'พิภพ'ยกบทเรียนประวัติศาสตร์เตือนชนชั้นปกครองไม่ฟังเสียงนศ.จะเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่


เพิ่มเพื่อน    

 

29 ก.พ.63-นายพิภพ ธงไชย อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โพสต์ข้อความมีเนื้อหาดังนี้ 

ไกลกังวล

เป็นคำที่ในหลวงรัชกาลที่ ๗ ทรงพระราชทานนามไว้สมความหมาย “ไกลกังวล” ไกลจากผู้คน ไกลจากความวุ่นวายของเมืองหลวง จาก ๒๔๗๒ มาถึง ๒๕๖๐ กรุงเทพฯก็ยังคงมีความวุ่นวายไม่รู้จบ ไม่รู้สิ้น

วันนี้หลบการเมืองอนาคตใหม่และพลเอกประยุทธ์มาได้ ก็ปลอดโปร่งไปเยอะ

ข่าวว่านักศึกษาเริ่มประท้วงส่งสัญญาณความไม่พอใจที่ยุบพรรคอนาคตใหม่ รวมไปถึงเด็กโรงเรียนมัธยม มีคนไปแอบถามว่ารู้สาเหตุการยุบพรรคอนาคตใหม่ไหม เด็กๆบางคนตอบว่า”ไม่รู้หรอก แต่เห็นว่าไม่ควรยุบ”

ก็เหมือนสมัย ๑๔ ตุลา. เรานักศึกษายุคนั้นไม่รู้หรอกว่ารัฐธรรมนูญหน้าตาเป็นอย่างไร รู้แต่เพียงว่าถ้ามี รธน.ก็มีเลือกตั้ง จะได้พ้นเผด็จการทหารเสียที มันยาวมาตั้ง ๑๖ ปี

มาคราวนี้ถึงจะยาวไม่เท่า แต่ รธน.ก็ออกแบบให้ทหารเป็นรัฐบาลอยู่ยาวต่อไปได้ถึง ๒๐ ปี ยาวกว่าสมัย ๑๔ ตุลา.

การยุบพรรคอนาคตใหม่ คนจึงมองแบบเข้าใจว่าเป็นการกำจัดเสี้ยนหนามเผด็จการทหารในสภาฯไปเปาะหนึ่ง และอาจทำให้เสียงสนับสนุนรัฐบาลได้เพิ่มขึ้น

ถ้าทหารไม่ตระหนักในเรื่องนี้ การลุกฮือเที่ยวนี้ก็อาจจะยาว และยากจะคาดเดาได้ว่าจะไปลงเอยแบบไหน

ประวัติศาสตร์การลุกฮือของมวลชน ไม่ว่าจะในสมัยพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ หรือในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ แห่งฝรั่งเศส หรือในสมัยพระนางซูสีไทเฮา ความรีๆรอๆ ของการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงประเทศให้ทันกับอารมณ์ของมวลชน ที่มีปฎิกิริยาต่อผู้กุมอำนาจรัฐ เป็นเหตุให้สถาบันชนชั้นปกครองถูกกวาดออกจากหน้าประวัคิศาสตร์ของยุคสมัย

รัสเซียกลายเป็นคอมมิวนิสต์ ฝรั่งเศสกลายเป็นสาธารณรัฐ จีนกลายเป็นคอมมิวนิสต์ มีแต่อังกฤษที่ราชวงศ์วินด์เซอร์ปรับตัวได้ทัน จึงคงเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ จนถึงวันนี้

ในหลวงรัชกาลที่ ๕ ทรงปรับตัวทันทำให้ไม่ถูกอังกฤษและฝรั่งเศสยุคล่าเมืองขึ้น มายึดเป็นอาณานิคม

แต่พอถึงรัชกาลที่ ๗ พระองค์ทรงรีๆรอๆจะพระราชทาน รธน.ดีหรือไม่ ก็ถูกกลุ่มนักเรียนนอก ทั้งทหารและพลเรือน ยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก่อนหน้านั้นก็มีความพยายามในสมัยรัชกาลที่ ๖ มาทีหนึ่งแล้ว แต่ไม่สำเร็จ

