ม.44ศาสตราธิปไตย ไล่'สมชัย'พ้นกกต.พ่นพิษ! บิ๊กตู่จี้จับตาผวาย้อนอดีต


เพิ่มเพื่อน    

    โฆษกรัฐบาลเผยนายกฯ ห่วงใยสถานการณ์บ้านเมือง อ้างสังคมเริ่มกังวลภาพเก่าๆ เริ่มกลับมาอีก สั่ง จนท.ติดตามประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด คสช.เมินข้อเรียกร้องกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ลั่นทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมป ปชป.ขอความชัดเจนยืนยันสมาชิกทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ วงเสวนาอัด ม.44 ศาสตราธิปไตยก้าวล่วง รธน. หวั่นลามไปองค์กรอิสระอื่น "สมชัย" เผยทำนายที่ 7 เหตุถูกปลดรู้ทันหมากเกมปมจัดเลือกตั้ง 150 วันฝ่ายแพ้อาจร้องศาล รธน.ให้การเลือกตั้งโมฆะ เตือน กกต.เจอคดีทางแพ่งพ่วงอาญา 
    เมื่อวันอาทิตย์ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ห่วงใยสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ เพราะแม้หลายอย่างกำลังเดินหน้าไปด้วยดีมากกว่าก่อนปี 2557 เช่น ความสงบเรียบร้อย ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจ การแก้ไขปัญหาความยากจน การทุจริตคอร์รัปชัน ฯลฯ แต่ยังคงมีบุคคลบางกลุ่มพยายามเคลื่อนไหวสร้างความวุ่นวาย และจะยิ่งเข้มข้นขึ้นอีกหากรัฐบาลไม่ทำตามข้อเรียกร้อง เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจดีว่าประเทศไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งตามโรดแมป โดยขั้นตอนและวันเลือกตั้งนั้นเป็นไปตามกฎหมาย 
    พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า อยากย้ำให้ชัดเจนว่าภารกิจสำคัญที่ คสช.ต้องเข้ามา และมีรัฐบาลบริหารประเทศในช่วงนี้ คือการเปลี่ยนผ่านไปสู่การมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ดังนั้น หากยังเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ แล้วอะไรคือหลักประกันว่าบรรยากาศของการเลือกตั้งจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
    "นายกฯ กล่าวด้วยว่า สังคมเริ่มรู้สึกกังวลว่าภาพเก่าๆ เริ่มกลับมาปรากฏขึ้นอีกครั้ง จึงอยากให้ทุกคนร่วมกันพิจารณาว่าสิ่งใดควรทำและไม่ควรทำ เพื่อประคับประคองให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้ ส่วนรัฐบาลและ คสช. จะทำหน้าที่อย่างดีที่สุด โดยจะไม่ยอมให้ประเทศชาติกลับไปสู่วงจรแบบเดิมอีกเด็ดขาด พร้อมทั้งกำชับให้เจ้าหน้าที่ติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และดำเนินการด้วยความรอบคอบและรัดกุมภายใต้กรอบของกฎหมาย" พล.ท.สรรเสริญระบุ
     พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ในฐานะทีมโฆษก คสช. กล่าวถึงกรณีกลุ่มคนอยากเลือกตั้งจัดกิจกรรมรวมพลัง “เดินหน้าถอนราก คสช.” โดยเรียกร้องให้กำหนดให้มีการเลือกตั้งภายในเดือน พ.ย.2561 และข้อเรียกร้องให้ยุบคสช. เปลี่ยนให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เป็นรัฐบาลรักษาการ พร้อมทั้งมีการเดินขบวนมาแสดงเชิงสัญลักษณ์ โดยแจกกระดาษให้ผู้ร่วมกิจกรรมพับเป็นรูปจรวด และพร้อมโยนเข้าไปในกองบัญชาการกองทัพบก เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า กิจกรรมการเคลื่อนไหวของกลุ่มดังกล่าว เป็นบททดสอบงานความมั่นคง ที่ต้องดูแลรักษาความสงบ รักษาบรรยากาศไม่ให้มีการกระทบกระทั่ง เจ้าหน้าที่ใช้กำลังเหมาะสม การปฏิบัติตั้งแต่ช่วงบ่ายจนถึงค่ำเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีการบังคับใช้กฎหมายปกติ เหมาะสมกับสถานการณ์ ไม่ได้มีการละเมิดสิทธิ์ใคร มีการประสานงานกับกลุ่มที่เคลื่อนไหวเป็นระยะ แม้จะไม่ได้ความร่วมมือก็ตาม แต่เจ้าหน้าที่ก็ใช้ความอดทน ไม่มีความรุนแรงใดๆ เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่กำลังรวบรวมหลักฐาน พยาน กลุ่มเคลื่อนไหวเข้าข่ายกระทำความผิดหรือไม่ หรือเข้าข่ายความผิดกรณีใดบ้าง
    “ส่วนข้อเรียกร้องโดยข้อแรกเรื่องระยะเวลาการเลือกตั้ง เป็นข้อกฎหมายเป็นไปตามโรดแมป ส่วนข้อสองนั้น คสช.กับกองทัพเป็นเนื้อเดียวกัน กองทัพกับประชาชนเป็นเนื้อเดียวกัน ดังนั้นจะแยกจากกันไม่ได้เพราะทุกคนเป็นคนไทยด้วยกัน จะมาแยกว่ากองทัพต้องแยกออกจากประชาชนหรือ คสช. เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ กองทัพเป็นลูกหลานประชาชน สนับสนุนงานคสช. คสช.สนับสนุนรัฐบาล ทุกสิ่งเป็นเนื้อเดียวกัน คงแยกไม่ได้” ทีมโฆษก คสช.กล่าว
     ขณะที่กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย โพสต์ข้อความตอบกลับ พล.ต.ปิยพงศ์ โดยระบุว่า กองทัพไม่จำเป็นต้องเป็นเนื้อเดียวกันกับเผด็จการ และกองทัพในเวลานี้ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกันกับประชาชน เพราะกองทัพได้แยกตัวออกจากประชาชนไปเข้าร่วมกับเผด็จการตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 กองทัพคือหน่วยงานหนึ่งของประเทศ ส่วน คสช.คือคนกลุ่มหนึ่งที่มีจิตฝักใฝ่เผด็จการ สองสิ่งนี้จึงไม่ใช่สิ่งเดียวกัน และไม่จำเป็นต้องอยู่ด้วยกัน ประเทศประชาธิปไตยหลายประเทศยังคงมีกองทัพ โดยต่างรู้ขอบเขตหน้าที่ของตน เคารพกติกาประชาธิปไตย เคารพเสียงประชาชนจริงๆ ในกองทัพของประเทศไทยก็ไม่ใช่ว่าทหารทุกนายจะเห็นด้วยกับการกระทำของ คสช.ทั้งหมด การอ้างว่ากองทัพกับ คสช.เป็นเนื้อเดียวกัน จึงเป็นการอ้างที่ผู้อ้างก็รู้ว่าผิด แต่ก็ยังพยายามอ้างต่อไปเพื่อสร้างความเชื่อที่ผิดๆ แก่บรรดานายทหารว่ามีหน้าที่ต้องรับใช้เผด็จการ
    “ที่โจมตีพวกเราว่าแยกกองทัพออกจากประชาชน แท้จริงแล้วเป็นกองทัพเองต่างหากที่แยกจากประชาชนไปเข้ากับเผด็จการ และด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงต้องเรียกร้องให้กองทัพเลิกสนับสนุน คสช. เพื่อนำกองทัพกลับมาอยู่ด้วยกันกับประชาชนอีกครั้ง” เพจดังกล่าวระบุ
ยืนยันสมาชิกทางอิเล็กทรอนิกส์
