เศรษฐกิจไทยกับ Covid-19: ‘ติดหล่ม’ หรือ ‘ตกราง’


เพิ่มเพื่อน    

             พอเจอกันตัวเป็นๆ ไม่ได้เพราะโรคระบาด Covid-19 ผมก็นัดคุยกับผู้รู้ผ่านออนไลน์เป็นประจำ

                สัปดาห์ก่อนผมชวนคุณสันติธาร "ต้นสน" เสถียรไทย ที่ประจำอยู่สิงคโปร์เข้าสายผ่าน Suthichai  Live มาวิเคราะห์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพระดับโลกและของไทยเรา

                เพราะนี่เป็นหัวข้อที่ทุกคนสนใจ ต้องการรู้ว่าจะยืดเยื้อแค่ไหน ทางออกคืออะไร

                คุณต้นสนตั้งประเด็นเอาไว้น่าสนใจว่าเรากำลังจะเจอกับสภาวะ "ติดหล่ม" หรือ "ตกราง"

                เริ่มต้นคุณต้นสนในฐานะนักเศรษฐศาสตร์บอกว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จะมองคล้ายๆ กันว่าผลกระทบของโควิด-19 จะรุนแรงแต่ไม่ยืดเยื้อ

                โดยเห็นว่าไตรมาส 1 จะหนักมากสุด (อาจถึงขั้น GDP ติดลบ) และจะกระดอนขึ้นเป็น V-shape  และกลับมาโตตามเทรนด์เดิมในครึ่งหลังของปี

                ผมบอกว่าหากเป็นเช่นนั้นก็ยังพอมีหวังฟื้นตัวได้แม้จะบาดเจ็บหนักก็ตาม

                คุณต้นสนบอกว่านั่นคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จะ "ติดหล่ม" ชั่วคราวทำให้ดีเลย์

                แต่ไม่ถึงกับ "ตกราง" จนต้องซ่อมแซมกันกว่าจะมาวิ่งเหมือนเดิมได้

                ในความเห็นคุณต้นสนข่าวอาจจะร้ายกว่านั้น

                เขาเห็นว่ามีปัจจัยเสี่ยง 3 ข้อที่ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอาจถึงขั้นตกราง ไม่ใช่แค่ติดหล่ม

                1.คลื่นหลายระลอกทำปัญหาไวรัสยืดเยื้อ

                ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อาจไม่ใช่คลื่นใหญ่ระลอกเดียว แต่มาหลายระลอก ทำให้ปัญหายืดเยื้ออยู่กับเรานานกว่าที่คิด แทนที่จะจบภายในไตรมาส 1 หรือต้นไตรมาส 2  กลับลากยาวไปกว่านั้น

                และวิกฤตินี้ไม่กระทบเฉพาะจีนหรือเอเชียเท่านั้น

                เหตุผลหนึ่งที่ตลาดหุ้นทั่วโลกติดตัวแดงเถือกกลบกระดานติดกัน จนมูลค่าหายไป 3.6 ล้านล้านเหรียญในสัปดาห์เดียวเมื่อสัปดาห์ก่อน ก็เพราะนักลงทุนทั่วโลกเพิ่งตื่นขึ้นมาพบกับความเป็นจริงที่ว่า

                โควิด-19 ไม่ใช่โรคระบาดในจีนและประเทศใกล้เคียง แต่กลายเป็นโรคระบาด "ระดับโลก" ที่กระจายไป 50 ประเทศแล้ว ไล่มาทั้งญี่ปุ่น ภูมิภาคอาเซียน ยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา และล่าสุดแม้แต่อเมริกาก็อาจถูกกระทบ

                ล่าสุด WHO ก็เพิ่งออกมาประกาศยกระดับการเตือนภัยความเสี่ยงการระบาดไปทั่วโลกของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้อยู่ในระดับ "สูงมาก" ซึ่งเป็นระดับสูงสุด

                การที่พิษเศรษฐกิจโควิด-19 กระจายไปทั่วโลกแปลว่าแม้จีนจะเริ่มเอาอยู่แล้ว (ซึ่งยังไม่ชัดแต่ดูอัตราการติดใหม่ชะลอลงมาก) ในโลกการต่อสู้กับการระบาดของไวรัสตัวนี้อาจเพิ่งเริ่มขึ้น

                "ซึ่งแปลว่าแทนที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวเมื่อเศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัว อาจจะเจอคลื่นระลอกสองและสามเมื่อเศรษฐกิจอื่นๆ กลับเป็นตัวฉุด โดยเฉพาะอาเซียน ญี่ปุ่น ยุโรป ที่เป็นตลาดสำคัญทางการส่งออกอาจเผชิญหน้าสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ" คุณต้นสนวิเคราะห์

                อีกด้านหนึ่ง การท่องเที่ยวก็จะฟื้นไม่เต็มที่แม้สถานการณ์ในจีนดีขึ้น หากแต่คนไม่แน่ใจว่าคนชาติไหนบ้างเป็นกลุ่มเสี่ยง

                อาการ "กลัวนักท่องเที่ยวจากจีน" อาจกระจายกลายเป็นกลัวนักท่องเที่ยวจากทุกประเทศ!

