เรื่องพ่อจบไปแล้ว! ‘บิ๊กตู่’พร้อมตอบฝ่ายค้าน/‘ธนกร’ซัด‘เป็ดเหลิม’นิสัยเดิมขี้โมโห


เพิ่มเพื่อน    

  "บิ๊กตู่" ไม่หวั่นฝ่ายค้านจ่อซักฟอกไปถึงพ่อ  สามารถชี้แจงได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และมันจบไปนานแล้ว ไม่ได้เกี่ยวกับการทำงานในช่วง 5 เดือน "ธนกร" ลบเหลี่ยม "เหลิม" ไม่ทิ้งนิสัยเดิม ขี้โมโห ใส่ร้ายรัฐบาลอยู่เรื่อยๆ ยันรัฐบาลไม่เกเร ไม่เคยข่มขู่ทำร้ายใครเหมือนรัฐบาลในอดีตที่ "เฉลิม" คุ้นเคย ทะแม่ง! เพื่อไทยตั้งวงอีกทีม "อนุดิษฐ์" เรียก ส.ส.ที่ร่วมอภิปรายประชุมทัพไลน์ขุนศึกฝั่งธนฯ   

    เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2563 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีฝ่ายค้านเตรียมการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยจะพุ่งเป้าไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นพิเศษ ซึ่งมีรายงานข่าวว่าจะมีการหยิบยกเรื่องการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุน และปมซื้อขายที่ดินของ พ.อ.ประพัฒน์ จันทร์โอชา ขึ้นมาอภิปรายด้วยว่า รัฐบาลนี้เพิ่งทำงานได้ 5 เดือน ประเด็นดังกล่าวไม่ได้เกิดในช่วงเวลานี้ จึงไม่ใช่ประเด็นที่จะนำมาอภิปรายได้ ตอนนี้ต้องมาดูกันที่เรื่องการทำงานในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ว่ารัฐมนตรี 5 คนที่มีชื่อว่าจะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจทำอะไร ที่จะไม่ไว้วางใจเขาได้
    นางนฤมลกล่าวอีกว่า นายกฯ ไม่ได้แสดงความกังวลใจใดๆ ในเรื่องนี้ และเมื่อวันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมา นายกฯ คุยกับตนให้เตรียมความพร้อมเรื่องของข้อมูลเป็นหลัก และให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมข้อมูลช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา เตรียมสิ่งที่ฝ่ายค้านเปิดออกมาว่าจะอภิปรายในประเด็นใดบ้าง หรือประเด็นที่คาดว่าเขาจะหยิบยกขึ้นมา ก็ให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมข้อมูลให้พร้อมสำหรับ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และ ครม.ที่เกี่ยวข้องที่จะช่วยชี้แจงได้ 
    "ประเด็นที่ดินที่เชื่อมโยงกับคุณพ่อท่านนายกฯ นายกฯ ไม่ได้พูดถึง และไม่ได้สั่งให้เตรียมข้อมูลในเรื่องนี้ เพราะไม่มีอะไรที่ต้องกังวล เรื่องนี้ไม่ได้มีความเกี่ยวโยงอะไรเลย สามารถชี้แจงได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และมันจบไปนานแล้ว ไม่ได้เกี่ยวกับการทำงานในช่วง 5 เดือน หากจะต้องมีการชี้แจงเรื่องดังกล่าวท่านก็อาจจะชี้แจงเพียงสั้นๆ หรืออาจให้ใครชี้แจงแทน" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว 
    ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า เรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านนั้นเป็นกลไกปกติของระบบรัฐสภาที่สามารถทำได้ ซึ่งเราต้องรอดูว่าจะยื่นอภิปรายรัฐมนตรีท่านใดบ้าง หรือจะอภิปรายทั้งรัฐบาล ในส่วนของรัฐบาลพร้อมจะชี้แจง ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการที่จะดำเนินการตามขั้นตอนรัฐสภา หากมีการยื่นญัตติดังกล่าว
    เมื่อถามว่า จะถือว่าเร็วไปหรือไม่ เพราะรัฐบาลเพิ่งทำงานได้ 4-5 เดือนเท่านั้น รมว.พลังงานตอบว่า อันนี้อยู่ที่มุมมอง เพราะเป็นสิ่งที่ทำได้ภายใต้รัฐธรรมนูญ
    ถามว่า พรรคพลังประชารัฐจำเป็นต้องตั้งองครักษ์พิทักษ์นายกฯ หรือไม่ นายสนธิรัตน์เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์จะสามารถตอบชี้แจงในข้อที่ฝ่ายค้านจะอภิปรายได้ ส่วนกลไกในสภาก็ว่ากันไป คงดำเนินไปตามปกติ
