'รัฐบาลบิ๊กตู่' ผ่าน 'ศึกซักฟอก' ฉลุย ฝ่ายค้านพ่าย 'ในเกม' หันสู้นอกรั้วสภาฯ


เพิ่มเพื่อน    

        ผ่านไปแล้วสำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และ 5 รัฐมนตรี ได้แก่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

        เป็นการผ่านเวทีซักฟอกครั้งแรกในชีวิตของนายกรัฐมนตรี-รัฐมนตรี จำนวน 6 คน ได้แบบไม่ยากเย็น ไม่ว่าจะเป็นชี้แจงข้อกล่าวหาของฝ่ายค้าน หรือการลงมติของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร

        ขณะที่ผลการลงมติ แม้คะแนนแต่ละคนจะไม่เท่ากันทั้งหมดอย่างที่ผู้ใหญ่ในรัฐบาลอยากจะให้เป็น แต่ถือว่าไม่ได้ห่างกันเกินจนมีนัยสำคัญ

        โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้รับความไว้วางใจ 272 ต่อ 49 คะแนน ส.ส.งดออกเสียง 2 คน, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้รับความไว้วางใจ 277 ต่อ 50 คะแนน งดออกเสียง 2 คน, นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้รับความไว้วางใจ 272 ต่อ 54 คะแนน งดออกเสียง 2 คน

        พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้รับความไว้วางใจ 272 ต่อ 54 คะแนน งดออกเสียง 2 คน, นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ได้รับความไว้วางใจ 272 ต่อ 55 คะแนน งดออกเสียง 2 คน และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้รับความไว้วางใจ 269 ต่อ 55 คะแนน งดออกเสียง 7 คน

        สำหรับบรรยากาศการอภิปรายตลอด 4 วัน 4 คืนที่ผ่านมา ในส่วนภาพรวมของ “ฝ่ายค้าน” ถูกตั้งคำถามพอสมควร ถึงเนื้อหาที่ไม่มีอะไรแปลกใหม่ ส่วนใหญ่เป็นประเด็นที่ปรากฏผ่านหน้าสื่อ ตลอดจนบางเรื่องที่มีการตรวจสอบจนสิ้นกระแสความไปแล้ว

        ก่อนหน้านี้ทุกฝ่ายคาดหวังว่า หลังการร้างลาการอภิปรายไม่ไว้วางใจมาตลอด 7 ปี ฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย ที่มีการเตรียมตัวล่วงหน้ากันมาหลายเดือน จะปล่อย หมัดเด็ด ได้ดีกว่า

       นอกจากเนื้อหาจะไม่บาดลึก จนทำให้นายกรัฐมนตรี-รัฐมนตรี 6 คน เพลี่ยงพล้ำ การอภิปรายยังอยู่ในลักษณะของการเวียนประเด็น และพรีเซนต์วกวน

        ผู้อภิปรายบางคนใช้เวลานานกว่า 1 ชั่วโมง แต่ไม่ได้เนื้อหาสาระสำคัญ ทำให้ตลอด 4 วัน ภาพรวมการอภิปรายเป็นไปได้อย่างจืดชืด

        หัวหมู่ทะลวงฟัน ที่ฝ่ายค้านหมายมั่นปั้นมือจะทำให้ผู้ถูกซักฟอกสั่นคลอน ไม่ว่าจะเป็นนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม, นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม หรือแม้แต่นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ อยู่ในสภาวะ “ผิดฟอร์ม”

        ที่พอจะมีเนื้อหนัง และการนำเสนอที่ประชาชนเข้าใจได้ คงเป็นประเด็นปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร หรือ “ไอโอ” ของฝ่ายความมั่นคง ที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่ นำมาอภิปราย โดยมีพยานหลักฐานประกอบ

       อย่างไรก็ตาม การอภิปรายไม่สมราคาของฝ่ายค้าน ยังนำมาซึ่งข้อสังเกตที่ไปสอดคล้องกับข่าวลือก่อนหน้านี้ที่ว่า มีความพยายามจะคัดชื่อ พล.อ.ประวิตร ออกจากบัญชีรายชื่อรัฐมนตรีที่จะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ

       ยิ่งมีประเด็นฝ่ายค้าน โดยพรรคเพื่อไทยใช้เวลาเกินกำหนด จน ส.ส.อดีตพรรคอนาคตใหม่ ไม่ได้อภิปราย พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.อนุพงษ์ ยิ่งทำให้กลิ่นความไม่ชอบมาพากล เรื่องพรรคเพื่อไทยเกี๊ยเซียะกับฝ่ายรัฐบาลแรงขึ้น

        อันนำซึ่งความขัดแย้ง-หวาดระแวง ระหว่างฝ่ายค้านด้วยกันเอง โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย กับอดีตพรรคอนาคตใหม่ ที่อดีตแกนนำและ ส.ส.จากพรรคที่เพิ่งถูกยุบ พยายามเปิดโปงให้เห็นถึงขบวนการสกัดการอภิปรายของตัวเอง

        “มีข่าวลือเรื่อง คุณขอมา ไม่ให้อภิปราย ประวิตร วงษ์สุวรรณ แต่พวกเราไม่เชื่อว่าเป็นความจริง และเริ่มมีข้อเสนอว่าให้อภิปรายประยุทธ์คนเดียวก็พอ คนอื่นไม่ต้อง แต่พวกเรายืนยันว่าต้องอภิปรายรัฐมนตรีคนอื่นๆ ด้วย เพราะเตรียมงานไว้หมดแล้ว รายชื่อรัฐมนตรีที่พรรคร่วมฝ่ายค้านจะถูกอภิปราย ถูกสับเปลี่ยนไปมาตลอด กว่าจะนิ่ง ต้องรอจนช่วงท้ายๆ” ตอนหนึ่งในเฟซบุ๊กของนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่

        เหตุการณ์ ไม่ลงรอย ระหว่าง 2 พรรคแกนนำฝ่ายค้าน ยิ่งทำให้อุณหภูมิการเมืองร้อนแรงขึ้น โดยเฉพาะข่าวลือเรื่องการฮั้วกันของ “เพื่อไทย-อดีตอนาคตใหม่”

        ภาพที่ออกมายิ่งทำให้ “อดีตอนาคตใหม่” กลายเป็นพรรคที่เหมือนถูกกระทำอยู่ฝ่ายเดียว หลังก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจเพียง 3 วัน เพิ่งจะถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรค กรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ปล่อยกู้เงินจำนวน 191 ล้านบาทให้แก่พรรค

        การที่อดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ถูกตัดสิทธิ์ ส่งผลให้ ส.ส.ของพวกเขาหายไปจำนวน 11 คน ทำให้เสียงระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้านโผล่พ้นสภาพปริ่มน้ำไปแล้ว ยังต้องมาเจอข่าวการฮั้วกันกับฝ่ายค้านบางส่วน เท่ากับว่าระบบถ่วงดุลในซีกนิติบัญญัติกำลังจะเผชิญปัญหาใหม่

        นั่นคือ สภาพ “เสียงข้างมาก” กุมสภาพเบ็ดเสร็จในสภาฯ

        สภาวะแบบนี้เป็นการบีบให้ “อดีตอนาคตใหม่” ที่ไร้หนทางสู้ในระบบนิติบัญญัติ เปลี่ยนวิธีการต่อสู้ไปสู่ “นอกสภาฯ” โดยอัตโนมัติ เหมือนกรณีที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

       “เมื่อไรก็ตามที่ประชาชนสิ้นหวังกับสภาผู้แทนราษฎร และเห็นว่าสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เมื่อนั้นการเมืองนอกสภาฯ ก็จะเข้มข้นขึ้น” ท่าทีของนายปิยบุตร หลัง ส.ส.อดีตอนาคตใหม่ ถูกสกัดกั้น

        หรือแม้แต่คนที่เคยผ่านประสบการณ์ทำม็อบอย่างนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ที่อ่านสถานการณ์ไว้เช่นเดียวกัน

