'ทอน'ตีมึนม็อบจุดติด ไม่คาดคิดยุบอนค.เป็นเชื้อไฟลามทุ่ง/สภาฯเสียงแตกเปิดวิสามัญ


เพิ่มเพื่อน    


    “ณัฏฐพล” ยกอดีต กปปส.เตือนนิสิต-นักศึกษาใช้วิจารณญาณทำแฟลชม็อบ วิปรัฐบาลลั่นยังไม่มีแนวคิดเปิดสภาสมัยวิสามัญ ส่วนที่ปรึกษาประธานชวนเผยต้องเป็นเรื่องสำคัญ “เทพไท” ชี้กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ ชงแก้ไขรัฐธรรมนูญทันทีปลดล็อกดีกว่า “พท.” พาเหรดขย้ำบิ๊กตู่เป็นโมฆบุรุษ แนะเลียนแบบ “ป๋าเปรม” ประกาศ “ผมพอแล้ว“ ธนาธรตีมึนโพสต์เฟซบุ๊ก ไม่รู้ยุบอนาคตใหม่จะเป็นเชื้อไฟแฟลชม็อบลามทุ่ง แนะหนังสือสู้เผด็จการ สัมมนารัฐธรรมนูญรุมสับอำนาจองค์กรอิสระ
    เมื่อวันจันทร์ยังคงมีการแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย ถึงความเคลื่อนไหวของนักเรียน นิสิต นักศึกษาในการจัดกิจกรรมแฟลชม็อบขับไล่รัฐบาล โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า เราต้องฟังทุกฝ่ายเพราะเป็นประเทศประชาธิปไตย ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น ซึ่งรัฐบาลต้องรับฟัง แต่ขอให้ออกมาแสดงความเห็นหรือรวมตัวกันเพื่อความก้าวหน้าของบ้านเมืองและประโยชน์ของประชาชน แต่ช่วงนี้มีโรคติดต่ออยู่ก็ขอให้ระวังกัน และยืนยันว่าไม่เคยพูดว่าจะใช้พระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพราะยังห่างไกลจากจุดนั้นมาก มีแต่พูดว่าเป็นห่วงขอให้ระวังรับผิดชอบซึ่งกันและกันเท่านั้น
    นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ไม่ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของใคร แต่ต้องเข้าใจข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมด้วย ซึ่งการชุมนุมต้องมีการขออนุญาตและความพร้อม ดังนั้นจึงต้องการให้นักเรียนที่ร่วมชุมนุมศึกษากฎหมายด้วย โดยการแสดงออกทางการเมืองเป็นสิทธิของแต่ละคน เนื่องจากเคยเป็นผู้ชุมนุมมาก่อน และวันนี้ก็เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย  ดังนั้นขอบอกว่าไม่ใช่เรื่องสนุก และยังเป็นการสร้างภาระความกังวลใจให้แก่ครอบครัวด้วย 
    “ขอเตือนเด็กและเยาวชนไว้เป็นอุทาหรณ์ ไม่ใช่นำไปเปรียบเทียบว่า รมว.ศธ.ก็เคยทำการชุมนุมมาแล้ว ใครๆ ก็ทำได้ แต่ขอทำความเข้าใจว่าการดำเนินการมีเหตุผลและบริบทที่แตกต่างกันออกไปในการออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ดังนั้นขอให้ใช้วิจารณญาณให้ดี” นายณัฏฐพลกล่าว
    พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) กล่าวถึงการดูแลการจัดกิจกรรมแฟลชม็อบว่า ให้เป็นไปตามกลไกของบ้านเมือง เพราะกองทัพให้ความสำคัญในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชาติบ้านเมือง เช่น ไฟป่า ภัยแล้ง การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นสิ่งที่เรากลัวมาก เราจะไม่เข้าไปแตะในเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องสำคัญของชาติบ้านเมือง และจะรับผิดชอบในเรื่องที่ใกล้ตัวมากกว่า
ขณะเดียวกันที่รัฐสภา นายราเมศ รัตนะเชวง เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้รับหนังสือจาก 3 พรรคการเมืองขนาดเล็กทั้งพรรคประชาธรรมไทย, พรรคไทยศรีวิไลย์ และพรรคไทรักธรรม ที่ขอให้มีการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ประจำปี 2563 ครั้งที่ 1 เพื่อนำปัญหากรณีนักเรียน นักศึกษาจัดชุมนุมทางการเมือง ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนเกิดเหตุบานปลาย
    นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภา กล่าวเรื่องนี้ว่ายังไม่มีแนวความคิดเรื่องดังกล่าว และนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาก็ยังไม่มีความคิดเห็นเรื่องนี้ เพราะการเปิดประชุมสมัยวิสามัญจะต้องเป็นเฉพาะกรณีสำคัญแท้จริง เช่นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ เป็นต้น โดยหากจะเปิดประชุมวิสามัญต้องให้ ส.ส.เข้าชื่อร้องตามรัฐธรรมนูญ 
    ทั้งนี้รัฐธรรมนูญ มาตรา 123 กำหนดว่า ส.ส.และ ส.ว.ทั้งสองสภารวมกัน หรือ ส.ส.มีจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่ง 1 ใน 3 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา มีสิทธิ์เข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาให้นําความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการประกาศเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญได้ 
เชื่อกว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้
    นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า วิปรัฐบาลเองยังไม่มีความคิดเห็นเปิดประชุมสมัยวิสามัญ 
    นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรค ปชป.กล่าวว่า ไม่ขัดข้องถ้าจะเปิดประชุมวิสามัญเพื่อเสนอญัตติเรื่องนี้ แต่สิ่งที่กังวลคือกว่าจะเสนอให้เปิดวิสามัญได้ กว่าจะตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.)  วิสามัญศึกษาเรื่องดังกล่าว จะเสียเวลาประมาณ 3 เดือนซึ่งเป็นเวลาที่ยาวนาน เกรงว่ากว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้เสียก่อน จึงขอเสนอให้รัฐบาลไปฟังความเห็นข้อเรียกร้องข้อเสนอของกลุ่มนิสิต นักศึกษาที่ชุมนุมว่ามีอะไรบ้าง จากนั้นให้นำมาพิจารณาโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอที่เรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งสามารถรับได้ทันทีและน่าจะเป็นการปลดล็อกชนวนได้ในระดับหนึ่ง เพราะเรามี กมธ.วิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์แนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว และถ้าจะให้รวดเร็วกว่านี้รัฐบาลก็เปิดวิสามัญแก้ไขรัฐธรรมนูญไปเลย แบบนี้ถือว่าสั้นม้วนเดียวจบ
    “หากรัฐบาลเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียเอง จะเป็นเรื่องง่ายที่จะขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งถ้าจะแก้หรือถ้าจะเปิดสมัยประชุมวิสามัญไม่ควรตั้งคณะ กมธ.ศึกษาเรื่องนี้อีกแล้ว เพราะเป็นการเสียเวลา เป็นการซื้อเวลา ไม่เกิดประโยชน์กับสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้” นายเทพไทกล่าว
    นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว) โพสต์เฟซบุ๊กถามถึงการเปิดสภาสมัยวิสามัญแล้วได้อะไรอีกครั้งว่า ไม่ได้ผลเร็วทันใจ และอาจไล่ไม่ทันความขัดแย้งข้างนอกระบบด้วยซ้ำ แต่ได้ผลทันทีคือได้แสดงความจริงใจและตั้งใจจริงของรัฐบาล ซึ่งประเด็นที่ได้ผลทันที แค่นี้คุ้มหรือไม่ ขึ้นกับมุมมองของแต่ละท่าน แน่นอนว่ามุมมองของรัฐบาลเป็นกุญแจเบื้องต้นของการนี้
    ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รีทวีตข่าวข้อเสนอของนายคำนูณ พร้อมทวีตข้อความว่า ถ้านักเรียนนักศึกษาเสนอแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ยุบสภา และให้ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.ลาออก จะทำได้ไหม 
