ข้อตกลงสู่สันติภาพระหว่างตอลิบันกับรัฐบาลทรัมป์


เพิ่มเพื่อน    

 

   เมื่อสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐกับตอลิบันบรรลุข้อตกลงหยุดยิง ระงับความรุนแรงระหว่างกัน และเริ่มกระบวนการเจรจาสันติภาพ สหรัฐจะถอนกำลังออกจากประเทศทั้งหมดภายใน 14 เดือน (ในขั้นแรกจะลดเหลือ 8,600 นายจากจำนวน 13,000 นาย) ตอลิบันต้องไม่ปล่อยให้อัลกออิดะห์หรือกลุ่มอื่นๆ ใช้ประเทศเป็นฐานปฏิบัติการ ส่วนอนาคตของอัฟกานิสถานเป็นเรื่องที่คนอัฟกันต้องตัดสินใจกันเอง

                ข้อตกลงนี้จึงเหมือนข้อตกลงเบื้องต้นสู่สันติภาพในที่สุด

สหรัฐต้องการถอนทหารมานานแล้ว :

                กองกำลังสหรัฐเริ่มรบในอัฟกานิสถานจากเหตุก่อวินาศกรรมเมื่อ 11 กันยายน 2001 เมื่อสหรัฐกับพันธมิตรสามารถโค่นล้มรัฐบาลตอลิบัน ปราบปรามอัลกออิดะห์ในประเทศ จัดตั้งรัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตย เมื่อการสู้รบซาลง รัฐบาลสหรัฐถอนกำลังเรื่อยมา สมัยรัฐบาลโอบามาเกิดข้อตกลง Bilateral Security Agreement (BSA) ระบุสหรัฐจะคงทหารในอัฟกานิสถาน 9,800 นาย จะไม่ส่งทหารเข้าปะทะกับศัตรูซึ่งหน้า (เช่นเดียวกับทหารนาโตอื่นๆ ที่ประจำการอยู่)

                การสังหารนายอุซามะห์ บินลาดิน หรือโอซามา บินลาเดน (Osama Bin Laden) ผู้นำอัลกออิดะห์เป็นอีกเหตุผลของการถอนทหาร รัฐบาลโอบามาประกาศความสำเร็จในสงครามอัฟกานิสถาน

                การที่ค่อยๆ ถอนทหารมาจากหลายสาเหตุ อาจมองว่ารัฐบาลสหรัฐไม่คิดถอนทหารทั้งหมด แต่ตั้งใจให้ยืดเยื้อออกไป คงเหลือทหารจำนวนหนึ่งไว้ อีกข้อมาจากคำร้องขอของรัฐบาลอัฟกานิสถานที่ยังเห็นว่าจำต้องรับการสนับสนุนจากทหารต่างชาติ ยกเหตุผลการฟื้นตัวของตอลิบัน อัลกออิดะห์ กองกำลังติดอาวุธที่มาจากหลายประเทศ มีเหตุการณ์ตัวอย่างว่าในสมรภูมิสำคัญทั้งๆ ที่ทหารอัฟกันมีจำนวนมากกว่า แต่ไม่อาจสู้พวกตอลิบัน 

                ที่ผ่านมาถ้ามองเป้าหมายเฉพาะการถอนหรือลดจำนวนทหาร ควรยอมรับว่ารัฐบาลสหรัฐประสบความสำเร็จ แม้มีอุปสรรค แม้ต้องเจรจากับหลายฝ่ายทั้งกับตอลิบัน รัฐบาลอัฟกัน ปากีสถาน ฯลฯ อย่างไรก็ตามสามารถลดทหารได้จริง รัฐบาลทรัมป์มาทิศทางเดียวกันคือต้องการพาทหารกลับบ้าน ถ้ายึดตามเป้าหมายนี้ต้องถือว่าเป็นผลงานของทรัมป์อีกชิ้น มีกำหนดถอนทหารที่ชัดเจน

                ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐประกาศชัยชนะ มุมมองที่ตรงข้ามจะวิพากษ์ว่าชนะจริงหรือไม่ หรือกำลังจมปลักเหมือนสงครามเวียดนาม

                ปี 2019 ฮามิด การ์ไซ (Hamid Karzai) อดีตประธานาธิบดีอัฟกานิสถานกล่าวถึงความล้มเหลวของรัฐบาลสหรัฐว่าหลังทุ่มเงินกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ทำศึกนานเกือบ 2 ทศวรรษ ทุกวันนี้พื้นที่กว่าครึ่งของประเทศอยู่ใต้การปกครองของพวกตอลิบัน ทั้งนี้เพราะตอลิบันฟื้นตัวกลับมามีอิทธิพล

