ประกาศ‘สถานการณ์ฉุกเฉิน’ ที่เหมือนไม่ค่อยจะฉุกเฉิน


เพิ่มเพื่อน    

               หลังจากฟังนายกรัฐมนตรีแถลงเมื่อวานบ่าย 2 โมง ก็เกิดคำถามในใจคนไทยหลายคนทันทีว่า

                ตกลงวันนี้เราอยู่ใน “ภาวะฉุกเฉิน” ของ Covid-19 หรือไม่?

                ที่พอจะได้ยินชัดๆ ก็คือท่านบอกว่าคณะรัฐมนตรีมีมติให้ประกาศ “สถานการณ์ฉุกเฉินจะมีผลใช้วัน “มะรืนนี้” มีกำหนดหนึ่งเดือน

                (กฎหมายการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มาในรูปของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีอยู่แล้ว ออกมาตั้งแต่ปี 48)

                นอกนั้นผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ที่ฟังอยู่ก็คงจะได้ยินผ่านๆ ว่าจะมีการตั้งกองอำนวยการฉุกเฉิน และจะมีคำประกาศอื่นๆ “ตามมาเรื่อยๆ”

                ฟังได้ความว่าอาจจะมีเรื่องเคอร์ฟิว, เรื่องห้ามคนออกนอกบ้าน, ห้ามรายงานข่าวที่สร้างความตื่นตระหนกอะไรทำนองนั้น

                ไม่มีอะไรที่ชัดเจนให้สมกับความเป็น “สถานการณ์ฉุกเฉิน” เท่าใดนัก

                เพราะถ้าท่านบอกว่าจะมีผลบังคับใช้ “มะรืนนี้” แต่ผู้นำประเทศมาออกทีวีถ่ายทอดทั่วประเทศโดยไม่มีคำสั่งอะไรชัดเจนทันที ก็คงไม่อาจจะเรียกได้ว่า “ฉุกเฉิน” จริง

                ทั้งๆ ที่คณะแพทย์ที่เป็นแนวหน้าในการต่อสู้กับ Covid-19 ออกมาย้ำหลายครั้งหลายหน ว่าหากจะไม่ให้สถานการณ์การแพร่เชื้อของไทยเป็นอย่างอิตาลี, ก็จำเป็นจะต้องมีมาตรการที่ชัดเจนเข้มข้นกว่าที่เป็นอยู่

                ตัวเลขคนติดเชื้อล่าสุดเมื่อวานก็พุ่งเกิน 800 และวันสองวันนี้ก็จะเกิน 1,000 ซึ่งนายแพทย์หลายท่านก็ทำนายว่าพอพ้นเขตพันก็วิ่งไปที่หมื่น ก็จะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะแน่นอน

                เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา คุณหมอจากกระทรวงสาธารณสุขเรียกช่วงเวลานี้ว่าเป็น Golden Period อันหมายถึง “เวลาทอง” หรือ “ทางสองแพร่” ที่ไทยจะต้องตัดสินว่าจะเอาจริงเอาจังด้วยมาตรการเข้มข้น โดยประชาชนต้องร่วมมืออย่างเต็มที่หรือจะปล่อยไปอย่างที่เป็นอยู่

                ภาษาหมอเรียกยุทธศาสตร์นี้ว่า Flatten the Curve คือให้เส้นโค้งนั้นแบนเหมือนเป็น “เนินเขา” ไม่ชันเป็น “ยอดเขา”

                หากยังเดินไปเนือยๆ ทำบ้างไม่ทำบ้างอย่างที่เป็นอยู่ เราก็จะไปสู่เส้นทางของอิตาลี, อิหร่านและอังกฤษ

                นั่นหมายถึงจำนวนคนติดเชื้อและเสียชีวิตที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วและไม่รู้ว่าจุดสูงสุดจะไปจบตรงไหน เส้นกราฟจะวิ่งชันเป็นยอดเขาแหลมก่อนที่จะเริ่มลดลงมา อาจะเป็นหลายหมื่นเหมือนอิตาลีหรือไม่