                อีกทั้งจะต้องจับตามองการติดเชื้อในภูมิภาคตะวันออกกลางให้ดี เพราะหากการแพร่ระบาดทำให้เกิด disruption ต่ออุตสาหกรรมน้ำมัน อาจทำให้ราคาน้ำมันดีดตัวขึ้นในยามที่เศรษฐกิจโลกกำลังอ่อนแอ

                ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมความเสี่ยงที่โควิด-19 จะระบาดอย่างกว้างขวางในประเทศไทยเอง ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะไม่เกิดขึ้นและเราจะควบคุมอยู่ แต่แม้การแพร่ระบาดในประเทศจะถูกควบคุมอยู่ หากการสื่อสารกับประชาชนไม่มีประสิทธิภาพก็อาจทำให้เกิดอาการตื่นตระหนกเป็นวิกฤติทางความมั่นใจที่ฉุดเศรษฐกิจได้เช่นกัน

                ความเสี่ยงข้อที่ 2 คือ "ไทยเราอ่อนแออยู่ก่อนแล้ว"

                ทางการแพทย์วันนี้สิ่งที่เรารู้คือ ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้เป็นอันตรายกับคนที่สุขภาพอ่อนแออยู่แล้ว เช่นคนที่มีโรคประจำตัวและผู้สูงอายุ

                ในทางเศรษฐกิจก็ไม่ต่างกัน

                "พิษเศรษฐกิจจากโรคระบาดนี้จะรุนแรงกว่ามากในยามที่เศรษฐกิจอ่อนแออยู่แล้วแต่เดิม เสมือนคนไม่ค่อยมีภูมิคุ้มกันเพียงพอ" คุณต้นสนบอก

                ในช่วง 2-3 ปีก่อนโรค SARS ระบาด เศรษฐกิจไทยโตเฉลี่ยเกือบ 5% สัดส่วนหนี้ครัวเรือนมีอยู่เพียง 40% ของ GDP

                เทียบกับในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยโตเฉลี่ย 3.5% ปีที่แล้วไม่ถึง 3% แถมเศรษฐกิจฐานรากเช่น ภาค SME ภาคเกษตร อ่อนแอยิ่งกว่าเศรษฐกิจโดยรวม หนี้ครัวเรือนปัจจุบันยังสูงอยู่ที่ประมาณ 80% เกือบสองเท่าของสมัยมี SARS

                เพราะฉะนั้นประเด็นไม่ใช่แค่ว่าไวรัสโควิด-19 คราวนี้แพร่เร็วกว่า SARS และโลกเราเชื่อมโยงกันมากกว่าเก่า แต่เป็นเรื่องที่ว่า "สภาพร่างกาย" ของเราก่อนจะโดนเชื้อนี้ก็อ่อนแอกว่าสมัยก่อนด้วย

                คุณต้นสนเตือนว่า "พายุชั่วคราวอาจทำให้ชำรุดถาวร"

                ประเด็นนี้สำคัญ เพราะหากธุรกิจกำไรไม่ดีอยู่แล้ว ไม่ค่อยมีเงินสะสมก่อนโดนพิษเศรษฐกิจโควิด-19 ย่อมไม่เงินก้นถุงมาพยุงตัวฝ่าฟันช่วงที่ยอดขายตกฮวบ ขาดกระแสเงินสด จนอาจถึงขั้น "เข้าเนื้อ" ต้องลดจำนวนคนงาน ขายที่ เครื่องจักร โรงงานที่มีเพื่อให้อยู่รอด หรือล้มละลาย

                หากเป็นเช่นนั้น แม้พายุเศรษฐกิจนี้จะพัดมา "ชั่วคราว" แต่ศักยภาพทางเศรษฐกิจบางส่วนอาจถูกทำลายไปถาวร เพราะธุรกิจเจ๊งไปแล้ว คนตกงานไปแล้ว ที่ขายไปแล้ว หนี้ก็กลายเป็นเสียไปแล้ว การจะดึงคนและธุรกิจเหล่านี้กลับมาทำงานใหม่นั้นอาจไม่ง่าย

                แม้ปัญหาโรคระบาดผ่านไป เศรษฐกิจก็จะเป็นเสมือนรถไฟที่ "เครื่องยนต์ชำรุด" แม้กลับมาวิ่งได้ใหม่ก็อาจวิ่งได้ไม่ดีเท่าเดิม.

                (พรุ่งนี้: วัคซีนทางเศรษฐกิจ ใช้ทันและถูกที่หรือไม่?) 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"