่า 323 คันไปด้วยเพราะจะใช้รถเมล์ใหม่ทั้งหมด ส่วนรถเมล์ใหม่จะเป็นระบบของจีน เอเซียหรือยุโรปนั้นต้องขึ้นอยู่กับเอกชนที่ประมูลโครงการ อย่างไรก็ตามขณะนี้รอเสนอเรื่องเข้าบอร์ดขสมก. ก่อนส่งต่อไปยังสภาพัฒน์ ดูเรื่องการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP และเสนอที่ประชุม ครม.เพื่อขอความเห็นชอบในการปรับปรุงแผนฟื้นฟูต่อไป ส่วนทิศทางในการดำเนินธุรกิจคาดว่าจะหยุดขาดทุนได้ภายใน 5 ปี และเริ่มมีกำไรที่ช่วง 5-10 ปีนับจากนี้ เมื่อกิจการคุ้มทุนแล้วจะยกเลิกการขออุดหนุน PSO จากรัฐบาล
“การเช่ารถเมล์ทั้งหมดแทนการซื้อมีความยืดหยุ่นในด้านบริหาร ด้วยอายุสัญญาเพียง 7 ปี ทำให้สามารถปรับกลยุทธ์ตามเทรนด์ของผู้โดยสารได้ เพราะอนาคตผู้โดยสารอาจลดลงจากการเปิดบริการรถไฟฟ้าสายใหม่ ขสมก.ไม่ต้องเสี่ยงลงทุนเพื่อถือสินทรัพย์ที่มาพร้อมดอกเบี้ยในระยะยาว ส่วนจะเอารถพลังงานแบบไหนต้องไปดูอีกที เพราะ NGV กำไรมากสุด แต่ EV คุ้มระยะยาว” นายสุระชัยกล่าว

นายสุระชัยกล่าวอีกว่า สำหรับอัตราค่าโดยสารใหม่ 30 บาท/วัน ทุกเส้นทาง จะคุ้มค่าหรือไม่นั้นขึ้นกับหลายปัจจัย หากผู้โดยสารเพิ่มขึ้น และการลดภาระเรื่องบริหารจัดการรถเก่ารวมถึงค่าจ้างพนักงานเก็บค่าโดยสารในส่วนที่ใช้ E-Ticket ทดแทน อาจส่งผลให้การขาดทุนหายไปก็เป็นได้ ทั้งนี้การปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ใหม่ของกระทรวงคมนาคม รถเมล์จะมีความถี่มากขึ้น 5-10 นาที่ต่อคัน ผู้โดยสารไม่ต้องรอนานเหมือนในปัจจุบัน จะไม่มีการวิ่งทับซ้อนเส้นทางกันเหมือนทุกวันนี้ เช่น ช่วงลาดพร้าว-บางกะปิ ทับซ้อนกัน 27 สาย และ ช่วงหมอชิต-อนุสาวรีย์ ทับซ้อนกัน 30 สายเป็นต้น การปฏิรูปเส้นทางจะไม่มีรถเมล์สายยาวอีก จะต้องต่อรถเมล์มากขึ้นในการเดินทางระยะไกลแต่แลกมากับค่าโดยสารที่เข้าถึงได้

นายประยูร ช่วยแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 17 ธ.ค. 2562 กระทรวงคมนาคมจะเสนอรายชื่อคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด ขสมก.) ชุดใหม่ ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติแต่งตั้ง ทั้งนี้ เมื่อได้บอร์ด ขสมก.ชุดใหม่แล้วนั้น จะทำให้ ขสมก. สามารถเดินหน้าโครงการต่างๆ ต่อไปได้ หลังจากบอร์ดชุดเก่าได้ลาออกไปตั้งแต่ มิ.ย. 2562 ที่ผ่านมา และทำให้มีหลายโครงการที่รอการพิจารณาของ บอร์ด ขสมก. 

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ภายหลังที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้ส่งรายชื่อบอร์ด ขสมก. ชุดใหม่กลับมายังกระทรวงคมนาคม จึงเตรียมเสนอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติแต่งตั้งในวันพรุ่งนี้ สำหรับ บอร์ด ขสมก. ชุดใหม่ จำนวน 9 รายนั้น ได้แก่ 1.นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด, 2.นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รักษาการอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.), 3.นายสุเมธ สังข์ศิริ อดีตกรรมการ บริษัท เนชั่นมัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 4.นายพงษ์ศักดิ์ ชมสุวรรณ ทนายความ บริษัท สำนักกฎหมายพงษ์ศักดิ์ ชมสุวรรณ จำกัด, 5.นางปาณิสรา ดวงสอดศรี อดีตกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และ ขสมก., 6.พล.ต.ต.กรไชย คล้ายคลึง รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1, 7.นายพลช หุตะเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ 8.นายยุกต์ จารุภูมิ อดีตรองผู้อำนวยการ ขสมก. และ 9.นางญาณี แสงศรีจันทร์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"