    ด้าน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมการจัดประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินกิจการให้แก่พรรคการเมืองเดิมในวันที่ 28 มี.ค.นี้ว่า เบื้องต้นขณะนี้มีพรรคการเมืองตอบรับเข้าร่วมแล้วจำนวน 58 พรรค ซึ่งในวันที่ 26 มี.ค. จะดูอีกครั้งว่ามีพรรคการเมืองใดตอบรับเข้าร่วมงานเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ กรอบแนวทางที่ กกต.จะชี้แจงทำความเข้าใจให้กับพรรคการเมืองต่างๆ จะเกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจกรรมของพรรคตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ โดยเป็นสิ่ง กกต.ต้องอำนวยความสะดวก อาทิ การประสานงานกับธนาคารต่างๆ ในการชำระค่าธรรมเนียม รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เช่น การประชุมพรรค ต้องทำอย่างไรบ้าง ข้อบังคับพรรคต้องมีอะไรบ้างตามที่กฎหมายใหม่กำหนดไว้ และกระบวนการจัดทำไพรมารีโหวต เป็นต้น
    “ขณะนี้กฎหมายใหม่มีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมค่อนข้างมาก พรรคการเมืองกับนายทะเบียนพรรคการเมือง และสำนักงาน กกต. ต้องมาร่วมทำความเข้าใจ เพื่อดูว่า กกต.สามารถอำนวยความสะดวกสิ่งใดได้บ้าง และพรรคต้องรับทราบด้วยว่า กกต.มีข้อจำกัดอะไรบ้าง ต้องมาหารือกัน เพื่อที่จะทำให้การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของพรรคการเมืองเป็นไปได้ด้วยดี“ รักษาการเลขาธิการ กกต.กล่าว
    ส่วนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี กกต.เตรียมจัดประชุมพรรคการเมืองเดิมเพื่อชี้แจงแนวทางการปฏิบัติตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองว่า สิ่งที่พรรคการเมืองต้องการทราบมากที่สุดขณะนี้ก็คือความชัดเจน เพื่อที่จะสามารถปฏิบัติได้ตามกฎหมาย ซึ่งหากในวันดังกล่าว กกต. สามารถตอบคำถามโดยอธิบายในสิ่งที่พรรคการเมืองต้องการได้อย่างชัดเจนในทุกเรื่อง ก็จะเป็นการใช้เวลาอย่างคุ้มค่ามากที่สุด เรื่องสำคัญก็คือในวันที่ 30 เม.ย.นี้ เรื่องใดที่ทำได้และทำไม่ได้ และหากพรรคได้ดำเนินการมาแล้ว กกต.จะให้การรับรองหรือไม่ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญ รวมถึงการยืนยันสมาชิกพรรคว่าสามารถใช้รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้หรือไม่ ส่วน คสช.ก็คงทราบดีถึงความต้องการของพรรคการเมืองอยู่แล้ว แต่จะตัดสินใจดำเนินการอย่างไร หรือรับฟังพรรคการเมืองแค่ไหน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
    นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้า ปชป. กล่าวถึงคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ว่าในส่วนของพรรคปชป. ขอเชิญชวนสมาชิกพรรคทุกท่านยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคได้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 30 เม.ย.2561 โดยสามารถยืนยันการเป็นสมาชิกได้ที่สำนักงานใหญ่พรรคประชาธิปัตย์ หรือติดต่อประสานงานยืนยันได้ที่สำนักงานสาขาพรรคทั่วประเทศ รวมทั้งแจ้งยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคที่สำนักงานอดีต ส.