    ซักว่ามีโหรทำนายว่าการเมืองปีนี้จะต่อสู้กันหนักจนเข้าขั้นวิกฤติ ปัจจัยหลายๆ อย่างในปีนี้ จะนำไปสู้ขั้นนั้นหรือไม่ นายสนธิรัตน์บอกว่า อยู่ที่ความมั่นคงของพรรคร่วมรัฐบาล การที่พรรคร่วมรัฐบาลมีเสถียรภาพมั่นคง ก็จะสามารถนำพารัฐบาลเดินหน้าไปได้ ตนรับฟังทุกฝ่ายที่มีความคิดเห็น และหน้าที่ของรัฐบาลคือจะต้องดำเนินการอย่างไรให้เกิดความมั่นคง และสร้างประโยชน์ให้ประชาชนได้ ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็เป็นเรื่องปกติของการเมือง
"สนธิรัตน์"พร้อมชี้แจง
    "ผมคิดว่ารัฐบาลที่มั่นคง รัฐบาลที่มีศักยภาพ และขับเคลื่อนนโยบายไปสู่ประชาชนนั้นเป็นเป้าหมายหลักที่รัฐบาลต้องทุ่มเท ยืนยันว่าตอนนี้รัฐบาลยังมั่นคงดี ไม่มีปัญหาอะไร" นายสนธิรัตน์ กล่าว
    ถามต่อว่า หากฝ่ายค้านจะหยิบเรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลมาอภิปราย รมว.พลังงานตอบว่า พร้อมชี้แจง ปัญหาเศรษฐกิจมีหลายปัจจัย ทั้งจากภายนอกคือเรื่องเศรษฐกิจโลก และจากภายในคือการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี แต่สิ่งที่เรามุ่งมั่นคือการเร่งรัดนโยบายของรัฐบาลแต่ละกระทรวงเพื่อเร่งแก้ปัญหา     
    "ยอมรับว่าการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า มีผลต่อตัวเลขเศรษฐกิจ ซึ่งทุกอย่างมีขั้นตอนและกระบวนการ สิ่งที่เราต้องเตรียมการคือ เมื่อ พ.ร.บ.งบประมาณผ่านรัฐสภา ต้องเร่งรัดการใช้งบประมาณในช่วงเวลาที่เหลือของปี" นายสนธิรัตน์กล่าว
    นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษ พรรคเพื่อไทย เตรียมอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล แต่ยังไม่เปิดเผยชื่อ 25 ขุนพลอภิปราย เพราะรัฐบาลนี้เกเร กลัวจะโดนข่มขู่ ทำร้าย ทุบหัวว่า ด้วยความเคารพผู้อาวุโสทางการเมือง แต่ ร.ต.อ.เฉลิมยังไม่ทิ้งนิสัยเดิม ขี้โมโห และใส่ร้ายรัฐบาลอยู่เรื่อยๆ รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลของคนไทยทุกคน ไม่เกเร ไม่เคยข่มขู่ทำร้ายใครเหมือนรัฐบาลในอดีตที่ ร.ต.อ.เฉลิมคุ้นเคย 
    "ผมเชื่อว่าพี่น้องคนไทยทั้งประเทศทราบดีว่ารัฐบาลไหนชอบใช้อำนาจทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม ขนาดองค์กรอิสระต่างๆ ก็ยังถูกแทรกแซง"
     โฆษกพรรคพลังประชารัฐกล่าวว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นตนมั่นใจว่ารัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมที่จะชี้แจงในทุกประเด็น เท่าที่ทราบข้อมูลจากสื่อมวลชนนั้น ก็พอจะทราบอยู่แล้วว่าฝ่ายค้านจะอภิปรายเรื่องอะไรบ้าง เพราะ ร.ต.อ.เฉลิมโหมโรงฉายหนังตัวอย่างมาบ้างแล้ว ซึ่งรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายจะต้องเป็นคนชี้แจง 
    เขาบอกว่า รัฐบาลนี้ทำงานมา 5 เดือน ส่วนตัวมองว่าฝ่ายค้านสมควรที่จะอภิปรายการทำงานในช่วง 5 เดือนของรัฐบาล ไม่ใช่ย้อนไปอภิปรายเรื่องที่ไม่ใช่ในสมัยรัฐบาลนี้ ไม่เช่นนั้นก็คงมีการประท้วงกันไปมา เพราะต่างฝ่ายต่างเอาเรื่องราวในอดีตมาอภิปราย พี่น้องประชาชนจะไม่ได้ประโยชน์ หากมีการทุจริตตรงไหนอย่างไร ฝ่ายค้านก็อภิปรายมา เห็นบอกว่ามีหลักฐานเด็ด ก็จะรอดู 
    "ผมมั่นใจว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์บริหารงานโปร่งใส ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชัน ดังนั้นฝ่ายค้านคงไม่สามารถล้มรัฐบาลได้ เพราะวันนี้รัฐบาลทำทุกอย่างเพื่อพี่น้องประชาชน มีผลงานมากมาย และประชาชนจะเป็นเกราะป้องกันให้กับรัฐบาล" โฆษกพรรคพลังประชารัฐกล่าว
