14จว.เขตภัยแล้ง รบ.ระดมขุดบ่อน้ำ


เพิ่มเพื่อน    


    นายกฯ วอนช่วยกันประหยัดน้ำ เพื่อผ่านแล้งนี้ไปให้ได้ ครม.อนุมัติงบกลาง 3 พันล้านแก้ปัญหาเฉพาะหน้า อธิบดีกรมชลประทานตรวจระดับน้ำในเจ้าพระยา แม่กลอง ท่าจีน แก้ปัญหาน้ำทะเลหนุนสูงทำประปากร่อย ชัยนาทพบผักตบแออัดแน่นแม่น้ำ ปภ.เผย 14 จังหวัดประกาศเป็นเขตภัยแล้ง
    ที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 7 มกราคมนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวขอร้องให้ทุกคนช่วยกันประหยัดการใช้น้ำ ให้กระทรวงมหาดไทยเร่งชี้แจงและทำความเข้าใจ ว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพยายามแก้ไขปัญหา ต้องช่วยกันสร้างความเข้าใจถึงการทำการเกษตรที่เหมาะสมกับปริมาณน้ำ ขณะนี้ประชาชนไม่เข้าใจว่าทำไมน้ำประปาจึงมีรสกร่อย ซึ่งได้รับคำชี้แจงจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ว่ากำลังดำเนินการแก้ไข
    นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในช่วงที่อยู่ระหว่างการแก้ไขน้ำประปารสกร่อยอาจใช้วิธีการต้ม พร้อมขอร้องให้ทุกคนช่วยกันประหยัดน้ำ หรือใช้น้ำให้น้อยลง ระหว่างการปฏิบัติภารกิจก็ขอให้ปิดก๊อกน้ำก่อน เช่น เข้าห้องน้ำ แปรงฟัน แค่ประหยัดน้ำคนละ 1 นาทีต่อวันต่อคน ก็จะประหยัดได้ถึง 9 ลิตร หากคำนวณจากประชาชนในกรุงเทพฯ 10 ล้านคน จะสามารถประหยัดน้ำได้ถึง 100 ล้านลิตร ซึ่งนอกจากจะเป็นการประหยัดน้ำแล้วยังเป็นการลดต้นทุนในการผลิตน้ำประปาด้วย 
    ภายหลังการประชุม ครม. นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ในที่ประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ประกาศเรื่องน้ำเป็นวาระแห่งชาติ โดย ครม.เห็นชอบกรอบโครงสร้างศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ และแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำ ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เสนอ โดยกรอบโครงสร้างขององค์กรภายใต้ศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจและองค์ประกอบ กำหนดโครงสร้างตามระดับสาธารณภัยด้านน้ำที่เกิดขึ้น 3 ระดับ คือ ระดับ 1 ภาวะสถานการณ์มีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีความรุนแรงในพื้นที่มากกว่าร้อยละ 10 ระดับ 2 ภาวะรุนแรง (หรือคาดว่าจะรุนแรง) และคาดว่าจะมีผลกระทบต่อประเทศไทยและมีแนวโน้มความรุนแรงสูงขึ้นในพื้นที่มากกว่าร้อยละ 30 และระดับ 3 ภาวะวิกฤติ (หรือคาดว่าจะเกิดวิกฤติ) มีแนวโน้มความรุนแรงสูงขึ้นในพื้นที่มากกว่าร้อยละ 60
    นางนฤมลกล่าวว่า กรอบโครงสร้างมีรายละเอียดดังนี้ ระดับ 3 (วิกฤติหรือคาดว่าจะวิกฤติ) โครงสร้างศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ ซึ่งมีนายกฯ เป็นผู้บัญชาการ มีอำนาจหน้าที่ควบคุม สั่งการ บัญชาการ และอำนวยการแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำเป็นการชั่วคราว จนกว่าปัญหาวิกฤติน้ำจะผ่านพ้นไป รวมถึงออกคำสั่งเพื่อการป้องกัน แก้ไข ควบคุม ระงับ หรือบรรเทา ส่วนระดับ 2 (รุนแรงหรือคาดว่าจะรุนแรง) โครงสร้างกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ มีผู้อำนวยการคือ รองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย รองผู้อำนวยการคือ เลขาธิการ สทนช. โดยมีการบริหารจัดการน้ำซึ่งอยู่ในเกณฑ์วิกฤติน้ำรุนแรงหรือคาดการณ์ว่าจะรุนแรง (ระดับ 2) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ติดตาม วิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ รวมถึงประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และระดับ 1 (สถานการณ์มีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มขึ้น) โครงสร้างศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจ โดยมีผู้อำนวยการคือ เลขาธิการ สทนช. มีอำนาจหน้าที่ อำนวยการ บริหารจัดการ รวบรวม บูรณาการ เชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรน้ำ ติดตาม วิเคราะห์แนวโน้ม ควบคุม กำกับ ดูแลสถานการณ์น้ำ รวมถึงวิเคราะห์สถานการณ์ รายงานกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ แล้วแจ้งเตือนไปยังกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) และหน่วยปฏิบัติ อื่นๆ