ส. ของพรรคประชาธิปัตย์ทั่วประเทศเช่นเดียวกัน ส่วนรายละเอียดสามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://www.democrat.or.th และเฟซบุ๊กของพรรค https://www.facebook.com/DemocratPartyTH/  โดยขอให้สมาชิกพรรคนำบัตรประจำตัวประชาชนพร้อมสำเนาบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านมาแสดงด้วย พร้อมชำระค่าบำรุงพรรคประชาธิปัตย์ แบบสมาชิกตลอดชีพ 2,000 บาท หรือแบบรายปี ชำระค่าบำรุงปีละ 100 บาท 
     นายองอาจกล่าวเรียกร้องให้ กกต.ทบทวนการนำสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านมาใช้เพื่อยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้นน่าจะไม่มีความจำเป็น เพราะผู้ที่มายืนยันการเป็นสมาชิกพรรคคราวนี้เคยสมัครสมาชิกพรรคมาแล้ว และเคยใช้สำเนาในการสมัครสมาชิกพรรคมาก่อนแล้ว จึงไม่ควรต้องนำสำเนามาเป็นเอกสารประกอบการยืนยันการเป็นสมาชิกอีก ซึ่งก่อให้เกิดความซ้ำซ้อน และสิ้นเปลืองเอกสารโดยเปล่าประโยชน์ อีกทั้งเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชน ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายพรรคการเมือง
ม.44 ศาสตราธิปไตย
     ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 จัดเสวนาสาธารณะ "มาตรา 44 เพื่อชาติหรือเพื่อใคร" มีนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต., นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.), นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน ร่วมเสวนา โดยนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนฯ กล่าวว่า กรณีการใช้อำนาจมาตรา 44  ไม่เพียงปลดนายสมชัย ยังมีการปลดผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย จึงยังสงสัยว่าได้ใช้ ม.44 ทำเพื่อชาติหรือเพื่อใคร 
    ด้านนายพิชายกล่าวว่า คสช.ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เยอะมาก ใช้ทั้งการเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ขยายบทเฉพาะกาล พ.ร.บ.พรรคการเมือง ทั้งที่ไม่ต้องใช้ก็ได้ การปลดนายสมชัยออกจากตำแหน่ง ตามเหตุผลที่ไปสร้างความสับสนเกี่ยวกับวันเลือกตั้ง รวมถึงเหตุผลมีคนขอมา จึงสงสัยว่าการใช้มาตรา 44 นั้น เพื่อเหตุผลใดกันแน่ เป็นการใช้อำนาจ อารมณ์ มากกว่าข้อเท็จจริง คนในฟากอำนาจรัฐต้องการเสียงแห่งการเงียบ การเชื่อฟังที่ต้องฟังคำสั่ง กลบฝังความเห็นต่อที่มีตำแหน่งสูง หากไม่เห็นด้วยกับพวกตัวเอง จึงต้องทำให้เสียงเงียบลงไป ยังเป็นการใช้แบบขาดความยั้งคิดของ "ระบอบศาสตราธิปไตย" ที่อำนาจมาจากกำลังอาวุธ มาตรา 44 เป็นผลพวงมาจากกำลังอาวุธของฝ่ายที่ยึดกุมศาสตรา เป็นการใช้อำนาจที่ขาดการมีส่วนร่วม 