ไม่ทับเส้น"เหลิม"
    ขณะที่ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า วันจันทร์ที่ 6 ม.ค. ตนในฐานะที่ปรึกษาประธานวิปฝ่ายค้าน และนายทุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน จะประชุมร่วมกับ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่จะทำหน้าที่อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เพื่อทบทวนตรวจสอบข้อมูลที่จะใช้อภิปรายทั้งหมดให้มีความพร้อม ก่อนที่จะสรุปข้อมูลเสนอหัวหน้าพรรคเพื่อไปประชุมร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้านที่เหลือในการเขียนญัตติอภิปรายต่อไป 
    น.อ.อนุดิษฐ์เผยว่า การเตรียมตัวตรงนี้จะเป็นการสนับสนุนข้อมูลในการอภิปราย ไม่ได้เป็นการทำงานซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการกิจการพิเศษพรรคเพื่อไทย ที่มี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นประธาน เพราะในส่วนนี้ ร.ต.อ.เฉลิมก็เข้ามาช่วยแนะนำและสนับสนุนการทำงานตรงนี้ด้วย ยืนยันพรรคเพื่อไทยมีความเป็นเอกภาพและทำงานเป็นทีมเพื่อทำหน้าที่ฝ่ายค้านให้ดีที่สุด 
    เมื่อถามว่า จะมีการตัดสินคดียุบพรรคของพรรคอนาคตใหม่ช่วงปลายเดือน ม.ค. จะส่งผลต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านหรือไม่ น.อ.อนุดิษฐ์เชื่อว่าสมาชิกของพรรคอนาคตใหม่ทุกคนคงจะไม่หวั่นไหว และคงจะตั้งใจทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างเข้มข้นและเข้มแข็ง ไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อการทำงานในหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างแน่นอน  
     เลขาธิการพรรคเพื่อไทยยังให้สัมภาษณ์ถึงการกิจกรรมวิ่งไล่ลุง ที่จะมีขึ้นวันที่ 12 ม.ค.ว่า เชื่อว่าการแสดงออกของพี่น้องประชาชนตราบใดที่อยู่ในกรอบของกฎหมายภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ย่อมถือเป็นสิทธิเสรีภาพของคนไทยทุกคนที่จะดำเนินการได้ในฐานะเสรีชน จึงไม่เชื่อว่าการแสดงออกในลักษณะดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการเมืองไทยและทำให้เกิดความวุ่นวายแต่อย่างใด และขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองอย่าคุกคามผู้แสดงออกตามสิทธิเสรีภาพและให้การปฏิบัติหน้าที่ต่อผู้เข้าร่วมกิจวิ่งไล่ลุงอย่างเป็นธรรมเหมือนกับผู้ทำกิจกรรมอื่นๆ  
    นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวถึงการเตรียมการอภิปรายไม่ไว้วางใจในส่วนของพรรคประชาชาติว่า ได้มอบหมายให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรค เป็นผู้รับผิดชอบการเตรียมข้อมูลอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรค เพื่อนำไปหารือร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้านที่เหลือ โดยสิ่งที่พรรคประชาชาติจะเน้นเป็นพิเศษคือเรื่องความล้มเหลวของการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะรัฐบาลใช้งบประมาณในพื้นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ให้ลดลงไปได้ ตรงนี้ถือเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล เพราะตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาเป็นนายกฯ ในครั้งนี้ แม้มาจากการเลือกตั้งก็ไม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่กลับเลวร้ายลงด้วยซ้ำ
อภิปรายย้อนหลังถึง คสช.
