ร.๗ ทรงทำคะแนนดีมากในวิชาวางแผนกลยุทธ์ วิชาปืนใหญ่ 


เพิ่มเพื่อน    


  

    ใน พ.ศ.๒๔๖๓ (พ.ศ.๒๔๖๔ นับตามปฏิทินปัจจุบัน) สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปรับการรักษาพระองค์ ณ ประเทศฝรั่งเศส พร้อมด้วยหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี พระชายา ในวันที่ ๒  กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๖๓ ระยะนั้นฝรั่งเศสรับคนไทยเข้าเรียนวิชาทหาร จึงทรงสมัครศึกษาวิชาทหารต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหาร Ecole Superieurre de Guerre กรุงปารีส ฝรั่งเศส ตั้งแต่วันที่ ๖ พฤศจิกายน  พ.ศ.๒๔๖๕ หลักสูตร ๒ ปี ทรงใช้เวลาเตรียมพระองค์ ๑ ปีก่อนเริ่มการเรียน รวมเวลา ๓ ปี ระหว่างทรงศึกษาได้ทรงเช่าที่ประทับ ณ Villa Mirador เลขที่ ๓๑ Rue du Mont Valerien เมือง St.Cloud ชานกรุงปารีส

    พระราชประสงค์เกี่ยวกับการเรียนตามที่ได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ

    "ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้มาตริตรองดูรู้สึกว่า ถ้าข้าพระพุทธเจ้าได้เข้าเรียนจะเปนประโยชน์แก่ตนเปนอันมาก เพราะเวลานี้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าตนเองไม่มีความรู้พอที่จะรับราชการทหารบกให้เป็นประโยชน์ได้จริงและเป็น Credit แก่ตน และได้คิดอยู่เนืองๆ ว่า อยากจะออกเสียจากทหารบก เพราะทำงานไม่ได้ดีสมกับความมุ่งหมาย แต่ถ้าข้าพระพุทธเจ้าได้เล่าเรียนเพิ่มเติมคงจะทำงานได้ดีขึ้นอีกเป็นอันมาก นอกจากนี้ ยังมีประโยชน์อย่างอื่น เช่น ภรรยาข้าพระพุทธเจ้าจะได้เล่าเรียนภาษาฝรั่งได้ดีจริงๆ เปนต้น"

    ในการฝึกต้องทรงประจำการในกองทัพฝรั่งเศส กองพันที่ ๒๐ ที่เมืองนองซี (Nancy) เป็นเวลา ๖  เดือน ต้องเสด็จไปประจำหน่วยทหารต่างๆ เช่น กองทหารราบที่ ๒๖ กองพันทหารปืนใหญ่ กองพันทหารม้า เสด็จไปทอดพระเนตรหน่วยรบต่างๆ เช่น กองบิน กองรถถัง กองเสนาธิการ ต่อมาเสด็จไปประจำที่แวร์ซายส์ และทรงเริ่มศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหาร Ecole Superieure de Guerre ตามกำหนดการกิจกรรมที่รัฐบาลฝรั่งเศสจัดถวาย

    โรงเรียนเสนาธิการทหารฝรั่งเศสนี้ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ.๑๘๗๖ ภายในโรงเรียนทหาร Ecole Militaire  สถาบันการทหารเก่าแก่ที่สุดของฝรั่งเศส ผลิตนายทหารที่มีชื่อเสียง เช่น พระเจ้านโปเลียนที่ ๑ สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ทรงเป็นนักเรียนนายทหารรุ่นที่ ๔๔ กลุ่มที่ ๑ ยศพันโท รุ่นนี้มีนายทหารทั้งหมด ๑๒๘ ราย ในจำนวนนี้มีนายพล Charles de Gaulle ผู้ซึ่งต่อมาเป็นประธานาธิบดีคนสำคัญของฝรั่งเศส

    ผลการศึกษาของพระองค์จัดอยู่ระดับดีถึงดีมาก วิชาที่ทรงทำคะแนนได้ดีมากคือ การวางแผนกลยุทธ์ วิชาปืนใหญ่ วิชาที่ทรงได้คะแนนน้อยที่สุดคือขี่ม้า พระอาจารย์สังเกตว่าทรงมีข้อจำกัดด้านพระวรกาย จึงทำให้ทรงฝึกได้เฉพาะม้าขนาดเล็กและขี่ได้ง่ายเท่านั้น แต่ก็ยังทรงมีหลักการทรงม้าที่ถูกต้อง  ทรงนิ่งและวางพระองค์ได้อย่างมั่นคง ไม่ทรงแสดงความกลัว ทรงได้รับความชื่นชมว่ามีพระสติปัญญาฉลาด สุขุม อ่อนโยน มีความรู้รอบตัวลึกซึ้ง สนพระทัยความรู้หลายด้าน ไม่เพียงเฉพาะการทหาร แต่เรื่องการเมือง สังคม เศรษฐกิจ วรรณกรรม ศาสนา มีรับสั่งภาษาฝรั่งเศสได้อย่างคล่องแคล่วปรีชาสามารถ ทรงปรับพระองค์ได้ดี เป็นสุภาพบุรุษที่สำรวม วางพระองค์เหมาะสม มีพระวิริยอุตสาหะในการศึกษา

