“อัยการธนกฤต” แนะถึงเวลาดัน 'พ.ร.ก.แก้ปัญหาโรคระบาด' คุมแก้ปัญหาโควิด 19 เบ็ดเสร็จ


เพิ่มเพื่อน    


วันที่ 22 มี.ค.นายธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวแนะวิธีรับมือโควิด ระบุว่า  ออกพระราชกำหนดรับมือโควิด-19 ป้องกันควบคุมโรคระบาด และเยียวยาเศรษฐกิจผู้ได้รับผลกระทบ

ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ถึงแม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่สามารถนำบังคับใช้ในปัจจุบันคือ พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และในกรณีมีสถานการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้นก็สามารถนำพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาใช้บังคับได้

แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบันมีความรุนแรงมากกว่าโรคระบาดในอดีต และแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วในวงกว้าง มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตทั่วโลกเพิ่มจำนวนขึ้นมากอย่างรวดเร็ว

ในประเทศไทยเองจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน ซึ่งสร้างผลกระทบกับประชาชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ธุรกิจ บริษัท ห้างร้าน จำนวนมาก ทั้งในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ การเรียน การศึกษา การทำงาน การประกอบอาชีพ และผลกระทบทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

การจะรับมือกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ ที่มีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในขณะนี้ จึงควรต้องมีกลไกที่เป็นมาตรการทางกฎหมายในการรับมือที่เหมาะสม รวดเร็ว ทันต่อความรุนแรงของการแพร่ระบาดโรคเป็นการเฉพาะ

กฎหมายทั้ง 3 ฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันดังที่กล่าวไปอาจไม่เพียงพอกับการรับมือเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคที่มีความรุนแรง และมีการแพร่กระจายของโรคไปในวงกว้างทั่วโลกและทั่วประเทศไทยอย่างรวดเร็ว และมีความรุนแรงมากกว่าโรคระบาดที่ประเทศไทยและโลกเคยประสบมา

นอกจากนี้ การใช้มาตรการทางกฎหมายในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ ฯ ที่ให้อำนาจกับคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร มีลักษณะที่ต่างคนต่างทำ ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จังหวัดหนึ่งใช้มาตรการควบคุมป้องกันแบบหนึ่ง ส่วนจังหวัดอื่นใช้มาตรการอีกแบบหนึ่ง ขาดการประสานงานและบูรณาการร่วมกัน ทั้งที่เชื้อโรคสามารถแพร่กระจายทั่วถึงกันได้หมด

อีกทั้ง พ.ร.บ. โรคติดต่อ ฯ และพ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฯ มีวัตถุประสงค์ใช้เพื่อป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคเท่านั้น ส่วน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ฯ ก็มีขอบเขตการบังคับใช้อยู่ที่การห้ามประชาชนออกจากที่อยู่อาศัยภายในระยะเวลาที่กำหนด กฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันดังกล่าว จึงไม่ได้มีมาตรการในการเยียวยาแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะมาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจ

จึงควรต้องมีการออกกฎหมายใหม่เพิ่มเติม เพื่อให้การป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคมีประสิทธิภาพและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเพื่อกำหนดมาตรการเพิ่มเติมในการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรค รวมทั้งมาตรการเยียวยาผลกระทบให้กับประชาชน ผู้ประกอบการ บริษัท ธุรกิจ ห้างร้าน และหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะมาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจด้วย

ซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหาดำเนินไปอย่างมีระบบและเป็นกระบวนการ อีกทั้งมีความชัดเจน แน่นอนและมีประสิทธิภาพ ซึ่งน่าจะดีและเหมาะสมกว่าการแก้ปัญหาไปทีละเรื่อง โดยขาดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ และไม่มีการประสานเชื่อมโยงกัน

สำหรับกฎหมายใหม่ดังกล่าวนี้ เพื่อความรวดเร็วและทันต่อการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีมีอำนาจออกเป็นพระราชกำหนดบังคับใช้ไปก่อนได้ เพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ และเพื่อป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 172 ให้อำนาจไว้ แล้วจึงค่อยเสนอให้รัฐสภาพิจารณาอนุมัติในภายหลัง

และภายใต้พระราชกำหนดฉบับนี้ รัฐบาลสามารถออกอนุบัญญัติ เช่น คำสั่ง ประกาศ หรือกฎหมายลำดับรองอื่น ๆ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และเหมาะสมได้
โดยเนื้อหาของพระราชกำหนดอาจจะครอบคลุมเรื่องต่าง ๆ ในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค และการเยียวยาผลกระทบ รวมทั้งการเยียวยาทางเศรษฐกิจ ได้แก่

1 มาตรการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่น
- มาตรการต่าง ๆ ในการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรค
-มาตรการจัดสรรงบประมาณ หน้ากากอนามัย เครื่องมือเครื่องใช้และวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้เพียงพอต่อการป้องกันและควบคุมโรค โดยควรจัดสรรให้เพียงพอต่อความต้องการของบุคลากรทางการแพทย์เป็นลำดับแรก
-มาตรการรองรับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยติดเชื้อสำหรับสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน
-มาตรการในการดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ ในสภาวะโรคระบาด
นอกจากนี้ ประการสำคัญอาจจำเป็นต้องมีบทบัญญัติในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค เช่น การจำกัดและห้ามการเดินทางของประชาชน การห้ามการชุมนุม และการประชุมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการประชุมพรรคการเมือง การประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท ที่มีคนร่วมประชุมเป็นจำนวนมาก โดยอาจกำหนดให้สามารถใช้การประชุมผ่านระบบออนไลน์แทนได้ เป็นต้น หากฝ่าฝืนมีบทลงโทษตามกฎหมาย

2. มาตรการเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งการเยียวยาทางเศรษฐกิจให้แก่ประชาชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา พนักงาน ลูกจ้าง พ่อค้า แม่ค้า ผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากการที่รัฐหรือหน่วยงานของรัฐออกคำสั่งปิดสถานที่ต่าง ๆ ทั้งที่เป็นสถานที่ของรัฐและเอกชน รวมทั้งการเยียวยาผลกระทบและเยียวยาทางเศรษฐกิจในกรณีที่มีการจำกัดหรือห้ามการเดินทางของประชาชนด้วย

3. มาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน ในสภาวะที่มีปัญหาเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรค โดยภาครัฐควรมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยเป็นกรณีพิเศษ

4. มาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ตกงานหรือว่างงาน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาด ทำให้มีการเลิกจ้างหรือต้องหยุดงานชั่วคราว หรือสถานที่ทำงานต้องปิดตัวลง

5. มาตรการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและการเงินแก่ผู้ประกอบการ พ่อค้าแม่ค้า ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการ เพื่อจะได้ไม่ต้องปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน ซึ่งจะทำให้มีคนตกงานตามมา และมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็ก ที่รัฐจะต้องให้ความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ

6. มาตรการทางการเงินและการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ในสภาวะถดถอยจากการแพร่ระบาดของโรค

7. มาตรการแก้ไขปัญหาชาวต่างชาติที่ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศของตนเองในขณะนี้ เนื่องจากหลายประเทศมีมาตรการปิดประเทศห้ามการเดินทางเข้าออก และวีซ่าอยู่ในประเทศไทยของชาวต่างชาติได้หมดอายุลง

8. มาตรการแก้ไขปัญหาการขอหรือต่อใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวซึ่งมีจำนวนมากในประเทศไทย ซึ่งอาจจะต้องมีการขยายระยะเวลาการขอหรือต่ออายุใบอนุญาต เพื่อหลีกเลี่ยงการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก อันจะทำให้การระบาดของโรคลุกลามขยายวงกว้างออกไป


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"