เที่ยวเมืองปัว...รัวชัตเตอร์ (1)


เพิ่มเพื่อน    

 คนโบราณบอกว่า ถ้ารู้สึกว่าชีวิตอยู่ในช่วงขาลง หรือทำอะไรแล้วเซ็ง ซึม ให้ออกเดินทาง เพื่อไปรับพลังใหม่ๆ กัน

ด้วยเหตุนี้ ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาเมื่อไม่กี่วันมานี้ พวกเราก็เก็บกระเป๋าเดินทางไปนอนเอาฤกษ์เอาชัย รับปีใหม่กันที่จังหวัดน่าน ให้หลายคนอิจฉา เพราะปัจจุบัน น่านเป็นเมืองเล็กๆ ที่มีเสน่ห์ และกลายเป็นเป้าหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก  หลายคนต่างวาดหวังไว้ว่าอยากได้มีโอกาสไปเยือน “น่าน” ที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองคู่แฝดของเมืองหลวงพระบางสักครั้ง

จังหวัดน่าน ในปัจจุบัน สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของนักท่องเที่ยวได้หลากหลายรูปแบบมากขึ้น ทั้งกลุ่มครอบครัว ที่รวมผู้คนไว้หลายวัย บางคนชอบไหว้พระ น่านก็มีวัดจำนวนมาก เป็นวัดที่มีความเก่าแก่ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังสวยงาม อย่างเช่นวัดภูมินทร์ ที่มีภาพปู่ม่าน ย่าม่านที่ใครๆ ก็อยากเห็น วัดมิ่งเมือง วัดสวนตาล พระธาตุเขาน้อย ฯลฯ รวมทั้งวัดพระธาตุแช่แห้ง ที่บรรดาคนเกิดปีเถาะและคนทั่วไปอยากได้ความเป็นสิริมงคลใส่ตัวต้องพากันมากราบไหว้ต่างพากันมา

ส่วนคนที่ชอบช็อปปิ้ง จังหวัดน่านเองมีงานหัตถกรรมชื่อดัง เช่น ผ้าทอลายน้ำไหล ผ้าไทลื้อ และเครื่องเงินฝีมือดี เช่นเดียวกับเรื่องอาหารการกิน กาแฟมณีพฤกษ์ หรือร้านกาแฟนั่งชิลล์ ที่ใครก็ต้องไปจอดป้ายปักโลเกชั่นแชร์อวดเพื่อนฝูง อย่างร้านสุดกองดี ก็ตอบโจทย์วัยรุ่นได้เช่นกัน และอาหารการกินแต่ละชนิด ไม่ว่าจะเป็นอาหารเมืองอย่างไส้อั่ว น้ำพริกหนุ่ม ข้าวซอย แกงส้มเมือง ไก่มะแขว่น สมุนไพรพื้นถิ่นที่นำมาเป็นเครื่องปรุงกับไก่ หน้าตาดูคล้ายพริกไทย กินแล้วหอม แต่สักพักก็จะออกอาการลิ้นชานิดๆ รวมไปถึงของหวานมีตำนานที่ต้องเข้าคิวรอ ที่ร้านป้านิ่มก็ทำช่วยเติมแต่งให้การท่องเที่ยวมีรสชาติมากขึ้น

นอกจากนี้ สำหรับคนรุ่นใหม่ ที่ชอบการออกกำลังกาย ตอนนี้หลายคนเลือกปักหลักอยู่ที่ใดที่หนึ่ง แล้วเลือกออกกำลังกายด้วยการวิ่ง การเดิน การปั่นในยามเช้า หรือช่วงเย็น

 ในภาพรวมต้องบอกว่า หลังจากเผยโฉมหน้าให้คนรู้จักได้ไม่นาน น่านก็เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของผู้คนจากทั่วประเทศ  นอกจากแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย ทั้งทางด้านศิลปวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่มีอยู่เกือบทุกพื้นที่แล้ว ด้วยความเรียบง่ายงดงามของวิถีชีวิตผู้คน ความเก่าแก่ยาวนานทางด้านประวัติศาสตร์ และการคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้ได้รับการกล่าวขวัญถึงจากนักท่องเที่ยวอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