    นายชำนาญ จันทร์เรือง รองหัวหน้าพรรคและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ เปิดเผยถึงกรณีการเตรียมความพร้อมของพรรคอนาคตใหม่ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลว่า ตอนนี้พรรคยังไม่ได้พูดคุยเรื่องการวางแผนอย่างชัดเจน แค่ปรึกษากันเรื่องประเด็นที่ควรจะนำไปอภิปราย อาทิ การทำงานของกระทรวงมหาดไทย และปัญหาเศรษฐกิจ ส่วน ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ที่จะขึ้นอภิปรายหลักๆ จะเป็นดาวเด่นในสภาทั้งหลาย ประมาณ 10 คน โดยขั้นตอนต่อไปทาง อนค.จะไปปรึกษากับพรรคร่วมฝ่ายค้านอีกครั้ง เพื่อหาข้อสรุปว่าจะมุ่งเป้าอภิปรายไม่ไว้วางใครบ้าง หรือประเด็นอะไร เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกัน
         อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นตนก็จะอภิปรายในครั้งนี้ด้วย ในประเด็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น เรื่องระเบียบค่าใช้จ่าย พ.ศ.2562 ที่เอารัดเอาเปรียบท้องถิ่นโดยการคุมค่าใช้จ่าย
         ส่วนกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์รวมถึงรัฐมนตรีคนอื่นๆ ก็ออกมาแสดงความเห็นว่า ให้อภิปรายในช่วงของรัฐบาลนี้ที่ทำงานมาได้ 5 เดือน อย่าอภิปรายเรื่องในรัฐบาลชุดก่อนที่ย้อนไปถึง 5 ที่แล้ว นายชำนาญกล่าวว่า ตนก็อยากจะถามว่า นายกฯ คนนี้กับนายกฯ ของรัฐบาลชุดที่แล้วเป็นคนเดียวกันหรือไม่ ซึ่งการหลีกเลี่ยงไม่ให้อภิปรายเรื่องที่ย้อนไปเมื่อ 5 ปีที่แล้วก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะรัฐมนตรีบางคนเป็นคนเดียวกับรัฐบาลชุดที่แล้ว และการทำงานก็ส่งผลกระทบมาถึงปัจจุบัน นอกจากนี้อย่าลืมว่าในสมัยรัฐบาลของนายบรรหาร ศิลปอาชา ก็ขุดเรื่องเก่าตั้งแต่รุ่นคุณพ่อของนายบรรหารมาชำแหละด้วยซ้ำไป ส่วนคนที่เพิ่งเข้ามาทำงานในรัฐบาล ฝ่ายค้านก็คงไม่สามารถอภิปรายย้อนหลังได้
        "ตนเชื่อว่าการที่รัฐมนตรีออกมาเตือนฝ่ายค้านไม่ให้อภิปรายย้อนหลังแสดง อาจเพราะกลัว เนื่องจากทุกครั้งที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แม้จะรู้ว่าจะไม่สามารถทำสำเร็จได้ แต่ว่าจะส่งผลกระทบต่อคนที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ บางครั้งข้อมูลบางอย่างก็ชัดเจนจนสามารถทำให้รัฐบาลล้ม ทำให้เกิดการปรับ ครม. หรือเกิดการหักหลังกันเอง ยิ่งในรัฐบาลผสมหลายพรรคการเมืองเช่นนี้ คาดว่าคงมีการแจกกล้วยกันเยอะแน่นอน และจะเกิดการสั่นคลอนในรัฐบาลไม่มากก็น้อย” นายชำนาญกล่าว
    นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวในรายการ ‘หัวใจไม่หยุด‘เต้น’’ เผยแพร่ทางแฟนเพจ ‘นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ’ ช่วงหนึ่งว่า "ในทัศนะผม เป็นไปได้สูงนะครับที่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะเกิดขึ้นในปี 2563 ผมหวังใจว่า ขอให้เป็นความเปลี่ยนแปลงในระบบ เป็นความเปลี่ยนแปลงในกติกา ไม่นำมาซึ่งการบาดเจ็บสูญเสียของพี่น้องประชาชนอีก
    พูดอย่างนี้ไม่ใช่ว่ากลัวล่ะครับ เอาไงก็เอากัน แต่ประสบการณ์ของผม สิ่งที่ผมผ่านพบ สิ่งที่ผมแลเห็น ให้บทเรียนผมว่า ผู้มีอำนาจในประเทศนี้ไม่ลังเลนะครับที่จะใช้กำลัง ใช้อาวุธกับประชาชนมือเปล่าๆ ที่ออกมาต่อสู้เรียกร้องเพื่อประชาธิปไตย เพื่อสิทธิเสรีภาพของตัวเอง
