ปีนี้เผาจริง...(1)


เพิ่มเพื่อน    

               

                ปีที่แล้วนักวิเคราะห์บางสำนักบอกว่า "ปีนี้เผาหลอก ปีหน้าเผาจริง" แต่ไม่มีใครเชื่อสักเท่าไหร่

                แต่เมื่อเกิดโรคระบาดตอนใกล้สิ้นปี ข้ามมาถึงปีใหม่เข้าสู่เดือนที่สามสัปดาห์นี้ คงไม่มีใครปฏิเสธว่าปีนี้ "เผาจริง" และปีหน้าอาจจะ "เผาซ้ำ" ก็เป็นได้ หากปัจจัยลบทั้งหลายยังอยู่ครบหน้า ไม่ยอมห่างเราไปไหน

                ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภัยแล้ง, PM2.5, สงครามการค้าจีนกับสหรัฐฯ และผลต่อเนื่องจาก Covid-19

                ต่อไปนี้คนไทยคงจะต้องเชื่อในสัจธรรมว่า "ความไม่แน่นอนคือความแน่นอนแน่แท้"

                ไตรมาสแรกของปีนี้หนักแน่นอน

                คุณดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  บอกว่าเศรษฐกิจไทยจะดิ่งลึกสุดในไตรมาส 1 ของปีนี้

                สาเหตุหลักคือผลจากการระบาดของไวรัส Covid-19

                ธปท.ประเมินว่าสถานการณ์จะมีผลกระทบในช่วง 2-3 เดือน โดยเฉพาะตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงเดือน ก.พ.เบื้องต้นหายไปแล้วกว่า 45% จากจำนวนนักท่องเที่ยวรวม

                ผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือภาคการส่งออกที่ชะลอตัว จากตลาดจีนที่เป็นคู่ค้าอันดับ 1 มีสัดส่วนกว่า 11-12% จากมูลค่าการส่งออกรวม

                แบงก์ชาติหวังว่าในช่วงมีนาคม เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวดีขึ้นจากสองเดือนแรกของปี

                แต่อาจจะเป็นแค่ความหวังครับ เพราะถึงวันนี้ยังไม่มีทีท่าว่าโรคระบาดจะเริ่มนิ่งแต่อย่างใด

                ตรงกันข้ามองค์การอนามัยโลกประกาศยกระดับการประเมินความเสี่ยงจาก "สูง" เป็น "สูงมาก"

                คำถามใหญ่ตอนนี้คือ เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกจะติดลบไหม หรือจะเข้าสู่ภาวะ recession (ถดถอย) หรือไม่

                คงต้องรอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พิจารณาในเดือนมีนาคม

                คุณดอนบอกว่า "ตอนนี้ทุกอย่างมีความเป็นไปได้ทั้งหมด"

                ถึงกับต้องยกเอาคำพระมาเป็นหลักคิดในยามวิกฤติ คือ "เราเดินๆ ไปอยู่ดีๆ อาจจะตายได้ จึงต้องมีสติ"

                ที่ค่อนข้างแน่คือ เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2563 อยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่อง มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัว 3.5% จากระยะเดียวกันปีก่อน แต่ถ้าไม่รวมการส่งออกทองคำ จะขยายตัว -1.3%

                ขณะเดียวกันการลงทุนภาคเอกชนก็หดตัวอย่างต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน เพราะขาดความมั่นใจและแรงจูงใจ

                ซ้ำร้ายการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน ไม่ว่าจะเป็นรายจ่ายประจำหรือรายจ่ายการลงทุน

                ทั้งนี้ก็เกิดจากความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563

                อย่างที่รู้ๆ กัน เพิ่งจะประกาศใช้งบประมาณใหม่ได้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง

                เท่ากับช้าไปทั้งหมดเกือบ 6 เดือนหรือปาเข้าไปครึ่งปี

                เมื่อเศรษฐกิจอ่อนเพลียอย่างนี้ สิ่งที่เอกชนต้องการอย่างเร่งด่วนคือการเยียวยาช่วยเหลือระยะสั้นเพื่อไม่ให้ "หมดลมหายใจ" ไปเสียก่อน

                คุณรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงินของแบงก์ชาติ บอกว่าธนาคารกลางตระหนักว่าขณะนี้เห็นแนวโน้มชัดเจนว่า Covid-19 จะลุกลามและส่งผลกระทบรุนแรงในวงกว้างต่อธุรกิจและประชาชนทั่วไป

                ธปท.จึงได้ร่วมกับสถาบันการเงิน กำหนดมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ลูกหนี้ธุรกิจทุกประเภทและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ "ในเชิงรุก"...คือไม่ให้ธุรกิจกลายเป็นศพเสียก่อนแล้วจึงยื่นมือเข้ามาช่วย

                มาตรการที่ว่านี้จะเน้นการให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องและเร่งปรับโครงสร้างหนี้

                ยกตัวอย่างเช่นการให้เงินทุนหมุนเวียนเพิ่ม

                -พักชำระหนี้เป็นการชั่วคราว

                -ขยายระยะเวลาการชำระหนี้

                -ลดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม

                -ผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตได้ต่ำกว่าร้อยละ 10

                -เพิ่มวงเงินชั่วคราวสำหรับสินเชื่อส่วนบุคคล

                ทั้งหมดนี้เพื่อช่วยให้ลูกหนี้สามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤตินี้ไปได้ โดยกำหนดเป็นมาตรการชั่วคราวระยะเวลา 2 ปี ระหว่าง 1 ม.ค.63 ถึง 31 ธ.ค.64

                และเพื่อให้สถาบันการเงินช่วยเหลือด้านสภาพคล่องและปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ได้อย่างทั่วถึงและทันท่วงที แบงก์ชาติจึงได้ปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดชั้นและการกันเงินสำรอง รวมทั้งการรายงานข้อมูลเครดิตของลูกหนี้เพื่อให้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น

                ทั้งหมดนี้เป็นมาตรการเร่งด่วนเฉพาะหน้า แต่ทางการและเอกชนยังต้องมาระดมความคิดเพื่อวางมาตรการระยะกลางและระยะยาว เพื่อให้เราสามารถลุกฟื้นขึ้นมาพร้อมเรี่ยวแรงวิ่งไปข้างหน้าได้เมื่อวิกฤตินี้เริ่มผ่อนเบาลง

                ต้องจำไว้ว่าวิกฤติจะไม่มีวันหายไป เรื่องหนึ่งหายไปอีกเรื่องหนึ่งก็จะโผล่มา

                เพราะนี่คือโลกยุคแห่งความเปลี่ยนผันที่มีปัจจัยความไม่แน่นอนสูงกว่าครั้งไหนๆ ที่ผ่านมา. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"