เพราะความที่ “น่าน” กลายเป็นเมืองยอดนิยมไปแล้ว การมาเที่ยวน่านจึงต้องวางแผนสักนิด โดยเฉพาะช่วงเทศกาลนั้น ทุกอย่างถูกจับจองไว้เรียบร้อยหมด ไม่สามารถใช้แนวทางเที่ยวไป ว่างตรงไหนก็แวะเข้านอนได้อีกต่อไป หรือแม้กระทั่งการเลือกไปเส้นทางไหน ไม่ว่าจะไปทางทางปัว เชียงกลาง ทุ่งช้าง บ่อเกลือ หรือลงใต้ไปทางเวียงสา ดอยเสมอดาว หรือใครที่อยากไปถ่ายรูปกับซากุระเมืองน่านที่กำลังเบ่งบาน ทุกอย่างควรทำการศึกษาและวางแผนให้ดี เพื่อว่าเวลาที่มีอยู่จะได้ไม่ต้องหมดไปกับการตระเวนหาที่พัก ร้านอาหาร หรือแหล่งท่องเที่ยว แต่ไปถึงก็เข้าถึงได้เลย

ไฮไลต์สำคัญในช่วงเที่ยวปีใหม่ที่ผ่านมา เน้นการทำบุญตักบาตรในวันขึ้นปีใหม่ ที่พระธาตุแช่แห้ง การพักผ่อน และท่องเที่ยวเล็กน้อย

ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงปักหลักพักในเมือง ตอนเช้าสำหรับคนที่อยากพักผ่อน ก็สามารถนอนตื่นสายๆ ได้ ส่วนคนชอบตื่นเช้า ชอบออกกำลังกาย ก็ลุกออกไปวิ่ง ไปเดิน ไปปั่นได้ตามใจชอบ

ที่วัดพระธาตุแช่แห้งจะมีพิธีสำคัญคือการสวดมนต์ข้ามปี ซึ่งพวกเราไม่ได้ไปร่วม แต่ใช้วิธีตื่นแต่เช้าแล้วไปเตรียมใส่บาตรตั้งแต่ก่อน 6 โมงเช้า ซึ่งก่อนจะถึงเวลาตักบาตร ทางวัดก็จัดพิธีสวดเพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับผู้มาร่วมงานบุญ

เสน่ห์ของการทำบุญใหญ่ๆ ในวัดสำคัญตามต่างจังหวัดนั้น ไม่ใช่แค่การได้บุญ แต่เป็นความอิ่มเอิบใจของคนที่ไปจากเมืองใหญ่ ได้ร่วมพิธีกรรมทางศาสนาที่เราคุ้นเคย แต่ไม่ค่อยได้ทำ ได้เห็นการตกแต่งวัดวาอาราม ด้วยธง โคม ที่สวยงาม และได้เห็นพระสงฆ์เดินรับบาตรจำนวนมากอย่างมีระเบียบ ผู้คนแต่งกายในชุดพื้นเมือง ผ้าทอ และผ้าแบบไทย หน้าตาแจ่มใส ประกอบกับบรรยากาศยามเช้าที่ทำให้สดชื่น เลยกลายเป็นการเติมพลังชีวิตกันตั้งแต่ต้นไปทีเดียว

เนื่องจากพวกเรามีเวลาไม่มาก จึงไม่ได้วางแผนไปเที่ยวไกลๆ แต่เลือกไปปัว อำเภอเล็กๆ ที่มีวัฒนธรรมไทลื้อเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่น อยู่ห่างจากตัวเมืองน่านแค่ 60 กิโลเมตร แต่เนื่องจากไม่ใช่ทางราบ แต่ไม่ก็ยังไม่ใช่ทางที่สูงชันแบบขึ้นเขาเสียทีเดียว เป็นการวางแผนแบบเช้าไป เย็นกลับ เลือกใช้เวลาซึมซับในแต่ละที่นานนิดหนึ่ง ไม่ถึงกับเข้าข่ายชะโงกทัวร์

ใครนึกภาพปัวไม่ออก ให้นึกถึงรูปทุ่งนากับร้านกาแฟ เพราะเมืองปัวเป็นต้นตำรับของเมืองที่คนมาเสพความกรีนเพื่อเติมพลังชีวิตกัน โดยเฉพาะหากใครได้มาในช่วงฤดูฝน