    ขณะที่ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.มีมติอนุมัติตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) เสนอวงเงินงบประมาณจำนวน 3,079,472,482 บาท ซึ่งเป็นการใช้งบปี 2562 ไปพลางก่อน เพื่อใช้ในโครงการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/63 จำนวน 2,041 โครงการ ดำเนินงานแบบบูรณาการ 6 หน่วยงานหลัก แบ่งเป็น การขุดเจาะบ่อบาดาล 1,100 โครงการ วงเงิน 1,300,530,496 บาท การจัดหาแหล่งน้ำผิวดิน 230 โครงการ วงเงิน 145,265,895 บาท และการซ่อมแซมระบบน้ำประปา 654 โครงการ วงเงิน 450,856,091 บาท นอกจากนี้ยังมีการวางท่อส่งน้ำ โครงการก่อสร้างโรงสูบน้ำ การติดตั้งท่อส่งน้ำ การวางท่อน้ำดิบ การดูแลโรงพยาบาลที่ขาดแคลนน้ำอีกด้วย
    ด้านการแก้ปัญหาน้ำประปากร่อยในเขต กทม.และปริมณฑล อันเนื่องมาจากน้ำทะเลหนุนสูงทำให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเค็มขึ้น นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมคณะผู้บริหารลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำและมาตรการควบคุมความเค็มลุ่มน้ำเจ้าพระยา แม่กลอง และท่าจีน โดยนายทองเปลวเปิดเผยว่า กรมชลประทานได้วางแผนในการบริหารจัดการน้ำในช่วงของวันที่ 7-13 มกราคม ซึ่งอยู่ในช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูงประมาณ 1.4 เมตรระดับน้ำทะเล ส่งผลให้ค่าความเค็มเพิ่มขึ้น ดังนั้นกรมชลประทานจึงร่วมกับการประปานครหลวง เพื่อขอความร่วมมือในการหยุดสูบน้ำเป็นครั้งคราว โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 10-12 ม.ค.นี้ ขณะนี้สถานการณ์น้ำเค็มอยู่ในระดับปกติตามสภาวะน้ำขึ้นน้ำลง ซึ่งกรมชลประทานจะยังคงเฝ้าระวังและติดตามต่อไป
    ชัยนาท สถานการณ์ภัยแล้งส่งผลให้แม่น้ำเจ้าพระยา ด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาลดลงจากระดับเก็บกัก 2 เมตร 33 เซนติเมตร และยังมีแนวโน้มลดลงอีก ซึ่งนอกจากทำให้แพร้านอาหารริมแม่น้ำเจ้าพระยาและกระชังเลี้ยงปลาได้รับผลกระทบ ต้องดันแพออกไปในร่องน้ำที่ลึกขึ้น เพื่อป้องกันการเกยตื้นแล้ว ยังพบว่าขณะนี้เกิดผักตบชวาสะสมจำนวนมากอัดแน่นเต็มลำแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะช่วงแม่น้ำที่กั้นระหว่าง ต.บ้านกล้วย กับ ต.ท่าชัย อ.เมืองชัยนาท มีผักตบชวาลอยอัดแน่นกีดขวางทางน้ำ กว้างกว่า  200 เมตร ยาวกว่า 300 เมตร โดยชาวบ้านบอกว่าเกิดขึ้นมากว่า 2 สัปดาห์แล้ว จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งกำจัดผักตบชวาออกไป เพราะกลัวน้ำจะเน่าเสีย และเป็นห่วงปลาในกระชังและปลาในแม่น้ำ โดยเฉพาะปลาที่อยู่ในเขตอภัยทานจะขาดออกซิเจนตายทั้งหมด   
    พิจิตร นายสิริรัฐ ชุมอุปการ ผวจ.พิจิตร เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการแก้ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในหลายอำเภอและส่อเค้ารุนแรง ว่าได้กำชับทุกหน่วยงานให้เร่งช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะในเรื่องน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ชาวบ้านต้องมีน้ำกิน น้ำใช้ ส่วนน้ำเพื่อทำการเกษตรนั้น ถ้าหากใครจะทำนาปรังต้องมีบ่อน้ำบาดาลอยู่ในไร่นาของตนเอง บอกแบบตรงไปตรงมาว่าต้องช่วยเหลือตนเอง ทั้งในพื้นที่เขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน อีกทั้งผู้ที่เคยใช้แพสูบน้ำจากพลังงานไฟฟ้าสูบน้ำจากแม่น้ำน่านไปทำนาปรัง ปีนี้ก็ต้องงดสูบน้ำ เพื่อเก็บน้ำไว้เพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ 
