'โซรอส'ทุ่มพันล้าน$ ตั้งเครือข่ายมหา'ลัยสู้เผด็จการ


เพิ่มเพื่อน    

จอร์จ โซรอส พ่อมดการเงินชาวอเมริกัน ประกาศกลางที่ประชุมดาวอสเมื่อวันพฤหัสบดีว่าเขาจะมอบเงิน 1,000 ล้านดอลลาร์เป็นทุนก่อตั้งเครือข่ายมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ ที่จะเป็นฐานรองรับการศึกษาวิจัยเพื่อต่อสู้กับภัยกัดกร่อนประชาสังคม ในโลกที่กำลังถูกปกครองโดย "เผด็จการตัวจริงและที่อยากจะเป็น" และการเผชิญวิกฤติภาวะโลกร้อน

    ตามรายงานเอเอฟพีเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2563 จอร์จ โซรอส ประกาศเจตนารมณ์ดังกล่าวระหว่างการแสดงสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม ที่เมืองดาวอสของสวิตเซอร์แลนด์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดยเขาชี้ว่ามนุษยชาติอยู่ในช่วงจุดเปลี่ยน และช่วงเวลาไม่กี่ปีนับจากนี้จะตัดสินชะตากรรมของผู้นำประเทศหลายราย เช่น ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน รวมถึงเป็นการตัดสินชะตาของโลกใบนี้ด้วย

    "พวกเราอยู่ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ ความอยู่รอดของสังคมเปิดตกอยู่ในอันตราย และเรายังเผชิญกับวิกฤติที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น นั่นคือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ" มหาเศรษฐีนักบริจาคเพื่อการกุศลเชื้อสายฮังการีกล่าว

    โซรอสเปิดเผยถึงแผนการก่อตั้งเครือข่ายมหาวิทยาลัยสังคมเปิด (OSUN) ของเขาว่า เป็นโปรเจ็กต์สำคัญที่สุดในชีวิตของเขา และจะถูกใช้เป็นแพลตฟอร์มระหว่างประเทศสำหรับการเรียนการสอนและการค้นคว้าวิจัย ที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วทุกมุมโลกสามารถเข้าร่วมได้

    พ่อมดการเงินนักเก็งกำไรตัวฉกาจรายนี้คุยด้วยว่า เขาจะพยายามเข้าถึงสถานที่ที่ต้องการการศึกษาคุณภาพสูง และให้บริการแก่ประชากรที่ถูกทอดทิ้ง เช่น ผู้ลี้ภัย, นักโทษ, ชาวโรมา และผู้ไร้ถิ่นฐานอื่นๆ เช่นชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮีนจาในเมียนมา

    "เพื่อแสดงให้เห็นถึงความทุ่มเทของเราต่อ OSUN เราจะบริจาคเงิน 1,000 ล้านดอลลาร์เพื่อการนี้" โซรอสประกาศระหว่างการแสดงสุนทรพจน์เป็นประจำทุกปีของเขา และว่า โปรเจ็กต์นี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับช่วงเวลานี้ ที่สังคมเปิดเผชิญกับความเสี่ยงมากกว่าที่เคย

    โซรอสเคยก่อตั้งมหาวิทยาลัยยุโรปกลาง (CEU) ที่ฮังการี แต่ภายหลังถูกรัฐบาลของนายกฯ วิกตอร์ ออร์บัน บีบให้ต้องย้ายออกจากประเทศ

    เขายังแสดงความหดหู่ที่ปัจจุบันชาติมหาอำนาจในโลก ทั้งสหรัฐ, จีน และรัสเซีย อยู่ภายใต้กำมือของเผด็จการตัวจริงหรือพวกที่อยากเป็นเผด็จการ และพวกผู้นำเผด็จการอำนาจนิยมที่ยังคงเพิ่มจำนวนต่อไป

    กรณีของอินเดียภายใต้การปกครองของนายกฯ  นเรนทรา โมดี ก็ถูกเขาหยิบยกเป็นตัวอย่างของลัทธิชาตินิยมที่รุกคืบไปทั่วโลก โดยเขากล่าวหาโมดีว่า "สร้างรัฐชาตินิยมฮินดู"

    ส่วนทรัมป์ โซรอสประณามว่าเป็นพวกหลงตัวเองสุดโต่ง และเขาเห็นว่าความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของสหรัฐขณะนี้อาจมาเร็วไปสำหรับทรัมป์ ที่จะต้องสู้ศึกเลือกตั้งในอีก 10 เดือนข้างหน้า ซึ่งสำหรับสถานการณ์ของการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงแล้ว ช่วงเวลาดังกล่าวถือว่ายาวนานมาก

    ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ก็ถูกกล่าวถึงเป็นพิเศษด้วยอีกคน โซรอสกล่าวว่า สีแหวกประเพณีของพรรคคอมมิวนิสต์ ด้วยการรวบอำนาจไว้กับตัวเอง และเศรษฐกิจของจีนก็กำลังสูญเสียความยืดหยุ่นที่เคยมีก่อนหน้านี้ ในขณะที่สี "กลายเป็นเผด็จการทันทีที่เขามีความแข็งแกร่งเพียงพอ" ความสำเร็จของเขายังห่างไกลจากการสร้างความมั่นใจ เนื่องจากสถิติประชากรที่เกิดจากนโยบายลูกคนเดียวนั้นใช้ไม่ได้ผลกับจีน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"