ภายในระยะเวลา 1 วันแบบเช้าไปเย็นกลับ เราเลือกจุดหมายสำหรับเพื่อนในทีมที่ชื่นชอบการถ่ายรูป นั่นคือ วัดภูเก็ต กาแฟไทลื้อ โรงเรียนชาวนา และวัดก๋ง หรือวัดศรีมงคล และตั้งใจว่าให้กลับเข้าเมืองน่านในเวลาที่ไม่มืดค่ำ หรือดึกดื่น ที่สำคัญไม่อยากให้เป็นการท่องเที่ยวแบบหมดเรี่ยวหมดแรง

วัดภูเก็ต ทำไมต้องไป และทำไมวัดภูเก็ตถึงมาอยู่ที่จังหวัดน่านได้ แต่เดิมสมัยก่อนเวลาขับรถผ่านเห็นชื่อวัดภูเก็ตก็จะคิดสงสัยออกมาในแนวนี้ และตอนนี้ เวลาเห็นป้ายวัดภูเก็ต จะมีป้ายคำว่า โรงแรมธรรมะกำกับด้วย ก็เลยยิ่งเพิ่มความฉงนสนเท่ห์ให้กับผู้พบเห็นเพิ่มขึ้นไปอีก

ที่มาของเรื่องก็คือวัดนี้ตั้งอยู่บนภู ในชุมชนไทลื้อที่ชื่อว่า “บ้านเก็ต” จึงเป็นที่มาของชื่อวัด “ภูเก็ต” นั่นเอง วัดภูเก็ตอยู่ไม่ไกลจากตัวตลาดอำเภอปัวมากนัก เขตพื้นที่ของวัดประกอบด้วยโรงเรียนปริยัติธรรมอยู่ด้านนอก นักท่องเที่ยวสามารถจอดรถบริเวณนี้ได้ ทางด้านขวาก่อนเข้าประตูวัด ก็จะมีอาคารขายผลิตภัณฑ์ผ้าทอไทลื้อที่เลื่องชื่อ นอกจากผ้าทอพื้นบ้านที่สวยงามซึ่งเป็นผลผลิตจากประชาชนในบ้านเก็ตและชุมชนใกล้เคียงแล้ว ภายในอาคารยังมีการสาธิตการทอผ้า ผู้ที่แวะเข้าในอาคารนี้จึงจะได้ทั้งสาระความรู้ด้านการทอผ้าและมีผ้าทอสวยๆ เป็นของที่ระลึกกลับไปฝากญาติมิตรเพื่อนฝูง

สิ่งที่เรียนรู้จากการมาเยี่ยมชมวัดภูเก็ตคือ การได้เรียนรู้ข้อมูลเกี่ยวกับประเพณี วัฒนธรรมไทลื้อจากภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ ได้ชมวิวมุมกว้างของธรรมชาติและวิถีชีวิตในอำเภอปัว ส่วนท่านที่ต้องการจะพักก็สามารถติดต่อที่พักของ “เท็มเปิลสเตย์” ภายในบริเวณวัด ที่จัดเป็นสัดส่วน มีความสะดวกสบายไม่ต่างจากโรงแรมทั่วไป ให้บริการแบบ “ราคาหลักร้อย แต่บริการด้วยวิวหลักล้าน”

ผ่านประตูทางเข้าในเขตสงฆ์ ด้านซ้ายมือจะมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ศิลปะอินเดียเหมาะแก่การสักการะเพื่อความเป็นมงคล  ในช่วงเทศกาลท่องเที่ยวจะมีกลุ่มดนตรีพื้นบ้านมานั่งเล่นดนตรี ใกล้ๆ กับองค์พระ เพื่อเติมแต่งให้เข้าถึงบรรยากาศของความเป็นเมืองเหนือมากขึ้น ใกล้กันซึ่งเป็นด้านหลังของพระอุโบสถจะมีรูปปั้นพระพิฆเนศที่ขนาบข้างด้วยช้างและบันไดนาค สัตว์ที่เป็นมงคลในพระพุทธศาสนานั่นเอง นอกจากนี้ยังมีน้องๆ แต่งตัวในชุดไทลื้อมารอยืนถ่ายรูปกับนักท่องเที่ยวอีกด้วย

