วันแรกของปีใหม่: ส่องกล้อง มองตัวละครหลักของโลก


เพิ่มเพื่อน    

 

              สวัสดีปีใหม่ครับท่านผู้อ่านทุกท่าน

                ปีใหม่นี้มีเรื่องราวทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เราจะต้องเกาะติดกันอย่างใกล้ชิด

                เพราะทุกความเคลื่อนไหวไม่ว่าจะเกิดในมุมไหนของโลก ล้วนมีผลกระทบต่อเราทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม

                ระดับใหญ่คือข่าวการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ในปลายปีนี้

                คำถามใหญ่ขณะนี้คือ โดนัลด์ ทรัมป์จะชนะเลือกตั้ง ได้กลับมานั่งทำเนียบขาวในปีหน้าหรือไม่

                หรือพรรคเดโมแครตจะมีตัวเลือกพอที่จะเอาชนะทรัมป์ในการเลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่

                ผมเห็นการคาดการณ์ของหลายสำนักในอเมริกา ที่เริ่มทำนายว่าโอกาสที่ทรัมป์จะชนะอีกรอบมีค่อนข้างสูง อาจจะเกิน 50% ด้วยซ้ำไป

                แต่จากนี้ไปยังมีเวลาหาเสียงอีก 11 เดือน และในช่วงนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งสิ้น

                หนึ่งในปัจจัยหลักของการเมืองสหรัฐฯ คือกระบวนการ "ไต่สวนเพื่อถอดถอน" หรือ impeachment  ที่รัฐสภาสหรัฐฯ กำลังดำเนินการอยู่

                โอกาสที่ทรัมป์จะถูกปลดจากตำแหน่งมีน้อย หรือเกือบจะไม่มีเลย

                แต่ผลกระทบทางอ้อมจากกระบวนการนี้จะมีอย่างกว้างขวางในเกือบจะทุกๆ ด้าน

                เช่นสองปัจจัยนี้ (ผลเลือกตั้งกับ impeachment) จะเป็นตัวตัดสินว่า อเมริกากับจีนจะสามารถหาข้อยุติสงครามการค้าอย่างถาวรได้หรือไม่

                สองปัจจัยนี้เช่นกันที่จะเป็นตัวกำหนดว่า เกาหลีเหนือจะเดินหน้าทดลองขีปนาวุธในปีใหม่

                และท้าทายสหรัฐฯ อย่างเปิดเผยหรือไม่ ซึ่งจะดันระดับความตึงเครียดในเวทีการเมืองระหว่างประเทศให้พุ่งสูง และทำให้มีผลต่อเศรษฐกิจของโลกและของเราอย่างปฏิเสธไม่ได้

                ปีนี้ทรัมป์ยังเป็นตัวละครสำคัญของเวทีโลก เคียงคู่กับสี จิ้นผิงแห่งจีน ที่จะต้องแสดงบทบาทความเป็นผู้นำโลกเพื่อแข่งบารมีกับอเมริกา

                ก่อนถึงวันเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้ ทรัมป์จะแสดงท่าทีที่แข็งกร้าวกว่าเดิมหรือผ่อนปรนเพื่อให้บรรลุข้อตกลงระงับสงครามการค้ากับปักกิ่ง ยังเป็นประเด็นที่ต้องเกาะติดและวิเคราะห์กันอย่างต่อเนื่อง

                แต่ที่ชัดเจนก็คือว่า ก่อนเลือกตั้งทรัมป์จะต้องแสดงจุดยืนเพื่อเอาใจฐานเสียงของตัวเองมากกว่าอะไรอื่น

                ฐานเสียงของทรัมป์เป็นอเมริกันชนชั้นกลางและล่างที่ชื่นชมแนวทาง Make America Great Again  และ America First

                นั่นย่อมไม่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศอื่นๆ ทั้งโลกรวมทั้งไทยเราด้วย

                สี จิ้นผิงก็ยอมทรัมป์ไม่ได้ง่ายๆ เช่นกัน เพราะเขาก็มี "ฐานเสียง" ของเขาในประเทศ ซึ่งหมายถึงการที่ผู้นำจีนจะต้องแสดงให้ประชาชนคนจีนเห็นว่า เขาไม่ได้ยอมศิโรราบต่อผู้นำสหรัฐฯ แต่ประการใด

                กระแส "ชาตินิยม" (nationalism) และ "ประชานิยม" (populism) ก็จะกลายเป็นแนวทางของหลาย ๆ ประเทศทั้งที่เอียงไปด้านขวาและด้านซ้าย

                เป้าหมายของนักการเมืองที่ใช้สองแนวทางนี้คือ การชนะเลือกตั้งด้วยการเอาใจผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่มีความรู้สึกว่า "โลกาภิวัตน์" หรือ globalization นั้นสร้างประโยชน์เฉพาะชนชั้นบนและธุรกิจใหญ่

                แต่ชนชั้นกลางและล่างกลับเสียโอกาส กลายเป็นประชาชนชั้นสองในโลกยุคนี้

                นี่คือหนึ่งในแนวโน้มที่จะต้องเกาะติดและแสวงหาข้อมูลและคำอธิบาย เพื่อทำความเข้าใจกับความเป็นไปของโลกที่คนไทยทุกคนจะต้องสนใจ ใส่ใจ และเข้าใจอย่างยิ่ง. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"