                ความจริงคือแม้สามารถล้มรัฐบาลตอลิบัน จัดตั้งรัฐบาลหุ่นเชิด แต่ครองอำนาจเพียงพื้นที่เล็กๆ บางคนพูดติดตลกว่าได้แค่ดูแลกรุงคาบูลกับเมืองสำคัญบางแห่งเท่านั้น ทุกวันนี้รัฐบาลอัฟกานิสถานอยู่ได้เพราะมีกองทัพสหรัฐให้ความคุ้มครอง หากถอนกำลังตอลิบันจะเข้ายึดครองกรุงคาบูลทันที เหมือนเวียดนามใต้ที่ล่มอย่างรวดเร็ว

                พวกตอลิบันอาจถูกตีแตกพ่ายแต่จะกลับเข้าไปในพื้นอีกครั้งหลังกองทัพต่างชาติถอนกำลัง เป็นลักษณะสงครามที่สหรัฐไม่อาจชนะเบ็ดเสร็จ

อนาคตของอัฟกานิสถาน คนอัฟกันต้องกำหนดเอง :

                ตอนนี้รัฐบาลสหรัฐกับตอลิบันบรรลุข้อตกลงยุติความรุนแรง คำถามคือภายใต้ข้อตกลงดังกล่าวความสัมพันธ์ระหว่างตอลิบันกับรัฐบาลอัฟกานิสถานจะเป็นอย่างไร จะหยุดยิงด้วยหรือไม่ จะอยู่ร่วมกันหรือไม่ อย่างไร

                ต้องไม่ลืมว่าก่อนมีรัฐบาลประชาธิปไตยเดิมตอลิบันเป็นผู้ปกครองประเทศ ประกาศเรื่อยมาว่าจะกลับไปปกครองกรุงคาบูล จัดตั้งรัฐบาลแบบรัฐอิสลาม (Islamic State) ที่ปกครองตามแนวทางอิสลามของตน ท่าทีของรัฐบาลทรัมป์เหมือนกรณีที่สหรัฐถอนตัวออกจากเคิร์ดซีเรีย แปลความว่านับจากนี้รัฐบาลประชาธิปไตยอัฟกันต้องดูแลตัวเอง ดังคำพูดของท่านที่ว่า “เราไม่สามารถเป็นตำรวจโลก”

                เป็นที่มาของคำถามว่าที่ตกลงกันจริงๆ พูดถึงรัฐบาลอัฟกันอย่างไร จะอยู่หรือจะไป ให้ตอลิบันปกครองเหมือนเดิมใช่ไหม

                ถ้ายังจำได้เมื่อรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู. บุช. นำทัพทำสงคราม ประกาศจะปราบพวกตอลิบัน อัลกออิดะห์ให้ราบคาบ สถาปนาอัฟกานิสถานที่มี “เสถียรภาพและสันติ” มาถึงยุครัฐบาลทรัมป์เพียงต้องการให้ทหารอเมริกันถอนตัว เป็นที่มาของคำพูดว่ารัฐบาลสหรัฐหนีจากอัฟกานิสถาน ทิ้งให้ “เด็กประชาธิปไตย” ประเทศนี้ดูแลตัวเอง ถ้าตอลิบันสามารถจัดตั้งรัฐบาลของตนอีกครั้งควรเรียกว่าอเมริกาแพ้สงครามหรือไม่ เป็นเวียดนามอีกแห่งของอเมริกาหรือไม่

                นี่เป็นอีกแนวคิดหนึ่ง จะเป็นจริงหรือไม่ต้องติดตามต่อไป      อีกประเด็นน่าคิดมาจากคำพูดของอดีตประธานาธิบดี ฮามิด การ์ไซ กล่าวว่า พวกต่างชาติได้ประโยชน์จากสงครามในอัฟกานิสถาน ส่วนคนอัฟกันทั้ง 2 ฝ่าย (ฝ่ายประชาธิปไตยกับพวกตอลิบัน) ล้วนเป็นเหยื่อที่ต้องสังเวยให้สงครามนี้ ในอีกวาระกล่าวว่า “อเมริกาบุกอัฟกานิสถานเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง ไม่ต้องการให้ภูมิภาคมีสันติจริงๆ สหรัฐต้องการให้เกิดความรุนแรงตลอดไป”