พระอุโบสถของวัดภูเก็ตทาสีงดงาม ภายในมี “หลวงพ่อแสนปัว” พระพุทธรูปศิลปะไทลื้อ ปางมารวิชัย เป็นองค์ประธาน โบสถ์ฝีมือช่างไทลื้อมีจุดเด่นอยู่ตรงความเรียบง่ายแต่โดดเด่น เสาภายในอุโบสถวาดด้วยลายพรรณพฤกษาทาด้วยสีทองและดำ ซึ่งเป็นสีที่แตกต่างจากวัดในภาคเหนือทั่วไปที่มักจะประดับด้วยสีแดงและสีทอง ภาพฝาผนังเป็นภาพเขียนเกี่ยวกับวิถีชีวิตไทลื้อที่ผูกติดกับอาชีพการเกษตรและเกี่ยวพันกับศาสนา เช่น การทำบุญหมู่บ้าน การบวช การทอดผ้าป่า การละเล่น เช่น ลิเก รำวง การตั้งวงกินดื่ม หรือวิถีชีวิตทั่วไป เช่น การทำนา การเก็บฟืน การตั้งวงลาบ การสักยันต์ เป็นต้น  

ด้านหน้าพระอุโบสถเป็นลานกว้าง มีต้น “ดักเดียม” ต้นไม้ซึ่งมีความไวต่อการสัมผัส เมื่อมีคนถูบริเวณลำต้น ก็จะตอบสนองด้วยการสั่นใบ เฉกเช่นคนเรารูปสึก “จั๊กจี้” นั่นเอง  

มาที่นี่ นักท่องเที่ยวสามารถทำกิจกรรมภายใต้แนวคิดตามที่ทางวัดเขียนไว้ ตัวโตว่า “ไหว้พระ กินลม ชมวิว” และในบริเวณนี้  ทางวัดได้จัดสถานที่ ม้านั่ง ซุ้มสำหรับการถ่ายรูปเช็กอินและการชมวิวมุมกว้างของอำเภอปัว

จากที่นี่ สามารถมองเห็นทิวเขาดอยภูคา ป่าไม้ที่สมบูรณ์ สายน้ำ ร้านกาแฟในทุ่งนา การทำนาและการทำเกษตรที่แตกต่างกันในแต่ละฤดู สายหมอกในยามเช้า ช่วงที่พวกเรามา แม้จะเป็นช่วงฤดูหนาว แม้ภาพที่เห็นจะไม่เขียวขจี แต่ก็มีความงดงามไม่น้อย

คนที่ชื่นชอบกลิ่นและรสชาติของกาแฟ ก็สามารถสนับสนุนกาแฟสดที่มีไว้บริการได้ สำหรับที่พักที่เรียกว่า “โรงแรมธรรมะ” จะมีอาคารอยู่ด้านใต้ของลานชมวิว วัดให้บริการที่พักสำหรับคณะทัศนศึกษาทั้งห้องพักรวม และห้องเดี่ยว มีห้องน้ำและสิ่งอำนวยความสะดวกตามมาตรฐานที่พักทั่วไป เช้าๆ จะมีข้าวต้มกาแฟบริการ ส่วนราคาขึ้นอยู่จิตศรัทธาของผู้เข้าพัก ท่านที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ร้านกาแฟสดของวัด   

ส่วนคนที่เดินไหว ชอบเดินก็อย่ารอช้า ลงไปข้างล่างที่เป็นร้านรวง สร้างเป็นกระท่อมไม้ไผ่ ขายข้าวของเช่นเสื้อผ้ามัดย้อม ส้มสีทอง กาแฟ และของที่ระลึกน่ารัก

ร้อยทั้งร้อยเดินลงมา เชื่อว่า ซื้อของไม่เยอะ แต่กดชัตเตอร์กันแบบรัวๆ ทีเดียว เพราะทุกมุมงดงาม เท่ และมีเสน่ห์ไม่น้อย แชร์ให้เพื่อน ก็มีแต่ชมกับเสียงกรี๊ดกร๊าดด้วยความอิจฉานั่นเอง

ร่ายมายาว เขียนวันเดียว เรื่องเที่ยวปัวก็ยังเล่าไม่ครบ คราวหน้าค่อยว่ากันต่อ

สรณะ รายงาน

...........................................................

 

แกลลอรี่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"