    ระหว่างประทับที่ฝรั่งเศส ทรงมีความเป็นอยู่อย่างนายทหารฝรั่งเศสสามัญชน ยามว่างจะทรงขับรถชมบ้านเมืองท่องเที่ยวไปในสถานที่ต่างๆ ทอดพระเนตรกีฬา เช่น การชกมวย หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี พระชายาก็ทรงศึกษาภาษาฝรั่งเศส

    เสด็จกลับจากฝรั่งเศสผ่านสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น    

    หลังจากที่ทรงสำเร็จการศึกษาและทรงรับประกาศนียบัตรเป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการเสมอเหมือนกับนายทหารฝรั่งเศสแล้ว สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนฯ และพระชายาได้เสด็จกลับสู่สยาม โดยเสด็จออกจากกรุงปารีสเมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ.๒๔๖๗ ไปประทับเรือเลไวอายัน ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังฝั่งตะวันออกของประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งมีระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐ การเสด็จกลับจากยุโรปด้วยเส้นทางนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ครั้งที่ยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เคยทรงใช้มาแล้ว

    เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนฯ และพระชายาเสด็จถึงเมืองนิวยอร์กในวันที่ ๒๒ เดือนเดียวกันนั้น  ปรากฏว่าระหว่างประทับอยู่ที่เมืองนั้น บรรดาสื่อมวลชนได้แสดงความสนใจในพระองค์และพระชายาและได้ติดตามรายงานตามระยะทางเสด็จอยู่เนืองๆ ครั้นวันที่ ๒๗ ได้เสด็จจากนิวยอร์กไปทรงเยือนเมืองต่างๆ เช่น ฟิลาเดลเฟีย บอสตัน บัฟฟาโล และชิคาโก เป็นต้น แล้วเสด็จโดยทางรถไฟมุ่งสู่เมืองลอสแองเจลิสทางตะวันตกของประเทศ โดยระหว่างทางเสด็จได้ทอดพระเนตรหุบเขาแกรนด์แคนยอน ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอันลือชื่อ ประทับอยู่ที่ลอสแองเจลิส ๕ วัน แล้วเสด็จไปทอดพระเนตรอุทยานแห่งชาติโยสมิติ (Yosemite National Park) จากนั้นเสด็จไปทางเหนือยังเมืองซานฟรานซิสโก  ประทับอยู่ ๓ วันจึงประทับเรือเดินสมุทรโตโยมารูในวันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๗ เสด็จไปยังประเทศญี่ปุ่น ระยะรอบเวลาในสหรัฐอเมริกาหนึ่งเดือนกว่า ซึ่งน่าจะแสดงว่าทรงมีความสนพระทัยในกิจการต่างๆ ที่รุดหน้าทันสมัยในประเทศนี้ ซึ่งไม่เคยมาดหมายให้สยามเป็นอาณานิคมของตน และสยามได้ว่าจ้างชาวอเมริกันเป็นที่ปรึกษาการต่างประเทศต่อเนื่องมา น่าเสียดายว่ายังหาข้อมูลพระราชกรณียกิจที่สมบูรณ์ในรายละเอียดไม่ได้ อนึ่ง การเสด็จครั้งนี้เป็นการส่วนพระองค์ (private visit) แต่การรับเสด็จในทั้งสองประเทศได้เป็นไปอย่างสมพระเกียรติ

