บทศึกษาขจัดความ “ยุ่ง” และ “ยาก” เปลี่ยนพฤติกรรมคนไทยให้ "แยกขยะ"


เพิ่มเพื่อน    

 

 “ขยะ” นับเป็นหนึ่งในปัญหาที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก หากอยู่ผิดที่ผิดทาง ซึ่งหมายถึง หากขยะถูกทิ้งไม่เป็นที่ ก็จะเกิดการสะสมกลายเป็นของเสียที่เป็น อันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และปัญหาส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้ขยะอยู่ผิดที่ผิดทางก็คือ “การไม่แยกขยะ” ก่อนทิ้ง นับเป็นปัญหาทางพฤติกรรมของผู้คนที่มีเหตุปัจจัยอยู่เพียงไม่กี่อย่าง 


 จากผลการทดลองของ กลุ่มธุรกิจโคคา-โคล่า ในประเทศไทย ที่ร่วมกับ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) และศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการทดลองสำรวจเชิงเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมกับการแยกขยะของคนไทย ที่ได้ดำเนินการกับกลุ่มเป้าหมายผู้อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียม 3 โครงการที่ T77 Community ได้แก่ THE BASE Park West, hasu HAUS และ mori HAUS รวม 246 ห้องชุด เป็นระยะเวลา 4 เดือน (พ.ค.- ส.ค.2562) พบว่า มีอยู่ 2 เงื่อนไขสำคัญที่คนไทยไม่แยกขยะ ก็คือความ “ยุ่ง” เพราะเป็นความขี้เกียจ และความ “ยาก” เพราะต้องคิดเยอะไป หากอยากให้คนไทยแยกขยะตั้งแต่ต้นทางจะต้องขจัดสองสิ่งนี้ออกไป และต้องมีการออกแบบถังขยะให้สอดคล้องกับกระบวนการคิดของคน เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมการแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง

นันทิวัต ธรรมหทั


 นายนันทิวัต ธรรมหทัย ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์ การสื่อสาร และความยั่งยืน บริษัท โคคา-โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการทดลองเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมการแยกขยะนี้ เกิดจากวิสัยทัศน์ World  Without Waste ของโคคา-โคล่า ที่มีเป้าหมายในการจัดเก็บบรรจุภัณฑ์เพื่อนำกลับมารีไซเคิลในปริมาณเทียบเท่ากับปริมาณบรรจุภัณฑ์ที่จำหน่ายออกสู่ตลาดให้ได้ 100%  ก่อน พ.ศ. 2573  ด้วยเหตุนี้ โคคา-โคล่า จึงเล็งเห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาขยะอย่างยั่งยืน จึงส่งเสริมการแยกขยะที่ต้นทาง เนื่องด้วยการศึกษาเกี่ยวกับ แนวทางการจัดการบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคในประเทศไทย  พบว่า บรรจุภัณฑ์ประเภทขวดพลาสติกใส (PET) และกระป๋องอลูมิเนียม มีเพียงไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่ถูกนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เพราะไม่มีการแยกขยะอย่างเหมาะสมตั้งแต่ต้นทาง


 ผอ.การสื่อสารฯ กล่าวอีกว่า โคคา-โคล่า เชื่อว่า ปัญหาขยะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ปัญหาการไม่แยกขยะเป็นปัญหาพฤติกรรมของคนเรา  หากเราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้คนแยกขยะตั้งแต่ต้นทางได้ ปริมาณขยะในภาพรวมก็จะลดลง และได้วัสดุที่รีไซเคิลนำกลับมาใช้ใหม่ได้เพิ่มขึ้น  ฉะนั้นเราจึงริเริ่มนำแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่กำลังได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติว่า สามารถมีส่วนช่วยปรับพฤติกรรมของคน  มาปรับใช้ในบริบทแบบไทยๆ โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม และการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ และแสนสิริ  ดำเนินการทดลองศึกษาและสร้างพฤติกรรมการแยกขยะในครัวเรือน  โดยมีการใช้เทคนิคการ “สะกิด” (Nudge) ซึ่งมีที่มาจากหนังสือเบสต์เซลเลอร์ในชื่อเดียวกัน ของ Richard H. Thaler และ Cass R. Sunstein เทคนิคนี้ตั้งอยู่บนการทำความเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ที่หลายครั้งก็เป็นเรื่องของนิสัย และความเคยชินมากกว่าความคิดเชิงเหตุผล และนำความเข้าใจนั้นมาสร้างมาตรการจูงใจแบบง่ายๆ แต่มีประสิทธิผลในการสร้างพฤติกรรมพึงประสงค์ ซึ่งในกรณีนี้คือการสร้างพฤติกรรมการแยกขยะที่ต้นทาง

ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์


 ด้าน ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผอ. ศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้การรณรงค์แยกขยะที่ต้นทางไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรนั้น มีสาเหตุหลัก 2 ประการคือ ความ “ยุ่ง” คือคนไม่ต้องการทำอะไรที่สร้างความลำบากให้ตัวเอง และความ “ยาก” จากความซับซ้อนและเข้าใจยากของถังขยะที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน   ดังนั้น หากต้องการส่งเสริมการแยกขยะอย่างจริงจังก็จำเป็นต้องกำจัดมูลเหตุพฤติกรรมทั้งสองข้อนี้ โดยศูนย์ฯ ได้นำแนวคิดการ “สะกิด” ตามทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมาใช้ในการทดลองกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างความตระหนัก และพฤติกรรมการแยกขยะ อันจะนำไปสู่การสร้างนิสัยการคัดแยกขยะในระยะยาว นอกจากนี้ ยังพบว่าการแก้ปัญหา “ยุ่ง” หรือความขี้เกียจในการแยกขยะนั้นสำคัญกว่าการแก้ปัญหา “ยาก” หรือความไม่เข้าใจ เราจึงควรกระตุ้นให้คนเห็นความสำคัญของการแยกขยะมากขึ้นเพื่อปรับเปลี่ยนความขี้เกียจให้มาเป็นนิสัย โดยอาศัยกลไกทางสังคม ทำให้เห็นว่าทุกคนร่วมมือร่วมใจกันแยกขยะโดยเฉพาะคนในชุมชนเดียวกัน อันจะเป็นกระบวนการสำคัญที่ช่วยสร้างพฤติกรรมการแยกขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

 ผศ.ดร.ธานี อธิบายต่อว่า หลักการ “สะกิด” ในมุมมองเศรษฐศาสตร์ มีองค์ประกอบ 3 อย่าง คือ 1.ป้ายกำกับ ควรจะเป็นป้ายที่ใช้อักษรสื่อสารโดยตรง ไม่ควรใช้รูปภาพหรือสัญลักษณ์ เพราะบางทีอาจทำให้เกิดความสับสน เช่น ถังขยะบางอันใช้สัญลักษณ์รูปขวด เราทราบว่าเป็นรูปขวดแต่ก็อาจเกิดความไม่แน่ใจได้ว่ารูปขวดที่กำกับไว้นั้นหมายถึงขวดแก้ว หรือขวดพลาสติก แต่ถ้ามีอักษรเขียนกำกับไว้เลยว่าขวดพลาสติก จะเข้าใจง่ายกว่า 2.จุดวางถังขยะ สำหรับแยกขยะ ควรมีอย่างมาก 3 ถัง หรือไม่เกิน 4 ถัง จะดีที่สุด เพราะถ้ามากกว่านี้คนสับสน 3.ใช้ขยะสื่อสาร ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราถือถุงเศษอาหารมา เจอถังขยะทั่วไปแล้วโยนทิ้งเลยอาจจะไม่ได้รู้สึกผิดอะไร แต่เมื่อเจอถังขยะที่มีการแยกขยะแล้วก็จะทำให้คนทิ้งรู้สึกผิด ซึ่งหมายความว่า ถ้าสังคมหรือคนในชุมชนมีการคัดแยกขยะแล้ว ก็จะสร้างความตระหนักและกดดันให้คนอื่นทำตามๆ กัน

 “ผมเชื่อว่า การแยกขยะ ถ้ามีคนทำ ก็จะทำตาม ๆ กัน เราต้องมีตัวอย่างให้คนเห็น และปัจจัยสนับสนุนให้หลักสะกิดสำเร็จ คือการให้ข้อมูลล่วงหน้าลูกบ้าน หรือชุมชนสักหน่อย เพราะว่าถ้าจะแยกจริง เขาต้องตั้งต้นตั้งแต่ในห้อง เวลาเอาออกมาทิ้งก็จะง่ายต่อการทิ้งลงถัง แต่ถ้าไม่มีการให้ข้อมูลล่วงหน้าเลยว่าให้แยกขยะ บางคนเขาเก็บรวมใส่ถุง มัดปากถุง พอมาถึงจุดทิ้งไม่มีใครมาแยกอีกทีหรอก การแยกตั้งแต่ในห้องดีกว่า และปัจจัยต่อมาคือการทำโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ต่อความรู้สึก เช่น ภาพเต่าเสียชีวิตเพราะหลอดทิ่ม นั่นสร้างความสะเทือนต่อความรู้สึกมากๆ หรือจะเป็นรูปที่ระบุสถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งจะมีความรุนแรงต่อความรู้สึกมากกว่าการโชว์สถิติตัวเลข” ผศ.ดร.ธานี กล่าว


