กองทัพไทยในยุคดิจิทัล มีหน้าตาและสาระอย่างไร?


เพิ่มเพื่อน    

                หากนายกรัฐมนตรีและผู้นำเหล่าทัพมีความมุ่งมั่นที่จะ “ปฏิรูปกองทัพ” อย่างแท้จริง ก็จะต้องออกแบบให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์, สังคมโลก, และเทคโนโลยีที่กำลังเป็นปัจจัยสำคัญต่ออนาคตของทุกอาชีพรวมถึงกองทัพด้วย

                เริ่มต้นผู้นำเหล่าทัพต้องเข้าใจว่าคำนิยามของ “ความมั่นคง” ได้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง

                ทุกวันนี้ “ความมั่นคง” ไม่ได้หมายถึงเพียงเรื่องของทหารและอาวุธเท่านั้น หากแต่ยังหมายรวมถึงความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ, สังคม, วัฒนธรรมและเทคโนโลยี

                “ความมั่นคง” ของทุกประเทศจะต้องโยงกับสิ่งแวดล้อม, ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หรือ Climate Change รวมไปถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development ในทุกมิติด้วย

                กองทัพไทยในยุคดิจิทัลจะต้องมีความเข้าใจเรื่องปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และสงครามในรูปแบบที่เปลี่ยนไปภายใต้กรอบของ Cyber War

                อีกทั้ง “สงครามการค้า” ระหว่างสหรัฐกับจีนก็เป็นประเด็นความมั่นคงที่มีผลกระทบต่อ “ความมั่นคง” ของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

                ยิ่งกว่านั้น การระบาดของ Covid-19 ที่กำลังมีผลกระทบไปทั่วโลกก็เป็นอีกด้านหนึ่งของ “ความมั่นคง” ที่กองทัพจะต้องสรุปบทเรียนเพื่อนำมาใช้ในการวางยุทธศาสตร์ทางความมั่นคงของประเทศ

                วันนี้ เรื่องของ “สงครามชีวภาพ” หรือ Biological Warfare มิใช่เป็นแค่ “นิยายวิทยาศาสตร์” อย่างที่เราเคยเข้าใจอีกต่อไป

                เพราะสงครามที่จะเกิดในวันนี้และวันข้างหน้านั้นจะมีมิติของการค้า, สิ่งแวดล้อม, เทคโนโลยี และภูมิรัฐศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

                ข้อถกแถลงในแวดวงเทคโนโลยีและนักคิดนักประดิษฐ์วันนี้คือ การที่มนุษย์ควรจะพัฒนา AI และ Machine Learning ไปถึงจุดที่หุ่นยนต์มีความ “ฉลาด” ถึงจุดที่สามารถจะกำหนดวาระอะไรบางอย่างได้ด้วยตัวเองหรือไม่

                หากหุ่นยนต์ AI ที่มนุษย์สร้างขึ้นสามารถ “เรียนรู้ด้วยตนเอง” (Self-Learning) มันจะพัฒนาไปถึงจุดที่สร้างอาวุธเองเพื่อทำลายล้างมนุษย์ด้วยหรือไม่

                นี่มิใช่เป็นเพียงบทถกแถลงทางทฤษฎีเท่านั้น หากแต่มีแนวโน้มของความเป็นไปได้สูงขึ้นทุกวัน

                กองทัพไทยในยุคนี้จะต้องวิเคราะห์แนวโน้มของการปรับเปลี่ยนดุลแห่งอำนาจ หรือ Balance of Power ของมหาอำนาจที่กำลังชัดมากขึ้นทุกวัน

                การสยายปีกของจีนในทุกๆ ด้าน และการปรับนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยเน้นเรื่องผลประโยชน์ส่วนตนของสหรัฐ แทนที่จะดำรงบทบาทการเป็นผู้นำโลก ทำให้ไทยเราต้องประเมินยุทธศาสตร์ของไทยอย่างรอบด้านและถ้วนถี่กว่าที่เคยเป็นหลักคิดมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

                ปัจจัยใหม่ๆ ที่ท้าทายความเชื่อเก่าๆ กำลังทำให้วิธีทำงานและหลักปฏิบัติของกองทัพไทยที่ยึดถือมาตลอดนั้นกำลังจะล้าสมัยไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลง

                คำว่า Disruption หรือที่ผมเรียกว่า “ความป่วน” มิได้จำกัดเฉพาะในแวดวงธุรกิจและอุตสาหกรรมเท่านั้น เพราะคำว่า “การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4” ที่กำลังเคลื่อนไหวอย่างคึกคักขณะนี้ยังมีผลอย่างกว้างไกลต่อกองทัพในทุกๆ ด้านอีกด้วย

                เพราะคำว่า “สงคราม” จากนี้ไปจะเป็นการสู้รบในทุกแนว ไม่จำเป็นต้องยกปืนใหญ่หรือส่งเครื่องบินถล่มกันและกันอย่างที่เกิดขึ้นในสงครามครั้งก่อนๆ

                “สงครามไซเบอร์” จะมาแทนสงครามในรูปแบบดั้งเดิม และบุคลากรที่ใช้เพื่อรักษาอธิปไตยของชาติก็จะต้องมีคุณสมบัติที่แตกต่างไปจากที่เราเห็นและเป็นไปอยู่ขณะนี้

                ดังนั้นหากกองทัพไทยยังวนเวียนอยู่กับปัญหาเก่า เช่น เรื่อง “ผลประโยชน์ธุรกิจในค่ายทหาร” หรือการที่ทหารผู้ใหญ่เอารัดเอาเปรียบทหารผู้น้อยในเรื่องสวัสดิการที่อยู่อาศัยหรือบริการต่างๆ ก็ย่อมแปลว่าเราไม่มีความพร้อมที่จะก้าวข้ามปัญหาเก่าๆ ไปสู่ความทันสมัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปกปักรักษาอธิปไตยของประเทศ

                ปัญหาความเหลื่อมล้ำ, พฤติกรรมฉ้อฉล, ธุรกิจสีเทา, ระบบอุปถัมภ์และการเอารัดเอาเปรียบในกองทัพจะกลายเป็นตัวฉุดรั้งที่ไม่อาจจะนำพากองทัพไปสู่ความเป็นเลิศที่จะตอบโจทย์ของศตวรรษที่ 21 ได้

                ถึงวันนั้น แม้แต่ประเด็นเรื่องควรจะเลิกการเกณฑ์ทหารหรือไม่ และกองทัพควรมีนายพลเพียงกี่นายก็อาจจะเป็นคำถามเชยๆ แห่งยุคสมัย

                เพราะเมื่อกองทัพเข้าสู่ยุค “ปัญญาประดิษฐ์” แล้ว คำถามชุดใหม่ก็จะเบียดรายละเอียดปลีกย่อยล้าสมัยตกขอบไปโดยปริยาย

                กองทัพไทยพร้อมหรือยัง?.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"