มาสมัยปัจจุบันที่การปกครองถูกสลับไปมาระหว่างทหารกับพลเรือนมาตั้งแต่ ๒๔๗๕ ก็ไม่เคยมีการปฏิรูปใหญ่อีกเลย ปัญหาจึงมักหมม จนกลายเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำอันดับต้นๆของโลก ขณะที่กระแสต้องการให้มีการปฏิรูปประเทศมาตั้งแต่ ๑๔ ตุลา. ๒๕๑๖ จนเกิดเหตุการณ์พฤษภา. ๓๕ ถึง รธน. ๒๕๔๐ ที่มีเจตนารมณ์ชัดเจนจะให้มีการปฏิรูปประเทศ แต่ก็เจอกับระบอบทักษิโณมิกส์ จนเกิดการชุมนุมใหญ่ ๓ กลุ่ม ๓ ครั้ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ฉวยโอกาสเข้ามายึดอำนาจ แต่ก็ไม่ตระหนักว่าสังคมไทยต้องการปฏิรูปใหญ่มากๆ จึงไม่ทำอะไรเลยที่จะปรับประเทศให้หมดความเหลื่อมล้ำและเกิดความเป็นธรรม

ถ้าทหารกับพลเอกประยุทธ์ยังรีๆรอๆจดๆจ้องๆ คิดแต่จะสืบทอดอำนาจทหารต่อไป ก็จะถึงจุดจบ และคาดการณ์ได้ไม่ยากว่าสังคมไทยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในไม่ช้า ที่ยากจะควบคุมทิศทางการปฏิรูปที่จะนำไปสู่การปฏิวัติครั้งใหม่นี้ได้

วันนี้ทหารกับพลเอกประยุทธ์ยังมีโอกาส ถ้าชิงการนำการปฏิรูปมาอยู่ในมือของตัวเอง เหมือนในหลวงรัชกาลที่ ๕ ทรงตัดสินพระทัยสร้างระบบราชการแบบสมัยใหม่ขึ้นมานำการปฏิรูป โดยการเตรียมการมาตั้งแต่สมัยในหลวงรัชกาลที่ ๔ โดยเปิดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น สร้างระบบการศึกษาสมัยใหม่ จากจุฬาลงกรณ์ฯต่อถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง หลัง ๒๔๗๕

แต่ทุกอย่างก็หยุดนิ่ง การแข็งตัวในระบบราชการจึงสืบเนื่องมายาวนาน จนเกิดกลุ่มทุนผูกขาดสมัยใหม่ที่ร่วมมือกับทหารและนักการเมือง ทำให้บ้านเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดในภูมิภาคนี้ กลายเป็นประเทศด้อยพัฒนา ที่มีคนจน และมีช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย ถ่างกว้างมากขึ้น ระบอบการปกครองที่ถูกควบคุมโดยทหารมายาวนาน ได้สร้างความไม่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมไทยเพิ่มขึ้น และนับวันจะมากขึ้น

บทเรียนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่เกือบเสียทีฝรั่งเศสและชาวกรีก จนพระเพทราชาตัดสินใจทำรัฐประหารขับไล่ทหารฝรั่งออกหมดและจับชาวกรีก พระยาวิไชเยนทร์ฆ่าเสีย แต่ก็ไม่ได้ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินให้ทันสมัย สุดท้ายก็นำไปสู่การเสียกรุงศรีอยุธยา เสียบ้านเสียเมืองเมื่อปี ๒๓๑๐ จนนำไปสู่การสร้างเมืองหลวงใหม่ ที่อยู่ยาวมาถึงวันนี้

บทเรียนประวัติศาสตร์ของเราเองและประเทศทั่วโลก ชนชั้นนำที่ปกครองประเทศอยู่ในขณะนี้จะตระหนักไหมว่า เสียงเตือนจากนิสิตนักศึกษา นักเรียน ที่ลุกขึ้นมาแล้วในวันนี้ ถ้ากรรมกรชาวนา ชาวบ้านในชนบทและในเมือง เข้าร่วม ก็ยากจะควบคุมทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดนี้ได้

เขียนจบเสร็จกลับไปอ่านหนังสือ”หลายๆ ครั้งในชีวิต” ของ อัศศิริ ธรรมโชติ คนหัวหิน พร้อมๆกับฟังเพลง BOLERO ของ Ravel ต่อด้วยเพลง Don’t Cry for Me Argentina และจบด้วยเพลง Imagine ของ John Lennon เพื่อความหวังที่ยังมีอยู่

และขอรำลึกถึงพี่สุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินที่มีจิตสำนึกทางการเมืองร่วมสมัยเสมอ

เขียนจากหัวหิน
ที่ไกลกังวลตามพระราชปรารภของในหลวงรัชกาลที่ ๗

พิภพ ธงไชย
FB : Pibhop Dhongchai
27/2/2563


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"