    "การใช้ ม.44 ปลดนายสมชัย เกิดผลสืบเนื่องทำให้องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญต้องทำงานภายใต้บรรยากาศความหวาดระแวง ไม่กล้าตัดสินใจในประเด็นสำคัญๆ หรือประเด็นที่มีผลกระทบต่อผู้มีอำนาจ จะกลายเป็นองค์กรไร้อิสระอย่างสิ้นเชิง เป็นการล่มสลายของระบบตรวจสอบของสังคมไทย ป.ป.ช. กกต. สตง. จะทำงานภายใต้ทิศทางเดียวกับผู้มีอำนาจรัฐต้องการ ความเสื่อมศรัทธาก็จะตามมา ที่ผ่านมาที่ประชาธิปไตยล่มสลาย ปัจจัยหลักอันหนึ่งคือความอ่อนแอจากองค์กรอิสระไม่สามารถตรวจสอบจัดการผู้มีอำนาจรัฐได้ หากเข้าไปใช้อำนาจในเรื่องเกี่ยวกับ กกต.ได้ ก็คงไม่มีเรื่องอะไรที่จะทำไม่ได้ เท่ากับไปละเมิดอำนาจในรัฐธรรมนูญ จึงห่วงว่าอาจมีผลกระทบต่อการเลือกตั้ง หากใช้อำนาจมาตราดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหาทุจริต รักษาความสงบ ยังสามารถใช้ได้ แต่ถ้าใช้แบบไม่เหมาะสม ก็จะสร้างบรรยากาศการเมืองขึ้นมาไม่ดี" นายพิชายกล่าว
    ส่วนนายวีระกล่าวว่า หลังรัฐธรรมนูญ 60 มีผลบังคับใช้ อำนาจมาตรา 44 ควรหยุดได้แล้ว อะไรที่อยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญควรใช้รัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาการใช้มาตรา 44 โยกย้าย พักงานข้าราชการ พออ้างได้ว่ามีการใช้เพื่อจัดการ เพราะถูกกล่าวหาทุจริต คนโดนมาตรา 44 คงไม่พอใจ แต่ทำอะไรไม่ได้ กรณีนายสมชัย ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องอยู่ภายใต้อำนาจบริหาร เป็นเจ้าหน้าที่ในองค์กรอิสระที่ต้องทำงานอย่างอิสระ ใครจะมาก้าวก่ายไม่ได้ มีสิทธิคิด พูด ทำอะไรก็ได้ อยู่ในกรอบกฎหมายรัฐธรรมนูญ หากทำผิดก็จะถูกตรวจสอบเอง 
    "เรื่องที่ควรทำไม่ทำ ตัวเองอยากสืบทอดอำนาจ อยากกลับมาเป็นฝ่ายบริหาร ก็อยู่ในส่วนของคุณ เมื่อปลดนายสมชัย แต่กลับไปต่ออำนาจ กกต.บางคน การใช้อำนาจรัฐต้องเพื่อชาติ ประชาชน ไม่ใช่เพื่อตัวเองและพวกพ้อง มันไม่ชอบธรรม สิ่งที่ควรทำมีเยอะแยะ แต่ไม่ทำ ซึ่งเป็นเรื่องที่พูด สัญญาเองด้วย บอกจะปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง ควรทำ ไม่เห็นทำสักเรื่อง ปฏิรูปตำรวจเป็นอย่างไร ปฏิรูปได้หรือไม่" นายวีระ กล่าว
    ขณะที่นายสมชัยกล่าวถึงคำทำนายที่ 7 ว่า สิ่งที่น่าห่วงที่สุดในการเลือกตั้งครั้งหน้าคือประโยคที่บอกว่า  มาตรา 268 ระบุกฎหมายสำคัญ 4 ฉบับมีผลบังคับใช้ จะต้องมีการจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จใน 150 วัน ไม่มีใครในประเทศไทยรู้หมายความว่าอย่างไร 1.หย่อนบัตรใน 150 วัน หรือ 2.หย่อนบัตรและประกาศผลให้แล้วเสร็จใน 150 วัน ถ้าเป็นแบบแรก กกต.ทำงานสบายๆ แบบที่สอง กกต.ต้องเอา 150 วันที่ได้มาทั้งจัดเลือกตั้ง ให้ใบเหลืองใบแดง และประกาศผล ถ้าเป็นแบบนี้ การเลือกตั้งจะเกิดใน 90 วัน อีก 60 วันสำหรับให้ใบเหลือง ใบแดง ถ้าผมอยู่เป็น กกต. จะยืนยันประโยควันเลือกตั้งต้องเกิดใน 90 วัน กกต.เพียรถามคนที่เกี่ยวข้อง ตนเคยถามนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ยังบอกอาจารย์อย่าไปคิดอะไรมาก คือเลือกตั้งอย่างเดียว ไม่รวมประกาศผล แต่เมื่อขอคำยืนยันเพื่อจะนำไปเป็นหลักฐานสำหรับ กกต. ก็บอกอย่าเอาไปเลย เป็นความเห็นส่วนตัว
