'สธ.'แจงปชช.สงสัยป่วยโควิด-19ตรวจ-รักษาฟรีทุกรพ.


เพิ่มเพื่อน    

15 มี.ค.63-นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข  กล่าวถึงกรณีหลายภาคส่วนมีเสียงสะท้อนค่าตรวจโรคโควิด-19 มีราคาแพงว่า ตามปกติหากใครก็ตามมีอาการไม่สบาย เช่น มีไข้ เป็นหวัดหรือน้ำมูกและประวัติเสี่ยง สามารถไปที่โรงพยาบาลที่แต่ละคนมีสิทธิ ซึ่งจะไปเองหรือให้เจ้าหน้าที่ไปรับก็ได้ โดยจะได้รับการตรวจและรักษาฟรีในทุกโรงพยาบาล เพราะทุกคนมีทั้งสิทธิของข้าราชการ สิทธิตามหลักประกันสุขภาพ หรือแม้แต่สิทธิประกันสังคม แต่มีหลักเกณฑ์จะต้องมีอาการป่วยและประวัติเสี่ยงสัมผัส รวมถึงนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่(UCEP) หากเจ็บป่วยภายใน 72 ชั่วโมงแรก สามารถเข้ารับการรักษาหรือช่วยชีวิตโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใน 72 ชั่วโมงแรก ไม่ว่าจะในโรงพยาบาลไหนก็ตาม 

"ถ้าไม่มีอาการแล้วไปโรงพยาบาลจะไม่สามารถใช้สิทธิ UCEP ได้ ดังนั้นต้องมีอาการหอบอย่างหนัก ต้องสงสัยว่าเป็นโควิด-19 สามารถเข้าโรงพยาบาลไหนก็ได้ โดยใช้สิทธิ UCEP  ทั้งนี้โรงพยาบาลจะมีการคัดกรองและซักประวัติ แต่หากไม่มีอาการป่วย ขอความกรุณา ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปตรวจ เพราะตรวจไปก็ไม่มีประโยชน์ และเสียเงินด้วย ส่วนใหญ่ตรวจไปก็ไม่พบเชื้อ แต่ถ้ารู้ว่าตัวเองมีประวัติเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่นสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันแล้วขอให้ติดต่อมายังกรมควบคุมโรค สายด่วน 1422 ได้ทันที​ จะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแล วันนี้ผู้ป่วยที่ได้รับยืนยันในแต่ละราย เราทำงานเต็มที่ เราติดตามคนที่ใกล้ชิด 40-170 ราย แต่ไม่ใช่ว่าคนเหล่านี้มีอาการแต่เป็นกลุ่มเสี่ยง"

ถามว่า การส่งตัวผู้ป่วยจากโรงพยาบาลเอกชนมายังโรงพยาบาลรัฐ นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า ขณะนี้โรงพยาบาลเอกชนเข้ามาร่วมมือ หากมีกรณีผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเอกชน เขามีสิทธิพื้นฐานอยู่แล้ว ซึ่งผลตรวจจากห้องแล็ปก็ส่งมาได้เลยกระทรวงสาธารณสุขดูแลอยู่แล้ว ยกเว้นกรณีที่บางคนไปขอตรวจเอง หมอจะแนะนำว่าอย่าตรวจเลย แต่ถ้ายืนยันว่าจะตรวจให้ได้ก็จะเสียเงิน

ถามว่า หากผลตรวจจากห้องแล็ปออกจากโรงพยาบาลไหน ผู้ป่วยสามารถรักษาตัวที่โรงพยาบาลนั้นได้หรือไม่ โดยไม่ต้องส่งตัวมาที่โรงพยาบาลรัฐ นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า ผู้ป่วย 1 แสนกว่าคนทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย 90 เปอร์เซ็นต์ อาการไม่หนักมาก ศักยภาพของโรงพยาบาลเราดูแลได้ เราเตรียมความพร้อมของทีมแพทย์ให้คำปรึกษาทั้งประเทศและมีระบบรองรับ กรณีที่มีผู้ป่วยหนักบางราย ซึ่งมีจำนวนน้อยมากจะส่งมาที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ของเรา เช่น สถานบันบำราศนราดูรหรือโรงพยาบาลราชวิถี

 "ไม่อยากให้มากังวลเรื่องระยะใดก็ตาม เพราะสิ่งสำคัญคือ เปลี่ยนความกลัวเป็นความรู้ที่ถูกต้อง ป้องกันได้ เราต้องป้องกันตัวเอง และป้องกันไม่ให้ไปแพร่เชื้อสู่คนอื่น ร่วมรับผิดชอบต่อสังคม โรคนี้มียารักษาและกำลังจะมีวัคซีน ซึ่งโดยปกติเวลาเกิดการแพร่ระบาดของโรคสำคัญ เช่นเมื่อ 10 ปีก่อน ที่โรคไข้หวัดใหญ่ระบาด เมื่อเกิดโรค เราจะเก็บเชื้อไปพัฒนาเป็นวัคซีน มันมีวิธีการทำโดยใช้เวลา 6 เดือนถึง 1 ปีก็จะได้วัคซีนออกมา แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ได้อยู่ที่วัคซีน แต่อยู่ที่ว่าโรคนี้แพร่ระบาดจากการไอหรือจามที่เป็นละอองฝอย ดังนั้นผู้ป่วยต้องสวมหน้ากากอนามัยและหมั่นล้างมือ ซึ่งสิ่งสำคัญประชาชนต้องดูข้อมูลที่ถูกต้อง อย่าเพิ่งแชร์หรือทำอะไรก็ตาม ขอให้เช็คข้อมูลให้ถูกต้องก่อน ดูข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้ แต่ส่วนใหญ่เราไม่อ่านแต่ส่งต่อเลย ก็ต้องขอกราบวิงวอน ปัญหาวันนี้โรคโควิด-19 ไม่ใช่ปัญหาใหญ่​ แต่เป็นเรื่องสุขภาพทางจิตใจ"

เมื่อถามว่า พูดได้หรือไม่ว่า มาตรการปิดเมืองหรือปิดประเทศไม่มีทางเกิดขึ้นกับประเทศไทย นพ.รุ่งเรืองกล่าวว่า ตรงนี้เป็นส่วนที่เราจะต้องตัดสินต่อไปในอนาคตมันขึ้นอยู่กับสถานการณ์และมาตรการ ณ วันนี้สิ่งที่เราทำ เราไม่ได้ทำแบบไม่ได้วางแผน เรามีผู้ทรงคุณวุฒิ ระดับนานาชาติ ระดับองค์การอนามัยโลก มาร่วมกันคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจและกำหนดมาตรการที่เหมาะสม และไม่ต้องห่วงสิ่งที่ประเทศไทยทำวันนี้ เราทำเกินกว่าสถานการณ์มีอยู่เสมอ อย่างแรกคือการเฝ้าระวัง การติดตาม เวลาเจอผู้ติดเชื้อ และที่สำคัญคือระบบรักษาพยาบาล โรงพยาบาลมีพร้อม หมอพร้อม ยาพร้อม ทุกอย่างพร้อมที่รองรับ ไม่ว่าสถานการณ์จะเกิดขึ้นรุนแรงที่สุดขนาดไหนก็ตาม จะไม่เป็นแบบอิตาลีเรายืนยัน นายกฯ กำชับเป็นอย่างดีต้องทำให้ดีที่สุด 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"