    ดังนั้น การยืนหยัดในหลักการที่ถูกต้องและอดทนต่อสู้ตามกระบวนการ น่าจะเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับสถานการณ์จริงของสังคมไทยมากที่สุดในเวลาปัจจุบัน"
ดร.เสรียินดีช่วยฝ่ายค้าน
     ส่วน ดร.เสรี วงษ์มณฑา อดีตคณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า ยินดีที่จะช่วยฝ่ายค้าน ถ้าหากทำสิ่งต่อไปนี้ได้อย่างชัดเจนเป็นความจริงเชิงประจักษ์ 1.ค้านการทำงานของรัฐบาลเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่ค้านเพื่อล้มรัฐบาล 2.ข้อกล่าวหารัฐบาลทุกประเด็นมีหลักฐานที่จับต้องได้ ไม่ใช่ตีกินด้วยคำพูดลอยๆ ไร้หลักฐาน 3.พูดออกมาชัดๆ ว่ารัฐบาลทำไม่ดีเรื่องอะไร ไม่ดีอย่างไร ประเทศชาติและประชาชนเสียหายอย่างไร
    4.สิ่งที่บอกว่ารัฐบาลทำไม่ดีนั้น ถ้าหากตัวเองเข้ามา บริหารจะทำต่างจากรัฐบาลนี้อย่างไร 5.สามารถด่ารัฐบาลได้ โดยให้กระทบเฉพาะรัฐบาลนี้ โดยไม่เป็นการด่าตัวเองแบบขว้างงูไม่พ้นคอ เพราะเคยทำผิดเช่นนั้นมาก่อน โดยเฉพาะเรื่องคอร์รัปชัน เรื่องเผด็จการทางรัฐสภา เป็นต้น 6.กล้าออกมาแสดงความสำนึกว่าเมื่อครั้งที่พวกตนเป็นรัฐบาลนั้น เคยทำผิดอะไรกับประเทศบ้าง และพร้อมที่จะขอโทษประชาชน และสัญญาว่าถ้าได้อำนาจแล้วจะไม่ทำเช่นนั้นอีก
    7.หยุดสร้างวาทกรรมด้วยข้อความที่เป็นเท็จด้วยความจงใจ discredit รัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องการสืบทอดอำนาจ การเป็นเผด็จการ แล้วผูกขาดความเป็นประชาธิปไตยของพวกตนเท่านั้น 8.เหล่าบรรดากระบอกเสียงของพรรคฝ่ายค้าน พูดจาให้เป็นการ "พูด" อย่าให้เป็นการ "เห่า" ที่แสดงความขี้เท่อ ความไม่รู้ แล้วสักแต่จะพูด เพราะมีหน้าที่จะต้องพูด ทำการบ้านก่อนวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลให้เราสามารถยกย่องความรู้ได้
    ทำได้ไหม ถ้าทำได้สัญญาว่าจะช่วยสนับสนุนฝ่ายค้านเต็มที่  ถ้าทำไม่ได้ ก็ขอยืนคนละข้างไปก่อนนะคะ ลองพิจารณาดู คิดว่าคนไทยจำนวนมากอยากเห็นฝ่ายค้านทำงานอย่างมีคุณภาพในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล
    ขณะที่นายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ และแกนนำเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ให้สัมภาษณ์ว่า ในตอนนี้กระแสความไม่พอใจที่มีต่อรัฐบาลค่อนข้างทวีมากขึ้น สังเกตได้จากกรณีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ นัดชุมนุม ที่คิดว่าไม่น่ามีคนเยอะ แต่สุดท้ายก็มีคนมากทีเดียว เกินกว่าที่ประเมินไว้ 
    กรณีที่ 2 กิจกรรมวิ่งไล่ลุง ถึงแม้ไม่ได้มีลักษณะเป็นทางการ แต่จากคนที่ร่วมลงทะเบียนซึ่งมีจำนวนมาก ชี้ให้เห็นถึงความไม่พอใจของคนในสังคม ซึ่งถือว่าเป็นจังหวะที่คล้ายกับทางพรรคฝ่ายค้านเล็งเห็นถึงหลายกรณีของสังคมที่มีข้อกังขา หรือสงสัย โดยจังหวะของสังคมนั้นบรรจบกันพอดี เข้าใจว่าฝ่ายค้านเองจะรวบรวมข้อผิดพลาดต่างๆ นำไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถึงแม้พล.อ.ประยุทธ์จะวางเกมไว้ว่าจะสามารถควบคุมทุกอย่างได้
ไม่ถึงขั้นล้มรัฐบาล