        เมื่อสภาฯ ยิ่งเสื่อม ขบวนการนอกสภาฯ ยิ่งเติบโต ผมพูดเช่นนี้ไม่ใช่ต้องการโหนพลังนักศึกษาคนหนุ่มสาว เพราะผมต่อสู้แบบนี้มานาน และผ่านขบวนการเหล่านี้มาแล้ว ผมจึงเข้าใจและดีใจที่เห็นพลังคนหนุ่มสาวมีสำนึกต่อชาติบ้านเมือง

        มันจะเป็นการสุมเชื้อเพลิงให้การเคลื่อนไหวของนิสิต นักศึกษา นักเรียน ที่กำลังจัด “แฟลชม็อบ” ยิ่งดูร้อนแรงมากขึ้น

        เพราะแฟลชม็อบที่เกิดขึ้น มีมูลเหตุมาจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ และเมื่อในเวลาไล่เลี่ยกันยังถูกสกัดกั้นการทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ มันยิ่งไปสร้างเงื่อนไขในการปลุกระดม

        ดังนั้นแม้รัฐบาลจะสลัดสภาวะ “ปริ่มน้ำ” ทำให้การลงมติและพิจารณากฎหมายต่างๆ ในสภาฯ ต่อจากนี้หายใจได้มากขึ้น ไม่ต้องนั่งเช็กรายชื่อกันแบบก่อน แต่ไม่ได้หมายความว่า หลังจากนี้ทุกอย่างจะง่าย

        แต่จะยิ่งยากขึ้นเป็นอีกเท่าทวี เพราะขณะนี้ความไม่พอใจได้ก่อตัวขึ้นแล้ว เพียงแต่ยังไม่สามารถพัฒนาจาก “แฟลชม็อบ” ไปสู่ “ม็อบบนถนน” ได้เท่านั้น เนื่องจากยังขาดเงื่อนไขที่สุกงอม

        และแน่นอนว่า ฝ่ายตรงข้ามไม่ได้หยุดความพยายามตรงนั้น จะเห็นว่ามีการเปิดโปงเรื่องความไม่ชอบมาพากลในรัฐบาล ตั้งแต่ปฏิบัติการไอโอ, เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของคนใกล้ชิดบุคคลในรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.อนุพงษ์

        วันนี้การตอบโต้โดยใช้วิธีการชำแหละว่า มีไอ้โม่งหนุนหลังม็อบนักศึกษา ไม่สามารถหยุดยั้งการเคลื่อนไหวได้อีกแล้ว เพราะมันได้ก่อตัวขึ้นแล้ว กลับกันจะยิ่งเป็นการ “เรียกแขก” ให้เพิ่มขึ้น

        ทุกย่างก้าวของรัฐบาลจะมีแต่ขวากหนาม และลวดหนามที่แหลมคมกว่าเดิม แม้จะไม่ต้องเผชิญเรื่องเสียงปริ่มน้ำอีกแล้วก็ตาม

        เพราะตอนนี้ทุกฝ่ายต่างเข้าใจว่า รัฐบาลกุมสภาพได้เบ็ดเสร็จแล้วทั้งบริหาร-นิติบัญญัติ สิ่งที่ต้องกังวลคือ การกระทำที่อาจจะเป็นการไปสร้างเงื่อนไขให้กับผู้ชุมนุมที่ก่อตัว

        โดยเฉพาะเรื่องทุจริต-การใช้อำนาจเกินขอบเขต-การใช้เสียงข้างมากในสภาฯ กระทำการเพื่อประโยชน์ตัวเอง-การลิดรอดสิทธิเสรีภาพ

        ในสภาฯ อาจปลอดภัย แต่ข้างนอกสภาฯ กลับน่าพะวง.

 

       "เพราะตอนนี้ทุกฝ่ายต่างเข้าใจว่า รัฐบาลกุมสภาฯ ได้เบ็ดเสร็จแล้วทั้งบริหาร-นิติบัญญัติ สิ่งที่ต้องกังวลคือ การกระทำที่อาจจะเป็นการไปสร้างเงื่อนไขให้กับผู้ชุมนุมที่ก่อตัว"


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"