ผู้ส่งออกข้าวรับไทยฟื้นฟูตลาดข้าวอิรัก-อิหร่านยากมากขึ้น


เพิ่มเพื่อน    

13 ม.ค.2563 นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยถึงการฟื้นฟูตลาดข้าวไทยในประเทศอิรัก และอิหร่านว่า ขณะนี้ สถานการณ์ในตะวันออกกลางกำลังตึงเครียดมากขึ้นภายหลังจากที่สหรัฐฯปฏิบัติการโจมตีอิหร่านเมื่อต้นเดือนม.ค.63  ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตลาดข้าวของไทยทั้งในประเทศอิรักและอิหร่าน 

ทั้งๆ ที่ กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายฟื้นฟูตลาดข้าวอิรักขึ้นมาใหม่ และเมื่อกลางปี 62 กรมการค้าต่างประเทศ ได้นำผู้ส่งออกเดินทางไปฟื้นความสัมพันธ์ด้านการค้าข้าวกับอิรักมาแล้ว      

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ละอิรักเป็นตลาดข้าวสำคัญของไทยในตะวันออกกลาง เพราะนำเข้าข้าวคุณภาพดี ราคาแพงจากไทยปีละหลายแสนตัน แต่สาเหตุที่อิรักไม่นำเข้าข้าวไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นเพราะผู้ส่งออกไทยที่ทำสัญญาซื้อขายข้าวกับอิรัก ได้นำเอาข้าวคุณภาพต่ำไปปลอนปนกับข้าวคุณภาพดีที่อิรักซื้อแล้วนำไปส่งมอบให้อิรัก ส่งผลให้อิรักไม่เชื่อมั่นที่จะซื้อข้าวจากไทย และไม่นำเข้าข้าวไทยอีกเลย โดยหันไปซื้อข้าวจากประเทศอื่นๆ แทน เช่น เวเนซูเอล่า ที่ราคาแพงกว่าข้าวไทย ทำให้ไทยสูญเสียตลาดข้าวอิรักไป 

”การเดินทางไปอิรักครั้งนั้น มีข่าวดี รัฐบาลอิรักเชื่อมั่นที่จะนำเข้าข้าวไทย โดยจะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่างกัน โดยรัฐบาลไทยจะรับประกันว่า หากอิรักซื้อข้าวจากไทยอีก จะได้รับข้าวคุณภาพดีตามที่ซื้อทุกเมล็ด และอิรักจะเดินทางมาตรวจโรงงานข้าวของไทย แต่อิรักมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเสียก่อน และยังแก้ปัญหาภายในไม่จบ และยังมีปัญหาสหรัฐฯกับอิหร่านเข้ามาซ้ำเติมอีก การจะนำเข้าข้าวไทยอีกครั้ง คงต้องเลื่อนออกไปก่อน” 
ส่วนอิหร่าน คงยากที่จะนำเข้าข้าวไทย เพราะยังถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ  และสหรัฐฯยังขู่จะคว่ำบาตรประเทศอื่นๆ ที่ใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯทำการค้ากับอิหร่านด้วยนั้น ทำให้ผู้ส่งออกไทยไม่กล้าขายข้าวให้ และสถาบันการเงินของไทยก็ไม่กล้าทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินของอิหร่าน อีกทั้งขณะนี้ เกิดข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่านซ้ำขึ้นมาอีก คงอีกนานกว่าจะนำเข้าข้าวจากไทยได้ 

”ทุกวันนี้ ไทยเสียตลาดข้าวอิหร่านให้กับคู่แข่งสำคัญอย่างอินเดีย และปากีสถาน เพราะ 2 ประเทศนี้ค้าขายข้าวกับอิหร่านผ่านการค้าชายแดน และใช้เงินตราสกุลท้องถิ่นกัน แต่สำหรับไทย ทั้งผู้ส่งออกข้าว และสถาบันการเงินไม่กล้าทำการค้า และไม่กล้าทำธุรกรรมด้วยเลย เพราะถ้าสหรัฐฯรู้ ก็อาจส่งผลต่อประเทศด้วย คงต้องรอให้สหรัฐฯ และนานาชาติเลิกคว่ำบาตรทางการค้าเสียก่อน ไทยจึงจะฟื้นตลาดข้าวนี้อีกครั้ง

นายชูเกียรติ กล่าวต่อถึงสถานการณ์การส่งออกข้าวไทยในปี 63 ว่า คาดว่า ไทยน่าจะส่งออกข้าวได้ประมาณ 7-7.5 ล้านตันเท่านั้น เพราะภาวะการค้าข้าวโลกซบเซา จากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ขณะที่จีน มีข้าวในสต๊อกไม่ต่ำกว่า 120 ล้านตันข้าวสาร จากการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยให้ผลผลิตต่อไร่สูงถึงไร่ละ 1,500 กิโลกรัม (กก.) และในอนาคตจะเพิ่มเป็นไร่ละ 4,000 กก. ขณะที่ไทยได้เพียงไร่ละ 400 กก. จึงทำให้จีนถล่มส่งออก ซึ่งในปี 62 จีนส่งออกได้มากถึง 4 ล้านตัน อีกทั้งไทยยังมีปัญหาค่าเงินบาทแข็ง ทำให้ราคาข้าวไทยสูงมากเมื่อเทียบกับคู่แข่ง อย่างข้าวขาว 100% ไทยล่าสุดตันละ 420 เหรียญสหรัฐฯ แต่เวียดนามเพียงตันละ 360 เหรียญฯ ทำให้ไทยขายยากมากขึ้น และหากภาวะภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตข้าวไทยเสียหาย ราคาสูงขึ้น ก็จะยิ่งดันให้ราคาส่งออกสูงขึ้น และส่งออกได้ยากมากขึ้น

ด้านนางมนัสนิตย์ จิรวัฒน์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ในปี 62 ไทยส่งออกข้าวได้ 7.6 ล้านตัน  ลดลงจากปี 61 ที่ส่งออกได้ 11 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า  4,206 ล้านเหรียญฯ ลดลงจากปี 61 ที่มีมูลค่า 5,619 ล้้านเหรียญฯ โดยปี 62 มีราคาเฉลี่ยต่อตันที่ 553.23 เหรียญฯ เพิ่มขึ้นจากปี 61 ที่เฉลี่ยต่อตัน 506.73 เหรียญฯ ส่วนเป้าหมายปี 63 ยังไม่กำหนด อยู่ระหว่างการหารือกับผู้ส่งออก แต่คาดว่า น่าจะได้ใกล้เคียงกับปี 62 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"