    เมื่อถามว่า คิดว่าการอภิปรายสามารถล้มรัฐบาลได้หรือไม่ และจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในปีนี้ได้หรือไม่ นายอนุสรณ์คาดว่ายังไม่ถึงขั้นล้มรัฐบาลได้ อย่างน้อยมือในสภาก็ไม่สามารถสู้ได้อยู่แล้ว เข้าใจว่าความเคลื่อนไหวในสภา ที่ชี้ให้เห็นถึงความบกพร่องหรือว่าความไม่พึงปรารถนาที่รัฐบาลนี้จะอยู่อำนาจอีกต่อไป เป็นจังหวะของสังคมที่ไปบรรจบกับหลายกระแส ซึ่งตอนนี้เริ่มสั่งสมมา คาดว่าใกล้จะได้ที่ จึงเลือกใช้จังหวะดังกล่าวเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ 
    "เท่าที่ประเมินคาดว่าปีนี้ยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะดูแล้วคล้ายกับว่าเมื่อมีกลยุทธ์อะไรขึ้นมาก็จะมีวิธีการที่จะรับมืออย่างต่อเนื่อง อาทิ กรณีกิจกรรมวิ่งไล่ลุง ก็อาจจะมีการสกัด หรือไม่ให้จัด ทำให้การเคลื่อนไหวติดขัด ขณะเดียวกันก็จะมีการปลุกวิญญาณของแกนนำเก่าของ กปปส. อย่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ได้ออกมาพูดจะขึ้นมาสู่สังเวียนอีกครั้ง นอกสภาก็ยังมีการคุมเกมกันอยู่"
    เขากล่าวว่า ขณะเดียวกันในสภา ถ้าดูในการเคลื่อนไหวแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในส่วนของคณะกรรมาธิการที่ตั้งมา สัดส่วนของรัฐบาลมีอยู่ 30 ฝ่ายค้าน 19 เพราะฉะนั้นโอกาสที่นำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญค่อนข้างจะมีความจำกัดอยู่ อีกทั้งชัยชนะในการเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมา 2 ครั้ง ชี้ให้เห็นว่าเกมทุกอย่างคุมได้ เพราะฉะนั้นโอกาสที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงคงยังไม่เกิดขึ้นภายในปีนี้ เว้นว่ารัฐบาลจะตัดสินใจเชื่อมั่นในตัวเองมากเกินไป ประเมินพลังของความคับแค้น ขุ่นเคืองมากต่ำเกินไป และเชื่อพลังมวลชนของตัวเองมากเกินไป จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะรับมือความขุ่นเคืองใจของกระแสสังคมในปัจจุบันได้อย่างไร
    ถามถึงสิ่งที่อยากฝากฝ่ายค้านในการอภิปราย นายอนุสรณ์ กล่าวว่า อยากให้เน้นในส่วนข้อมูลหลัก โดยเฉพาะข้อมูลที่ประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้ หรือไม่มีโอกาสรับรู้ ตอนนี้เราอยู่ยุคของสื่อดิจิทัล ข้อมูลจำนวนมากจึงกระจัดกระจาย บางเรื่องเป็นแค่ข่าวลือ หรือหาแหล่งอ้างอิงไม่ได้ สิ่งที่สังคมอยากจะได้คือข้อมูลที่อ้างอิง เป็นจริง และมีหลักฐานรองรับเชื่อถือได้ ซึ่งจะเป็นเรื่องที่จะช่วยในการตัดสินใจของสาธารณะ ว่าเราควรจะพิจารณารัฐบาลชุดนี้ในลักษณะไหน เพราะถ้าเป็นข้อมูลที่เชื่อถือไม่ได้ก็ไม่เหมาะเป็นฐานในการตัดสินใจทางการเมืองของประชาชน และเน้นในเรื่องเหตุผล พรรคฝ่ายค้านควรจะเสนอทางออกว่า ถ้าเกิดตัวเองเป็นรัฐบาลขึ้นมาจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร
    วันเดียวกันนี้ นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กเพจ Korn Chatikavanij ชี้แจงถึงกระแสข่าวตั้งพรรคการเมืองใหม่ว่า ช่วงนี้ข่าวเยอะครับ ขอชี้แจงตามนี้
    1.ผมยังเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์อยู่เหมือนเดิม อาทิตย์นี้เตรียมโหวต พ.ร.บ.งบประมาณ เชิญติดตามการอภิปรายครับ
    2.มีคนมาคุยด้วยเรื่องตั้งกลุ่ม ตั้งพรรคจริง ทุกคนล้วนมีความอยากเห็นประเทศเรามีการพัฒนา แต่ขอกรุณากลับไปดูข้อ 1 อีกครั้ง
    3.พลังประชารัฐไม่เคยทาบทามผมให้ไปทำอะไร 
    4.ผมไม่เคยทาบทามใครจากอนาคตใหม่
