การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์:  เวียดนามกำลังไล่กวดไทย


เพิ่มเพื่อน    

                ข่าวคราวเรื่องเวียดนาม "แซงหน้า" ไทยในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการดึงเงินลงทุนต่างชาติไปจากเรา หรือแม้แต่ล่าสุดคือพันธุ์ข้าวหอมเวียดนาม (และเขมร) ที่แย่งตำแหน่งแชมป์โลกจากไทยมา 2 ปีซ้อน นั่นควรจะทำให้เราต้องลุกขึ้นมาสำรวจตรวจสอบตัวเองอย่างขะมักเขม้นเสียแล้วกระมัง

                ล่าสุดข่าว "วีโอเอไทย" นำเอาข่าวจาก Vietnam Investment Review มานำเสนอ ควรจะให้รัฐบาลและเอกชนไทยได้ศึกษาและวิเคราะห์ว่าแนวโน้มที่ว่านี้เป็นจริงมากน้อยเพียงใด

                และเราจะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของเราได้เร็วและแรงเพียงใด

                หาไม่แล้วเราก็จะตกอยู่ในสภาพ "ไล่กวด" เขาไม่ทันในอีกหลายด้าน

                ข่าวชิ้นนั้นของ "วีโอเอไทย" เสนออย่างนี้ครับ

                ความมั่นคงทางการเมือง ค่ารักษาที่เอื้อมถึง และบริการทางการแพทย์ที่ดีในบางสาขา ทำให้เวียดนามกำลังเป็นทางเลือกใหม่ของนักท่องเที่ยวที่ต้องการผสมผสานการพักผ่อนวันหยุดเข้ากับการรับการรักษาพยาบาล หรือที่เรียกว่า การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (medical tourism)

                จุดขายสำคัญของเวียดนามคือ การรักษาฟัน และศัลยกรรมความงาม

                เว็บไซต์ Vietnam Investment Review สื่อของรัฐบาลเวียดนาม รายงานว่ามีชาวต่างชาติมากกว่า  80,000 คนเดินทางมาเพื่อ "ตรวจสุขภาพและเข้ารับการรักษาทางการแพทย์" นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้สร้างรายได้ให้เวียดนามแล้วกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ และยังทำให้อุตสาหกรรมการแพทย์ของประเทศเติบโต  18-20 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

                การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เป็นแหล่งรายได้สำคัญของหลายประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคาดว่าในปีที่ผ่านมา medical tourism ทำเงินให้ประเทศประมาณ 26,000 ล้านบาท หรือ 860 ล้านดอลลาร์ มากกว่าปีก่อน 14 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ในสิงคโปร์เติบโตปีละ 10  เปอร์เซ็นต์ และทำเงินไป 737 ล้านดอลลาร์ ในปี พ.ศ.2560

                ประมาณหนึ่งในสามของรายได้ของโรงพยาบาลเอกชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาจาก  medical tourism จากรายงานวิจัยตลาดของบริษัท Zion Market Research

                จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเวียดนามเพิ่มขึ้นสามเท่าจาก 5 ล้านเป็น 15 ล้านคนในช่วง 8 ปี ระหว่าง พ.ศ.2553-2561 ซึ่งทางการเวียดนามมองว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเพื่อรับการรักษาหรือเพื่อสุขภาพรวมอยู่ในนี้ด้วย นักท่องเที่ยวจากจีนและเกาหลีใต้ครองอันดับเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่สุดของเวียดนาม  

                บริษัทโบรกเกอร์ SSI Institutional Brokerage ในกรุงโฮจิมินห์ มองว่าค่ารักษาพยาบาลของเวียดนามถูกกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยและสิงคโปร์ ทำให้มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามามากขึ้น  และกลุ่มใหญ่ที่สุดเข้ามาเพื่อทำศัลยกรรมความงาม

                นักท่องเที่ยวจากออสเตรเลีย "หลั่งไหล" มาเวียดนามเพื่อรักษาฟัน เพราะค่ารักษามีราคาถูก คิดเป็นเพียงสิบเปอร์เซ็นต์ของค่ารักษาในทวีปอเมริกาเหนือ ในขณะที่คุณภาพการให้บริการก็ค่อยๆ ดีขึ้น  เพราะมีทันตแพทย์ที่เรียนจบจากต่างประเทศกลับมาทำงานในเวียดนาม ตามรายงานการตลาดของบริษัท Infocus Mekong Research

                ส่วนศัลยกรรมความงามดึงดูดนักท่องเที่ยวจากเกาหลีใต้เป็นพิเศษ เวียดนามยังมีหมอชาวเกาหลีที่ทำงานเป็นศัลยแพทย์ในประเทศอีกด้วย

                นอกจากนี้ รีสอร์ตตามเมืองชายฝั่งทะเล เช่น Phu Quoc และ Da Nang พยายามจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อให้ที่พักเหมาะสมกับนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์มากขึ้น

                อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยชาวต่างชาติบางคนพบกับประสบการณ์การรักษาพยาบาลที่ไม่น่าพึงใจนัก  บางคนอ้างว่าเจอชิ้นส่วนแปลกปลอมหลังจากที่เข้ารับการผ่าตัดขา แต่เป็นเรื่องยากที่จะชนะคดีฟ้องร้องเอาผิดสถานพยาบาล  

                นักท่องเที่ยวบางคนจึงยอมเสียเงินมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มความสบาย เพราะถึงจะชำระมากขึ้น ค่าใช้จ่ายโดยรวมทั้งหมดก็ยังถูกกว่าค่าบริการในประเทศอื่นๆ อยู่ดี

                แต่หากเทียบกันแล้ว สิงคโปร์ ไต้หวัน และประเทศไทย ยังมีชื่อเสียงการให้บริการด้านการแพทย์ที่ดีกว่า

                ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ชาวต่างชาติเดินทางมารับการรักษาครบวงจร ตั้งแต่ตรวจสุขภาพชุดใหญ่ ไปจนถึงรักษาโรคหัวใจที่สลับซับซ้อน

                ใครที่ยังบอกว่า "เขายังอยู่ห่างไกลจากเรา" หรือ "อีกหลายปีเขาจึงจะตามเราทัน" คงจะต้องทบทวนทัศนคติ "สบายๆ แบบไทยๆ" ได้แล้วครับ! 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"