    "ส่วนการประกาศเขตภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จะมีการประชุมติดตามสถานการณ์ของทั้ง 12 อำเภอเป็นระยะๆ ว่ามีอำเภอใด ตำบลใดบ้างที่มีปัญหาภัยแล้งเข้าหลักเกณฑ์ที่จะประกาศเป็นเขตพื้นที่ภัยพิบัติภัยแล้ง เพื่อจะได้จัดหางบประมาณไปช่วยเหลือได้โดยทันที ในส่วนของเกษตรกร ถ้าไม่ได้ทำนาปรังแล้วต้องการทำอาชีพเสริมทั้งการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ขณะนี้สำนักงานเกษตรจังหวัดพิจิตรและปศุสัตว์ ก็ได้มีแผนการช่วยเหลือราษฎรไว้พร้อมแล้วด้วยเช่นกัน" นายสิริรัฐกล่าว
    ขอนแก่น ที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ชาวบ้านจาก ต.หนองตูม อ.เมืองขอนแก่น, ต.บ้านโนน อ.ซำสูง และ ต.บ้านขาม อ.น้ำพอง กว่า 200 คน เดินทางมารวมตัวกัน เพื่อเรียกร้องเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยภัยแล้งประจำปี 2562 จากทางรัฐบาล หลังยังคงไม่ได้รับการช่วยเหลือแต่อย่างใด โดยมีนายสุเทพ มณีโชติ รอง ผวจ.ขอนแก่น พร้อมด้วยเกษตรจังหวัดขอนแก่น มาพูดคุยและหารือถึงเรื่องที่เกิดขึ้น
    นายสุเทพกล่าวว่า การช่วยเหลือประชาชนนั้นต้องทำตามขั้นตอน เพราะงบประมาณที่ทางจังหวัดมีได้ใช้ในการช่วยเหลือชาวนาไปหมดแล้ว ดังนั้นการที่ชาวนามาเรียกร้องเงินเยียวยาในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรจังหวัดจะลงพื้นที่ไปสำรวจข้อมูล แล้วส่งไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบตามลำดับชั้น เพื่อขออนุมัติงบกลางมาช่วยเหลือชาวนาที่ประสบภัยต่อไป
    ชลบุรี นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผวจ.ชลบุรี เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในขณะนี้ว่า อ่างเก็บน้ำของ จ.ชลบุรี มีทั้งหมด 290 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่เหลือประมาณน้ำใช้อุปโภคบริโภคประมาณ 145 ล้านลูกบาศก์เมตร จากการคาดการณ์ของกรมชลประทานคาดว่าสามารถใช้น้ำได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 อย่างไรก็ตาม หากมีการใช้น้ำปกติเช่นทุกวันจะทำให้ปริมาณน้ำยังขาดประมาณ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะต้องหาน้ำจากแหล่งอื่นมาเติม จึงอยากวอนประชาชนให้ช่วยกันประหยัดน้ำ เพราะไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาแน่นอน
    นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 14 จังหวัด รวม 69 อำเภอ 420 ตำบล 3,785 หมู่บ้าน/ชุมชน แยกเป็น ภาคเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย น่าน เพชรบูรณ์ และอุตรดิตถ์ รวม 22 อำเภอ 125 ตำบล 965 หมู่บ้าน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด ได้แก่ นครพนม มหาสารคาม บึงกาฬ หนองคาย บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ และนครราชสีมา รวม 31 อำเภอ 215 ตำบล 2,151 หมู่บ้าน 20 ชุมชน ภาคกลาง 3 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา และอุทัยธานี รวม 16 อำเภอ 80 ตำบล 649 หมู่บ้าน ซึ่ง ปภ.ได้ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยสนับสนุนการแจกจ่ายน้ำบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งประสานจังหวัดเตรียมพร้อมแก้ไขปัญหาภัยแล้งด้วยการจัดชุดปฏิบัติการสำรวจข้อมูลสถานการณ์น้ำ ข้อมูลแหล่งน้ำ และประมาณการใช้น้ำในพื้นที่หมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยแล้ง สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"