    5.ปชป.ไม่เคยทาบทามผมให้ลงผู้ว่าฯ กทม. และอย่างเดียวที่หัวหน้า ปชป.เคยทาบทามคือให้เป็น ‘รองประธานคณะกรรมการสรรหาผู้สมัคร’ ซึ่งได้ปฏิเสธไปเมื่อหลายเดือนมาแล้วในอนาคตหากผมจะตัดสินใจทำอะไร ผมจะชี้แจงอย่างตรงไปตรงมาในพื้นที่นี้เสมอ
"บิ๊กตู่"เตรียมขอบคุณ
    นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือ วิปรัฐบาล กล่างถึงกรอบการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาทในวาระสองและวาระสาม ตามที่คณะ กมธ.วิสามัญ ที่มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน กมธ.ได้พิจารณาเสร็จแล้วว่า วิปรัฐบาลจะนัดประชุมเพื่อเตรียมพร้อมในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เป็นการเฉพาะในวันจันทร์ที่ 6 มกราคมนี้ แต่ทั้งนี้เบื้องต้นได้เตรียมพร้อมสำหรับการประชุมสภาในวาระดังกล่าวไว้ 3 วัน ระหว่างวันที่ 8-10 มกราคม ซึ่งอาจจะเสร็จก่อนโดยใช้เวลาไม่ครบ 3 วันก็ได้ ขึ้นอยู่กับที่ประชุม 
    อีกทั้งวิปทั้ง 2 ฝ่ายคงไม่ต้องกำหนด หรือจัดสรรเวลาในการอภิปราย เพราะการอภิปรายในวาระสองและสาม คงเป็นเรื่องของ กมธ.ที่สงวนความเห็น และ ส.ส.ที่สงวนคำแปรญัตติไว้ตามที่ปรากฏในรายงานของคณะ กมธ.วิสามัญฯ อยู่แล้ว คงไม่อภิปรายเกินกว่าสาระที่สงวนหรือแปรญัตติไว้ และเมื่อที่ประชุมพิจารณาในวาระสองและสามเสร็จเรียบร้อย ก็คาดว่า พล.อ.ประยุทธ์คงจะมากล่าวขอบคุณสภาในช่วงท้ายของการประชุมด้วยตัวเอง
         ด้านนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษกวิปรัฐบาล กล่าวว่า วิปรัฐบาลได้เตรียมพร้อมทุกอย่างสำหรับการประชุมงบประมาณไว้เรียบร้อยแล้ว โดยทางสภาได้มีคำสั่งให้ กมธ.ทุกคณะหยุดประชุมเพื่อโฟกัสกับการพิจารณางบประมาณฯ วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาทอย่างเต็มที่ โดยเชื่อว่าการพิจารณาตลอด 3 วันจะผ่านไปด้วยความเรียบร้อย เพราะร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ฉบับนี้ ถือเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกันด้วยดีของ กมธ.ทั้งจากซีกฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน 
    เขากล่าวว่า แม้จะมี กมธ.ขอสงวนความเห็นไว้ 25 คน ขณะที่มี ส.ส.สงวนคำแปรญัตติไว้ถึง 146 คน แต่ก็เป็นประเด็นปลีกย่อยสำหรับขอสิทธิในการอภิปรายในที่ประชุมสภาเท่านั้น โดยไม่มีประเด็นอะไรที่ใหญ่จนกระทั่งร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้จะไม่ผ่าน ดังนั้น ตนยังเชื่อมั่นว่ากฎหมายฉบับนี้จะผ่านสภาไปได้ และส่งไปให้วุฒิสภา (ส.ว.) พิจารณาเห็นชอบในกรอบเวลา 20 วันต่อไปได้โดยไร้ปัญหาเพื่อนำงบประมาณก้อนนี้ที่ล่าช้าไปจากวงรอบเดิม เร่งไปหมุนเวียนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประชาชน
ดร.อาทิตย์เสนอ 10 ข้อ
    ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อดีตประธานรัฐสภา แสดงความเห็นว่า รัฐบาลชอบบอกว่าอย่าดีแต่ติ แต่ให้เสนอทางแก้ใขปัญหามาด้วย จึงขอเสนอมาตรการแก้ใขกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนบางประการ
    1.ลดราคาน้ำมันลงให้เท่ามาเลเซีย 2.ปลดล็อกเสรีกัญชา กัญชง กระท่อมเพื่อการแพทย์สำหรับประชาชน 3.แบนสารพิษ 3 ชนิดทันที และห้ามสารเคมีพิษใดใดเข้ามาทดแทน 4.ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ทั่วประเทศ