    นอกจากนี้ กกต.เคยส่งหนังสือไปถาม กรธ. นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ลงนามตอบกลับมาเพียงว่า กรธ.มีอำนาจหน้าที่ร่างกฎหมาย ไม่มีอำนาจหน้าที่ตีความกฎหมาย กกต.ทำหนังสือไปถึงสำนักงานกฤษฎีกา ได้รับคำตอบว่า เมื่อทราบข่าวจากสื่อ เมื่อจะมีการส่งไปถามศาลรัฐธรรมนูญ กฤษฎีกาเลยไม่ขอตอบคำถามดังกล่าว เมื่อถามศาลรัฐธรรมนูญ ก็บอกว่าเรื่องนี้ยังไม่เป็นปัญหา ศาลไม่ตอบ กกต.เลยว้าเหว่ ไม่มีใครให้คำตอบได้ 
ปม 150 วันทำเลือกตั้งโมฆะ
    "คนที่จะลงนามประกาศเลือกตั้งวันใดคือ กกต. เราขอจินตนาการ การเลือกตั้งจะเกิดในกรอบแบบนั้น ใครชนะคงไม่มีผล ถ้าใครแพ้ คงไม่แพ้เปล่า ถ้ามีคนร้องศาลรัฐธรรมนูญว่า กกต.จัดการเลือกตั้งขัดกับรัฐธรรมนูญ กกต.ไปจินตนาการได้อย่างไร การเลือกตั้งคือการจัดเลือกตั้งอย่างเดียว ขอให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ซึ่ง กกต.ที่ลงนาม จะไปอ้างได้หรือว่าได้ประชุมกับ กรธ. พรรคการเมือง ที่เหลือจะช่วยรับไหม เขาอาจบอกที่ระบุไม่ได้บอกให้เชื่อ แต่คุณต้องตัดสินใจเอง กกต.จะ 4 คนหรือ 7คน ก็หารไป รับผิดทางแพ่งและอาญาต่อไป ถ้าถึงวันนั้นแล้วต้องลงมติว่าจะเลือกตั้งใน 90 วัน หรือ 150 วัน ได้แจ้งต่อ กกต. 4 ท่านที่เหลือ โดยให้ความเห็นต้องเลือกตั้งใน 90 วัน แต่ถ้าใช้ 150 วัน ผมขอใช้สิทธิ์ลาออก ถ้าถึงวันนั้นเกิดการเห็นต่าง สังคมคงประณามว่าไม่ฟังเสียงมติส่วนใหญ่ ไม่ช่วยจัดการเลือกตั้ง อยู่ตั้งนานมาลาออกทำไม ในเมื่อ คสช.มีคำสั่งให้ผมยุติปฏิบัติหน้าที่ จึงถือเป็นพระคุณอย่างยิ่ง ขอกราบขอบพระคุณ" (นายสมชัยพูดพลางยกมือไหว้)
    นายสมชัยกล่าวอีกว่า ถ้าตนอยู่จะไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้ เพราะจะยืนยันประกาศเลือกตั้งใน 90 วัน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยที่สุด สิ่งนี้อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ไม่ให้ตนอยู่ แต่คงกลัวเกินไป ถ้ามีการประชุมร่วมกันทั้ง ครม. กกต. ประธาน สนช. กรธ. พรรคการเมือง ขอให้ กกต.ทำเอกสารลงนามสัตยาบันต่อกันทุกฝ่าย อย่าบอกเพียงว่าได้คุยกันแล้ว โดยให้ทำความเข้าใจให้ทุกคนเห็นตรงกันว่าการเลือกตั้ง 150 วันนั้น รวมประกาศผลหรือไม่ เพราะจะทำให้ตัวหารเพิ่มมากขึ้น
    หลังจากนายสมชัยพูดจบ ทำให้ผู้ร่วมดำเนินการอภิปรายซักถามนายสมชัยต่อ โดยนายอดุลย์ถามว่า เพื่อป้องกันไม่ให้ กกต.ถูกฟ้อง ถ้า 4 คนจัดการเลือกตั้งแล้วถูกฟ้องมีคดี ถ้าจัดเลือกตั้ง 4 คน หารกันแล้วตกคนละประมาณ 1,200 ล้านบาท เรายังต้องมองให้ชัดเจนว่า เราจะยึดถืออะไร ตรงนี้สำคัญมาก 
    ขณะที่นายวีระถามว่า เป็นการเตรียมวางหมากกลหรือไม่ ถ้าแพ้ก็ใช้เรื่องนี้ยื่นเพื่อให้ล้มการเลือกตั้ง แล้วใครอยู่ต่อ นายสมชัยตอบว่า วางหมากไม่เป็น เลยตอบไม่ได้ แต่ชอบพูดให้คนรู้หมากคนอื่น ทั้งนี้คงไม่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ตนน้อมรับคำสั่ง คสช. เป็นการใช้คำสั่งดังกล่าวไม่ได้เกิดกับตน แต่เกิดความเชื่อมั่นศรัทธาระบอบประชาธิปไตยและองค์กรอิสระ 
    นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ กล่าวว่า การใช้ ม.44 ถึงแม้จะเป็นสิทธิของหัวหน้า คสช. แต่ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง และรอบคอบ โดยเฉพาะการกับบุคคลในองค์กรอิสระ ยิ่งต้องพิจารณาเป็นพิเศษ เพราะจะก่อให้เกิดผลสะเทือนตามมาอีกมากมาย จะกระทบต่อความเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ของ กกต.ต่อไปในอนาคต ว่าจะทำหน้าที่ด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรมหรือไม่ ส่งผลต่อการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระอื่นๆ ว่าจะทำงานให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้องค์กรอิสระเป็นอิสระอย่างแท้จริงหรือไม่ 
    นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวเช่นกันว่า เป็นห่วงเรื่องการใช้อำนาจตาม ม.44 ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์บ่อยครั้ง โดยเฉพาะการใช้อำนาจตาม ม.44 ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเลือกตั้งและองค์กรอิสระที่จัดการเลือกตั้ง ซึ่งจะกระทบกับความเชื่อมั่นของประชาชน จะทำให้เกิดคำถามว่า หากมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้วไม่มีอำนาจตามมาตรา 44 เมื่อถึงเวลานั้น ได้มีการปรับปรุงแก้ไขกลไกตามมาตรา 44 แล้วหรือไม่
    นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ผลจากคำสั่งนี้ ทำให้รัฐบาลคสช.ถูกมองว่าใช้อำนาจเกินกว่าเหตุโดยไม่จำเป็นหรือไม่ เพราะ กกต.ชุดปัจจุบันเป็นเพียงชุดรักษาการ ไม่จำเป็นต้องสั่งให้ยุติปฏิบัติหน้าที่ ก็มีอันต้องยุติในเร็วๆ นี้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปรีบปลดนายสมชัยในเวลานี้ จนถูกมองว่าใช้อำนาจที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดพร่ำเพรื่อเกินไปหรือไม่ รัฐบาล คสช.ต้องระมัดระวังการใช้อำนาจนี้ เพราะมาตรา 44 เป็นเหมือนอำนาจพิเศษของฝ่ายบริหาร แต่กลับไปปลดกรรมการในองค์กรอิสระได้ ไม่เช่นนั้น จะมีคำถามตามมาว่า องค์กรตรวจสอบที่เป็นองค์กรอิสระที่มีคำถามถึงมาตรฐานการตรวจสอบทุจริตคอร์รัปชันล่าช้า 2 มาตรฐานหรือไม่นั้น รัฐบาล คสช.ต้องสั่งปลดด้วยหรือไม่ 
    ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงกรณีหากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีมติเสนอชื่อนายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี และนายปกรณ์ มหรรณพ ที่เคยถูก สนช. ลงมติไม่เห็นชอบดำรงตำแหน่ง กกต. มาเป็น กกต.อีกครั้งได้หรือไม่ ว่าดูจากถ้อยคำในกฎหมาย เขาจะห้ามเฉพาะคนที่มาจากการสรรหาแล้ว สนช.ไม่ให้ความเห็นชอบ โดยในกฎหมายจะเขียนเอาไว้ 2 พวก คือพวกที่สรรหา และพวกที่ส่งมา ฉะนั้นเมื่อกฎหมายใช้คำว่าสรรหา ก็เข้าใจว่าห้ามเฉพาะคนที่มาจากการสรรหาแล้ว สนช.ไม่ให้ความเห็นชอบลงสมัครซ้ำ ซึ่งกฎหมายเขียนอย่างนั้น และเขาใคร่ครวญแล้ว ตอนที่เขียนกฎหมายจึงได้ใช้คำให้มันต่างกัน.    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"