สันติภาพแท้เป็นความฝันอันห่างไกล :

                เหตุก่อเหตุวินาศกรรมเมื่อ 11 กันยา. 2001 เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามอัฟกานิสถานที่ยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน ถ้ามองในกรอบแคบ สงครามต่อต้านก่อการร้ายในเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมาสามารถกำราบอัลกออิดะห์

                ถ้ามองในกรอบกว้าง อัลกออิดะห์ไม่ตายจากโลก บางส่วนแปลงเป็นผู้ก่อการร้ายไอซิส สร้างความปั่นป่วนแก่โลกโดยเฉพาะในซีเรียกับอิรัก เกิดเหตุก่อการร้ายในหลายประเทศ จะเห็นว่าความรุนแรงจากก่อการร้ายเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ทำนองเดียวกับพวกตอลิบันที่บัดนี้ฟื้นตัวเป็นภัยคุกคามรัฐบาลประชาธิปไตยอัฟกานิสถาน

                ในอีกแง่มุมคือผลกระทบจากการที่สหรัฐกับพวกเข้าไปทำสงครามต่อต้านก่อการร้าย ในกรณีอัฟกานิสถานดูเหมือนว่ารัฐบาลทรัมป์ต้องการแค่ได้พาทหารอเมริกันกลับบ้าน ได้ประหยัดงบประมาณตรงจุดนี้ ส่วนอนาคตประเทศ ผลต่อภูมิภาค ผลในภาพกว้างไม่เอ่ยถึง ซึ่งไม่ผิดถ้ายึดหลักอเมริกาต้องมาก่อน (America First) เพราะหลักการนี้ขอเพียงอเมริกาได้ประโยชน์ อยู่รอดปลอดภัย ไม่สนใจว่าประเทศอื่นจะเป็นอย่างไร

                นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการปลูกและส่งขายฝิ่นที่อัฟกานิสถานเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลก ตอลิบันมีส่วนในการนี้ การต่อต้านฝิ่นเป็นภารกิจหนึ่งกองทัพสหรัฐ แต่ปฏิบัติการไม่ได้ผล ตัวเลขจากหน่วยงานสหประชาชาติชี้ว่าการปลูกฝิ่นเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้นการปลูกฝิ่นและส่งออกจะยิ่งรุนแรงกว่านี้เมื่อสหรัฐถอนกำลัง

                ในแง่ของสหรัฐอาจสรุปสั้นๆ ว่ารัฐบาลทรัมป์ประสบความสำเร็จในสงครามต่อต้านก่อการร้ายในอัฟกานิสถาน ได้ถอนทหารกลับบ้าน (อย่างน้อยส่วนหนึ่ง) ถ้ามองในแง่การเมืองภายในสหรัฐ การถอนทหารในขณะนี้เป็นจังหวะเดียวกับช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีปลายปี

                ที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐประกาศว่าจะทำสงครามถึงที่สุด ไม่เจรจากับผู้ก่อการร้าย ตอนนี้ต้องตามต่อว่ารัฐบาลสหรัฐจะฉีกข้อตกลงล่าสุดทิ้งหรือไม่ เมื่อไหร่ จะกลับมาเรียกตอลิบันเป็นผู้ก่อการร้ายอีกครั้งหรือไม่

                สันติภาพแท้เป็นความฝันอันห่างไกลถ้ารัฐบาลสหรัฐยังต้องการคงอิทธิพลในพื้นที่แถบนี้ การถอนทหารอาจเป็นแค่ถอนบางส่วน และพร้อมเสริมเข้าไปอีก ด้านตอลิบันจะปฏิบัติตามบัญญัติศาสนาในแนวทางของตนอย่างเคร่งครัด หวังขับไล่ทหารต่างชาติออกนอกประเทศ เป็นไปได้ว่าอาจสงบสุขขึ้นในระยะหนึ่ง แต่สันติภาพถาวรเป็นของหายาก ไม่มีตั้งแต่กองทัพสหรัฐกับพวกบุกอัฟกานิสถานเมื่อปี 2001.

---------------------

ภาพ : นักรบตอลิบัน

ที่มา : https://www.stripes.com/news/middle-east/inside-taliban-s-afghanistan-violence-remains-path-to-power-1.611893

---------------------

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"