                แต่หากประชาชนร่วมมือ (และรัฐบาลใช้กฎหมายเข้มข้นในลักษณะ Lockdown หรือ “ปิดเมือง” อย่างเคร่งครัด) เราก็อาจจะไปตามแนวทางของจีน, เกาหลีใต้หรือสิงคโปร์

                นั่นหมายถึงตัวเลขคนป่วยจะไต่ขึ้นไม่สูงมากนัก และประคองให้เป็นเส้นโค้งราบ ไม่ชันโด่งเหมือนภาพแรก

                คณะแพทย์ที่อยู่แถวหน้าของการทำสงครามกับไวรัสตัวนี้ได้ส่งสัญญาณมาระยะหนึ่งแล้ว ว่าถ้าประชาชนไม่ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ หรือหากสถานการณ์ลุกลามบานปลายไปจะด้วยสาเหตุอันใดก็ตาม ก็ควรที่รัฐบาลจะต้องออกคำสั่งพิเศษที่จะห้ามคนทำกิจกรรมที่มีผลต่อการแพร่เชื้ออย่างรวดเร็วฉับพลันทันการณ์

                นายกฯ ประยุทธ์ก็รับฟัง และการนำเอาเรื่องนี้เข้า ครม. วันนี้ก็ถือว่าท่านไม่ได้นิ่งนอนใจ เพียงแต่อาจจะกลัวถูกวิจารณ์ไปทางลบมากเกินไป

                ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่ว่าท่านจะตัดสินใจอย่างไรก็จะมีคนได้รับผลกระทบและไม่พอใจกับมาตรการนั้นๆ

                แต่นี่คือสงคราม และการทำสงครามหมายความว่าแม่ทัพจะต้องกล้าตัดสินใจ แม้ว่าบางเรื่องจะไม่เป็นที่นิยมชมชอบของคนบางกลุ่มบางเหล่า

                แต่หากมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และหลักฐานเชิงประจักษ์ของสถานการณ์จุดนั้นๆ เพียงพอ ผู้บัญชาการรบจะต้องกล้าฟันธง และต้องสามารถสื่อสารอธิบายความจำเป็นต่อสาธารณชนได้

                การประกาศของนายกฯ เมื่อวานนี้ขาดน้ำหนักและผลทางจิตวิทยาอันพึงประสงค์เพราะ

                1.ขาดการเตรียมการร่างคำสั่งชุดแรกที่สะท้อนว่ากำลังจะยกระดับความเข้มข้นของปฏิบัติการต้าน Covid-19 ที่จะมีผลทันที โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการช่วยให้คณะแพทย์ในแนวหน้าสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น

                2.ประกาศตั้งศูนย์บัญชาการฉุกเฉิน (จะเรียก War Cabinet ก็คงได้) โดยมีรายชื่อของผู้บริหารวิกฤติและภารกิจหลักออกมาทันที

                3.นายกฯ ควรจะพูดจากร่างแถลงการณ์ที่เตรียมไว้ล่วงหน้าเพื่อให้ได้สาระและภาษาที่หนักแน่น ชัดเจน แทนที่จะพูดสดๆ โดยไม่มีการเรียงลำดับความสำคัญของภารกิจที่จะต้องทำตามมติ จนฟังเหมือน “บ่นไปเรื่อยๆ”

                4.จังหวะน้ำเสียงการพูด ลีลาท่าทาง (Body language) ของนายกฯ ไม่สะท้อนความขึงขังจริงจังของสถานการณ์ที่ต้องการจะสื่อในยามที่ประชาชนคาดหวังและต้องการความเป็นผู้นำในวิกฤติ (พูดภาษาชาวบ้านคือ “ฟังนายกฯ พูดไม่รู้เรื่อง”)

                5.ทีมงานด้านสื่อสารและเตรียมการเรื่องร่างคำปราศรัย, สรุปเนื้อหา และที่เตรียมหน้ากากอนามัยให้กับนายกฯ สอบตกทั้งคณะ!

                หากทีมงานรอบตัวท่านนายกฯ ไม่กล้าให้นายกฯ ทำในสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้ประชาชนฟังเข้าใจและรับรู้เนื้อหาสาระอย่างถูกต้องชัดเจน ก็ไม่ควรจะทำหน้าที่อันสำคัญในจังหวะหน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนั้น. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"