    ด้านนายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย (พท.) ระบุว่า สถานการณ์ขณะนี้มันสุกงอมแล้ว โดยในระดับนานาชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหมเป็นโมฆบุรุษในสายตาชาวโลกมานานมากแล้ว ซึ่งฟางเส้นสุดท้ายที่เด็กออกมาเคลื่อนไหว คืออำนาจเผด็จการที่แฝงอยู่ในชื่อประชาธิปไตย ก็เป็นเพียงประชาธิปไตยจอมปลอม ที่ทั้งชาวโลกและประชาชนคนไทยซึมซับแล้วว่าไม่อาจแก้ไขปัญหาชาติบ้านเมืองได้ มีทางเดียวที่จะออกจากปัญหาคือ พล.อ.ประยุทธ์ต้องประกาศว่าตนพอแล้ว เหมือน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เคยประกาศเมื่อครั้งครองตำแหน่งนายกฯ มา 8 ปี 
    นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรค พท.ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์เตือนกลุ่มนักศึกษาที่จัดแฟลชม็อบระวังจะมีคดีอาญาติดตัวว่า อยากเตือนไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ว่าอย่าไปเติมฟืนในกองไฟ เพราะโลกสื่อสารมันไปเร็วมาก เด็กเหล่านี้มีอนาคตอยู่แล้ว แต่คนที่ไปขู่เด็กระวังไม่มีอนาคต พล.อ.ประยุทธ์ควรระมัดระวังคำพูด อย่าไปขู่เพราะเด็กไม่กลัวคำขู่
'ทอน' ตีมึนม็อบจุดติด
    ส่วนนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี โพสต์รูปภาพประชาชนและข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ “จากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย: แผนการสู่อิสรภาพ” ว่าไม่เคยมีใครคิด ไม่เคยมีใครคาดหวัง ไม่เคยมีใครรู้ล่วงหน้า ว่าเหตุการณ์การยุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อวันที่ 21 ก.พ.จะเป็นตัวจุดชนวนความไม่พอใจของคนจำนวนมากในสังคมให้ระเบิดออกมา เป็นการแสดงออกซึ่งความไม่พอใจที่มีมาก่อนหน้านี้แล้วต่อสภาพการเมืองการปกครอง การบริหารราชการแผ่นดิน เศรษฐกิจ และสภาพสังคมภายใต้เผด็จการที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนาน คนจำนวนมากจึงตัดสินใจว่าพวกเขา พวกเราจะไม่อยู่เฉยอีกต่อไปและต้องออกมาทำอะไรบางอย่างบ้างแล้ว
    “ผมไม่กังขาในความสามารถของพ่อแม่พี่น้องประชาชนทุกคนในการโค่นล้มเผด็จการ โดยเฉพาะศักยภาพของคนรุ่นใหม่ที่ออกมาชุมนุมกันอย่างเป็นจริงเป็นจังช่วงนี้ แต่การโค่นล้มเผด็จการที่ฝังรากในสังคมไทยมายาวนานไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นผมจึงเห็นว่าช่วงนี้สำคัญที่สุดที่เราจะมาร่วมกันศึกษาและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เครื่องมือ เทคนิควิธีการ ในการต่อกรกับเผด็จการและเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย” นายธนาธรระบุ
นายธนาธรยังโพสต์ว่า ประเทศไทยในปี 2537 นั้นเป็นประเทศที่มีสิทธิเสรีภาพ มีอนาคตบนเส้นทางอันสดใส เพราะสามารถกำจัดเผด็จการได้สำเร็จในปี 2535 และเชื่อว่าการรัฐประหาร 23 ก.พ.2534  จะเป็นรัฐประหารครั้งสุดท้าย แต่ความจริงตั้งแต่ตอนนั้นมาจนถึงวันนี้ เรามีรัฐประหารไปแล้วถึง 2 ครั้ง  คือรัฐประหารปี 2549 และ 2557 รวมถึงความขัดแย้งวุ่นวายและความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ทำให้ระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถลงหลักปักฐานได้อย่างมั่นคงแข็งแรง นำไปสู่การกลับมาของระบอบเผด็จการ ซึ่งเผด็จการก็ยังคงสืบทอดอำนาจมาจนถึงปัจจุบันนี้ และมีแนวโน้มจะอยู่ยาวไปเรื่อยๆ จนประเทศไทยกลายเป็นประเทศท้ายๆ ในโลกที่ยังคงมีการยึดอำนาจรัฐประหารกันอยู่