    ครั้นวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ได้เสด็จถึงเมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีพระเจ้าจักรพรรดิปกครองคล้ายกับของสยามในเวลานั้น ค่ำวันนั้นจึงได้เสด็จไปทรงลงพระนามเยี่ยมเคารพองค์พระจักรพรรดินีและพระยุพราช วันรุ่งขึ้นพระเจ้าจักรพรรดิโปรดฯ ให้ผู้แทนพระองค์มาเคารพตอบ ช่วงบ่ายเสด็จไปทอดพระเนตรวัดและศาลเจ้าดอกเบญจมาศ เป็นต้น วันที่ ๒๔ เสด็จไปทรงเคารพอนุสาวรีย์ทหารที่สิ้นชีพในสงครามที่ Yasukuni Shrine ทรงปลูกต้น Sakaki ไว้เป็นที่ระลึก แล้วเสวยพระกระยาหารกลางวันกับเสนาบดีกระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่น ผู้ได้ถวายดาบญี่ปุ่นโบราณ ๑ เล่ม (ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว) วันที่ ๒๕ กระทรวงวังของญี่ปุ่นกราบบังคมทูลเชิญเสด็จไปทรงจับนกเป็ดน้ำที่วัง Hama Detached Palace แล้วเสวยพระกระยาหารกลางวัน ณ ที่นั้น  บ่ายเสด็จโดยรถไฟพิเศษไปยังเมืองนิกโก ประทับเพื่อทอดพระเนตรเมืองนั้นอยู่จนวันที่ ๒๗ จึงเสด็จกลับสู่กรุงโตเกียว สมเด็จพระยุพราชกราบบังคมทูลเชิญเสด็จไปเสวยพระกระยาหารกลางวันเป็นการส่วนพระองค์ที่วัง Asaka Detached Palace เสด็จออกจากกรุงโตเกียวโดยรถไฟพิเศษ ถึงเมืองเกียวโตวันที่ ๒๘ เสด็จไปทอดพระเนตรสถานที่ต่างๆ ครั้นเวลาค่ำ ท่านไวส์เคาต์คูโรคากราบบังคมทูลเชิญเสด็จไปเสวยพระกระยาหารญี่ปุ่น 

    วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน เวลาค่ำ สมุหเทศาภิบาลกราบบังคมทูลเชิญเสวยพระกระยาหารญี่ปุ่นอย่างหรูหรา และวันที่ ๓๐ กลางวัน นาย K. Inabata แห่งสภาหอการค้าเมืองโอซากากราบบังคมทูลเชิญเสด็จไปเสวยพระกระยาหารญี่ปุ่นที่บ้านส่วนตัวของเขา (เข้าใจว่าพระบรมรูปที่ทรงฉลองพระองค์กิโมโน ได้ฉายในโอกาสนี้) เสร็จแล้วถวายหมวกเกราะทหารญี่ปุ่นโบราณ เวลาค่ำนายโอกุรากราบบังคมทูลเชิญเสด็จไปเสวยที่เกียวโตโฮเต็ล แล้วถวายหีบลงรักทองราคาสูง วันที่ ๑ ธันวาคม เสด็จโดยรถไฟพิเศษไปเมืองนารา แล้วเสด็จต่อไปยังเมืองโอซากา วันที่ ๓ เสด็จต่อไปเมืองชิโนโยเซกิ เมืองนางาซากิ  เสด็จไปเมืองอุนเซนเพื่อทอดพระเนตรน้ำพุร้อน ทรงกอล์ฟบนภูเขา สมุหเทศาภิบาลถวาย toilet set  (เครื่องทรงพระสำอาง) ทำด้วยกระ ๑ สำรับ คืนวันที่ ๕ ธันวาคม ประทับเรือเดินสมุทรเอมเปรสออฟเอเชียออกจากเมืองนางาซากิ นับได้ว่าได้เสด็จฯ ไปเมืองที่สำคัญๆ ในประเทศญี่ปุ่น

    ในการเสด็จกลับนี้ทรงแวะประทับแรมที่ฮ่องกง ๓ วัน แล้วเสด็จโดยเรือมันตัง (Mantan) ไปยังสิงคโปร์ ประทับที่สถานกงสุลสยามที่นั่นหนึ่งคืน จึงเสด็จโดยรถยนต์ไปยังเกาะปีนัง ประทับแรมอยู่หนึ่งคืน แล้วเสด็จโดยรถไฟกลับสู่กรุงเทพฯ เสด็จถึงในวันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๖๗ 

    เสด็จถึงประเทศสยาม

    เมื่อเสด็จถึง พระองค์ได้ทรงเข้าปฏิบัติราชการในกองทัพบกสยามตามเดิม ในตำแหน่งปลัดกรมเสนาธิการทหารบก และเลื่อนพระยศเป็นนายพันเอก ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๖๘ ทรงรับตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ ๒ และเป็นผู้บังคับการพิเศษกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๒.
--------------------------
ขอบคุณ : สถาบันพระปกเกล้า


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"