    5.เปิดเสรี เลิกสัมปทานผูกขาดที่ไม่จำเป็นแก่นายทุน เช่น เหล้า เบียร์ ต่างๆ 6.ส่งเสริม สนับสนุน SME ให้ทั่วถึงอย่างแท้จริง 7.สร้างงานให้ประชาชนทั่วประเทศอย่างทั่วถึง ไม่กระจุกผูกขาดตัดตอน เช่น ขุดลอกแม่น้ำคูคลองหนองบึง เตรียมรับฤดูฝน
    8.ปฏิรูป แก้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกินแก่เกษตรกรอย่างแท้จริง 9.หยุด ยกเลิกการให้นายทุนผูกขาดในทุกเรื่อง สนับสนุนประชาชนรายเล็กรายน้อยประกอบสัมมาอาชีพอย่างเป็นธรรม 10.หยุดทุจริตคอร์รัปชัน กดขี่รังแกประชาชน เป็นต้น
    นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ ผอ.พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้โละทิ้ง ส.ว.ที่มาจากผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้ง 6 คน ว่าเป็นการเสนอตามหลักประชาธิปไตย เป็นข้อเสนอที่ถูกต้อง เป็นการเสนอความเห็นในฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งเป็นไปตามครรลอง มองในแง่นี้ก็ถูกต้อง แต่จะทำได้หรือไม่ ต้องให้ กมธ.พิจารณากันต่อไป
    เมื่อถามถึงกรณีที่ฝ่ายค้านเตรียมอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล และหวังน็อกให้ได้ นายนิกรกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า เรื่องนี้เอาไว้พูดกันทีหลังดีกว่า
    ด้าน นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โพสต์เฟซบุ๊กโดยมีเนื้อหาดังนี้ ส.ว.ลากตั้งที่น่าขยะแขยง สว.ลากตั้งต้องไม่มีอำนาจหน้าที่ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และ ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนเท่านั้น อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญเกือบจะทุกฉบับ รวมทั้งฉบับ 2560 นี้ด้วย
    ดังนั้น ผู้ที่จะมีอำนาจหน้าที่ในการเลือกนายกรัฐมนตรีมาบริหารประเทศ จึงต้องมาจากการคัดเลือกของตัวแทนที่ประชาชนทั้งประเทศเลือกมาเท่านั้น (ส.ส.) ไม่ใช่มาจากการมีส่วมร่วมในการเลือกของกลุ่มพวกที่มาจากการ "ลากตั้ง" ของคณะรัฐประหาร
    นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา ส.ว.มีอำนาจหน้าที่ในการกลั่นกรองคัดเลือกองค์กรอิสระ ซึ่งมาทำหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลตรวจสอบ ส.ส.ที่ประชาชนทั้งประเทศเลือกมา รวมทั้งยังมีอำนาจมากถึงขั้นถอดถอน ส.ส.ที่ประชาชนทั้งประเทศเลือกมาด้วย
    ดังนั้น ส.ว.จึงต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่มาจากการลากตั้งของคณะยึดอำนาจรัฐประหาร ซึ่งใช้อำนาจปืนโค่นล้มรัฐสภาฉีกรัฐธรรมนูญล้มรัฐบาล ไม่ได้ต่างอะไรกับ "โจรกบฏ" ผู้ปล้นอำนาจไปจากประชาชนไทยแต่อย่างไร กลุ่มพวกที่ "กบฏ" ตั้งขึ้นมาจะมาใช้อำนาจสูงสุดของประชาชนทั้งประเทศได้อย่างไร
    นพ.เหวงระบุว่า ปัจจุบันมี ส.ว.ที่มีความสามารถสูงมาก ในการอุทิศทุกอย่างเพื่อพิทักษ์รักษาปกป้องพวกรัฐประหารยึดอำนาจอย่างสุดชีวิตจิตใจ จนเป็นที่ถูกอกถูกใจของพวกยึดอำนาจรัฐประหาร จึงได้รับการปูนบำเหน็จอำนาจและค่าตอบแทน (จากเงินภาษีอากรของราษฎร) ได้เป็น ส.ว.ลากตั้งต่อเนื่องกว่าสิบปี พวกนี้จะออกมาดิ้นรนสุดฤทธิ์คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพื่อรักษาสถานภาพของการเป็น ส.ว.ลากตั้งของพวกตนให้ยาวนานออกไปอีกนานเท่านาน ช่างน่าขยะแขยงอะไรเช่นนี้.
     


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"