    นายธนาธรยังโพสต์อีกว่า ขอแนะนำหนังสือชื่อ From Dictatorship to Democracy หรือแปลเป็นไทยในชื่อจากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย ของ ยีน ชาร์ป ซึ่งถือเป็นหนังสือเล่มแรกในรายการหนังสือบังคับอ่านของวิชา ต่อสู้เผด็จการ 101 และในสัปดาห์ต่อๆ ไปหากไม่มีอะไรผิดพลาด จะมาแนะนำหนังสือดีๆ ที่เกี่ยวกับการต่อสู้กับเผด็จการโดยไม่ใช้ความรุนแรงอีกหลายๆ เล่ม และหวังว่าสักวันใดวันหนึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ เราจะหลุดพ้นจากเผด็จการและวงจรอุบาทว์ไปได้เสียที
    นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติม อดีตสมาชิกพรรค ปชป.โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า จากการได้ติดตามการแสดงพลังของนักศึกษาทั่วประเทศ สัมผัสได้ว่าการต่อสู้ของพวกเขาไปไกลกว่าการต่อสู้เพื่ออนาคตใหม่ แต่เป็นการต่อสู้เพื่ออนาคตประเทศไทยที่อยากเห็น แต่คำถามที่สำคัญว่าการออกมาของพวกเขา จะนำไปสู่ข้อเสนอหรือทางออกอะไรให้บ้านเมืองที่จะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน บางคนมองว่าการที่ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก ยุบสภา และจัดการเลือกตั้งใหม่จะเป็นทางออกที่เพียงพอ แต่ขอเห็นต่างเพราะแม้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก ประเทศก็ยังมีนายทหารอีกหลายคนที่พร้อมจะเสียบแทน ซึ่งทางออกเดียวของประเทศคือการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอย่างแท้จริง 
    ด้านคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1/2563 สนับสนุนสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา โดยมีความเห็นต่อสาธารณะและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง คือ 1.สนับสนุนการแสดงออกโดยการชุมนุมว่าเป็นสิทธิเสรีภาพทางการเมือง ที่แสดงออกได้โดยเสรีตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศ 2.ขอให้นักเรียน นิสิต  นักศึกษา ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมที่มี และใช้สิทธิและความรับผิดชอบต่อส่วนรวมด้วยสันติวิธีและภราดรภาพ 3.ขอเรียกร้องให้ผู้บริหารสถาบันการศึกษา เจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้อำนวยความสะดวกให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ได้ใช้สิทธิเสรีภาพเหล่านั้นอย่างเต็มที่ด้วยความสงบเรียบร้อย และ 4.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการทำงานว่าได้แก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ที่ผ่านมาได้มากน้อยเพียงใด โดยหากรัฐบาลไม่เป็นที่ไว้วางใจ ไร้ประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาและไม่สามารถหาทางออกให้ประเทศได้ ก็ควรพิจารณาลาออกหรือยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่
    วันเดียวกัน The101.world ได้จัดงานเสวนา 101 Policy Forum # 2 ในหัวข้อ “แก้รัฐธรรมนูญ ออกแบบสัญญาประชาคมใหม่” โดยมีนายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรค อนค.ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี, นายวิเชียร ชวลิต ตัวแทนจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.), นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรค พท. และนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค ปชป.ร่วมเสวนา
รุมถล่มอำนาจองค์กรอิสระ