 ผอ.ศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม กล่าวอีกว่า สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือคำที่ใช้ในการสื่อสารต่อบรรจุภัณฑ์ขวด พลาสติกต่างๆ หลีกเลี่ยงการใช้คำว่าขยะ เพราะในความหมายที่ทุกคนเข้าใจคือ ขยะจะเป็นของเสีย สกปรก ไม่น่าจับถือ หรือนำมาใช้อีก ต้องทิ้งอย่างเดียว โดยอาจใช้คำว่า เศษอาหาร หรือ รีไซเคิลแทน เป็นต้น แล้วก็ที่สำคัญเรื่องง่ายๆ อย่างการวางถังขยะ ต้องคิดว่าฝาถังควรจะเปิดหรือปิด เพราะหลายคนไม่มีใครอยากจะใช้มือจับฝาถังสักเท่าไหร่ เป็นเหตุให้ขยะกองอยู่ที่ปากถัง หรือล้นออกมา เป็นต้น


 ขณะที่นางจริยา จันทร์เจิดศักดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ด้วยวิสัยทัศน์ของแสนสิริที่ไม่เพียงแต่การพัฒนาที่อยู่อาศัย แต่ยังมุ่งมั่นส่งมอบไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน เมื่อปลายปีที่ผ่านมา เราเดินหน้าอย่างจริงจังในการผลักดันและเซตมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ไทยในด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ผ่าน Sansiri Green Mission โดยมี Waste Management เป็น 1 ใน 4 คำมั่นสัญญาหลัก เพื่อจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพและลดปริมาณขยะให้เหลือไปกำจัดในปริมาณน้อยที่สุด ตั้งแต่ภายในองค์กร โครงการที่อยู่อาศัย ไปถึงไซต์ก่อสร้าง ความร่วมมือกับโคคา-โคล่า และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ในครั้งนี้ ได้รับข้อเสนอแนะต่อการแยกขยะประกอบไปด้วย การจัดหาถังขยะให้สอดคล้องกับประเภทขยะ การออกแบบถังขยะให้สอดคล้องกับระบบความคิดของคน รวมถึงการสื่อสารโดยใช้รูปภาพอธิบายที่ไม่ซับซ้อน และมีข้อความสั้นๆ กำกับ ร่วมกับการแจกโบรชัวร์ให้ความรู้ในการแยกขยะด้วยการสอดไว้ตามห้อง คาดว่าการทดลองนี้จะเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการสร้างสรรค์ต้นแบบการแยกขยะอย่างยั่งยืนของวงการอสังหาฯ ตลอดจนอุตสาหกรรมไทยในวงกว้าง โดยเราจะนำผลการศึกษาในครั้งนี้ไปต่อยอดร่วมกับผลการศึกษาของแสนสิริ เพื่อออกแบบถังขยะใหม่ในทุกโครงการคอนโดมิเนียม ที่สร้างเสร็จตั้งแต่ปีตั้งแต่ 2563 เป็นต้นไป

 ขยะนับล้านชิ้นถูกคลื่นมรสุมซัดกองเป็นภูเขา ชายหาดชุมพร 
 อย่างไรก็ตาม นายนันทิวัต ตบท้ายว่า  การทดลองนี้แม้จะเป็นเพียงการทดลองเล็กๆ เมื่อเทียบกับบริบทของประเทศไทย แต่ก็ช่วยแสดงให้เห็นว่ายังมีคนอีกไม่น้อยที่อยาก และพร้อมจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาด้วยการแยกขยะที่ต้นทาง ถ้าเราวางระบบให้ยุ่งและยากน้อยลง เราหวังว่าผลการทดลองนี้จะทำให้ทุกคนเห็นว่าเราสามารถสร้างพฤติกรรมการแยกขยะได้ โดยไม่ต้องรอให้เป็นหน้าที่ของเด็กรุ่นใหม่ และช่วยสะกิดให้คนไทยหันมาแยกขยะก่อนทิ้งกันให้มากขึ้น

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"