    โดยนายปิยบุตรกล่าวว่า รัฐธรรมนูญที่ดีมี 5 องค์ประกอบ คือ 1.มาจากประชาชน 2.อำนาจสูงสุดมาจากประชาชน 3.การแบ่งแยกสถาบันการเมืองต่างๆ ให้สมดุล มีระบบการจำกัดตรวจสอบการใช้อำนาจ 4.ประกันเสรีภาพในการแสดงออก และ 5.ช่องทางในการแก้ไขเปลี่ยนแปลง แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่มีทั้ง 5 ข้อเลย และเมื่อใช้มากว่า 1 ปีก็เห็นแล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะนำไปสู่ทางตัน
    “รัฐธรรมนูญนี้คิดฝันเกินตัวกว่าวัฒนธรรมการเมืองของประเทศไทย ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระเป็นการนำเอาโมเดลของตะวันตกมาใช้ก่อนผิดเพี้ยนไปหมด ที่ผ่านมาไม่ว่าองค์กรอิสระหรือศาลรัฐธรรมนูญก็ดี คุณใช้อำนาจประจันหน้ากับองค์กรที่มาจากการเลือกตั้ง ขณะที่ในต่างประเทศเขาไม่ได้มีอำนาจขนาดนี้”
    นายชูศักดิ์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญที่ดีต้องมองจากที่มาและเนื้อหาสาระประกอบกัน โดยที่มาต้องเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการยกร่าง ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 นั้นไม่เป็นกลาง มีการสืบทอดอำนาจชัดเจน และให้อำนาจตุลาการมากเกินไป อำนาจและที่มาขององค์กรอิสระมีมากเกินไป และไม่ควรนำศาลมายุ่งเกี่ยวกับการคัดเลือกองค์กรอิสระทั้งหลาย เพราะเท่ากับการนำศาลมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง และจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสังคมไทยหลายประการในเรื่องความเป็นกลางทางการเมือง และไม่ควรเอาผู้พิพากษามาเป็นองค์กรอิสระ ควรสรรหาบุคคลที่เป็นกลางมาดำรงตำแหน่ง
    “ศาลรัฐธรรมนูญควรถูกจำกัดอำนาจ ไม่ใช่มีอำนาจมากขนาดนี้ อำนาจที่ควรมีก็คือการวินิจฉัยกฎหมายว่าข้อใดขัดแย้งรัฐธรรมนูญ หรือวินิจฉัยสมาชิกภาพของ ส.ส.และ ส.ว. รวมทั้งควรถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้เช่นเดียวกับศาลอื่นๆ” นายชูศักดิ์ระบุ
    นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า การมีองค์กรอิสระนับเป็นความก้าวหน้าของประเทศ เมื่อประชาธิปไตยมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น หากเราไม่มีองค์กรอิสระเราจะไม่เห็นนักการเมืองติดคุก แต่ตอนหลังกลายเป็นว่าองค์กรอิสระมีอำนาจมากจนกลายเป็นเสืออีกตัวหนึ่งที่มีปีกด้วย แต่มันจำเป็นต้องมี ส่วนการได้มานั้นต้องมีวิธีการเพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายเสียงข้างมากผูกขาด ซึ่งต้องมาพิจารณากันในส่วนนี้อีกที
    นายวิเชียรกล่าวว่า ถ้าศึกษาเปรียบเทียบจะพบว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มีความใกล้เคียงและสอดคล้องกับปี 2540 ทั้งหลักการและการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพต่างๆ จึงอยากเรียกร้องว่าถ้าเรามีรัฐธรรมนูญ 60 ขอให้มาพิจารณาว่าใช้แล้วมีปัญหาอะไรหรือต้องปรับแก้ส่วนไหน ไม่ใช่ยกร่างขึ้นใหม่แล้วก็ไม่รู้ว่าอะไรมาจากไหนอีก เพราะเรื่องบางเรื่องอาจไม่เคยมีการใช้ แล้วพอนำมาใช้อำนาจจะมีปัญหาตามมาอีก
    “รัฐธรรมนูญต้องเป็นกฎหมายที่แก้ยาก การที่มีสัดส่วนของพรรคที่ไม่ได้เป็นรัฐบาล เป็นการแสดงให้เห็นถึงการฟังเสียงข้างน้อย ส่วนสิ่งที่เป็นผลลัพธ์และปัญหาที่เราต้องแก้นั้น ผมเชื่อว่าเราสามารถทำความเข้าใจกันได้ แต่ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมายรัฐธรรมนูญ มีการอ้างอิงได้ว่ามันมาอย่างไร  ซึ่งส่วนใหญ่ก็มาจากประชามติทั้งหมด ตามที่ผมยืนยันตั้งแต่ต้นแล้วว่าอะไรที่เป็นข้อติดขัดก็ขอให้แก้ไข" นายวิเชียรกล่าว. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"